ศิลปะบนกำแพง ผืนผ้าใบ และไฟล์ดิจิทัลของ Luckyleg ที่เชื่อมประวัติศาสตร์ สังคม การเมืองเข้าด้วยกัน

Post on 24 January

กระแสการเมืองอันร้อนระอุเกินต้านทานในช่วงนี้ ยิ่งทำให้เห็นถึงความสามารถของศิลปินไทยหน้าใหม่มากมาย ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเชิงสัญลักษณ์ผ่านผลงานศิลปะสุดสร้างสรรค์ กลายเป็นที่พูดถึงกันตลอดช่วงที่ผ่านมา ‘Luckyleg’ เองก็เป็นหนึ่งในศิลปินเหล่านั้นเช่นกัน

ความสนใจด้านสังคมและการเมือง ทำให้ Luckyleg เลือกใช้ความสามารถทางศิลปะที่เข้าเรียนมา เป็นสื่อในการแสดงออกทางความคิด เขาลงมือวาดภาพสีน้ำมันลงบนผืนผ้าใบสำหรับเปิดตัวนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่ BACC ในชื่อ ‘Fake Advertising’ ปี 2560 ก่อนจะปรับเปลี่ยนรูปแบบมาทำงาน Digital Art ลงสื่อออนไลน์ในช่วงหลัง เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

Luckyleg เปิดเผยว่า เขามีความชื่นชอบในงาน Appropriation หรืองานที่มีการปรับเปลี่ยนจากรูปแบบศิลปะเดิมเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เพราะเมื่อเราเริ่มคิดจะต่อยอดผลงานเก่าของศิลปินท่านอื่น ๆ สิ่งที่ตามมาคือความท้าทายและความสนุก ในการทำงานครั้งหนึ่ง เขาจะเริ่มคิดจากทั้งคอนเซ็ปต์งานเดิม และหยิบเอารูปแบบ (Form) ที่น่าสนใจในงานนั้น ๆ มาปรับใช้ โดยเลือกเอาผลงานต้นฉบับที่มีเนื้อหาพูดถึงการเมืองอย่างงานของ Dali , Banksy, Goya หรือ Cattelan จากนั้นจึงเปลี่ยนบริบทให้เข้ากับสังคมไทย จนออกมาเป็นผลงานที่สร้างความรู้สึกร่วมให้ผู้คนจำนวนมาก

ความสามารถของ Luckyleg ไม่ได้หยุดอยู่แค่งานภาพวาดเท่านั้น เขายังสนใจงานสาย Street Art และการพ่นสี Graffiti แถมมีการทำงานด้านนี้ควบคู่ไปกับการวาดภาพด้วย ..

สำหรับ Luckyleg การทำงานศิลปะที่พูดถึงสังคม ทำให้เขารู้สึกว่า ตัวเขาเองต้องออกไปเผชิญหน้ากับสังคม ความท้าทายของงานสายสตรีทจึงตอบโจทย์เขาเข้าอย่างจัง รูปแบบของการทำงานบนผนังกำแพง แตกต่างจากการทำงานลงบนผืนผ้าใบอย่างสิ้นเชิง ส่ิงนี้ทำให้ Luckyleg ต้องออกไปตอบโต้กับสังคมจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกับศิลปินด้วยกัน หรือคนที่ผ่านไปผ่านมาเองก็ตาม

ท้ายที่สุดแล้ว นอกจากผลงานศิลปะจะเป็นตัวแทนของศิลปินที่แสดงทางความคิดและความเชื่อต่อสังคมการเมืองแล้ว ตัวศิลปะยังได้เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน และเมื่อผลงานได้รับการเผยแพร่ออกไป นั่นหมายความว่า ตัวศิลปะเองก็ได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนพื้นที่ให้ผู้คนได้แลกเปลี่ยนความคิดกันเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ติดตามผลงานของ Luckyleg ได้ที่ : Facebook, Instagram และ NFT