นิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 22 คือนิทรรศการจากหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทำต่อเนื่องมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2544 เพื่อมอบทุนให้กับศิลปินที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ได้สร้างผลงานที่ตัวเองอยากทำโดยไม่จำกัดรูปแบบขึ้นมา ซึ่งในปี 2566 นี้ ก็ถือว่าเป็นครั้งที่ 22 แล้ว และได้มีผู้ที่ได้รับทุนทั้งหมดเจ็ดคน ได้แก่ กฤช งามสม, จิตติ เกษมกิจวัฒนา, เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์, ศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ, ส้ม ศุภปริญญา, สุรเจต ทองเจือ และอติ กองสุข ซึ่งพวกเขาก็ได้นำผลงานศิลปะที่ใช้เวลาสร้างกว่าหนึ่งปีมาจัดแสดงไว้ที่หอศิลป์ฯ แล้ว
สำหรับผลงานศิลปะร่วมสมัยที่จัดแสดงภายในนิทรรศการ นั้นจะมีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบเป็นอย่างมาก และแต่ละงานก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทย ปัญหาชาติพันธุ์ เรื่องของศาสนา และวิทยาศาสตร์ รวมถึงอีกหลากหลายหัวข้อที่กระตุ้นความสนใจให้เราอยากค้นหา เรียนรู้ และทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ศิลปินสอดแทรกลงไปในผลงานเหล่านั้น โดยหนึ่งในหัวข้อที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษและอยากจะหยิบยกขึ้นมาเล่าต่อในบทความนี้ ก็คงจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์การเมืองไทยและปัญหาชาติพันธุ์ ที่ปรากฏในผลงานของ กฤช งามสม และ เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ ที่ดึงดูดความสนใจของเราตั้งแต่แรกเข้ามาภายในหอศิลป์ฯ
เมื่อเราก้าวพ้นส่วนรองรับภายในหอศิลป์ฯ เข้ามา ก็จะได้ยินเสียงระฆังที่ดังขึ้นอย่างเป็นจังหวะทันที ก่อนจะพบว่าที่มาของเสียงนั้น คือระฆังหลายสิบชิ้นที่กำลังสั่นไหวอย่างพร้อมเพรียง เพื่อเป็นสัญญาณให้เชือกบนเพดานทำการชักรอกประติมากรรมเรือจำลองชิ้นหนึ่ง ให้เคลื่อนที่ขึ้นลงอย่างช้า ๆ จากน้ำกรดสีเหลืองปนน้ำตาลในตู้กระจกใส ที่ข้นคลั่กไปด้วยตะกอนบางอย่าง ซึ่งผลงานชิ้นแรกที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ คือผลงานของกฤช งามสม มีชื่อว่า ‘Resonate’
แนวคิดเบื้องหลังผลงานชิ้นนี้ มาจากเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยที่เรียกว่า ‘กบฏแมนฮัตตัน’ หรือ ‘กบฏทหารเรือ’ ที่เกิดขึ้นจริงในวันที่ 29 มิถุนายน 2494 โดยมีชนวนเหตุมาจากความไม่พอใจของเหล่าทหารเรือที่ไม่พอใจการบริหารจัดการของรัฐบาลในเวลานั้น อันเนื่องมาจากการขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร นำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม พวกเขาเลยตัดสินใจเข้าจับกุมจอมพล ป. เป็นตัวประกัน ระหว่างกำลังทำพิธีรับมอบ ‘เรือขุดแมนฮัตตัน’ ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้แก่ไทยเพื่อใช้ในการขุดสันดอนบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา
ผลของเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้เกิดการสู้รบครั้งใหญ่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ (พื้นที่ใกล้กับที่ตั้งหอศิลป์ฯ) แต่ในท้ายที่สุดจอมพล ป. ก็สามารถหนีออกมาได้ และมีการปรับลดกำลังพลของทหารเรือใหม่อีกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก แม้ในท้ายที่สุดทุกอย่างจะลงเอยโดยที่ฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ก็ได้สร้างผลกระทบให้กับประชาชนอย่างหนัก และส่งผลให้เรือขุดแมนฮัตตันจมลงด้วย ซึ่งสิ่งที่กู้คืนกลับมาได้มีเพียงใบพัดเรือที่ทำมาจากทองเหลือง (ภายหลังถูกนำไปทำเป็นพระเครื่อง ณ วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม) และระฆังบอกเวลาประจำเรือที่มีคำว่า ‘Impregnable’ สลักไว้
กฤช ได้นำเหตุการณ์ในครั้งนั้นมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างงานชิ้นนี้ เขาได้สร้างประติมากรรมเรือแมนฮัตตันจำลองที่จมลงไปแล้ว ตามแบบเรือหลวงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเรือฝาแฝดที่ผลิตขึ้นพร้อมกัน อีกทั้งเขายังสร้างกระดิ่งและระฆังจำลองจำนวน 24 ใบ แทนจำนวนหนึ่งชั่วโมง (ระยะเวลาการสู้รบประมาณหนึ่งวัน) จากนั้นก็มีการกำหนดให้ระฆังเหล่านั้นมีการสั่นและดังขึ้นทุก ๆ 30 นาที อ้างอิงจากวิธีการเคาะระฆังบนเรือ และเมื่อระฆังที่ว่านั้นดัง เรือจำลองก็จะถูกแช่ขึ้นลงในน้ำกรดจนเกิดกระบวนการย่อยสลายในทุก ๆ ครั้ง และก็จะหายไปในที่สุด
.
เหตุผลที่ศิลปินทำผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา นอกเหนือจากเรื่องของสถานที่เกิดเหตุจะใกล้กับหอศิลป์ฯ อันเป็นพื้นที่จัดแสดงแล้ว เขายังต้องการสื่อถึงการใช้อำนาจปราบปรามอย่างรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อบ้านเมือง ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ยังส่งแรงสั่นสะเทือนมาจนถึงปัจจุบันในหลายทาง เพราะเมื่อตัวอย่างของความรุนแรง ความอยุติธรรม สามารถชนะได้เสมอมาโดยไร้ซึ่งข้อเสีย การทำตามก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นแต่อย่างใด สังเกตได้จากหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ที่ต่อให้จะผ่านมานับร้อยปีแล้ว แต่รูปแบบการขึ้นสู่อำนาจในหลาย ๆ ครั้ง รวมถึงวิธีการปราบปรามผู้เห็นต่าง ก็เหมือนพาเราย้อนกลับไปในยุค 2494 ราวกับได้เห็นด้วยตาตัวเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
สิ่งนี้ทำให้เรานึกสงสัยว่า บางที ‘เรือจำลอง’ ลำนั้นก็อาจจะไม่ใช่เรือจำลองของเรือหลวงที่จมลงไป แต่เปรียบเสมือนกับภาพแทนของประเทศชาติที่บรรทุกประชาชน บรรทุกโอกาส และบรรทุกทุกความเป็นไปได้ของการพัฒนา ที่จะนำพาเราแล่นไปข้างหน้าด้วยกัน ทว่าทุกอย่างกลับค่อย ๆ ถูกน้ำกรด หรือสิ่งที่เรียกว่าอำนาจและความรุนแรงจากคนบางกลุ่มกัดกร่อนทุกสิ่งทุกอย่างให้พังทลายลงไป และในท้ายที่สุดก็กลายเป็นเพียงตะกอนอันไร้ประโยชน์ที่แตกสลายอยู่ในนั้นอย่างไม่มีวันหวนคืน
ถ้าผลงานของกฤชได้พาเราไปทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างแสบ ๆ คัน ๆ เหมือนโดนกรดแผดเผา ผลงานของ เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ ก็เลือกที่จะเปรียบเปรยความจริงกับการทดลองวิทยาศาสตร์ และพาเราไปสืบเสาะหาความเป็นชาติในอีกระนาบหนึ่ง ที่ถูกหลงลืมและมองเป็นเพียงต้นกาฝากต้นหนึ่งเท่านั้น ทั้งจากสายตาประชาชนด้วยกันเอง รวมไปถึงในสายตาของภาครัฐที่ไม่เคยจะเหลียวแล
ผลงานของเขามีชื่อว่า ‘วัฏจักรของการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง’ ที่เกิดจากการศึกษาเรื่องต้นกาฝาก หรือจะเรียกว่าทำการทดลองก็ไม่ผิดนัก เพราะเขาได้สังเกตต้นกาฝากหลายชนิดทั้งแบบที่ยึดเกาะจนโฮสต์ยืนต้นตาย ไปจนถึงต้นกาฝากที่ไม่ได้ทำร้ายต้นไม้ที่เป็นโฮสต์เลย รวมถึงทดลองปลูกต้นกาฝากแบบไร้โฮสต์ให้เกาะด้วย จนในที่สุดเขาก็เลือกต้นกาฝากมาได้แปดต้น เพื่อใช้ในงานชิ้นนี้ ซึ่งเลขแปดนี้ยังแทนถึงสัญลักษณ์อินฟินิตี้ (อนันต์) เพื่อสื่อถึงการเกิดและตายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วย
เจษฎาได้ทำงานศิลปะนี้ด้วยการศึกษาต้นกาฝากทั้งแปดชนิด จากสถานที่แปดแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างม้ง กะเหรี่ยง ไทใหญ่ ฯลฯ รวมถึงรากความเชื่อของคนในท้องถิ่นที่ไม่ได้รับการสานต่อในวงกว้าง ซึ่งเป็นเหมือนกับภาพสะท้อนที่ล้อรับไปกับต้นกาฝากทั้งแปดต้นที่เขากำลังศึกษาและให้ความสนใจอยู่ และทำให้ผู้ชมรู้สึกตามไปด้วยว่า ในสังคมไทยที่ทุกอย่างขับเคลื่อนแบบรวมศูนย์ ที่ความเจริญ ศิลปะ และวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับจะมาจากส่วนกลางเสมอ ยังมีคนอีกหลายชาติพันธุ์ที่อยู่ในขอบเขตเดียวกัน กำลังถูกปฏิบัติไม่ต่างจากกาฝาก ที่โดนคนด้วยกันคอยนั่งประเมินว่าจะส่งผลร้ายหรือดีต่อโฮสต์อย่างไรหรือไม่ โดยไร้ซึ่งการดูแล และยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
จะเห็นได้เลยว่าผลงานของศิลปินทั้งสองคนที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 22 นี้ ได้ทำให้เรานึกย้อนกลับมามองสิ่งที่เรียกว่าชาติไทยอีกครั้ง ทั้งในแง่ของการเมือง สังคม รวมถึงผู้คนที่ถูกปัดตกให้เป็นคนชายขอบ ที่ต่อให้จะเป็นหน่วยอณูเล็ก ๆ แต่พวกเขาก็คือคนที่มีความสำคัญ ทั้งต่อตัวพวกเขาเอง ครอบครัว และชาติของเรา หากเปรียบการกระทำและวิธีคิดที่ประเทศของเรากำลังใช้ในการดำเนินการสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้เป็นดั่งแก่นรากและชีวิตของต้นไม้ต้นหนึ่ง รากนี้ก็คงจะเป็นรากที่กำลังเสื่อมโทรมเต็มที เพราะเราเลือกใช้อำนาจและความรุนแรงในการจัดการบางสิ่งบางอย่างจนเป็นเรื่องปกติ และละเลยกลุ่มคนที่มองว่าไม่มีความสำคัญ ที่แม้จะรับรู้ถึงปัญหา แต่ก็ยังไม่จัดการอยู่ดี
สำหรับใครที่ต้องการเข้าชมนิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 22 ก็สามารถเข้าชมได้ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยนอกเหนือจากผลงานทั้งสองชิ้นที่เรายกตัวอย่างมา ภายในนิทรรศการยังมีผลงานอีกหลายชิ้นที่ชวนให้เรานึกขบคิดถึงปัญหาอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ให้ลองสำรวจไปด้วยกัน
นิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 22
วันที่: วันนี้ – 28 ต.ค. 2566
สถานที่: ART CENTRE, SILPAKORN UNIVERSITY
เปิด: 09.00 - 18.00 น. (ปิดทุกวันอาทิตย์)