The Way of the Househusband อนิเมะพ่อบ้านยากูซ่ากลับใจที่สะท้อน ‘อะไร ๆ’ ในภาพความเป็นชายของสังคมญี่ปุ่น

Post on 24 January

จะเกิดอะไรขึ้นถ้ายากูซ่าสุดโหดจากแก๊งโฉดโลกใต้ดินกลับตัวกลับใจ วางดาบ แล้วหันมาหยิบไม้กวาด รับบทพ่อบ้านใจกล้าดูแลบ้านช่องและภรรยาสุดที่รัก?!

จากคำถามแสนเรียบง่ายที่นักวาดมังงะ คุสุเกะ โอโอะโนะ (แต่คิดมาได้ยังไงครับเนี่ยยย) ลองตั้งเป็นแก่นของเรื่อง จนกลายมาเป็นพล็อตมังงะสุดชวนหัวที่ฮิตระเบิดระเบ้อ พิมพ์ขายไปแล้วกว่า 1.2 ล้านก็อปปี ก่อนที่ The Way of the Househusband จะถูกนำไปดัดแปลงเป็นอนิเมะและซีรีส์คนแสดงที่ตกคนดูได้อยู่หมัดด้วยพล็อตชวนหัวและความตลกที่เสพง่าย ดูได้เพลิน ๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก

แต่ภายใต้ฉากหน้าความ ‘ดูง่าย ไม่ต้องคิดอะไรมาก’ ของซีรีส์อนิเมะตอนละประมาณ 15 นาทีจบเรื่องนี้ กลับซ่อนมิติทางสังคมอันซับซ้อนของสังคมญี่ปุ่นไว้ได้อย่างแยบคาย โดยเฉพาะประเด็นค่านิยมเรื่องความเป็นชายในญี่ปุ่น (หรืออาจจะทุกที่ในโลก) เพราะในขณะที่เรากำลังหัวเราะกับการดูพระเอกอย่าง ‘ทัตสึคนอมตะ’ บรรจงทำกล่องเบนโตะให้ภรรยาสุดที่รักผู้เป็น Working Woman หรือตอนที่ทัตสึคนอมตะทำความสะอาดบ้าน เราก็แอบถามตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมเราถึงขำกับการเห็นผู้ชายรับบทพ่อบ้านสวมผ้ากันเปื้อนแสนน่ารัก ดูแลบ้านช่องและภรรยากันนะ?

ซึ่งคำตอบนั้นก็แสนเรียบง่าย เพราะเราต่างมีภาพจำในหัวว่าหน้าที่การดูแลบ้านช่องและทำกับข้าวกับปลานั้นมักจะเป็นของคุณภรรยาที่เป็นผู้หญิงมากกว่า เราไม่ค่อยคุ้นชินกับการเห็นภาพผู้ชายอยู่บ้านแล้วฝ่ายหญิงออกไปทำงานกันนัก

ภาพแม่บ้านอยู่บ้านที่โบกมือส่งสามีออกทำงานนอกบ้านเป็นภาพที่ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสื่อต่าง ๆ แต่ในทางกลับกัน เมื่อลองคิดถึงหนัง การ์ตูน หรือซีรีส์ที่นำเสนอภาพพ่อบ้านโบกมือลาภรรยาที่ออกไปทำงานนอกบ้านนั้นเรากลับคิดไม่ออก ซึ่งสิ่งที่ The Way of the Househusband ทำก็คือการนำภาพที่เราไม่คุ้นชินอย่างภาพพ่อบ้านมา ‘ขยี้’ ด้วยการนำเสนอภาพตัวเอกที่เปี่ยมด้วยความเป็นชายแบบล้นเกิน ซึ่งในสังคมญี่ปุ่น ภาพตัวแทนที่นำเสนอความเป็นชายแบบเปี่ยมล้นก็คงหนีไม่พ้นภาพยากูซ่าสุดโหดที่มาครบทุกคุณสมบัติความเป็นชายตามขนบ ทั้งการมีอำนาจ การใช้กำลังและความรุนแรง ไปจนถึงบุคลิกภายนอกที่สะท้อนความแข็งแกร่งสุดโหด ซึ่งเมื่อนำภาพความเป็นชายทั้งแท่งเช่นนั้นมานำเสนอในด้านตรงข้ามแบบสุดโต่ง นั่นก็คือภาพของแม่บ้าน The Way of the Househusband จึงเรียกความสนใจและเสียงหัวเราะจากคนดูได้ด้วยการนำเสนอภาพที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็นนั่นเอง

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีคู่แต่งงานหลายคู่ที่ทลายภาพจำและค่านิยมดั้งเดิมของสังคม ด้วยการที่ภรรยาออกไปทำงาน ส่วนฝ่ายสามีอยู่บ้านเลี้ยงลูก แต่ภาพนี้ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับและแพร่หลายในสังคมญี่ปุ่นเท่าไหร่นัก โดยในปี 2018 Japan Times ได้ไปสัมภาษณ์พ่อบ้านคนหนึ่งที่ชื่อว่า Shuichi ซึ่งเป็นสามีที่เป็นฝ่ายอยู่บ้านดูแลบ้าน ส่วนภรรยาออกไปทำงานนอกบ้าน โดย Shuichi ก็เปิดเผยว่า แม้เขาจะมีความสุขดี แต่ก็ยังกังวลกับสายตาของคนทั่วไปที่มองว่ารูปแบบความสัมพันธ์เช่นนี้เป็นเรื่องไม่ปกติ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง นาน ๆ ครั้ง Shuichi ก็จะสวมสูทครบชุดแล้วออกไปร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน หรือไม่ก็แค่สวมสูทล้างจานอยู่บ้าน เพียงเพื่อจะได้เรียกความมั่นใจและความเป็นชายให้กับตัวเอง

ที่จริงแล้วปัญหาเรื่องภาพจำด้านเพศนั้นเป็นปัญหาที่มีรากมาจากนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงกลางยุค 80s ที่ตั้งใจจะแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ รัฐบาลญี่ปุ่นในยุคนั้นมองว่า การที่ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านคือต้นเหตุของอัตราการสมรสและการเกิดต่ำ รัฐบาลจึงออกนโยบายห้ามผู้หญิงทำงานในบางสาขาอาชีพ ในขณะที่สถานที่ทำงานหลายแห่งก็ให้เงินเดือนผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย และให้โควต้าการเลื่อนตำแหน่งของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย (ประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 114 ในการจัดอันดับประเทศที่ผู้หญิงมีโอกาสประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน) ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะผลักผู้หญิงให้กลับไปอยู่บ้านเป็นแม่บ้านและเป็นแม่ แต่กลับกลายเป็นว่า นโยบายนี้กลับสร้างปัญหาที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน เพราะแทนที่ผู้หญิงจะกลับไปเป็นแม่บ้าน พวกเธอกลับเลือกที่จะครองชีวิตโสด ไม่แต่งงานไปเลย จนทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องกลับมาทบทวนนโยบายการสนับสนุนให้คนมีครอบครัวและมีลูกกันใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนโยบายปี 2008 ที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นให้สถานที่ทำงานมีบรรยากาศเป็นมิตรต่อพ่อบ้านที่มีลูกเล็กมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้สามีมีส่วนร่วมในการดูแลลูก อันจะเป็นการกระตุ้นให้คู่สามีภรรยาตัดสินใจมีลูกกันง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ผ่านมา ก็มีรายงานข่าวว่า อัตราการทะเลาะเบาะแว้งในคู่สามีภรรยาในสังคมญี่ปุ่นมีตัวเลขสูงขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการล็อกดาวน์ที่ทำให้สามีไม่สามารถออกไปทำงานนอกบ้านได้ ทำให้ภรรยาคาดหวังว่าสามีจะช่วยแบ่งเบาภาระในบ้านมากขึ้น แต่เมื่อสามียังไม่ช่วยทำงานบ้าน ก็นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง และทำให้เกิดคำแสลง “coronadivorce” ซึ่งหมายถึงการหย่าร้างที่เกิดขึ้นในช่วง Covid-19 แพร่ระบาด อันมีสาเหตุมาจากการที่คู่สามีภรรยาทะเลาะกันมากขึ้นในช่วงนี้นั่นเอง

การมาถึงของ The Way of the Househusband ในช่วงล็อกดาวน์ที่สามีภรรยาต้องใช้เวลาอยู่บ้านร่วมกันมากขึ้นนี้จึงถือว่าเป็นการมาที่ถูกที่ถูกเวลามาก และเราก็หวังว่าในอนาคต ภาพพ่อบ้านจะเป็นภาพปกติทั่วไปที่เราเห็นกันจนเป็นเรื่องปกติมากขึ้น เพราะไม่ว่าเพศไหนจะทำอะไร ก็ควรเป็นเรื่องของความสบายใจของแต่ละบุคคลที่ไม่ควรมีคนนอกมาตัดสินให้เราต้องคอยกังวลกับค่านิยมหรือภาพจำในสังคมกันหรอกนะ

สามารถรับชม The Way of the Househusband ได้ทาง Netflix

อ้างอิง: Stuck at Home, Men in Japan Learn to Help. Will It Last?