หนึ่งในสัญญาณของการเข้าสู่ฤดูหนาว นอกเหนือจากสายลมเย็น ๆ วูบหนึ่งที่พัดผ่านผิวกายในยามเช้า ก็คงจะเป็นข่าวประกาศเปิดเทศกาล Art on Farm จาก จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ที่ผ่านหน้าไทม์ไลน์ประจำวันของเรานี่แหละ ซึ่งปีนี้ก็เป็นปีที่ 15 แล้ว ที่ฟาร์มแห่งนี้ได้เปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้าไปเยี่ยมชมความสวยงามของนาข้าว ทุ่งดอกไม้ หมู่บ้านอีสาน และไฮไลต์ที่เหล่าอาร์ตเลิฟเวอร์พลาดไม่ได้อย่าง ‘ศิลปะบนฟาร์ม’ จากศิลปินแนวหน้าจากเมืองไทยและต่างประเทศ
Art on Farm 2024 คือเทศกาลศิลปะบนท้องทุ่งที่กลับมาในปีนี้ด้วยธีม ‘อีสานเอิ้นหา’ (ISAN CALLING) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงศิลปะร่วมสมัยเข้ากับวัฒนธรรมอีสานอย่างลึกซึ้ง โดยปีนี้พวกเขาก็กลับมาแบบพิเศษใส่ไข่และยิ่งใหญ่กว่าที่เคย เพราะสามารถรวมผลงานของศิลปินร่วมสมัยระดับแนวหน้ามาได้มากถึง 18 คน พร้อมด้วยเวิร์กชอปสร้างสรรค์ กับโซนถ่ายภาพท่ามกลางธรรมชาติ สวนดอกไม้สวยงาม และกิจกรรมการแสดงสดที่ช่วยเติมเต็มบรรยากาศแห่งความสุขและแรงบันดาลใจ
สำหรับศิลปินทั้ง 18 คนที่เข้าร่วมเทศกาลนี้ ประกอบด้วย พินรี สัณฑ์พิทักษ์, มิตร ใจอินทร์, ออล (โซน), อังกฤษ อัจฉริยโสภณ, เกื้อกมล นิยม, สิทธิกร ขาวสะอาด, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์, ชาตะ ใหม่วงค์, สมลักษณ์ ปันติบุญ, ไจล์ส ไรเดอร์, บุญโปน โพ ทิสาน, เคลซี วากเนอร์, นักปราชญ์ อุทธโยธา, ติงส์แมทเทอร์ (ศาวิณี บูรณะศิลปิน และ ทอม แดนแนกเกอร์), อาทิตยาภรณ์ แสนโพธิ์, ณัฐธิดา พละศักดิ์, นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล, กลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก
ในฐานะที่ทีม GroundControl ได้ออกเดินทางตามเสียงเอิ้นหาของฟาร์มจิมฯ และสวมบทเป็นผู้สาวขาเลาะมาแล้วทั่วเทศกาล แน่นอนว่าเราย่อมไม่พลาดการเก็บภาพบรรยากาศ และรวมงานศิลปะดี ๆ ที่เจอมากลับมาแนะนำทุกคนอีกเช่นเคย บอกเลยว่านอกจากจะฟินกับอากาศดี ๆ วิวสวย ๆ งานศิลปะทุกชิ้นที่นี่ยังมาพร้อมกับคอนเซปต์น่าสนใจ
ตามเสียงเอิ้นหาแล้วมาทำความรู้จักกับผลงานทั้งหมดบน จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม กันได้เลย!
ดัก
ออลโซน
‘ดัก' เป็นงานประติมากรรมที่มีลักษณะเหมือนหลังคาผ้าขนาด 400 ตารางเมตร ออกแบบโดย ออลโซน ได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘ไซ’ เครื่องมือจับปลาแบบพื้นบ้านของไทยที่นอกจากจะใช้จับปลาได้แล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการดักจับสิ่งดี ๆ โชคลาภ และความรุ่งเรืองด้วย
ออลโซน ได้ออกแบบโครงสร้างของงานชิ้นนี้ให้มีความยืดหยุ่นและทนทาน และสามารถสร้างร่มเงาที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติและวัฒนธรรมอีสานได้ยังลงตัว จุดเด่นของงานชิ้นนี้คือสามารถถอดประกอบเพื่อนำไปใช้งานในพื้นที่อื่น ๆ ได้ ถือเป็นผลงานที่ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความอบอุ่นและแรงบันดาลใจในการเชื่อมโยงอดีตเข้ากับโลกสมัยใหม่อย่างลงตัว และเป็นเหมือนเครื่องดักจับแต่สิ่งดี ๆ ให้เข้ามายังฟาร์มจิมด้วย
เนินนมสาว
พินรี สัณฑ์พิทักษ์
เนินนมสาว คือผลงานศิลปะโดย พินรี สัณฑ์พิทักษ์ ศิลปินหญิงร่วมสมัยผู้ทรงอิทธิพลของไทย ผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง ความเป็นแม่ และความศักดิ์สิทธิ์ ผ่านสัญลักษณ์ที่ลึกซึ้งและทรงพลัง ในผลงานชิ้นนี้ เธอใช้ ‘เต้านม’ เป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงระหว่างกายภาพของเพศหญิงและรูปทรงสถูปในพระพุทธศาสนา โดยดัดเส้นโลหะให้เป็นรูปทรงที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ และการหลอมรวมระหว่างธรรมชาติและมนุษย์อย่างกลมกลืน
หุ่นไล่กาต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
นักปราชญ์ อุทธโยธา
นักปราชญ์ อุทธโยธา ถ่ายทอดผลงานศิลปะผ่านหุ่นไล่กาที่ไม่เพียงเป็นงานศิลปะ แต่ยังเป็นตัวแทนของวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น และความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมที่หลอมรวมความดั้งเดิมกับความร่วมสมัย บริบทที่ถูกนำเสนอในจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ยังแสดงให้เห็นถึงความอบอุ่นของเจ้าบ้านที่พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนด้วยประสบการณ์ใหม่และความประทับใจในวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ลึกซึ้ง โดยงานนี้จะจัดแสดงสามจุดด้วยกัน
พญาปราบ (เวลคัมดริ้งค์) คือหุ่นไล่กาชายหนุ่มที่มาในการแต่งกายแบบท้องถิ่นผสมผสานระหว่างเสื้อม่อฮ่อมกับโจงกระเบน ในมือถือเวลคัมดริ้งค์คอยต้อนรับแขกด้วยท่าทางสนุกสนานและอบอุ่น ตั้งอยู่บริเวณทุ่งนาข้างแนวทิวสน
สึ่ม (กระซิบ) คือหุ่นชายหนุ่มและหญิงสาวในชุดพื้นเมืองอีสานกลางทุ่งดอกไม้ สะท้อนความรักและความสัมพันธ์ในพื้นที่ สื่อถึงจิตวิญญาณของคนท้องถิ่นและการเชื่อมโยงความรักข้ามภูมิภาค
เอิ้น คือหุ่นชายหนุ่มและหญิงสาวบนหลังควายโดยได้แรงบันดาลใจมาจากภาพจิตรกรรม ‘ปู่ม่านย่าม่าน’ ที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ถ่ายทอดความรักเหนือกาลเวลาและการประสานวัฒนธรรมเหนือ-อีสาน
ป่าไม้พื้นถิ่นอีสาน
อังกฤษ อัจฉริยโสภณ
ผลงาน ‘ป่าไม้พื้นถิ่นอีสาน’ หรือ ‘Seven Of Pentacles: Forest In Progress’ ของอังกฤษ อัจฉริยโสภณ เป็นผลงานที่มาจากโครงการศิลปะและสิ่งแวดล้อมที่ฟื้นฟูป่าไม้พื้นถิ่นอีสานในพื้นที่ 10 ไร่ ของ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม โดยมุ่งเน้นการปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ โครงการสะท้อนแนวคิดการยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบและการเปลี่ยนแปลงผ่านสัญลักษณ์จากไพ่ ‘Seven Of Pentacles’ ซึ่งสื่อถึงความอดทนและกระบวนการที่ไม่เร่งรัด เพื่อสร้างศิลปะที่ผสานธรรมชาติและเวลา โดยผลงานยังเน้นถึงความหวังและพลังของศิลปะในการรับมือกับความไม่แน่นอนในชีวิตและสังคมปัจจุบัน
The Pilgrimage Within
สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์
The Pilgrimage Within คือผลงานโดย สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ เป็นประติมากรรมที่ผสมผสานศิลปะกับแรงบันดาลใจจากเขาพญาปราบและสถาปัตยกรรมโบราณ โดยมีลักษณะคล้ายวิหารที่สะท้อนภาพธรรมชาติและใช้ปรากฏการณ์ Camera Obscura เพื่อเชื่อมโยงผู้ชมกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ
ผลงานชิ้นนี้ได้เชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้ามาใช้ความคิด ไตร่ตรอง และสำรวจจิตใจภายในอย่างช้า ๆ ท่ามกลางความงามและความสงบของพื้นที่ฟาร์มจิมฯ กับผลงานศิลปะที่สะท้อนปรัชญาทางพุทธศาสนาไปพร้อมกัน ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในพื้นที่ วัสดุ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง
Ligature
ติงส์แมทเทอร์
Ligature คือผลงานของ ติงส์แมทเทอร์ (ศาวินี บูรณศิลปาน และทอม แดนแนกเกอร์) ที่มีลักษณะเป็นศาลาไม้ไผ่ที่สะท้อนถึงความงดงามของวัสดุธรรมชาติและการเชื่อมโยงระหว่างงานหัตถกรรมดั้งเดิมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยโครงสร้างของผลงานชิ้นนี้ถูกออกแบบผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้มีลักษณะเป็นซุ้มคดโค้งสามทิศทาง ก่อนจะผลิตด้วยมืออย่างประณีต
ความพิเศษของงานนี้ คือสามารถเคลื่อนย้าย และปรับเปลี่ยนความหมายได้ตามบริบทของพื้นที่ โดยเคยจัดแสดงครั้งแรกในงานประจำปีของสมาคมสถาปนิกสยาม (ASA) ก่อนย้ายไปยัง Bangkok Art Biennale และล่าสุดคือที่ จิม ทอมป์สัน ฟาร์มแห่งนี้ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นชนบทกับความเป็นเมือง ตอกย้ำวิสัยทัศน์ของติงส์แมทเทอร์ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรม ศิลปะ และงานหัตถกรรมในบริบทที่หลากหลาย
ไม่ได้ทำอะไรให้ มัน เป็นอะไร
สมลักษณ์ ปันติบุญ
ไม่ได้ทำอะไรให้ มัน เป็นอะไร คือผลงานโดย สมลักษณ์ ปันติบุญ เป็นงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ที่ผสมผสานเครื่องปั้นดินเผากับจิตรกรรมนามธรรม เน้นเรื่องความเรียบง่ายและความเป็นธรรมชาติ โดยใช้ดินเป็นสื่อหลักเพื่อสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ผ่านรูปทรง พื้นที่ว่าง และพื้นผิวที่กลมกลืนกันอย่างลงตัว
Cocoon สัญชาติญาณแห่งชีวิต (Instinct)
ชาตะ ใหม่วงค์
Cocoon สัญชาตญาณแห่งชีวิต (Instinct) โดย ชาตะ ใหม่วงค์ เป็นงานศิลปะจัดวางที่ผสานวัสดุธรรมชาติกับงานเหล็กดัดแล้วออกแบบให้เป็นรูปฟักทองยักษ์ ประดับด้วยไม้ยูคาและเส้นไหมถักทอสร้างเป็นรังไหม สื่อถึงสัญชาตญาณในการปกป้องและเติบโต โดยเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์และหนอนไหม ที่สามารถสร้างความงดงามและคุณค่าให้แก่โลกผ่านธรรมชาติและความเรียบง่ายในกระบวนการสร้างสรรค์
บุญผะเหวด
สิทธิกร ขาวสะอาด
ผลงาน บุญผะเหวด โดย สิทธิกร ขาวสะอาด เป็นผลงานจิตรกรรมสีอะคริลิกบนผืนผ้าขนาดใหญ่จำนวน 13 ชิ้น ที่บอกเล่าเรื่องราวของกัณฑ์ทั้ง 13 ในมหาเวสสันดรชาดก จัดแสดงรอบหอแจกในบ้านอีสาน เพื่อสะท้อนวัฒนธรรมบุญผะเหวดของภาคอีสาน หลังการจัดแสดง ผลงานจะถูกนำไปถวายวัดบ้านปอแดง จังหวัดยโสธร เพื่อสร้างกุศลและประโยชน์แก่ชุมชนในพื้นที่
Lie of the Land
บุญโปน โพทิสาน
Lie of the Land โดย บุญโปน โพธิสาน คือผลงานศิลปะที่ถ่ายทอดความวิตกกังวลจากสภาวะสงครามในประเทศลาว ผ่านผลงานศิลปะจัดวางที่สะท้อนถึงลูกระเบิดที่ยังคงถูกฝังในแผ่นดินลาว อันเป็นมรดกแห่งความขัดแย้งซึ่งส่งผลต่อชีวิตผู้คน
แม้สงครามจะสร้างความทุกข์ แต่บุญโปนมองว่าเราสามารถแปรเปลี่ยนอดีตให้เป็นโอกาสได้ โดยนำวัสดุจากยุทโธปกรณ์มาสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต เช่น เครื่องครัวและวัสดุก่อสร้าง ผลงานชิ้นนี้จึงตั้งคำถามกับผู้ชมถึงการอยู่ร่วมกับร่องรอยแห่งอดีตอย่างสร้างสรรค์และเต็มไปด้วยความหวัง
ยุพิน แอนด์ จอห์น
ณัฐธิดา พละศักดิ์
ยุพิน แอนด์ จอห์น โดย ณัฐธิดา พละศักดิ์ คือผลงานที่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘เมียเช่า’ ในยุคสงครามเวียดนาม ที่ได้แรงบันดาลใจจากบทเพลง แล้วถ่ายทอดออกมาในรูปแบบใหม่ ผ่านการปักหมอนสไตล์อีสานที่แสดงถึงภาพความฝันและความรักชั่วคราวกับทหารอเมริกัน เพราะแม้ว่าชีวิตในช่วงนั้นจะสะดวกสบายเพียงชั่วครู่ แต่เมื่อสงครามสิ้นสุด พวกเธอต้องเผชิญความยากลำบากอีกครั้ง
อีสานบันเทิง
ไจล์ส ไรเดอร์
ไจล์ส ไรเดอร์ (เกิดปี 2515 ที่เมืองบริสเบน ออสเตรเลีย) เป็นศิลปินชาวออสเตรเลียที่พำนักในประเทศไทยมากกว่าสิบปี ผลงานของเขาเน้นการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางการรับรู้ ผ่านศิลปะจัดวางแสง ภาพวาด และวัสดุต่าง ๆ โดยผสมผสานวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และคุณค่าดั้งเดิมเข้ากับองค์ประกอบที่หยุดชะงักและชั่วคราว ผลงานของไรเดอร์จัดแสดงทั้งในระดับนานาชาติและในประเทศ โดยเขาเคยได้รับทุนและพำนักสร้างสรรค์จากสถาบันชั้นนำหลายแห่ง เช่น MMCA ของเกาหลี และ Samstag International Visual Arts Scholarship ในเยอรมนี
ในเทศกาล Art on farm 2024 ครั้งนี้ ไรเดอร์ได้นำผลงานมาร่วมด้วยกันทั้งหมดสามชิ้น ได้แก่ กาแล็กซีที่แตกหัก [แกนชาร์จ], ไก่ชน และ ซิปแซป [อีสานดิสโก้]
โครงการโกลเด้นแลนด์
เคลซี เมอเรกค์ วากเนอร์
โครงการโกลเด้นแลนด์ โดย เคลซี เมอเรกค์ วากเนอร์ เป็นงานศิลปะสิ่งทอที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้วัสดุรีไซเคิล เช่น เศษพลาสติกและผ้าทิ้งจากการผลิต เพื่อถ่ายทอดความงดงามของธรรมชาติและความสำคัญของทรัพยากรในภูมิภาคอีสาน ทั้งแม่น้ำ ดิน และภูเขา ขณะเดียวกันก็แฝงข้อความเตือนถึงผลกระทบจากมลพิษพลาสติกที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ โดยจัดแสดงในรูปแบบที่เชิญชวนให้ผู้ชมมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการถักทอร่วมกัน
ลาน เสี่ยว โฮม เส้นทางชมงานศิลปะผ่านเรื่องเล่า
เกื้อกมล นิยม
‘ลานเสี่ยวโฮม’ หมายถึง ‘ที่รวมเพื่อนรัก’ ผลงานชิ้นนี้จึงเชื่อมโยงพื้นที่เขาพญาปราบกับงานศิลปะจัดวางในทุ่งคอสมอสสีสดใส งานนี้ออกแบบให้ผู้ชม โดยเฉพาะเด็ก ๆ ได้สนุกและเข้าถึงศิลปะง่ายขึ้นผ่านตัวละครที่ดูมีชีวิตชีวาและเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก
งานศิลปะชิ้นนี้ประกอบไปด้วยสามองค์ประกอบหลัก ได้แก่ บอร์ดสังกะสีที่เด็กเล่นปรับเปลี่ยนได้ เส้นทางชมศิลปะพร้อมธงที่ให้คำแนะนำและชวนคิด และเนื้อหาเพิ่มเติมของแต่ละชิ้นงานที่เข้าถึงได้ผ่าน QR code เพื่อฟังเรื่องเล่าบน SoundCloud ทั้งหมดนี้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับศิลปะในรูปแบบใหม่ที่สนุกและสร้างสรรค์
อุโมงค์แห่งผู้คน เสาแห่งผู้คน บีบ และศาลาจิตรกรรม
มิตร ใจอินทร์
มิตร ใจอินทร์ คือศิลปินนามธรรมผู้มีชื่อเสียงจากการใช้สีสันสดใสและเทคนิคการสร้างสรรค์ที่ท้าทายขอบเขตศิลปะแบบเดิม บนฟาร์มจิมฯ แห่งนี้ มิตรได้นำเสนอผลงานที่สะท้อนบริบททางสังคม การเมือง และประวัติศาสตร์ ผ่านการผสมผสานความงามของธรรมชาติและโครงสร้างสถาปัตยกรรมในพื้นที่
ผลงานชุดแรกคือ ‘อุโมงค์แห่งผู้คน’ และ ‘เสาแห่งผู้คน’ โดยแสดงความเชื่อมโยงระหว่างงานศิลปะกับสภาพแวดล้อม ด้วยการใช้โครงสร้างโลหะและผ้าใบหลากสีเป็นสื่อกลาง ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตามแสง ลม และพื้นที่ นับเป็นผลงานที่เชื่อมโยงศิลปะเข้ากับสังคมและธรรมชาติอย่างกลมกลืน
ชุดต่อคือ ‘บีบ’ ที่นำเสนอการทดลองเกี่ยวกับกายภาพและการมีอยู่ของวัสดุ โดยใช้สีน้ำมันลินซีดและเม็ดสีทาลงบนผ้าใบอย่างหนาแน่น สร้างพื้นผิวที่สามารถสัมผัสได้และสื่อถึงแรงกดดัน ผลงานเป็นวิวัฒนาการจากซีรีส์ ‘ทุบทลาย’ ซึ่งแสดงความแข็งแกร่งของแรงกระแทกแต่ยังคงความรู้สึกธรรมชาติ โดยถ่ายทอดน้ำหนักและแรงโน้มถ่วงผ่านท่าทางการกดที่ตั้งใจ พร้อมฝากร่องรอยที่คงอยู่ยาวนานบนพื้นผิว
และผลงานสุดท้ายคือ ‘ศาลาจิตรกรรม’ ผลงานนามธรรมโทนสีดิน ถ่ายทอดความรู้สึกราวกับเศษซากที่ค้นพบจากแหล่งโบราณคดี โดยผลงานสะท้อนถึงความต้องการของมนุษย์ในการสื่อสารและสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ รูปทรงที่ละเอียดอ่อนบางครั้งแทบมองไม่เห็น เสมือนถูกกัดเซาะด้วยกาลเวลา ชวนให้ผู้ชมสัมผัสถึงความงดงามและความหมายที่ซ่อนอยู่ในอดีตกาล
กากีในเมืองขามป้อม
อาทิตยาภรณ์ แสนโพธิ์
กากีในเมืองขามป้อม เป็นผลงานศิลปะของ อาทิตยาภรณ์ แสนโพธิ์ ที่สะท้อนถึงผลกระทบของนโยบายการเกษตรแบบ Top-down ในภาคอีสาน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรกรรมจากการพึ่งพาตนเองไปสู่การเกษตรเชิงพาณิชย์ในยุคสงครามเย็น
ผลงานชิ้นนี้นำเสนอผ่านสื่อศิลปะหลากหลายรูปแบบ เช่น วิดีโออาร์ตและศิลปะจัดวาง เพื่อสำรวจปัญหาที่ซ้อนอยู่ในความธรรมดาของชีวิตประจำวันในพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐ นายทุน และเกษตรกร การเล่าเรื่องนี้เชื่อมโยงกับบริบทประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างลึกซึ้งและน่าฉุกคิด
หลงฟาร์ม
นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล
หลงฟาร์ม คือผลงานศิลปะสาธารณะ โดย นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล และทีมงานนาวินโปรดักชัน สื่อถึงความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนและสถานที่ผ่านศิลปะโปสเตอร์ภาพยนตร์แบบเฉพาะตัว ผลงานนี้จัดทำขึ้นสำหรับงาน จิม ทอมป์สัน ฟาร์มทัวร์ โดยนำเสนอเรื่องราวผ้าขาวม้าในวัฒนธรรมไทย พร้อมเฉลิมฉลองครบรอบ 110 ปีของจิม ทอมป์สัน ผ่านการเปิดตัวเพลง ‘มหัศจรรย์ผ้าขาวม้า’ ที่ผสานดนตรีพื้นบ้านอีสานเข้ากับดนตรีร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน