สีขาว ≠ ความดีงาม สำรวจธาตุแท้ความร้ายบริสุทธิ์ ที่ถูกส่งผ่านสีใน A Clockwork Orange และ Funny Games

Post on 24 January

เมื่อสายตาเราจับต้องกับสีสันในภาพยนตร์ พวกเขากำลังจะบอกอะไร?

ภาพพาเลทสีที่หยิบมาจากภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง คงเป็นตัวอย่างที่อธิบายได้อย่างดีว่า ‘สี’ มีความหมาย และมีผลต่อความรู้สึกของผู้คนมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น สีที่เราเห็นในทุกองค์ประกอบของภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นฉาก สิ่งของ เสื้อผ้า หรือแม้แต่การย้อมสีในขั้นตอนหลังการถ่ายทำ ล้วนแต่ได้รับการคิดมาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน จนอาจพูดได้ว่า สี เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญ ที่ช่วยสื่อความหมายถึงผู้ชมไม่แพ้กับงานด้านอื่น ๆ

แม้ว่าสีสันในภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะถูกใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ‘ความหมาย’ ของสีนั้น ๆ ก็ยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น สีเขียวสะท้อนถึงธรรมชาติ หรือให้ความรู้สึกโดดเดี่ยว สีดำสร้างความสงบและชวนเศร้าหมอง ส่วนสีแดงในภาพยนตร์มักใช้เป็นสื่อแทนความรัก ความจัดจ้าน หรือความโหดเหี้ยม หนึ่งสีที่มีความหมายชัดเจนจนทุกคนเห็นตรงกันมากที่สุดคงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากสี ‘ขาว’ ที่มองอย่างไรก็สื่อถึงความดีงามเหมือนผ้าผืนใหม่อันบริสุทธิ แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อภาพยนตร์กลับขั้วความหมายที่เราเคยเข้าใจไปโดยสิ้นเชิง?

ภาพสีขาวซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนความใสสะอาด ถูกลบ และพลิกแพลงไปคนละขั้วจากความหมายเดิมใน A Clockwork Orange (1971) ภาพยนตร์โดย สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ผู้กำกับรสมือเหลือร้าย ที่อิงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของแอนโธนี เบอร์เจส (Anthony Burgess) บอกเล่าถึงโลกที่เต็มไปด้วยความรุนแรงป่าเถื่อนผ่านมุมมองของเด็กหนุ่มในชุดสีขาวตั้งแต่หัวจรดเท้า

ในขณะที่เราเข้าใจว่าสีขาวมักจะแทนถึงความถูกต้อง ดีงาม เด็กหนุ่มในเรื่องที่มาพร้อมกับอารมณ์พลุ่งพล่านเต็มตัว กลับแสดงท่าทีในทางตรงข้ามกับภาพจำของสังคมโดยสิ้นเชิง ความโหดร้ายปะทุขึ้นผ่านการแสดงออกอย่างบ้าระห่ำชนิดที่ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้ พวกเขาออกอาละวาด ทำลายข้าวของ รวมถึงทำร้ายร่างกายและจิตใจผู้อื่นอย่างแสนสาหัดโดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์ใด ๆ ภาพยนตร์จิกกัดโลกสมัยใหม่ (Modern) ที่ความหมายของสิ่งต่าง ๆ ถูกแทนค่าเบ็ดเสร็จ อย่างเจ็บแสบขึ้นอีกขั้นด้วยการให้เหล่าวัยรุ่นหัวขบถ ‘ดื่มนม’ แทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล ซึ่งก็ยิ่งตอกย้ำว่าสีขาวได้กลายเป็นภาพแทนความรุนแรงถึงขีดสุดไปโดยปริยาย

มีข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจว่าความจริงแล้ว สีขาวในเรื่องอาจแทนถึง ‘ธาตุแท้’ ที่ปราศจากกรอบความคิดและศีลธรรมใดมาขวางกั้น เด็กหนุ่มในเรื่องเน้นให้เห็นชัดเจนว่าพวกเขาคือผ้าขาวอันบริสุทธิ์ที่หลุดจากกฎเกณฑ์สังคมทั้งหมด สิ่งนี้ส่งต่อถึง Funny Games (1997, 2007) ภาพยนตร์อันโด่งดังของผู้กำกับที่ไม่เคยปราณีจิตใจผู้ชมอย่าง มิคาเอล ฮาเนเก้ (Michael Haneke) ซึ่งพูดถึงเด็กหนุ่มสองคนในชุดขาวล้วน ที่มาต้อนรับและผูกมิตรกับผู้พักอาศัยใหม่ด้วยท่าทางแปลก ๆ ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มสร้างฝันร้ายที่ไม่มีใครคาดคิดขึ้น จนเกิดเป็นความน่าสะพรึงและเศร้าสลดใจเกินรับไหว

ตัวแทนเด็กหนุ่มในภาพยนตร์ของฮาเนเก้ ดำเนินไปในทิศทางเดียวกับ A Clockwork Orange ต่างกันที่ภาพยนตร์ของฮาเนเก้มีความสงบและเยือกเย็นอย่างเห็นได้ชัด ฉากนองเลือดที่ไม่เผยการกระทำอันโหดร้ายแบบโจ่งแจ้ง นำพาจินตนาการผู้ชมให้ไปไกลกว่าภาพตรงหน้า ทำให้ความรู้สึกมวนท้องเริ่มก่อตัวในขณะที่ผู้ชมเข้าใกล้กับเหยื่อมากขึ้น ดังนั้น ‘สีขาว’ ที่ถูกแปลความหมายใหม่ในภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ จึงอาจเป็นตัวแทนของ ‘ความโหดร้ายอันบริสุทธิ์’ ที่รุนแรงกว่าทุกสีสันจัดจ้านหลายสิบเท่า!

อ้างอิง : Funny Games