ร่างทรง หรือเพราะไม่เชื่อ ถึงโดนสาปแช่ง

Post on 24 January

(บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)

สาธุสายอมือใส่เกล้า ไหว้ย่าเจ้ายกใส่เกสา
ขันสมมาธูปเทียนทังคู่ พวกเฮาหมดหมู่ไหว้ย่าบาหยัน

ในชุมชนหนึ่งทางตอนเหนือของอีสาน ที่ขั้นกลางด้วยแม่น้ำสายสำคัญอย่างแม่น้ำโขง ความเชื่อของผู้คน ข้ามเส้นของพรมแดนเป็นหนึ่งเดียวกับวิญญาณเหนือธรรมชาติที่เกิดจากธรรมชาติรอบตัว พวกเขามีสิ่งที่ศรัทธา วิถีชีวิต และพิธีกรรมเป็นของตัวเอง แต่เมื่อโลกของวิญญาณและคนเป็น คือความลี้ลับที่ไม่ใช่ใครก็สามารถเชื่อมต่อได้ ‘ร่างทรง’ จึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมทั้งสองโลกเข้าด้วยกัน

“ไม่ว่าจะในต้นไม้ สัตว์ ทุ่งนา ป่า เขา หรือบรรพบุรุษบ้านเราเชื่อว่ามี ‘ผี’ อยู่ทุกที่”

การกลับมาครั้งยิ่งใหญ่ของ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับหนังผีที่เคยฝากผลงานขนหัวลุกมาแล้วมากมาย ที่จับมือ นา ฮง-จิน ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ชื่อดังชาวเกลาหลี เป็นความพยายามในการเล่นกับท่าทีใหม่ ๆ ในภาพยนตร์ โดยใส่ตัวละครหลังกล้อง ซึ่งกำลังถ่ายทำ ‘สารคดี’ ตามติดชีวิตของ ‘นิ่ม’ หญิงโสดวัยสี่สิบตอนปลาย ที่สืบทอดการทรงผีบุญบรรพบุรุษนามว่า ‘ย่าบาหยัน’ แม้ว่าจะไม่มีใครรู้ว่าย่าบาหยันเป็นใคร มาจากไหน แต่เมื่อเธอเลือกประทับทรงกับตระกูล ยะสันเที๊ยะ ชะตากรรมจึงถูกกำหนดไว้แล้วว่าหญิงสักคนในบ้านหลังนี้ จะต้องสืบทอดการทรงต่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่าแม้แต่คนยังมีด้านสว่าง-ด้านมืด ผีเองก็มีทั้งที่ดีและไม่ดีเช่นกัน การที่นิ่มเป็นร่างทรง จึงไม่ใช่เรื่องเลวร้ายไปเสียหมด เพราะเธอใช้วิชาและอำนาจที่มี รักษาผู้คนให้หายจากอาการป่วยไข้ใจ ซึ่งเกิดจากสิ่งชั่วร้ายทางไสยศาสตร์ แต่แล้วเรื่องกลับมาพลิกเมื่อพี่เขยของนิ่มเสียชีวิต การมาเจอญาติที่ไม่ได้เจอกันนานครั้งนี้ กลับกลายเป็นว่าต้องทำให้นิ่มพบกับปริศนาที่มาพร้อมโจทย์สุดท้าทาย เมื่อ ‘มิ้ง’ ลูกสาวของ ‘น้อย’ พี่สาวของเธอ มีท่าทีแปลกประหลาดคล้ายมีบางสิ่งส่งสัญญาณเรียกตัวเธอไป

ปมในครอบครัวยะสันเที๊ยะที่ว่า ทำไมน้อยถึงนับถือคริสต์ ทำไมนิ่มถึงกลายมาเป็นร่างทรง ทำไมท่าทางแปลก ๆ ของมิ้ง มีแต่เรื่องผิดผีผิดบาป สาเหตุการตายของแมค ลูกชายอีกคนของน้อย คืออะไรกันแน่ ทั้งหมดนี้ถูกกะเทาะออกมาอย่างต่อเนื่องผ่านฉาก และท่าทีของตัวละคร แม้ว่าจุดเริ่มต้นเรื่องทั้งหมดจะเกิดขึ้นจากรากเดียวกันคือ ความเชื่อเรื่องการทรงเจ้า แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าสิ่งที่ทำให้ตัวเรื่องกลับตาลปัตรไปจนหวนคืนมาเป็นปกติไม่ได้นั้น มีปัญหาใหญ่กว่าเรื่องความเชื่อ นั่นคือ ‘ความไม่เชื่อใจ’ กันและกัน ขณะที่ผู้ชม ถูกวางตำแหน่งให้เป็นเหมือนผู้สังเกตการณ์คล้ายกับเป็นหนึ่งในทีมงานสารคดี เราก็จะได้เห็นตัวละคร ที่เริ่มแสดงความบ้าคลั่งและไร้ตรรกะออกมาเรื่อย ๆ คล้ายกับว่า เมื่อเทสติทั้งหมดที่มีให้ความมัวเมาแล้ว การจะพาตัวเองกลับมาสู่สภาวะปกตินั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก

แม้ว่าการเล่นกับความเป็นเรื่องแต่งและสารคดี จะชวนให้ผู้ชมตั้งข้อสงสัยกันไม่น้อย แต่ในแง่หนึ่ง การหยิบเอาลูกเล่นของเทคนิคกล้อง ไม่ว่าจะเป็นภาพ Night Vision สีเขียว ที่ฉายให้เห็นมุมมองเวลากลางคืนสร้างความขนหัวลุกเป็นทวีคูณ หรือภาพกล้องเหวี่ยงไปมา ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความไม่ปกติตามไปด้วย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของผู้กำกับ ที่ต้องการเพิ่มประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ชม จนเกิดเป็นมุมมองแปลกตาที่หลายคนอาจไม่ค่อยได้เห็นกันในภาพยนตร์ไทย

นอกจากกลิ่นอายของเรื่องที่ส่งผ่านบทสนทนา พื้นที่ การออกแบบฉาก เสื้อผ้า และรูปแบบอันหลากหลายทางภาษาภาพ สิ่งหนึ่งที่ต้องยกความดีความชอบให้เลยคือ 'นักแสดง' ที่ถ่ายทอดบทบาทตัวเองออกมาอย่างเต็ม ซึ่งไม่ง่ายเลยกับการแสดงอารมณ์ที่เปลี่ยนไปมาเหมือนสับสวิตช์ไฟแบบนี้ การมีนักแสดงมากความสามารถนี้ ทำให้ผู้ชมเชื่อไปกับสภาวะที่ตัวละครต้องเผชิญอยู่ อย่างในฉากหนึ่งช่วงท้ายเรื่องที่ น้อย เริ่มบ้าคลั่งกับการพยายามช่วย มิ้ง ให้ออกจากสภาวะเหมือนผีเข้า คนดูก็จะสามารถรับรู้ได้ว่าที่น้อยมีอาการแบบนี้ เพราะเธอมาสุดทางความเชื่อของตัวเองแล้ว ขณะที่ นิ่ม ร่างทรงผู้เชื่อในความดีของย่าบาหยันมาโดยตลอด กลับต้องสั่นคลอน เมื่อเธอรู้สึกว่าตัวเองเดินอยู่ตามลำพังในวังวนที่ไร้ซึ่งทางออก

ร่างทรงฉายแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์

คลิกเพื่อรับชมตัวอย่างภาพยนตร์

(ภาพประกอบบทความ : Trailer ร่างทรง)