จากมังงะสุดพิลึกของ Hideo Yamamoto สู่ภาพยนตร์แนวดาร์คแฟนตาซีโดย Takashi Shimizu การันตีด้วยผลงานภาพยนตร์สยองขวัญเลื่องชื่อย่าง Ju-On ที่จะพาทุกคนเดินทางค้นหาตัวตนด้านมืดที่ฝังรากลึกอยู่ใต้จิตสำนึกภายในใจ
เรื่องราวสุดประหลาดมากมาย เริ่มต้นขึ้นเมื่อศัลยแพทย์หนุ่ม Manabu Ito (Ryo Narita) ต้องการทำการทดลองเปิดสัมผัสที่ 6 ด้วยการเจาะรูในกะโหลกศีรษะเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกทดลอง สามารถมองเห็นจิตใต้สำนึกของคนและแปลแผลในใจของพวกเขาออกมาเป็นรูปร่างได้ แต่ความสามารถนี้ ไม่ใช่ว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน อิโตะมุ่งเป้าไปที่ Susumu Nakoshi (Go Ayano) ชายเร่ร่อนสุดเย็นชาผู้สูญเสียความทรงจำ ที่อาศัยอยู่ในรถคู่ใจกลางสวนสาธารณะในย่านดังอย่างชินจุกุ อิโตะปรากฏตัวอย่างกระทันหันพร้อมยื่นข้อเสนอสำหรับการทดลองชวนขนหัวลุกภายในระยะเวลา 7 วัน ด้วยเงินค่าตอบแทนอย่างงาม ในที่สุดการทดลองสุดพิลึกนี้จึงเริ่มขึ้น
ภาพยนตร์ Homunculus พาเราเข้าไปมีส่วนร่วมกับเกมจิตวิทยาอย่างไม่รู้ตัวตลอดเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง นอกจากพล็อตเรื่องสุดแปลกที่สลับไทม์ไลน์ซับซ้อนสร้างเซอร์ไพรส์ให้คนดูแล้ว องค์ประกอบหลายอย่างในเรื่องก็โดดเด่นชวนติดตามไม่แพ้กัน ภาพยนตร์เรื่องนี้โชว์เหนือด้วยเอฟเฟกต์พิเศษที่มาแบบไม่หวือหวาเหมือนหนังแฟนตาซีเรื่องอื่น ๆ แต่ถูกใช้อย่างมีที่มาที่ไป มีฟังก์ชันแทนมุมมองของนาโกชิที่ล้อไปกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในหนัง Homunculus ได้หยิบเอาเส้นเรื่องระหว่างโลกจริงกับโลกแฟนตาซีมาหลอมรวมเป็นเนื้อกันได้อย่างลงตัว ขับเน้นความพิศวงให้มากขึ้นด้วยการวางโทนภาพสีเขียว เหลือง และแดง ในช่วงที่ตัวละครตกอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ จนรู้สึกได้ถึงความแปลกประหลาดของฉากที่ส่งผลต่อการกระทำของตัวละคร เรื่องราวดำเนินไปอย่างรวดเร็วโดยไม่มีจังหวะผ่อนคลายให้คนดูนัก เหมือนภาพยนตร์กำลังเล่นกับจิตใจของคนดูไปพร้อมกับตัวละคร
ย้อนกลับไปในเส้นทางวิวัฒนาการวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา 'ฮามังคิวลัส' (Homunculus)’ มีที่มาจากการเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ในสมองมาพร้อมกับความสามารถพิเศษอย่างการเปลี่ยนความคิดคนด้วยการแก้ไขเรื่องราวที่ฝังระบบประสาทของมนุษย์ เจ้าฮามังคิวลัสนี้ถูกพูดถึงในหลายตำราหลายความเชื่อ โดย Carl Jung นักจิตวิทยาสายจิตวิเคราะห์ผู้โด่งดังเคยสันนิษฐานว่า แนวคิดนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเล่าแร่แปรธาตุที่ชื่อ Visions of Zosimos ซึ่งเขียนขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 3 โดย Zosimos นักเล่นแร่แปรธาตุชาวกรีก ที่ได้บันทึกภาพนิมิตของเขา ที่ได้ไปกระทำการขุดขั้วตรงข้ามในจิตใต้สำนึกของนักบวชคนหนึ่งเพื่อทำลายนักบวชคนนั้น ยุงเปรียบฮามังคิวลัสเป็นเหมือนศิลาอาถรรพ์และตัวตนอีกด้านหนึ่งที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจของพระคริสต์ หลังจากนั้นเรื่องของ 'ฮามังคิวลัส' ก็ปรากฏขึ้นอีกครั้งในงานเขียนเกี่ยวกับการเล่นแร่แปรธาตุช่วงศตวรรษที่ 16 โดยถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงการฟื้นฟูจิตวิญญาณและศาสตร์ทางจิตของชาวคริสเตียน นอกจากนี้ ไอเดียของ'ฮามังคิวลัส'ยังถูกนำมาใช้อ้างอิงในนิยายวิทยาศาสตร์ของศตวรรษที่ 19 จนกลายมาเป็นแก่นใหญ่ของภาพยนตร์มากมายที่ว่าด้วยการใช้วิทยาศาสตร์มาทดลองกับจิตใจของมนุษย์
จากไอเดียเรื่องการเปลี่ยนความคิดจิตใจของคนด้วยวิทยาศาสตร์ นำมาสู่การทดลองสร้างมนุษย์ที่เป็นตัวแทนของ 'ฮามังคิวลัส' อย่างนาโกชิ เพื่อดึงความสามารถพิเศษในการมองเห็นตัวตนด้านมืดภายในจิตใจมนุษย์ เชื่อมโยงพวกเขาจากอดีตเข้ากับความปราถนาส่วนลึกของตัวละคร ภาพยนตร์ไปไกลกว่าแค่เรื่องของจิตใจ เมื่อการกระทำของตัวละครถูกเชื่อมด้วยทางเลือกที่ตัดสินด้วยความดี-เลวของสังคม โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อปลดล็อคความรู้สึกด้านมืดออกจากใจผู้คน
ความคลั่งไคล้ในการทดลองสุดระห่ำของศัลยแพทย์หนุ่ม นำไปสู่การค้นหาด้านมืดที่เก็บซ่อนอยู่ในส่วนลึกของจิตใจที่เขาไม่เคยเปิดเผยมาก่อน ไม่ว่าใครก็ล้วนแต่มีเรื่องเจ็บปวดที่เก็บซ่อนไว้ รอวันที่ใครสักคนจะไขกุญแจห้องแห่งความลับนี้เพื่อปลดปล่อยมวลของความรู้สึกอันหนักอึ้งนี้สู่อิสระอย่างแท้จริง
‘Homunculus’ ฉายแล้ววันนี้ใน Netflix
คลิกเพื่อรับชมตัวอย่างภาพยนตร์