My Chemical Romance ไม่ใช่แค่วงดนตรี และทุกคนที่เติบโตมากับอายไลน์เนอร์ดำกับผมปัดเป๋หลายคนทั่วไทยก็คงเข้าใจเรื่องนี้ดี และสำหรับเด็กหนุ่มจากเจอร์ซีย์กลุ่มนี้ พวกก็เขามอง MCR เป็นโปรเจกต์ศิลปะหนึ่ง เป็นแถลงการณ์ เป็นโลกทั้งใบที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง คู่ขนานกับโลกที่แสนโหดร้าย ทั้งโลกภายในตัวเราและโลกภายนอก
ด้วยเหตุนี้ ตอนที่วงประกาศยุบไปในปี 2013 มันจึงไม่ใช่แค่การปิดฉากของวงดนตรี แต่มันคือการล่มสลายของจักรวาลที่เราแชร์ความรู้สึกร่วมกันทั้งโลก และเมื่อเรารู้ข่าวว่าพวกเขากลับมารวมวงอีกครั้ง แถมยังเพิ่งประกาศจะมาแสดงคอนเสิร์ตที่ไทย จึงทำให้เด็กวัยรุ่นในตัวเรากลับมามีพลังใจลุกขึ้นใหม่อีกครั้ง
เพราะ MCR ไม่ใช่แค่แฟชั่น เราจึงอยากพาไปรู้จักกับ “โลก” ที่พวกเขาสร้างผ่านแต่ละอัลบั้ม และเข้าใจว่าทำไมคนจำนวนมากถึงผูกพันกับพวกเขาอย่างลึกซึ้ง เพราะนี่คือศิลปะแห่งการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด ความสูญเสีย โรคร้าย และอำนาจที่กดขี่

I Brought You My Bullets, You Brought Me Your Love
แวมไพร์จากโลกภายใน
อัลบั้มแรกที่ยังเต็มไปด้วยกลิ่นดนตรีโพสต์ฮาร์ดคอร์และเนื้อร้องบรรยายภาพฉากโหด ๆ คือบันทึกความเจ็บปวดส่วนตัวของเจอราร์ด นักเขียนการ์ตูนผู้หันมาเป็นนักร้องนำของวง มันคือการต่อสู้กับภาวะซึมเศร้า การติดเหล้า และความรู้สึกเหมือนเป็นขยะที่ถูกทิ้ง ชื่ออัลบั้มแรกของพวกเขา I Brought You My Bullets, You Brought Me Your Love มาจากชื่อเรื่องสั้นที่เขาเขียนขึ้นในช่วงเวลานั้น มันคือเรื่องราวของคนที่รู้สึกว่าชีวิตตัวเองกำลังพังทลาย และศิลปะคือหนทางเดียวในการดิ้นรนเพื่ออยู่รอด
แล้วจะนำเสนอภาพของปีศาจในใจออกมาได้อย่างไร? คำตอบของเขาก็เหมือนกับศิลปินอีกหลายคนในประวัติศาสตร์ศิลปะ คือการถ่ายทอดผ่านสุนทรียะแบบโกธิคและหนังสยองขวัญ เพลง Vampires Will Never Hurt You ใช้แวมไพร์เป็นสัญลักษณ์ถึงความรู้สึกเกลียดชังตัวเองและความรู้สึกที่สูญเสียชีวิตไปกับการดื่มเหล้า
เริ่มมองเห็นแล้วใช่ไหม ว่าภาพแบบ ‘วงแวมไพร์’ ตัวขาวซีด ตาดำ ผมดำ จริง ๆ แล้วคือเปลือกนอกที่สะท้อนความรู้สึกเน่าเฟะข้างในของพวกเขา เช่นเดียวกับเพลง Early Sunsets over Monroeville ที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังซอมบี้ Dawn of the Dead ซึ่งเป็นเหมือนฉากหลังของเรื่องราวแห่งการสูญเสีย สุนทรียะในยุคนี้ของพวกเขาจึงเป็นการหยิบยืมภาพจากเรื่องสยองขวัญมาเป็นตัวแทนของความเจ็บปวดที่มองไม่เห็น

Three Cheers for Sweet Revenge
แก๊งคนแค้นในเรื่องแสนโรแมนติก
อัลบั้มที่สองซึ่งทำให้พวกเขาโด่งดังระดับโลกกับเพลงอย่าง I'm Not Okay (I Promise) หรือ The Ghost of You สร้างขึ้นบนเรื่องราวของชายคนหนึ่ง ผู้ฟื้นจากความตายเพื่อตามหาผู้หญิงที่เขารัก โดยการออกฆ่าล้างแค้น มันคือเรื่องราวสไตล์ ‘บอนนี่กับไคลด์’ ที่มาเจอกับมุมมองแบบ ‘สองเราสู้โลกร้าย’ (us versus the world) ที่วงหลงไหลอย่างแรงกล้าในช่วงนั้น
และเมื่อมันเป็นเรื่องราวการต่อสู้ของ ‘แก๊ง’ ที่กำลังต่อสู้อยู่ในสงครามที่อีกฝ่ายคือ ‘โลก’ พวกเขาจึงมี ‘เครื่องแบบ’ เป็นสูทสีดำและเนคไทสีแดงเลือดหมู ซึ่งกลายเป็นเป็นภาพจำ (แรกของวง) แสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันและเป็นการส่งสัญญาณพร้อมบวก
ในช่วงนี้พวกเขาใช้เทคนิกแบบงานละคร (theatricality) อย่างเต็มที่ เหมือนที่เจอราร์ดเคยบอกว่าเขาอยากนำ “การแสดงและละครที่เราไม่ค่อยเห็นในโชว์ร็อกอีกแล้ว” กลับคืนมา ซึ่งถ้าใครได้ดูมิวสิกวิดีโอเพลง Helena ที่จำลองฉากงานศพแบบโกธิคขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่ ก็คงเข้าใจว่าเขาหมายถึงอะไร ในอัลบั้มที่ว่าด้วยความรัก ความตาย และการล้างแค้นนี้

The Black Parade
ละครเวทีแห่งความตาย
ผู้ป่วยคนหนึ่งกำลังจะตายด้วยโรคมะเร็ง และภาพสุดท้ายที่เขาเห็นคือความทรงจำที่งดงามที่สุดในวัยเด็ก นั่นคือขบวนพาเหรดที่พ่อเคยพาไปดู และในวาระสุดท้ายของชีวิต ขบวนพาเหรดนั้นได้กลับมารับเขาไปสู่ความตาย อย่างกล้าหาญ
เกริ่นเรื่องย่อมาแค่นี้ก็น้ำตาจะไหลแล้ว และเชื่อว่าแค่ได้ยินเสียงเปียโน ‘โน้ตตัว G’ ตอนต้นของมหากาพย์ร็อคยุคใหม่อย่าง Welcome to the Black Parade หลาย ๆ คนก็รู้สึกถึงมวลอารมณ์ที่ฝังไว้ในอัลบั้ม The Black Parade นี้เหมือนกัน
นี่คือยุคที่เรื่องราวและภาพลักษณ์ของพวกเขาหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์ที่สุด เจอราร์ดสวมบทตัวละคร ‘ผู้ป่วย’ ด้วยการย้อมผมเป็นสีขาวโพลนและสวมชุดโรงพยาบาลขึ้นแสดงบนเวที ในขณะที่สมาชิกคนอื่นกลายเป็น ‘วงดุริยางค์แห่งความตาย’ (The Black Parade) ในชุดเครื่องแบบสีดำที่ออกแบบโดย คอลลีน แอทวูด นักออกแบบชุดคู่บุญของ ทิม เบอร์ตัน ซึ่งกลายเป็นภาพจำของวงที่อยู่ทั่วตั้งแต่โปสเตอร์ในผนังห้องซ้อมดนตรีไปจนถึงห้องนอนของวัยรุ่นที่รู้สึกแปลกแยก
พวกเขาใช้ ‘หน้ากาก’ และ ‘เรื่องสมมติ’ เป็นเกราะป้องกัน เพื่อให้สามารถเผชิญหน้ากับเรื่องที่หนักอึ้งอย่างความตายและความโศกเศร้าได้อย่างกล้าหาญ (โดยเฉพาะการจากไปของคุณยายของเจอร์ราดและไมกีย์ เวย์ สองพี่น้องในวง) เพลงอย่าง Famous Last Words, I Don't Love You หรือ Mama ถ้าฟังแยกออกมาอาจมีความหมายได้หลายอย่าง เช่นพูดถึงความสัมพันธ์ของคน แต่เมื่อมันประกอบเข้าเป็นอัลบั้ม ร่วมกับโชว์ที่มืด ร้อน และรุนแรง มันก็กลายเป็นการทำความเข้าใจต่อเรื่องที่ยากที่สุดเรื่องหนึ่งของมนุษย์อย่างความตาย ด้วยการมองมันตรง ๆ ไม่หันหน้าหนี

Danger Days
การปฏิวัติด้วยป๊อปอาร์ต
หลังจากความสำเร็จและความเข้าใจผิดต่าง ๆ ที่ตามมาจาก The Black Parade (รวมทั้งภาพลักษณ์ ‘อีโม’ ซึ่งวงไม่ค่อยจะอยากผูกตัวไว้กับคำนี้นัก) พวกเขายังคง ‘ทำลาย’ อยู่ แต่สิ่งที่ต้องทำลายคราวนี้ก็คือภาพลักษณ์เก่า ๆ ดำมืด ซึ่งสิ่งที่เหมาะที่สุดก็คงเป็นสีสันแสบตาของเหล่าฮีโร่นอกคอกอย่างแก๊ง ‘Fabulous Killjoys’ ตัวละครที่พวกเขาสร้างขึ้นใหม่ สำหรับ Danger Days: The True Lives of the Fabulous Killjoys อัลบั้มเต็มชุดล่าสุดก่อนพวกเขาจะพักวง
เรื่องราวของ Danger Days ตั้งอยู่ในโลกอนาคตปี 2019 (?) ที่แก๊งนอกกฎหมาย Fabulous Killjoys ต่อสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ ผู้พยายามควบคุมทุกอย่างด้วยความสะอาดแบบจอมปลอม
พวกเขารู้สึกว่าภาพลักษณ์เก่าของวงแมสไปแล้ว และ ‘ไม่อันตรายอีกต่อไปแล้ว’ เจอราร์ดจึงตั้งคำถามว่า "สิ่งที่อันตรายตอนนี้คืออะไร? ก็สีสันไง" ดังนั้น ภาพลักษณ์ของวงจึงกลายเป็นสีสันสดใสสไตล์ป็อป พวกเขาสวมบทบาทเป็นเหล่า Killjoys พร้อมด้วยแจ็กเก็ตหนังสีแสบตา หน้ากาก และปืนเลเซอร์ แบบในหนังสือการ์ตูน (ซึ่งภายหลังก็มีหนังสือการ์ตูนตามมาจริง ๆ) เอ็มวีเพลงดิสโก้พังค์ที่ฟังดูอารมณ์ดีอย่างไม่น่าเชื่อย่าง "Na Na Na (Na Na Na Na Na Na Na Na Na)" ที่ดูเหมือนหลุดมาจากหนัง Mad Max คือภาพสะท้อนของการต่อสู้ครั้งนี้ มันคือการใช้ "ป๊อปอาร์ตเป็นอาวุธ" เพื่อทวงคืนตัวตนที่แสบสันและอันตรายกลับคืนมา เพราะ My Chemical Romance คือศิลปะแห่งการเผชิญหน้า โดยมีการสวมบทบาท เป็นเครื่องมือ