คุยกับ “อัครา นักทำนา” ช่างภาพสตรีท กับ CTypeMag Gallery พื้นที่แห่งใหม่ของคนทำงานศิลปะ

Post on 24 January

ทุกวันนี้การถ่ายภาพสตรีท (Street Photography) ได้เข้ามาเป็นหนึ่งของกระแสการถ่ายภาพในบ้านเราอย่างเต็มตัว ด้วยรูปแบบของภาพถ่ายที่เกิดขึ้นจากการเฝ้าสังเกตสิ่งรอบตัวที่แสนธรรดา แต่นำมาถ่ายทอดด้วยมุมมองใหม่ของช่างภาพที่เต็มไปด้วยความน่าสนใจ เสริมใส่จินตนาการที่มีทั้ง ความสนุก ขำขัน ลึกลับ และแปลกตา ทุกคนจึงสามารถเรียนรู้ที่จะหัดถ่ายภาพสตรีทได้จากทุกหนทุกแห่ง ทั้งยังมีช่างภาพไทยจำนวนไม่น้อยไปคว้ารางวัลภาพถ่ายสตรีทจากเวทีประกวดระดับโลกมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา

และหนึ่งในนั้นคือ ‘พี่หนิง-อัครา นักทำนา’ ช่างภาพสตรีทชาวไทยผู้ได้รับการยอมรับในวงการถ่ายภาพจากระดับนานาชาติมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น IPA Street Photography Asia Award 2013, Miami Street Photography Festival 2013 อีกทั้งผลงาน Photo Zine จากชุดภาพถ่าย SIGNS ของพี่หนิง ยังได้รับการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของ Franklin Furnace Archive ของ MoMA Library และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Street Photo Thailand กลุ่มช่างภาพสตรีทที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้การถ่ายภาพสตรีทเป็นที่นิยมในประเทศไทย

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว พี่หนิงได้ก่อตั้ง CTypeMag นิตยสารออนไลน์เพื่อเปิดโอกาสให้ช่างภาพหรือศิลปินอิสระได้มีพื้นที่แสดงผลงานของตนเอง โดยเขารับบทบาทเป็น Curator เพือคัดเลือกผลงานเองทั้งหมด

และในวันนี้ พี่หนิงขยับไปอีกก้าว ด้วยการเปิด CTypeMag Gallery แกลลอรี่เล็กๆ ย่านพระโขนง เพื่อขยับขยายทิศทางของนิตยสารออนไลน์ที่รัก และเปิดโอกาสใหม่ๆให้กับศิลปินที่อยากมีนิทรรศการเป็นของตนเองแบบ On Ground มากขึ้น โดยนิทรรศการแรกของแกลลอรี่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่กำลังจะถึงนี้

คอลัมน์ In Focus พาเราเดินทางไปถึงแกลลอรี่น้องใหม่แห่งนี้ เพื่อพูดคุยกับก้าวสำคัญของ CTypeMag และชีวิตที่ผ่านมาของช่างภาพสตรีทผู้นี้กัน

จุดเริ่มต้น

“เราเริ่มทำ CType Magazine มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 เนื่องจากตอนนั้นมีลูกพอดีก็เลยไม่ค่อยได้ถ่ายรูป แต่เราก็ยังอยากที่จะมีอะไรทำที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพบ้าง ก็เลยคิดว่าเราน่าจะมีคล้ายๆ กับแพลทฟอร์มที่เผยแพร่งานช่างภาพรุ่นใหม่ๆ และไม่ใช่เฉพาะแนวสตรีทอย่างเดียวด้วยนะ เพราะว่าคนจะเห็นภาพผมเป็นสตรีทอย่างเดียว (หัวเราะ)

เราอยากมีพื้นที่เพื่อที่จะเอางานที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมาแสดง และตอนนั้นคิดว่าวงการถ่ายภาพเมืองไทยในออนไลน์ม้นยังไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้ ก็คือแพลทฟอร์มให้คน submit งานเข้ามา แล้วเราก็ curate เลือกงาน แล้วเผยแพร่งานบนเว็บไซต์ วิธีนี้มันก็เรียบง่ายมากๆ ซึ่งต่างประเทศเขามีกันเยอะมาก แต่ทำไมเราไม่มีแบบนี้ เราก็เลยทำขึ้นมา โดยเริ่มต้นจากไปเชิญช่างภาพที่มีงานน่าสนใจมาลงก่อน เพราะตอนแรกยังไม่มีใครรู้จัก พอหลังๆ พอเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น ก็จะมีเริ่มมีคนมาส่งภาพเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ”

CType ดาวเคราะห์น้อยที่คอยวันเปล่งแสง

“CType มันคือคำที่ใช้เรียกกลุ่มดาวเคราะห์น้อย คำว่าไทป์ (Type) มันแปลว่าประเภท ส่วน C มาจากคำว่าคาร์บอน ซึ่งคาร์บอนเป็นประเภทของดาวเคราะห์น้อยที่ไม่สะท้อนแสง เวลามองหาก็ต้องใช้เวลานิดนึง เปรียบเหมือนคนที่ต้องฝ่าฟันเพื่อเติบโต ต้องใช้เวลาในการขัดเกลา อีกอย่างคำว่า CType มันสะท้อนตัวเราเองค่อนข้างมากด้วย เพราะตอนเราเริ่มต้นเป็นช่างภาพไม่มีใครรู้จักเราเลย กว่าเราจะได้แสดงงาน ได้ตีพิมพ์ผลงาน มันต้องใช้เวลา ดังนั้นเราในฐานะ CTypeMag ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยศิลปินด้วยการให้พื้นที่แสดงผลงาน แต่ว่าต้องมีงานที่น่าสนใจ เป็นงานที่ถูกสกัดออกมาจากคาร์บอนจนกลายเป็นเพชรขึ้นมาเช่นกัน”

จาก Photographer สู่ Curator

“สมัยก่อนตอนเราเป็นช่างภาพ เราพึงพอใจในฐานะคนสร้างงาน ได้ออกไปข้างนอกแล้วได้ภาพถ่ายดีๆ กลับมา ผลิตงานภาพถ่ายและได้ตีพิมพ์ แต่พอมีครอบครัวจนถึงตอนนี้ เรากลายเป็นคนที่มีความสุขที่ได้เลือกงาน ได้ไปเจองานคนอื่น เหมือนกับสารคดีที่เจอชุดภาพถ่ายของวิเวียน ไมเออร์ (Vivian Meier) (สารคดี Finding Vivian Maier) เราว่าคนๆ นั้นเขาน่าจะพึงพอใจที่เขาได้เจอผลงานแบบนี้ ได้พบว่าภาพถ่ายชุดนี้มันควรจะได้รับการแสดงให้คนอื่นเห็น ซึ่งเหมือนกับเวลาเราไปเห็นงานที่ไม่มีใครสนใจแล้วเราเลือกมา แล้วมันได้รับความสนใจจากคนอื่น มันก็สร้างภาคภูมิใจให้กับเราเหมือนกัน”

“พอเราทำ CTypeMag บนออนไลน์มาสักพักนึงแล้ว ตอนนี้เราก็อยากจะเติบโตขึ้นอีกหน่อยเพื่อให้มันสามารถมีคุณค่าต่อวงการถ่ายภาพมากขึ้น ซึ่งจริงๆ ตัวเว็บไซต์เองมันก็มีคุณค่าในระดับหนึ่งอยู่แล้วแหละ แต่ถ้าสมมุติว่าเรามีพื้นที่ให้ผู้ชมโดยเฉพาะคนไทยเข้ามาเห็นงาน Print ของช่างภาพเก่งๆ ที่อาจจะอยู่นอกสายตาสังคมทั่วไปมันจะเป็นยังไง เราก็เลยอยากจะทำ ลองไปสักปีสองปีก่อน ถ้าไม่รอดก็อีกเรื่องนึง แต่ถ้ามันไปได้สวย เราว่ามันก็น่าจะมีประโยชน์กับวงการถ่ายภาพของไทยในแง่ที่ว่า การที่คนได้มาดูงานที่นี่ มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเห็นว่า งานภาพถ่ายมันไม่ได้มีแค่แบบเดียว สตรีทมันไม่ได้มีแค่แบบเดียว มันสามารถแตกออกไปได้อีกหลากหลายมาก"

“CTypeMag Gallery จะมีงานมาจากสองส่วน หนึ่งคือเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้ submit งานเข้ามา แต่ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อยเพื่อทำให้แกลลอรี่นี้อยู่ได้ โดยเราจะทำหน้าที่ curate งานเองเหมือนที่ทำในออนไลน์ สองก็คือถ้าเกิดเราเจองานใครที่น่าสนใจ เราก็จะเชิญมาทำ solo หรือ group exhibition ร่วมกัน อย่างงานแรกที่จะเป็นงาน Grand Opening ของที่นี่ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ก็จะเป็นงานแสดงภาพถ่ายร่วมกันระหว่างเรา คุณแรมมี่ นารูลา และคุณหน่อง-ภูวดล แสงวิเชียร”

ชีวิตศิลปินที่ทำงานประจำในวันธรรมดา และมาเปิดแกลลอรี่ในวันเสาร์อาทิตย์

“สำหรับคนที่อยากเป็นศิลปิน แต่ทำงานประจำแบบเรานี่คือ ยากนะ มันต้องบาลานซ์ดีๆ ทำให้แต่ละอย่างสมดุล แต่สิ่งที่ยากที่สุดเลยคือ คือการยังมีแรงที่อยากทำเหลืออยู่ ไม่งั้นเดี๋ยวมันจะหมดไฟเอา เพราะงานประจำมันก็เหนื่อยอยู่แล้ว แต่เรายิ่งต้องมีแรงเก็บไว้เพื่อสิ่งอยากทำไว้ด้วย”

“เคยมีคนมาถามนะว่าทำไมทำหลายอย่างจัง เราเลยตอบไปว่าที่เราทำหลายอย่างได้ก็เพราะว่าเราอยากทำนี่แหละ พอมันอยากทำ ข้ออ้างต่างๆ นาๆ ทั้งหลายมันก็จะหมดไป เช่น อยากจะออกไปวิ่ง เราจะไปวิ่งเลย ไม่มีอ้างว่าขี้เกียจ คล้ายๆ กับไอเดียว่าถ้าอยากทำอะไรสักอย่างก็คือต้องทำตอนนี้นะ ถ้าไม่ทำตอนนี้เราจะไม่ได้ทำแล้ว เพราะวันหนึ่งในอนาคตเราอาจจะไหลไปตามกระแสสังคมไปเรื่อยๆ จนมารู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ทำในภายหลังก็ได้”

มองสตรีทเมืองไทย และก้าวต่อไปของ CTypeMag

“เราว่างานสตรีทเมืองไทยมันก็ยังไปต่อได้เรื่อยๆ แต่มันอาจไม่พีคมากเหมือนตอนแรกๆ ที่ทวีพงษ์ (ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ - ช่างภาพ) ชนะงานประกวดภาพสตรีทระดับโลกแล้วทำให้สตรีทดังในบ้านเรามากๆ แต่เดี๋ยวเราเชื่อว่ามันก็จะค่อยๆ มีการสร้างงานศิลปะอื่นๆ โดยมีพื้นฐานจากการถ่ายภาพสตรีทขึ้นมาเรื่อยๆ เองในอนาคต”

เราก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะทำ CTypeMag ได้ยาวนานถึง 5 ปีขนาดนี้ ซึ่งมันก็อยู่ในจังหวะการเติบโตที่กำลังดีนะ เราชอบอะไรที่มันค่อยๆ เจริญเติบโต วิธีการของเราน่าจะเป็นแนวคนตัวเล็กๆ ทำตามกำลังที่มี ค่อนข้างเรียบง่าย แล้วปรับเปลี่ยนชีวิตไปเรื่อยๆ มากกว่า การได้เดินช้าๆ ให้มั่นคง รอสักพักแล้วค่อยๆ สร้างอะไรใหม่ขึ้นมา สำหรับเรามันดีต่อตัวเองที่สุดแล้ว ส่วนอนาคตอย่างตัวแกลลอรี่ เราคิดว่าภายใน 2-3 ปีนี้ เราก็อยากทำให้ที่นี่เป็นเหมือนคลับเล็กๆ ให้เป็นพื้นที่รวมตัวของคนทำงานศิลปะที่อาจจะไม่ได้มีงบประมาณมาก แต่ต้องการพื้นที่แสดงงานของตนเอง

เราคิดว่าทุกวันนี้เมื่อภาพสตรีทเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น คนทั่วไปเกิดความเข้าใจมากขึ้นว่าภาพสตรีทเป็นอย่างไร มันอาจจะทำให้ภาพสตรีทสามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ในวงการศิลปะไทยได้
อาจจะมีสักวันในห้องเรียนขณะที่อาจารย์กำลังสอนนักศึกษาว่าภาพสตรีทคืออะไร มีพัฒนาการอย่างไร แล้วก็ยกตัวอย่างการสอนขึ้นมาว่าสำหรับประเทศไทยนั้นการถ่ายภาพสตรีทเป็นแบบนี้ มีผลงานช่างภาพไทยเก่งๆ ให้ศึกษามากมาย โดยไม่จำเป็นต้องเรียนจากสตรีทต่างชาติเพียงอย่างเดียว ก็คือมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาศิลปะในประเทศไทยได้จริงๆ”