ปั้น ‘สัตว์หิมพานต์’ ให้เต็ม ‘Zoo’ แล้วตะลุยไปในโลกของประติมากรรมที่ (ไม่) สมบูรณ์แบบของ Nichaceramics

Post on 5 February

จะเป็นอย่างไรถ้าเหล่าสัตว์วิเศษในหิมพานต์ ได้ออกมาโลดแล่นโจนทะยานนอกกรอบวรรณคดี และกลายร่างเป็นสัตว์ตัวจิ๋วให้เราได้เห็นกันแบบใกล้ ๆ? ไม่ต้องนึกฝันจินตนาการเอาเองอีกต่อไป เพราะ นิชา - วิลาวัณย์ ดาศรี’ นักออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์เซรามิกผู้มากฝีมือ เขาได้อาสาขอออกล่าเหล่าสัตว์ป่าในตำนาน แล้วปั้นออกมาให้เราได้ชื่นชมแบบใกล้ ๆ ในชีวิตจริง

การ ‘ล่า’ ที่ว่านี้ ไม่ใช่การแบกกระเป๋าสะพายเป้เข้าป่าหิมพานต์ แล้วไปพาตัวน้อง ๆ ทั้งหลายออกมาโชว์จริง ๆ แต่เป็นการล่าและรวบรวมแรงบันดาลใจจาก ‘ฮูปแต้ม’ ใน ‘สิม’ ของวัดศรีษะเกศ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ต่างหาก โดยทั้งสองคำนี้เป็นชื่อเรียกของ ‘ภาพจิตรกรรมฝาผนัง’ กับ ‘พระอุโบสถ’ ในภาษาอีสานและลาวนั่นเอง

หลังจากรวบรวมครบ เธอก็เริ่มลงมือปั้นผลงานชุด ‘สิมซู’ ที่ถ่ายทอดคาแรกเตอร์เหล่าสัตว์หิมพานต์หลากหลายชนิดออกมาในสไตล์หิมพานต์มาชเมลโลว์ โดยเน้นให้สัตว์มีหน้าตาน่ารักน่าชัง แถมยังมีสีสันสดใสสุด ๆ และด้วยความโดดเด่นเตะตาแบบนี้นี่แหละ เราเลยอยากจะชวนศิลปินมาพูดคุยถึงโปรเจกต์นี้สักหน่อยว่ามีที่มาอย่างไร พร้อมบอกเล่าเรื่องราวของการเริ่มต้นเป็นศิลปินให้เราฟังด้วย

“สิมซูเป็นโปรเจกต์ในวิชาเรียนวัฒนธรรม ป.เอก ค่ะ อาจารย์ให้เราไปศึกษางานศิลปกรรมที่สะท้อนวัฒนธรรมได้ ก็เลยลองเดินทางไปตามวัดต่าง ๆ จนเจอกับฮูปแต้มในสิมของวัดศรีษะเกศ ที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ พอมองแล้วเราก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกอิสระมาก ๆ โดยเฉพาะเวลามองภาพสัตว์ที่ปรากฏอยู่บนฝาผนัง อีกทั้งยังน่ารักด้วย และต่อให้สัดส่วนของมันจะไม่ตรงตามสัดส่วนของสัตว์ในธรรมชาติ แต่นิกลับมองว่ามันดูมีเสน่ห์มาก ๆ เลย” นิชาเริ่มเล่าถึงที่มาของผลงานชุดสิมซูให้เราฟัง

“จากนั้นมาเราเลยเลือกศึกษาที่มาของฮูปแต้มตรงนี้ จนได้ทราบว่าเป็นงานช่างพื้นบ้านที่ใช้นิ้วมือวาด เพราะสมัยก่อนวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ห่างไกล จึงมีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์และช่างฝีมือที่หาได้ยาก บรรดาช่างกับพระในวัดเลยตัดสินใจวาดภาพเหล่านี้ขึ้นมาเอง โดยใช้จินตนาการของตนเองและอุปกรณ์เท่าที่มี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงความศรัทธาแก่พุทธศาสนา”

หลังจากนึกถึงเรื่องนั้น เธอก็เล่าให้เราฟังต่อว่า “เพราะแบบนี้ นิเลยประทับใจมากขึ้นไปอีก เลยตัดสินใจหยิบคาแรกเตอร์ของสัตว์หิมพานต์ภายในสิมแห่งนี้มาทำเป็นงานประติมากรรม และเปลี่ยนฐานะจากสัตว์ที่เป็นเพียง ‘ส่วนประกอบ’ ของเรื่องราวในภาพ ให้กลายมาเป็น ‘ตัวเอก’ ในงานของนิ ก็เลยต้องทำการเปลี่ยนแปลง รื้อสร้าง และจุดประกายความหมายใหม่ โดยใส่ความสนุกสนานลงไปเป็นองค์ประกอบหลักของงานด้วย”

และเหมือนว่าศิลปินจะอยากให้เราเห็นว่างานของเธอนั้นขายความสนุกจริง ๆ เลยแอบกระซิบว่า “ชิ้นงานของนิสามารถถอดประกอบและเปลี่ยนสลับส่วนต่าง ๆ กันไปมาได้ด้วยนะคะ”

พอได้ฟังแบบนี้ก็ทำเอาอยากลองจับน้อง ๆ มาประกอบเล่นด้วยตัวเองสุด ๆ คงคล้ายกับกำลังต่อเลโก้ผสมกับการเป็นนักสร้างสัตว์หิมพานต์สายพันธุ์ใหม่ ก็ถือว่าตรงกับคอนเซปต์ของชิ้นงานที่มาจากจินตนาการจริง ๆ

เมื่อเราถามต่อว่า เธออยากให้ผู้ชมมองเห็นอะไรในงานนี้นอกจากความสนุกไหม นิชาก็ตอบอย่างตั้งใจกลับมาว่า “นิต้องการโชว์ความงดงามของช่างพื้นบ้านให้ทุกคนได้เห็น แม้รูปทรงและสัดส่วนจะไม่เพอร์เฟคตามแบบแผนในอุดมคติ แต่ความตั้งใจจริงที่เกิดมาจากความศรัทราของช่างพื้นถิ่น ที่ต้องการสร้างผลงานให้ออกมาสวยงามนั้น เป็นสิ่งที่ใสซื่อ ตรงไปตรงมา และน่าชื่นชมจริง ๆ แต่ถึงอย่างนั้นงานของพวกเขาก็มักจะถูกมองข้ามและทำลาย”

ส่วนเหตุผลต่อมาที่เธออยากให้คนได้รับรู้หลังจากได้สัมผัสงานของเธอก็คือเรื่องการเรียนรู้ “สัตว์ทุกตัวที่ปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมนั้นมีความหมาย นิอยากให้งานศิลปะของเราเป็นสิ่งที่ชวนให้คนอยากเข้าไปหาคำตอบว่า สัตว์ตัวนี้คือสัตว์อะไร? ปรากฏที่ไหนบ้าง? เวลาเด็ก ๆ ไปวัด ก็อาจจะสนใจในงานศิลปกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามากขึ้น ถือว่าเป็นการสร้างการเรียนรู้ผ่านงานศิลปะ”

คุยกันจนเพลินเราก็นึกขึ้นได้ว่ายังไม่ทราบจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศิลปินอยากทำงานศิลปะเลย พอได้ยินแบบนั้นนิชาก็หัวเราะ “ถ้าจะพูดถึงเรื่องแรงบันดาลใจ นิเริ่มต้นจากการชื่นชอบงานภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่นค่ะ ตอนนั้นเรารู้สึกประทับใจลายเส้นที่เรียบง่ายแต่สามารถสะท้อนสีหน้าและอารมณ์ของภาพได้ดี นอกจากนี้นิยังชอบวาดภาพคนและภาพการ์ตูนเป็นงานอดิเรกด้วยนะ”

“พอเริ่มเรียนเซรามิก นิก็ได้มีโอกาสฝึกงานกับศิลปินท่านหนึ่ง ชื่อคุณสุวนีย์ เนตรวงษ์ เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานที่ได้ใช้อิสระทางความคิดในการสร้างสรรค์ และเป็นครั้งแรกที่ได้สร้างงานจากความคิดของตัวเอง ก็เลยเอาความชอบวาดรูปหน้าคนมาผสมเข้ากับศาสตร์การปั้นงานประติมากรรม จากนั้นก็ถูกชักชวนให้ลองแสดงงานครั้งแรกดู ปรากฏว่ามีคนขอซื้อด้วย ก็เลยคิดว่าจริง ๆ แล้ว เราอาจจะเดินไปในเส้นทางการเป็นศิลปินได้ ก็เลยเริ่มทำงานศิลปะมาตลอด”

นิชายังแชร์ให้เราฟังถึงมุมมองและแนวความคิดของตัวเอง เกี่ยวกับเอกลักษณ์ในการสร้างงานศิลปะด้วยว่า สำหรับเธอนั้น เธอชอบงานที่ ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ มากกว่า

“อันที่จริงเราทำงานหลากหลายมาก และค่อนข้างจะมีรูปแบบแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นเรากำลังสนใจเรื่องอะไรอยู่ หรือต้องการสื่อสารอะไรออกไป ส่วนถ้าจะพูดถึงเอกลักษณ์จริง ๆ ก็คงเป็นแนวคิดแบบ Deconstruction เพราะเราไม่ยึดติดกับเรื่องโครงสร้าง หรือเรื่องระเบียบแบบแผน แต่จะให้ความสำคัญกับอิสระและความไม่สมบูรณ์แบบของชิ้นงานมากกว่า”

"นิเองก็ไม่ได้มีความสามารถด้านศิลปะมากเท่าไร แต่ก็รู้สึกว่าทุกอย่างเป็นงานศิลปะได้นะ สมมุติว่าเราขีดเส้นตรงให้ตรงทุกเส้นไม่ได้ หรือวาดภาพเหมือนได้ไม่เหมือนสักเท่าไร มันก็ไม่ได้แปลว่าเราทำงานด้านศิลปะไม่ได้ เพราะจริง ๆ แล้วความไม่สมบูรณ์แบบก็เป็นความงามอีกอย่างหนึ่ง”

ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมศิลปินถึงสนใจและให้ความสำคัญกับการทำงานของช่างพื้นบ้านในวัด จนเก็บมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานชุดสิมซูออกมาได้ เพราะตัวเธอเองก็ไม่ใช่คนที่สนใจในเรื่องระเบียบแบบแผนหรือความสมบูรณ์แบบเช่นกัน แต่ให้ความสำคัญกับหัวใจที่อยากจะสร้างบางอย่างขึ้นมามากกว่า และบางทีเจ้าสิ่งต่าง ๆ ที่เรามองว่าไม่สวยงามตามขนบและไม่ตรงสูตรเหล่านี้ อาจจะเป็นความสมบูรณ์แบบในอีกรูปแบบหนึ่งที่รอให้เราไปสำรวจอยู่ก็เป็นได้

**สิมซู**

สิมซู

“สิมซู เป็นงานในวิชาเรียนวัฒนธรรม ป.เอก ค่ะ อาจารย์ให้เราไปศึกษางานศิลปกรรมที่สะท้อนวัฒนธรรมได้ ก็เลยลองเดินทางไปตามวัดต่าง ๆ จนเจอกับฮูปแต้มในสิมของวัดศรีษะเกศ ที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะภาพสัตว์ที่ปรากฏบนฝาผนัง ให้ความรู้อิสระมาก น่ารัก ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ตรงตามสัดส่วนของสัตว์ตามธรรมชาติ แต่กลับดูมีเสน่ห์มาก ๆ เลย”

**No more flower**

No more flower

“แรงบันดาลใจคือ แจกันสำหรับใส่ดอกไม้ แต่ถึงแม้ว่ามีหรือไม่มีดอกไม้ก็ตาม แจกันก็ยังสามารถสวยงามและเป็นงานศิลปะได้”

**City Girl**

City Girl

“แรงบันดาลใจมาจากความเป็นผู้หญิงในเมืองที่ต้องเจอกับความเหนื่อยล้าจากสังคม และการการพยายามดิ้นรนใช้ชีวิต ลิปสติกสีแดง คือสีสันที่สื่อว่าพวกเธอเป็นความงดงามบนโลกใบนี้ แม้ในวันที่เหนื่อยล้า”

**The judgment**

The judgment

“แรงบันดาลใจมาจากการที่เรามองว่า ในหลาย ๆ ครั้งการเป็นสตรีเพศก็ทำให้เราถูกตีค่าจากร่างกายมากกว่าความสามารถ นี่จึงเป็นชิ้นงานที่เราตั้งใจสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์ของตัวเอง ความพิเศษของผลงานชิ้นนี้ คือตอนจัดแสดงที่ญี่ปุ่นเรามีโอกาสได้ใช้ผลงานนี้สื่อสารความรู้สึกที่ถูกกดทับจากการเป็นผู้หญิงด้วย เลยเป็นผลงานชิ้นแรกที่ได้จัดแสดงในต่างประเทศ”

**quarantine**

quarantine

“ได้รับแรงบันดาลใจมาจากช่วงกักตัว สมัยที่โควิดระบาดใหม่ ๆ จนไม่สามารถออกไปไหนได้ สะท้อนความเงียบเหงาผ่านมุมมองหญิงสาวที่อยู่ข้างหน้าต่างและการใช้สี”

ถ้าใครอยากเห็นหน้าค่าตาของเหล่าสัตว์ป่าในหิมพานต์สุดน่ารักกันแบบจุใจ ก็สามารถติดตามศิลปินได้ที่: https://www.instagram.com/nichaceramics/