ถ้าให้ลองมองย้อนกลับไปในวันที่ผ่านมา เราใช้เวลาในแต่ละวันไปกับอะไรกันบ้าง.. ดูหนัง ฟังเพลง? ไม่แน่ว่าส่ิงที่ทุกคนชื่นชอบเป็นพิเศษ และเลือกทำเป็นประจำ อาจมีส่วนสำคัญต่อจังหวะชีวิตเราโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้
เพลงที่ฟัง และหนังที่ดูในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนเข้ามหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ธีรภาส ว่องไพศาลกิจ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ Beam Wong เลือกตัดสินใจเรียนต่อด้านภายพยนตร์โดยตรง หลังจากนั้น เขาก็เริ่มสร้างผลงานหลาย ๆ ชิ้นขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อาจพูดได้ว่า ‘ภาพยนตร์’ ซึ่งเป็นเหมือนส่วนผสมของศิลปะหลากหลายแนวทางไม่ว่าจะเป็น ภาพ เสียง สัมผัส หรือการออกแบบองค์ประกอบต่าง ๆ ส่งผลถึงงานของ Beam Wong โดยตรง เพราะการได้ก้าวไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ ช่วยให้ตัวเขาปลดล็อกวิธีการทำงาน จนเกิดเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตน ณ ขณะหนึ่งได้เป็นอย่างดี
หลังจากที่ Beam Wong สะสมไอเดีย ทดลองสร้างชิ้นงานในส่วนย่อย เช่น การวาดภาพ หรือทำเพลง ได้ในระดับหนึ่ง ในตอนท้ายสุด เขามักจะสรุปรวบยอดความคิดด้วยการสร้างภาพยนตร์ แม้ว่าแนวคิดการสร้างงานของ Beam Wong จะไม่ได้มีสูตรเบ็ดเสร็จตายตัว แต่เมื่อเราดูผลงานของเขาแล้ว ก็จะพบว่างานหลาย ๆ ชิ้น มีกลิ่นอายของ Cyberpunk อยู่เนือง ๆ โลกที่ไม่เป็นปกติไปซะทีเดียว ตอบรับกับวิธีการเล่าเรื่อง และทำนองเพลงอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สิ่งนี้อาจส่งต่อมาจากความชอบในภาพยนตร์ของสองผู้กำกับชาวเอเชียอย่าง Hong Sang-Soo และ Tsai Ming-Liang ซึ่งมักทดลองวิธีการเล่าเรื่องอยู่เสมอ
แน่นอนว่าการทำงานโปรดักชั่นในบางครั้ง จำเป็นต้องอาศัยแรงคิดจากทีมงานส่วนอื่น ๆ ประกอบด้วย ดังนั้น การสร้างงานชิ้นหนึ่ง จึงไม่ได้จบอยู่แค่ตัว Beam Wong เพียงคนเดียว .. ‘Community’ สำหรับ Beam Wong แล้ว คำนี้คงอธิบายทุกสิ่งได้ดีที่สุด การมีสังคมที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิด มีส่วนสำคัญอย่างมากในการต่อยอดชิ้นงานหนึ่งให้ไปไกลขึ้นทั้งในแง่ของเนื้อหาการสร้างงาน รวมถึงการเข้าถึงกลุ่มคนที่แปลกใหม่ขึ้นตามไปด้วย เห็นได้ชัดจาก ‘JUNK FOOD FABLE’ ภาพยนตร์ยาวเรื่องแรกของเขา ที่ใช้เวลาในการสร้างงานนานที่สุด
Beam Wong เปิดเผยว่า ในการสร้างผลงานแต่ละครั้ง (โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง JUNK FOOD FABLE) ทำให้เขาได้ปลดปล่อยแนวทางใหม่ที่เขาไม่เคยพบมาก่อน และแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะกินเวลาการสร้างนานกว่าภาพยนตร์เรื่องอื่นของเขา แต่ช่วงเวลาการทำงาน ล้วนมีผลกับความสดใหม่ของเรื่องเสมอ เขาได้ค้นพบวิธีการเล่าเรื่องใหม่ที่ยังคงความไม่ปรุงแต่งบางอย่างเอาไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การสร้างสรรค์งานของเขา จึงเป็นเหมือนการเรียนรู้มุมมองใหม่อย่างไม่รู้จบนั่นเอง
Beam Wong ยังคงทดลองสิ่งใหม่ ๆ ต่อยอดไปถึงการวาดภาพ และการทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ที่แม้ว่าแนวทางในการสร้างผลงานดนตรี จะมีความแตกต่างจากเพลงในภาพยนตร์ที่เราคุ้นเคย แต่วิธีที่เขานำเสนองาน ต่างแฝงด้วยกลิ่นอายการทดลองที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
สามารถรับชม JUNK FOOD FABLE ได้ใน Doc Club
ติดตามผลงานของ Beam Wong ได้ที่
Instagram : Beamwong
Facebook : Beam Wong