เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร แล้วชีวิตเกี่ยวอะไรกับการร่างบทละคร?
นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นตลอดเวลากว่า 3 ชั่วโมง ในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับ รยูสึเกะ ฮามากุจิ (Ryusuke Hamaguchi) ที่นำตัวบทดัดแปลงจากเรื่องสั้น Drive My Car และ Men without Women ในหนังสือดังของนักเขียนขวัญใจใครหลายคนอย่าง ฮารุกิ มุราคามิ (Haruki Murakami) มาขยายโครงข่าย แต่งเติมเรื่องเล่า ทำให้ต้องตาผู้ชม เหล่านักวิจารณ์ และกรรมการ จนคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์มาได้สำเร็จ
อย่างที่เห็นกันบ่อย ๆ ว่าฮามากุจิมักจะขยายขอบเขตพื้นที่ทางภาพยนตร์ด้วยการใช้ ‘ภาษา’ ซึ่งเป็นแกนหลักของการสื่อสาร มาใช้บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ถึงคนดู ใน Drive My Car เองก็เช่นกัน ฮามากุจิแต่งเติมเรื่องราวในหนังสือของมุราคามิ โดยหยิบเอาแค่รายละเอียดสำคัญมาใช้ในงาน เช่น การขับรถ หรือเรื่องราวความสัมพันธ์ ซึ่งถูกแต่งขึ้นอย่างไม่ปะติดปะต่อกัน จากนั้นจึงตีความใหม่ตามแบบฉบับของตัวเอง
เรื่องราวหลัก ๆ เกิดขึ้นโดยยึดโยงกับตัวละครที่ชื่อ ยูซูเกะ ฮาฟูกุ (รับบทโดย ฮิเดโตชิ นิชิจิมะ) นักแสดงและผู้กำกับละครเวทีที่ไม่มูฟออนจากความเสียใจหลังสูญเสียภรรยาสุดที่รักไป แต่ในเมื่อวันเวลาเดินต่อไปเรื่อย ๆ แบบนี้ เขาจึงต้องจำใจใช้ชีวิตอยู่กับความปวดร้าวอย่างเลี่ยงไม่ได้ ฮาฟูกุยังคงเปิดฟังเทปต่อบทละคร Uncle Vanya ของ เชคอฟ (Anton Chekhov) ที่ส่งผ่านน้ำเสียงของภรรยา เหมือนเธอยังอยู่กับเขาตลอดเวลาในรถสีแดงคันเก่า จนกระทั่งวันหนึ่ง ‘รถ’ ไม่ได้เป็น ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ของเขาอีกต่อไป เมื่อ มิซากิ (รับบทโดย โตโกะ มิยุระ) หญิงสาวพูดน้อย ได้รับมอบหมายมาเป็นคนขับรถให้ฮาฟูกุขณะที่เขาเตรียมพร้อมสำหรับงานกำกับการแสดงครั้งใหม่ที่กำลังจะจัดขึ้นในเมืองฮิโรชิมะ
จากบทสนทนาบนรถในหนังสือของมุราคามิ เชื่อมต่อถึงบทละครโดยเชคอฟ นำมาสู่บทภาพยนตร์ที่ฮามากุจิสร้างให้กับตัวละครฮาฟูกุ ความเชื่อมโยงเหล่านี้ทำให้ผู้ชมอย่างเราปฏิเสธได้ยากว่า เรื่องเล่าทั้งหมดถูกเรียงร้อยผ่านตัวบทที่ซ้อนทับกันไม่รู้จบ เริ่มตั้งแต่สเกลเล็ก ๆ อย่างเรื่องราวส่วนตัว ไปถึงโครงข่ายของบทมากกว่าหนึ่งเรื่อง ที่เชื่อมต่อกันด้วยธีมซึ่งบอกเล่าถึงคนที่กำลังต่อสู้กับความรู้สึกภายใน
ไม่มีใครรู้จักใครได้ดีที่สุดแม้แต่ตัวเราเอง.. ทุกคนต่างยังรอให้บางอย่างที่อยู่ลึกลงไป ได้รับการคลี่คลายอยู่เสมอ
ฮามากุจิขยายความเป็นไปได้ของเรื่องเล่า ด้วยการ ‘ทำลาย’ กำแพงของ ‘ภาษา’ ซึ่งเป็นคีย์หลักในการสื่อสาร เพื่อให้ตัวบทค่อย ๆ แทรกซึมเข้าไปในจิตใจตัวละครอย่างช้า ๆ ในขณะที่ความรู้สึกของผู้ชมอย่างเราก็ถูกกระตุ้นผ่านภาษาทางภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน
ขอบข่ายของเรื่องเล่าเดิมที่เขียนขึ้นโดยเชคอฟ ถูกตีความใหม่ผ่านการสื่อสารของตัวละครต่างชาติต่างภาษา ไม่เว้นแม้แต่หนึ่งในนักแสดงภาษามือ หมายความว่า เมื่อพวกเขาต้องอยู่ในสภาวะที่ไม่คุ้นเคย และไม่สามารถเข้าใจกันได้อย่างทะลุปรุโปร่ง พวกเขาจึงต้องหาวิธีเชื่อมต่อกันเพื่อให้การแสดงละครเวทีสามารถเกิดขึ้นได้จริง ในฐานะที่ฮาฟูกุเป็นผู้กำกับบทละคร Uncle Vanya เขาเลือกใช้วิธีเดียวกับที่ภรรยาเคยใช้กับเขา นั่นคือการเชื่อมต่อความรู้สึกผ่าน ‘การจำ’ แต่การจะจับจังหวะของภาษาที่แตกต่างกันนั้น อาจต้องใช้การสังเกตสภาพแวดล้อมไปด้วยในตัว ทำให้เมื่อบทถูกท่องซ้ำไปมาผ่านสถานที่และผู้คนเดิม ๆ นักแสดงจึงสามารถจดจำบทได้จนขึ้นใจ จากนั้นตัวบทจึงเร่ิมเข้าไปทำงานกับความรู้สึกภายใน และนั่นอาจอธิบายได้ว่า ทำไมตัวฮาฟูกุถึงเข้าใจบทละครที่เขากำกับเป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าจะเป็นภาษาเขียนซึ่งถูกแปลงออกมาเป็นเสียงในเทป หรือบทพูดในการซ้อมละครเวที ทั้งหมดนี้แทบจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขาอย่างยากจะแยกจากกันได้ ทำให้แม้มิซากิจะเป็นคนนอกวงการแสดง แต่เมื่อเธอก้าวเข้าไปสู่โลกส่วนตัวของฮาฟูกุ ความรู้สึกของเธอจึงเชื่อมต่อกับเขาไปด้วย
อาจเป็นเพราะความรู้สึกที่ว่า ฉันเป็นคนฆ่าคนรักของฉันด้วยอุบัติเหตุ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในตัวฮาฟูกุและมิซากิ ทำให้เมื่อความรู้สึกแตกสลายที่ปะทุในใจตัวละครอย่างเงียบ ๆ ปะทะกับความเงียบภายนอกอย่างภาษามือและบรรยากาศเมื่อเขาอยู่กับมิซากิ สิ่งนี้เป็นเหมือนจุดท่ีทำให้ฮาฟูกุ ซึ่งมักจะเป็นผู้ส่งสารที่ยืนอยู่กึ่งกลางวงโคจรของเรื่องเล่า เริ่มปลดล็อกปมในใจของเขาได้ทีละนิด จนในที่สุดเขาก็สามารถอยู่กับอดีตอันแสนเจ็บปวดนั้นได้ และไม่ใช่แค่ตัวละครเท่านั้น เชื่อว่าหลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้จบลง หลายคน (รวมถึงตัวเราซึ่งเป็นผู้เขียน) คงจะรับรู้ได้ถึงมวลความรู้สึกบางอย่างที่ภาพยนตร์ส่งให้ไม่มากก็น้อย
รับชม Drive My Car ได้แล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์
คลิกเพื่อรับชมตัวอย่างภาพยนตร์
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : Documentary Club