‘Godzilla’ คือเรื่องราวของ ‘ไคจู’ (ชื่อเรียกสัตว์ประหลาดในภาษาญี่ปุ่น) ที่ถือกำเนิดขึ้นมาในระหว่างที่กองทัพทหารกำลังทดสอบ ‘ระเบิดนิวเคลียร์’ ที่รุนแรงมาก ๆ จนไปปลุกสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ผู้หลับใหลอยู่ใต้ทะเลลึกให้ตื่นขึ้นมา ก่อนจะกลายพันธุ์เป็นสิ่งมีชีวิตทรงพลังและบุกขึ้นฝั่งเพื่อทำลายล้างประเทศญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ราบเป็นหน้ากลอง
นี่คือพล็อตของภาพยนตร์เรื่อง ‘Godzilla’ ภาคแรก ที่ออกฉายในปี 1954 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแรกของแฟรนไชส์หนังสัตว์ประหลาดนักทุบตึกในตำนานทั้งหมด และแม้ว่าจะผ่านมานานกว่า 70 ปีแล้ว แฟรนไชส์เรื่องนี้ก็ยังคงโด่งดังและมีแฟนคลับเหนียวแน่นมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะภาคล่าสุดที่เพิ่งออกฉายไปในปี 2023 อย่าง ‘Godzilla Minus One’ ก็เพิ่งคว้ารางวัลออสการ์ สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม ในปี 2024 มาได้ แถมยังขึ้นชื่อว่าเป็นภาคที่คนโหลดเถื่อนมาดูมากที่สุด เนื่องจากไม่มีสตรีมมิ่งแบบถูกลิขสิทธิ์เอามาฉายสักทีอีกด้วย (ปัจจุบันมีใน Netflix แล้วนะ)
แต่แม้ว่า ‘Godzilla’ จะเป็นหนังแนวแฟนตาซี-ไซไฟ เน้นฉากต่อสู้แบบดุเดือด กับเอฟเฟกต์มันส์ ๆ ที่ทำให้คนดูตื่นเต้น แต่นอกเหนือจากเรื่องความบันเทิงแล้ว โทโมยูกิ ทานากะ ผู้สร้าง Godzilla ยังเคยบอกเอาไว้ด้วยว่า จริง ๆ แล้ว Godzilla เป็นเหมือนภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ความกลัวของชาวญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีต่อระเบิดนิวเคลียร์ อันเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิในปี 1945 ด้วย และเขาอยากแสดงให้ทุกคนเห็นภาพของการถูก ‘ธรรมชาติ’ เอาคืน ผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้
Godzilla ยังเป็นอุปมาถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย สังเกตได้จากบทบาทของ Godzilla ที่เริ่มต้นด้วยการเป็นตัวร้ายทำลายบ้านเมืองของญี่ปุ่น ก่อนจะกลายมาเป็นฝั่งปกป้องประเทศในภาคหลัง ๆ ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่สหรัฐอเมริกากระทำกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะกลายมาเป็นพันธมิตรกันจนถึงทุกวันนี้
นอกเหนือจากปูมหลังทางประวัติศาสตร์ อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือเรื่องของ ‘ดีไซน์’ ที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Godzilla หน้าตาเปลี่ยนไปบ่อย ๆ ก็คือเทคนิคการถ่ายทำ เพราะต้องยอมรับว่าพี่ Godzilla เขาอยู่มาทุกยุคจริง ๆ เลยมีเทคนิคการถ่ายทำที่หลากหลายมาก ตั้งแต่การให้คนสวมชุดสูทสัตว์ประหลาดหนักกว่า 100 กิโลในยุคแรก ๆ ก่อนจะพัฒนาให้ชุดสูทเบาลง และมาจบที่ CGI ในยุคปัจจุบัน รวมถึงเนื้อเรื่องเองก็มีส่วนสำคัญ ดังที่เราบอกไปว่าบางที Godzilla ก็เป็นตัวดี บางทีก็เป็นตัวร้าย ด้วยเหตุนี้ดีไซน์เลยต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วย
วันนี้ Goundtrol เลยรวบรวม 10 ดีไซน์หลัก ๆ ของ Godzilla ตั้งแต่เรื่องแรกยันเรื่องปัจจุบันมาทำเป็นไทม์ไลน์ให้ทุกคนได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงกันแบบง่าย ๆ จะได้ตามไปดู Godzilla Minus One ใน Netflix กันแบบมีอรรถรสมากขึ้น ตามมาสำรวจไปพร้อมกันเลย
และนี่คือ ‘Godzilla’ กับ 10 วิวัฒนาการที่ไม่ได้ออกแบบมาแค่อยากให้น่ากลัว
1954
Godzilla ตัวแรกถูกออกแบบตามไดโนเสาร์สามตัว ส่วนหงอนที่หลังได้มาจาก Stegosaurus รูปร่าง ได้มาจาก Tyrannosaurus rex และแขนได้มาจาก Iguanodon โดยผู้สร้างต้องการให้พี่ Godzilla ตัวใหญ่ดุดัน เพื่อแสดงถึงความน่ากลัวและภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ และตรงเกล็ดยังมีรอยแผลคีลอยด์จากระเบิดนิวเคลียร์ เพื่อสื่อถึงผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฮิโรชิมาและนางาซากิด้วย
1962
เป็นภาคที่ Godzilla ได้เจอกับคิงคอง เลยออกแบบให้มีรูปร่างกำยำขึ้น จะได้ดูแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือในการต่อสู้กับคิงคอง
1964
ไม่ใช่แค่พ่นแสง กระทืบเท้า กวาดมือ แต่พี่ Godzilla ยุคนี้สามารถต่อสู้แบบคลุกวงในระดับนักมวยปล้ำได้ด้วย เลยดีไซน์ชุดใหม่ให้ผอม กระชับ คล่องแคล่ว นักแสดงจะได้ต่อสู้กับศัตรูได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
1965- 1967
ในช่วงนี้เหมือนว่าผู้สร้างหนังจะอยากเจาะตลาดไปที่เด็ก ๆ เป็นพิเศษ Godzilla ในยุคนี้เลย มีใบหน้ากลม ดวงตาโตกะพริบได้ เพื่อดึงดูดความสนใจจากเด็ก ๆ โดยเฉพาะในภาค Son of Godzilla (1967) ที่ Godzilla มีลูก บอกเลยว่าน่ารักสุด ๆ
1968 - 1995
พอกันทีกับความแบ๊ว ในปี 1968 Godzilla ก็ถูกดีไซน์ให้กลับมาดุดันเข้มแข็งอีกครั้ง เพื่อฟื้นความน่าสะพรึงกลัวของ Godzilla ในฐานะภัยคุกคามระดับโลกให้กลับมา
1998
ฮอลลีวูดขอแจม แต่เหมือนว่าทางฝั่งต้นตำรับอย่างผู้สร้างจะไม่ปลื้มสุด ๆ เพราะฮอลลีวูดออกแบบ Godzilla ให้ออกมาเป็น ‘ไดโนเสาร์’ มากเกินไป จนเหมือนกับเอาคำว่า ‘God’ ออกจากชื่อเรื่อง บางคนก็บอกว่านี่มันคือหายนะ บางคนก็บอกว่านี่มันอีกัวน่าหรือเปล่า?!
1999
หลังจากการดีไซน์ของฮอลลีวูดไม่ประสบความสำเร็จ ทางฝั่งญี่ปุ่นเลยล้างตาและพาทุกคนย้อนกลับมาพบกับ Godzilla ดีไซน์เดิม เพิ่มเติมคือความเพรียวบางที่มากขึ้น
2001 - 2014
ในช่วงนี้ดีไซน์ของ Godzilla จะมีความคล้ายกับต้นฉบับในยุคแรก ๆ ที่เน้นเรื่องความแข็งแรง กำยำ ดุร้าย เพื่อแสดงถึงพลังทำลายล้างอย่างแท้จริง
2016
ในยุคนี้ Godzilla เริ่มมีวิวัฒนาการดีไซน์ที่แปลกใหม่กว่าเดิม เพราะไม่ได้เน้นที่ความทรงพลังเพียงอย่างเดียว แต่ยังเพิ่มความ ‘สยอง’ เข้ามาด้วย เช่น ส่วนแขนก็ออกแบบให้เล็กลงกว่าเดิม ตรงที่เป็นมือก็คล้ายกับมือมนุษย์ ทั่วทั้งร่างยังมีการเคลือบแสงสีแดงเรือง ๆ เพื่อสื่อถึงผลพวงจากนิวเคลียร์ที่ยังไหลเวียนในตัวด้วย
2023
มาถึงภาคล่าสุดที่คว้ารางวัลออสการ์มา บอกเลยว่างานภาพเขาสวยและน่าเกรงขามจริง ๆ แต่สิ่งที่พิเศษขึ้นก็คือการที่ผู้กำกับ ‘ทาคาชิ ยามาซากิ’ ได้ออกมาบอกว่าดีไซน์ของ Godzilla ภาคนี้ได้เค้าโครงมาจาก ‘แมว’ ของเขาเอง จึงไม่ต้องแปลกใจถ้ารู้สึกว่านิสัย หน้าตา และการเคลื่อนไหวของ Godzilla จะเหมือนแมว
อ้างอิง
https://www.polygon.com/23960731/godzilla-monarch-minus-one-tv-show-movie-history
https://multimedia.scmp.com/infographics/culture/article/3012245/godzilla/index.html?src=social
https://screenrant.com/godzilla-1998-movie-toho-hated-reason-millennium-series/
https://www.thewrap.com/godzilla-minus-one-director-cats-oscars-interview/