GC_MultiCover_white cube 2.jpg

ทำไมแกลเลอรีต้องเป็นสีขาว? ชวนสำรวจที่มาที่ไปและการเมืองเรื่องศิลปะเบื้องหลัง White Cube (ตอน 1/2)

Art
Post on 30 March

เมื่อเราก้าวเข้าไปในแกลเลอรีหรือพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ เราเห็นอะไรกันบ้าง? ผลงานศิลปะ ภัณฑารักษ์ ป้ายอธิบายงาน …และแน่นอน กำแพงสีขาวรอบทิศที่วางตัวเป็นพื้นหลังให้กับบรรดางานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ในห้องนั้น มันทำตัวไม่มีพิษภัย โอบล้อมเราไว้ด้วยสีขาวสว่างตา ดูราวกับว่าหน้าที่ของมันมีแค่การเป็นพื้นหลังขับงานศิลปะให้โดดเด่น และการบ่งบอกถึงอาณาเขตพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะเท่านั้น

แต่มันทำหน้าที่แค่นั้นจริง ๆ หรือ? หรือว่าที่จริงแล้ว กำแพงสีขาว 4 ด้านที่เราเรียกกันว่า White Cube อันเป็นภาพปกติที่เห็นชินตาเวลาที่เราไปชมงานศิลปะ จะมีนัยและความหมายมากไปกว่านั้น?

เบื้องหลังกำแพงสีขาวเรียบ ๆ ธรรมดา คือประวัติศาสตร์การเมืองและการช่วงชิงความหมายแห่งโลกศิลปะ ในการที่เราจะสำรวจที่มาที่ไปของสีขาวบนกำแพงนั้น เราอาจต้องลองส่องลึกเข้าไปถึงที่มาและความเป็นไปหลังกำแพงนั้น

ก่อนแกลเลอรีจะเป็น ‘สีขาว’

เหมือนกับแทบทุกสิ่งที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ วัฒนธรรมการจัดแสดงงานศิลปะก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในฝั่งตะวันตก และมีความเกี่ยวข้องกับช่วงยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคมด้วย โดยต้นกำเนิดของการจัดแสดงงานศิลปะสามารถย้อนกลับไปได้ถึงยุคศตวรรษที่ 16 และไม่ได้เปิดให้สาธารณชนคนทั่วไปเดินเข้าไปชมกันได้อย่างอิสระเหมือนในทุกวันนี้ หากแต่เป็นการจัดแสดงในพื้นที่ส่วนตัว ในบ้านของเจ้าขุนมูลนายและเหล่าผู้ดีมีอันจะกิน ที่จัดแสดงของสะสมเพื่อบ่งบอกถึงฐานะทางสังคมและความมั่งคั่งของตนเอง

Wunderkammern (ที่ในภาษาไทยแปลว่า ‘ห้องสารภัณฑ์’) คือชื่อเรียกวัฒนธรรมการจัดแสดงของสะสมส่วนตัวที่มาจากภาษาเยอรมัน แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Cabinets of Wonder’ หรือ ‘Cabinets of Curiosity’ ใช้เรียกห้องเก็บของสะสมของเหล่าผู้ดีในยุคก่อนที่มักประกอบไปด้วยสิ่งสารพันจากธรรมชาติป่าเขา ชนเผ่า หรือจากดินแดนตะวันออกอันแสนเอ็กโซติก ไม่ว่าจะเป็น หิน, วัตถุจากชนเผ่าและชาติพันธุ์วรรณนา, สัตว์สตาฟฟ์, โบราณวัตถุ, รูปเคารพทางศาสนา และงานศิลปะทั้งภาพวาดหรือประติมากรรม โดยสิ่งของทั้งหมดนี้จะถูกจัดวางอัดแน่นตั้งแต่พื้นจรดเพดานของห้องหนึ่งในบ้าน รอให้แขกที่มาเยี่ยมบ้านได้เข้ามาชื่นชมความอลังการของคอลเลกชันส่วนตัวและรสนิยมอันรอบรู้ของผู้ครอบครอง (แต่แขกที่จะมีโอกาสได้เข้าชมก็ต้องสนิทหรือเป็นคนสำคัญจริง ๆ)

นัยของ Wunderkammern หรือ ‘ห้องแห่งความมหัศจรรย์’ ยังแฝงฝังไว้ด้วยมโนทัศน์จากเจ้าอาณานิคม เพราะห้องที่จัดแสดงของสะสมจากธรรมชาติและดินแดนอันห่างไกลนี้ยังถูกมองว่าเป็นดัง ‘จักรวาลย่อส่วน’ (microcosms) ที่สะสมองค์ความรู้และสรรพสิ่งในโลกไว้ในห้องห้องเดียว ซึ่งความนิยมของ Wunderkammern ก็สอดคล้องกับยุคสมัยแห่งความเฟื่องฟูของวิทยาการและวิทยาศาสตร์ในช่วงเวลานั้น

และในห้องที่เป็นดังจักรวาลขนาดย่อมนี้ เจ้าของห้องผู้เก็บสะสมสารพันของสิ่งต่าง ๆ จากดินแดนห่างไกลและหลักฐานของกาลเวลาที่ผ่านพ้นไปแล้ว ก็มีตำแหน่งแห่งที่ไม่ต่างจากพระเจ้าผู้สร้างสรรค์สรรพสิ่งต่าง ๆ ในโลก ซึ่งเมื่อเวลาผ่านพ้นไป ก็น่าสนใจว่าตำแหน่งแห่งที่ของ ‘ภัณฑารักษ์’ ผู้คัดสรรงานศิลปะมาจัดวางไว้ ก็มีความซ้อนทับกับตำแหน่งของเจ้าของห้องแห่งความมหัศจรรย์ในอดีต ซึ่งก็ทำให้หน้าที่ของภัณฑารักษ์ไม่ต่างจากการ ‘สร้าง’ โลกใบใหม่ผ่านเรื่องราวที่สะท้อนอยู่ในศิลปะที่หยิบมาจัดแสดงเช่นกัน

The British Museum ห้องสารภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แล้วจาก Wunderkammern หรือห้องสารภัณฑ์ นำมาสู่พิพิธภัณฑ์หรือสถานที่จัดแสดงงานศิลปะแบบที่เราคุ้นเคยกันในทุกวันนี้ได้อย่างไร? ในยุคที่การออกไปแสวงหาและครอบครองดินแดนใหม่ของบรรดาประเทศที่แข่งขันกันเป็นเจ้าอาณานิคม สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการแผ่อำนาจเหนือเขตแดนก็คือการขยายอำนาจผ่าน ‘ความรู้’ การตีความ และการให้ความหมาย ซึ่งกระทำได้ด้วยการสำรวจ เก็บข้อมูล และหลักฐานทางพืชพันธุ์และชาติพันธุ์วรรณาในพื้นที่เหล่านั้น ส่งกลับมายังบ้านเกิด

ด้วยเหตุนี้ Wunderkammern ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวหลักฐานจากแดนไกลที่ใหญ่ที่สุด และกลายมาเป็นต้นกำเนิดของพิพิธภัณฑ์จึงจะเป็นที่ใดไปไม่ได้ นอกจากที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นทั้ง ‘เจ้าโลก’ และเจ้าอาณานิคม

The British Museum ถือกำเนิดขึ้นในปี 1750 จากการที่ เซอร์ฮานส์ สโลน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ได้มอบคอลเลกชันส่วนตัวที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิตให้เป็นของขวัญแก่ประชาชนชาวสหราชอาณาจักร โดยคอลเลกชันนี้ประกอบด้วยตัวอย่างของสิ่งสารพันในธรรมชาติที่เซอร์สโลนรวบรวมมาจากอาณานิคมอินเดียและนักสำรวจกว่า 70,000 ชิ้น! จนทำให้ต้องมีการสร้างสถานที่ขึ้นมาเพื่อเป็นห้องสารขัณฑ์ที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้ามารับชมได้ จนกลายเป็นอาคาร The British Museum ที่อิงรูปแบบสถาปัตยกรรมมาจากวิหารกรีกโบราณ สะท้อนถึงการเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ของโลก และการเป็นเจ้าอาณานิคมผู้ยิ่งใหญ่ที่ครอบครองขุมความรู้ของโลกไว้ โดยมีตราเทพีบริตตาเนียประกาศศักดาอยู่ด้านหน้า

การมาถึงของ The British Museum นำมาสู่การแพร่หลายของการนำคอลเลกชันส่วนตัวใน Wunderkammern ออกมาสู่สาธารณะ จาก Wunderkammern แบบ The British Museum ที่จัดแสดงสารพันสิ่งของจากธรรมชาติวิทยาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่จะเข้าใจองค์ความรู้ในจักรวาล ก็เริ่มมีการสร้างห้องสารขันธ์สาธารณะหรือพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงคอลเลกชันที่เฉพาะเจาะจงลงไป เช่น คอลเลกชันงานศิลปะโดยเฉพาะ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการถือกำเนิดของพิพิธภัณฑ์ศิลปะมากมายในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น Capitoline (กรุงโรม, 1734) หรือ Louvre (ปารีส 1793) ซึ่งแม้จะจัดแสดงงานศิลปะโดยเฉพาะ แต่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเหล่านี้ก็ยังคงรับรูปแบบการจัดแสดงผลงานตามต้นแบบ The British Museum ที่รับสืบต่อมาจาก Wunderkammern นั่นก็คือการจัดกลุ่มโดยแยกประเภทตามวิวัฒนาการและช่วงระยะเวลาในประวัติศาสตร์ แต่ในกรณีของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ จะเป็นการจัดโดยแบ่งกลุ่มตามประเทศ สำนักทางแนวคิด หรือกลุ่มศิลปิน ตัวอย่างเช่น การจัดแสดงงานศิลปะ Renaissance แล้วตามด้วยศิลปะ French Neoclassisicm ซึ่งเป็นยุคสมัยทางศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากยุคก่อนหน้า

รูปแบบการจัดแสดงศิลปะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นมโนทัศน์การจัดเรียงเรื่องราวต่าง ๆ ผ่ายสายตาของเจ้าอาณานิคม ที่มีการเรียงลำดับความสำคัญโดยมีความเชื่อเรื่องเจ้าผู้ปกครองอาณานิคมที่สูงกว่าเป็นแก่นกลาง ในยุคนี้ศิลปะอียิปต์จะถูกจัดวางตามหลังศิลปะกรีก ตามความเชื่อของเจ้าอาณานิคมในยุคนั้นที่มองว่าวิทยาการของอียิปต์โบราณยังด้อยกว่าแนวความคิดของชาวกรีก ความน่าสนใจก็คือการที่ลักษณะการจัดเรียงตามไทม์ไลน์หรือความสำคัญนี้ยังเห็นได้ในพิพิธภัณฑ์ทั่วไป

ผนังสีขาวสี่ด้าน

แล้วจากสีแดงและสีเขียวที่แสดงถึงความหรูหราและความล้ำค่าของงานศิลปะ กำแพงในแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์เริ่มกลายเป็นสีขาวตั้งแต่เมื่อไหร่?

แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานข้อมูลที่แน่ชัด เนื่องจากวิถีการเก็บบันทึกข้อมูลของพื้นที่ศิลปะในยุคสมัยก่อนยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และภาพถ่ายส่วนใหญ่ยังคงเป็นภาพถ่ายขาวดำ แต่จากหลักฐานที่พอรวบรวมได้ในยุคหลัง นักประวัติศาสตร์ศิลปะก็เชื่อว่า จุดเริ่มต้นของกำแพงสีขาวในห้องจัดแสดงศิลปะนั้นเริ่มเห็นเค้าลางครั้งแรกในงานแสดงผลงานเดี่ยวของศิลปินหัวขบวนอาร์ตนูโวอย่าง กุสตัฟฟ์ คลิมต์ ที่งาน Venice Biennale ในปี 1910 ซึ่งหนึ่งในตลกร้ายของประวัติศาสตร์ลูกบาศก์สีขาวก็คือ ผู้ที่บุกเบิกแกลเลอรีสีขาวเป็นกลุ่มแรก ๆ กลับเป็นผู้ปิดกั้นอิสระทางความคิดและความสร้างสรรค์อย่างกองทัพนาซี โดยใช้สีขาวเป็นสีสำหรับพื้นที่จัดแสดงศิลปะ เพื่อสะท้อนนัยถึงความหมายเรื่องชาติพันธุ์อันบริสุทธิ์ของชาวอารยันนั่นเอง

<p><i>การจัดแสดงผลงานของ กุสตัฟฟ์ คลิมต์ ในงาน Venice Art Biennale in 1910.</i></p>

การจัดแสดงผลงานของ กุสตัฟฟ์ คลิมต์ ในงาน Venice Art Biennale in 1910.

<p>อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในแกลเลอรี ณ กรุงมิวนิค</p>

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในแกลเลอรี ณ กรุงมิวนิค

แต่จุดเปลี่ยนของสีกำแพงและรูปแบบการจัดแสดงผลงานที่เห็นได้ชัดเจนนั้นเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ในยุคปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 โดยก่อนหน้านั้น สถานที่สำคัญในอเมริกายังคงสืบทอดสไตล์สถาปัตยกรรมที่เน้นความหรูหราตามแบบยุคคลาสสิกมาจากประเทศในยุโรป แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของคนชนชั้นใหม่ในสังคม นั่นก็คือชนชั้นกลาง รูปแบบสถาปัตยกรรมอันหรูหราประดับประดาฟุ่มเฟือยจึงค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลง โดยมีการเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งแรกของอเมริกาอย่าง Museum of Modern Art หรือ MoMA แห่งกรุงนิวยอร์กในยุค 1930s เป็นหมุดหมายหลักของการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ศิลปะ

ที่จริงแล้ว MoMA ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเจ้าแรกในอเมริกาที่หันมาใช้ผนังสีขาว แต่ด้วยความที่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่อุทิศให้งานศิลปะยุคใหม่ (ในเวลานั้น) ที่เปิดพื้นที่ให้สาธารณชนได้เข้ามาสำรวจงานศิลปะที่ปกติแล้วมักถูกเก็บเป็นคอลเลกชันส่วนตัวหรือแขวนขายอยู่ในแกลเลอรีเอกชน จึงทำให้ที่นี่เป็นผู้นำเทรนด์ที่พอเริ่มทำแล้ว ที่อื่นก็รับเอามาทำตามบ้าง โดยการตัดสินใจรองพื้นหลังงานศิลปะด้วยกำแพงสีขาวนี้มาจากไดเรกเตอร์คนแรกของ MoMA อย่าง อัลเฟรด บาร์ ซึ่งในเวลาต่อมา กำแพงสีขาวในพิพิธภัณฑ์ก็เหมือนถูกเซ็ตเป็นค่ามาตรฐานที่แกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ ในอเมริกาเดินตาม

<p><i>นิทรรศการแรกของ MoMA ในปี 1929 จัดแสดงผลงานของ Cezanne, Gauguin, Seurat และ van Gogh&nbsp;</i></p>

นิทรรศการแรกของ MoMA ในปี 1929 จัดแสดงผลงานของ Cezanne, Gauguin, Seurat และ van Gogh 

จุดเริ่มต้นของการเริ่มใช้สีขาวในพื้นที่จัดแสดงมาจากการที่บาร์ได้จัดนิทรรศการ Cubism and Abstract Art ในปี 1936 ซึ่งเป็นการชวนผู้ชมย้อนกลับไปสำรวจขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ปฏิวัติหน้าศิลปะสมัยใหม่ที่เปิดทางให้ขบวนการศิลปะหัวก้าวหน้าในยุคหลัง โดยนิทรรศการในครั้งนั้นถูกบันทึกไว้ในฐานะนิทรรศการที่สำรวจขบวนการศิลปะครั้งแรกที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น บนกำแพงสีขาวของพิพิธภัณฑ์ บาร์ยังได้จัดแสดงผลงานโดยไม่เรียงตามไทม์ไลน์ลำดับก่อนหลัง อันเป็นกระบวนท่าพื้นฐานของการ ‘เล่าเรื่อง’ ในการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ แต่จัดเรียงไปตามการเล่าเรื่องของบาร์ที่เป็นผลลัพธ์มาจากการวิเคราะห์และประมวลความเข้าใจเกี่ยวกับมูฟเมนต์นี้ของบาร์เอง

<p><i>นิทรรศการ Cubism and Abstract Art ในปี 1936</i></p>

นิทรรศการ Cubism and Abstract Art ในปี 1936

<p><i>โปสเตอร์นิทรรศการ Cubism and Abstract Art ในปี 1936</i></p>

โปสเตอร์นิทรรศการ Cubism and Abstract Art ในปี 1936

การจัดแสดงด้วยผนังสีขาวเรียบ ๆ ที่ไร้การตกแต่ง การจัดไฟเรียบ ๆ กับพื้นไม้ธรรมดา ไปจนถึงการยกผนังทั้งด้านให้กับงานบางชิ้นได้ฉายเดี่ยว ทำให้ความสนใจทั้งหมดของผู้ชมพุ่งไปยังชิ้นงาน และทำให้ชิ้นงานเป็นเอกเทศ ตัดขาดจากบริบทและสิ่งแวดล้อมที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานไปจนสิ้น และนับจากนั้นเป็นต้นมา พื้นหลังสีขาวที่วางตัวสงบเสงี่ยมอยู่เบื้องหลังงานศิลปะ ก็กลายเป็นสิ่งที่เห็นได้ในแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ศิลปะทั่วไป

แต่กำแพงสีขาวนั้นเป็นแค่กำแพงทาสีขาวที่ไร้ความหมาย ไร้การเมือง และไร้พิษสงอย่างที่ว่ามาจริงหรือ? ในตอนหน้าเราจะไปสำรวจเบื้องหลัง ‘สีขาว’ ที่มีความหมายและความซับซ้อนมากกว่าที่ตาเห็นร่วมกัน

Artland.com

Eigenheer, M., Drabble, B., & Richter, D. (2007). Curating critique. Frankfurt am Main: Revolver. เข้าถึงได้จาก https://www.on-curating.org/issue-9.html#.YkQyQG5By3L