Yellow Submarine (1968) โลดแล่นไปในท้องทะเลแห่งจินตนาการบนเรือดำน้ำสีเหลืองกับ The Beatles

Post on 24 January

ความโด่งดังอย่างสุดขั้วของวงร็อคแอนด์โรลในตำนานจากเกาะอังกฤษ ‘The Beatles’ ที่แผ่ซ่านไปทั่วอณูพื้นที่ ทำให้เรื่องราวการเดินทางของพวกเขาถูกถ่ายทอดออกมาผ่านภาพยนตร์เช่นเดียวกับคนดังหลายท่าน ในปี 1964 หนุ่ม ๆ สี่เต่าทองปรากฏตัวในภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา A Hard Day's Night จนได้รับคำชมอย่างกว้างขวาง ความสำเร็จครั้งนี้ ส่งผลให้มีการสร้างภาพยนตร์เรื่องต่อมา Help! และ Magical Mystery Tour แต่เพราะกระแสตอบรับที่ไม่ดีนัก ภาพยนตร์เรื่องที่ 4 จึงได้มีการออกแบบให้เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเพื่อสร้างภาพจำใหม่ให้แก่ผู้ชม

Yellow Submarine คือภาพยนตร์อนิเมชั่นมิวสิคัลขนาดยาว ฝีมือการออกแบบของ Heinz Edelmann นักวาดภาพประกอบชาวเยอรมัน และกำกับโดย George Dunning ที่เคยร่วมงานกับสี่หนุ่มในการ์ตูนโทรทัศน์เรื่อง The Beatles เรื่องราวของเรือดำนำ้สีเหลืองนี้บอกเล่าถึงเมืองแห่งเสียงเพลงอันเต็มไปด้วยความสดใสชื่อ Pepperland ที่วันหนึ่งเกิดถูกคุกคามโดยกลุ่มตัวประหลาดสีน้ำเงินหน้าตาบูดบึ้ง Blue Meanies ผู้เต็มไปด้วยความเกลียดชังในเสียงดนตรี วงดนตรีประจำเมืองถูกขังไว้ในฟองสบู่แก้วสีน้ำเงิน ผู้คนต่างโดนสาปให้กลายเป็นหิน มีเพียงทางเดียวที่จะแก้คำสาปทั้งหมดได้ นั่นคือเสียงเพลงจาก The Beatles ทำให้ Old Fred ผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวจำต้องขึ้นเรือดำน้ำสีเหลืองมายังเมืองบ้านเกิดของสี่เต่าทองที่ Liverpool เพื่อตามตัวพวกเขากลับไปยัง Pepperland

นอกจากอนิเมชั่นเรื่องนี้จะโดดเด่นด้วยเรื่องราวอันสำบัดสำนวนสไตล์หนุ่มนักดนตรีที่สอดคล้องไปกับตัวภาพสีสันสดใสเอ่อล้นด้วยจินตนาการ เคล้าคลอไปกับเพลงระดับตำนานแล้ว อนิเมชั่นเรื่องนี้ยังเป็นเหมือนหนังทดลองที่เปิดกว้างทางความคิด มีการวาดลายเส้นในหลายรูปแบบทั้งเผยให้เห็นรูปทรงชัดเจน รวมถึงลายเส้นที่เติมแต่งสีสันอย่างสะเปะสะปะ ทั้งยังมีการเล่นกับโทนสีของภาพอย่างอิสระ และที่สำคัญ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รวมเอาฟุตเทจจริงเข้ากับอนิเมชั่นจนเกิดเป็นภาพอันสดใหม่ที่สร้างภาพจำและเหนือไปกว่าความคาดหมายของผู้ชม

Heinz Edelmann ได้เปิดเผยวิธีคิดในการออกแบบภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า เขาต้องพบกับโจทย์สุดหินเนื่องจากเรื่องทั้งหมดต้องสร้างขึ้นโดยมีเพลงของ The Beatles เป็นแกนหลัก อีกทั้งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ได้มีตัวบทภาพยนตร์หรือแม้กระทั่งโครงเรื่องให้เกาะ ทำให้เอเดลมันน์ต้องร่างภาพในหัวของเขาออกมาเอง เขาต้องพลิกการทำงานใหม่ โดยถ่ายทอดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเหมือนชุดเรื่องสั้นที่ร้อยเรียงกันด้วยเพลงของหนุ่ม ๆ สี่เต่าทอง

แม้ว่า The Beatles จะไม่ได้เป็นผู้พากษ์เสียงตัวละครและมีส่วนร่วมในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มากนัก พวกเขาเพียงมาปรากฏตัวเพียงแค่ในฉากปิดของเรื่องเท่านั้น แต่เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้น พวกเขาต่างให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าสิ่งนี้คือความแปลกใหม่ของอนิเมชั่นที่เรียงร้อยและลำดับภาพออกมาได้อย่างชาญฉลาด ถึงพวกเขาจะรู้สึกทึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างราวกับปาฏิหาริย์ แต่เขาก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์อันมีค่าเรื่องนี้

เช่นเดียวกับสี่หนุ่ม ภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยองค์ประกอบที่เหมือนการตัดแปะภาพมากมายเข้าไว้เข้าด้วยกัน สอดแทรกด้วยสีสันและลีลาสะท้อนถึงยุคสมัยนิยม (Pop Culture) และวัฒนธรรมฮิปปี้ (Hippie) ที่มีอิทพลอย่างมากต่อสังคมในช่วงปี 60 จนเกิดเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นร่วมสมัยที่หลอมรวมเอาบริบทของสิ่งรอบข้างในเวลานั้นเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ทำให้ในโลกแห่ง Pepperland ทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้อย่างแท้จริง เรียกได้ว่าเป็นการเดินทางอันเต็มไปด้วยความเพลินตาเพลินใจตลอดหนึ่งชั่วโมงครึ่งที่ควรค่าแก่การรับชมในทุกนาทีเป็นอย่างยิ่ง

เกล็ดเล็ก ๆ จากภาพยนตร์ : Blue Meanies เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนตัวละครเป็นสีฟ้าโดยไม่ได้ตั้งใจ ทว่าสิ่งนี้กลับทำให้เอเดลมันน์นึกถึงภาพของฮิตเลอร์ใน Chaplins Great Dictator และในที่สุดเขาก็เลือกสีของบลูมีนนีส์เป็นสีฟ้า เอเดลมันน์ยอมรับต่อว่าตัวละคร Jeremy Hillary Boob Ph.D. มีความคล้ายคลึงกับ Lyndon Johnson ประธานาธิบดีคนที่ 36 ของสหรัฐอเมริกา

คลิกเพื่อรับชมตัวอย่างภาพยนตร์

GroundControl Self-Quarantour SS2
ตอนที่ 4 THE BEATLES FOOTSTEPS
วันพฤหัสบดีที่ 20 พ.ค. นี้
Live สด ที่เพจ : GroundControl เวลา 19:30 น. เป็นต้นไป