James Jean กับลายเส้นที่บาดลึกในความรู้สึก

Post on 24 January

การเกิดที่ไต้หวันโดยไม่มีพื้นฐานในการอ่านเขียนภาษาจีนหลงเหลืออยู่ และความจำเป็นที่ต้องย้ายถิ่นฐานมาเติบโตในอเมริกา ทำให้คำว่า ‘บ้าน’ ไม่เคยมีอยู่อย่างแท้จริงในชีวิตของ James Jean ความรู้สึกโดดเดี่ยวซึ่งฝังรากลึกในตัวเขานี้เองที่ผลักดันให้จีนเริ่มสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเป็นต้นมา

James Jean คือศิลปินชาวไต้หวัน-อเมริกัน รุ่นใหม่ที่ผลิตผลงานอันโดดเด่นหลากหลายรูปแบบ เขาพัฒนาทักษะอันเหนือชั้นด้วยการวาดภาพผ่านปลายพู่กันไปพร้อมกับการออกแบบภาพในแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างไม่หยุดนิ่ง ทำให้งานของเขาได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงพาณิชย์

จีนเรียนจบด้านการวาดภาพประกอบจาก School of Visual Arts ในมหานครนิวยอร์ก แต่งานของเขากลับถูกผู้กำกับศิลป์มากมายปฏิเสธเรื่อยมา เขาตัดสินใจออกเดินทางพร้อมกับสมุดภาพสเก็ตช์ภาพส่วนตัว การได้ไปเยือนออสเตรียช่วงหนึ่ง ทำให้สไตล์งานของจีนชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเมื่อกลับมายังนิวยอร์ก เขาก็ได้รับโอกาสจาก DC บริษัทแอนิเมชันยักษ์ใหญ่ ในการออกแบบปกสำหรับโปรเจ็กต์ใหม่ของพวกเขา

ภาพวาดของจีนคือการผสมผสานระหว่างเทคนิคดั้งเดิมกับสุนทรียศาสตร์ของแอนิเมชันในยุคดิจิทัล ชวนให้นึกถึงมังงะ อะนิเมะ ไปพร้อมกับภาพการ์ตูนแบบอเมริกัน ความสำเร็จในฐานะศิลปินนักวาดภาพประกอบเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้จีนได้พิสูจน์ฝีมืออีกครั้งกับงานระดับโลกมากมายไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์หนังดังอย่าง Blade Runner 2049, Mother และ The Shape of Water การออกแบบคอลเลคชั่นของ Prada รวมถึงการออกแบบลวดลายตึกชั่วคราวด้วยเช่นกัน

‘ฉันชอบวาดภาพตามสิ่งที่ตาเห็นตามจริง พอ ๆ กับภาพที่ฉันมองเห็นจากส่วนลึกในตัวฉัน’

ความฝังใจในวัยเด็กที่ไม่สามารถวาดภาพตามจริงได้ ส่งผลให้งานของจีนดำดิ่งสู่การค้นหาจินตนาการภายในจิตใต้สำนึก ซึ่งเขานิยามกระบวนการนี้ว่า ‘การกลายพันธ์ุทางความคิด’ เรื่องเล่าของเขาเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันเงียบสงบและเปราะบาง โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากเรื่องไร้สาระและภาพเดจาวูที่แวบเข้ามาในหัวของเขาบังเอิญ

หลังจากทำงานเชิงพาณิชย์มาระยะหนึ่ง จีนก็เริ่มเปลี่ยนแนวทางมาเผยแพร่คอลเลคชั่นส่วนตัวเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับอิสระทางความรู้สึกที่ไม่มีข้อผูกมัดด้านเวลา สถานที่ หรือข้อจำกัดตามความต้องการของตลาด เขาเริ่มวาดภาพจากฝั่งซ้ายของเฟรมไปยังฝั่งขวาอย่างวิจิตรบรรจง

ถึงแม้ว่าจีนจะปล่อยให้จินตนาการได้โลดแล่นไปตามใจปราถนาโดยไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า แต่งานของเขาล้วนสร้างขึ้นอย่างมีที่มาที่ไปเสมอ ความสนใจของจีนแพร่กระจายไปตามองค์ความรู้ในแง่มุมที่แตกต่างกัน อาทิ ภาพวาดเส้นไหมแบบจีน ภาพพิมพ์ไม้ของญี่ปุ่น โปสเตอร์โฆษณาในเซี่ยงไฮ้ ภาพวาดกายวิภาค และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานศิลปะของ Albrecht Dürer ศิลปินยุคเรอเนซองส์ชาวเยอรมนีผู้โด่งดัง นอกจากนี้จีนยังศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ปรัชญาแบบญี่ปุ่นอันละเอียดอ่อนที่ยึดโยงกับจิตวิญญาณ ควบคู่ไปกับการติดตามข่าวสารและการฟังพอร์ตแคสสารคดี ส่งผลให้งานของเขาเปรียบได้กับการหลอมรวมวัฒนธรรมเก่าและใหม่ เข้ากับความเป็นตะวันตกและตะวันออกอย่างลงตัว

ติดตามผลงานของ James Jean ได้ใน jamesjean.com และ Instagram