Tick Tick Boom คำปลอบประโลมใจคนวัย 30 เมื่อชีวิตไม่เป็นตามที่คิดไว้ทั้งหมด

Post on 24 January

เชื่อว่าความฝันในวัย 20 ของใครหลาย ๆ คน คงวางแผนว่าเมื่ออายุ 30 เราต้องมีบ้าน มีรถ มีคนรัก และมีการงานมั่นคง อาจเป็นไปได้ที่มีคนไม่น้อยสามารถพาตัวเองไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ความเป็นจริงก็คือ ‘ไม่ใช่’ ทุกคนจะไปถึงจุดนั้นเสมอไป ..

“เมื่อเราก้าวผ่านเลขสาม นั่นหมายความว่าช่วงวัยรุ่นของเรากำลังจะหมดไปตลอดกาล”

คำพูดของ โจนาธาน ลาร์สัน (Jonathan Larson) ตัวละครเอกจาก Tick Tick Boom ที่กำลังบอกผู้ชมแกมตัดพ้อตัวเองเล็ก ๆ ว่าเขากำลังตกอยู่ในสภาวะสับสนกับช่วงเวลาอันยากลำบาก กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์มิวสิคัลจาก Netflix ที่กำกับโดย ลิน มานูเอล มิแรนดา (Lin-Manuel Miranda) ซึ่งได้รับการดัดแปลงมาจากชีวิตของ โจนาธาน ลาร์สัน นักเขียนและนักประพันธ์เพลงชาวอเมริกัน ที่เคยฝากผลงานมิวสิคัลชื่อดังในบอร์ดเวย์อย่าง ‘Rent’ แต่น่าเสียดายเมื่อเขาจากโลกนี้ไปในวัยเพียง 35 ปี ก่อนจะได้ภาคภูมิใจในความสำเร็จของตัวเอง

โจนาธาน คือภาพแทนของคนวัยทำงานในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะศิลปินที่ต้องดิ้นรนเพื่อให้ความชอบของตัวเองออกดอกออกผลสู่สายตาผู้ชม แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก พื้นที่ที่มีอย่างจำกัด นอกจากจะเป็นบททดสอบสำคัญ ทำให้คนหนุ่มสาวต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจสู้สักตั้งแล้ว ความพยายามนี้ยังพ่วงมาด้วยความผิดหวังและเจ็บปวดนับครั้งไม่ถ้วน โจนาธานในวัย 30 ปี ยังคงใช้เวลาทั้งหมดที่มีทุ่มเทให้กับสิ่งที่เขารักนั่นคือ ‘การแต่งเพลง’ แม้เขาจะเปรียบเทียบตัวเองกับเหล่าคนดังที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังวัยรุ่น แต่สังคมเพื่อน ๆ ซึ่งดูเหมือนจะมีช่วงชีวิตอันเจ็บปวดไม่ต่างกัน ยังคอยตอกย้ำเขาอยู่เสมอว่า โลกใบนี้ไม่ได้ใจดีกับทุกคน สิ่งที่เขาต้องทำคือพยายามต่อไปในทางของตัวเอง

แม้ผู้ชมอย่างเราจะเห็นปลายทางแล้วว่า ในวันข้างหน้าโจนาธานจะเริ่มมีหนทางให้ก้าวต่อไป จากการที่ตัวภาพยนตร์เซ็ตเนื้อเรื่องด้วยรูปแบบละครเวทีคล้ายกับการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน พาผู้ชมย้อนกลับไปยังอดีตผ่านเพลงที่โจนาธานแต่งขึ้น แต่ก็คงอดไม่ได้ที่ผู้ชมจะเกิดความรู้สึกร่วมไปกับตัวโจนาธานในอดีต เพราะเรื่องราวหลังฉากละครเวที ผู้ชมอย่างเราได้สวมบทบาทเป็นบุคคลที่สาม คอยสังเกตตัวละครในเรื่องตามไปด้วย

นอกจากโจนาธานแล้ว อีกหนึ่งตัวละครเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้คือเพื่อนสนิทของเขาที่ชื่อ ไมเคิล ตัวละครคนนี้สำคัญตรงที่ เขามักมีความคิดแตกต่าง แต่ก็คอยอยู่เคียงข้างโจนาธานเสมอมา หากลองใส่ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปกับการมองโจนาธาน ความพยายามทำในสิ่งที่ชอบท่ามกลางอุปสรรครายล้อมอยู่รอบตัว คงแสดงให้เห็นถึง ‘ความซื่อสัตย์’ ที่เขามีต่อความชอบของตัวเองอย่างไม่ลดละ แต่ความรู้สึกอันบริสุทธิ์นี้ใช้ไม่ได้กับโลกความจริงเสมอไป ขณะโจนาธานพยายามต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า ‘บริโภคนิยม’ โดยมองว่าผลงานกวีศิลป์ควรมีคุณค่ามากกว่าโฆษณาตามท้องตลาด ไมเคิลก็ได้ตอกย้ำให้เขาเห็นว่าความคิดนั้น ไม่สามารถนำมาตัดสินให้คนอื่นเชื่อในแบบตัวเองได้

“ไม่ใช่ทุกคนจะมีทางเลือก เพื่อนครึ่งหนึ่งของเรากำลังจะตาย อีกครึ่งกลัวหัวหดว่าจะเป็นรายต่อไป ขอโทษด้วยที่ฉันมีรถหรู มีอพาร์ตเมนต์ติดฮีตเตอร์ สนุกกับชีวิตในวันที่ฉันยังมีเวลา”

อาจเป็นเพราะความปวดร้าวจากการสูญเสียนับครั้งไม่ถ้วน ทำให้ไมเคิลมองว่าการเดินตามกระแสสังคมเพื่ออัพเกรดสถานะตัวเองไม่ได้เป็นเรื่องผิด ตราบใดที่สิ่งนั้นไม่ทำร้ายคนรอบข้าง ขณะที่ตัวโจนาธานซึ่งยังคงดิ้นรนเพราะความชอบของตัวเองอยู่ก็ไม่ผิดเช่นกัน สิ่งที่โจนาธานได้เรียนรู้จากไมเคิลก็คือ เขาต้องยอมรับว่าชีวิตคนเราไม่สามารถเป็นไปตามสิ่งที่เลือกเองได้ทั้งหมด และการรอคอยโชคชะตาอยู่ฝ่ายเดียวนั้นบางทีก็น่าเจ็บปวด แต่เมื่อยังมีเวลาและความชอบมากพอ โจนาธานจะยังสามารถทำในสิ่งที่เขารักต่อไปได้ ดังนั้น บทสรุปของภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ใช่การปลุกคนวัยทำงานให้ลุกขึ้นมาสู้กับปัญหา แต่เป็นเหมือนการปลอบประโลมเพื่อนวัยเดียวกันที่กำลังหาเส้นทางของตัวเอง ด้วยความเข้าใจ และในท้ายที่สุด แม้ว่าโจนาธานจะไม่ได้เห็นว่างานของเขาไปไกลขนาดไหน แต่ในทางหนึ่ง เขาก็รับรู้ว่า งานของเขาเกิดขึ้นสู่สายตาผู้ชมในเวลานั้น

รับชม Tick Tick Boom ได้แล้ววันนี้ที่ Netflix

คลิกเพื่อรับชมตัวอย่างภาพยนตร์