“ภาพฝันที่ปราศจากเหตุผลคือแหล่งกำเนิดของปีศาจร้ายเหนือจินตนาการ เธอถูกปลดปล่อยจากความเป็นเหตุเป็นผล เธอคือพระแม่แห่งศิลปะ คือต้นกำเนิดของความพิศวงที้งปวง” - Francisco Goya
ฟรานซิสโก โกยา (1746-1828) คือศิลปินเอกชาวสเปนผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘มาสเตอร์คนสุดท้ายของศิลปะยุคเก่า และมาสเตอร์คนแรกของศิลปะยุคใหม่’
โกยาคือจิตรกรผู้กล้านำเสนอเหตุการณ์ความรุนแรงของบ้านเมือง รวมทั้งการนำเสนอความงดงามในความน่าสะพรึงกลัว ทำให้เมื่อเปรียบเทียบกับผลงานของศิลปินร่วมยุคโรโกโกด้วยกัน ผลงานของเขาจึงเป็นภาพคงตรงข้ามของเอกลักษณ์ศิลปะยุคนี้ที่เปี่ยมด้วยความหรูหรา การนำเสนอธรรมชาติด้วยสีสันสบายตา และความอิ่มเอมด้วยชีวิตชีวา ในทางตรงกันข้าม ผลงานของโกยากลับเต็มไปด้วยความน่าสยดสยอง สะท้อนด้านอันมืดหม่นของมนุษย์ และเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นขบถทางศิลปะ
และเหนือสิ่งอื่นใด ผลงานของเขายังมุ่งตีแผ่สภาพบ้านเมืองและเปิดเปลือยสภาพสังคมที่หม่นหมองด้วยควันสงครามและความโหดร้ายที่เพื่อนมนุษย์ทำกับมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งการอุทิศชีวิตและผลงานให้กับการสำรวจความโหดร้ายและด้านมืดในจิตใจของมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยมนี้ก็ทำให้โกยาต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยทางจิตใจในช่วงบั้นปลายสุดท้ายของชีวิต
ตลอดช่วงชีวิตของโกยา เขาได้สร้างสรรค์ผลงานภาพเขียนและภาพสีน้ำมันมากมายนับไม่ถ้วน ชีวิตของเขามีช่วงขึ้นลงดังรถไฟเหาะ และมีทั้งช่วงเงลาอันสว่างไสวและมืดหม่น …จากการนำเสนอความสดใส ชีวิตชีวา และความโลกสวยเป็นผ่านภาพของสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูง สู่ช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายที่ไม่สามารถหาทางรักษาได้ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างสรรค์ผลงานสุดน่าสะพรึงกลัวที่หลายคนน่าจะเคยผ่านตากันดีอย่าง Saturn Devouring His Son (1819-23) ที่สะท้อนฉากจากตำนานเทพกรีกขณะที่โครนัสกำลังเขมือบลูกของตัวเอง หรือ The Third of May 1808 (1814) ที่นำเสนอภาพเหตุการณ์อันเลวร้ายที่ชาวสเปนผู้รักชาติลุกขึ้นต่อสู้กับกองทัพฝรั่งเศส จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดที่สะเทือนขวัญชาวสเปน
เหตุใดกัน ผลงานที่ดูน่าสะพรึงกลัวของโกยาถึงยังสามารถดึงดูดผู้คนให้จ้องมองลึกเข้าไปสำรวจความดำมืดนั้น และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร แต่ผลงานของเขาก็ยังชวนให้คนดูในทุกยุคสมัยตั้งคำถามถึงความโหดร้ายของมนุษย์และอำนาจของผู้ปกครอง? คอลัมน์ The Art of Being An Artist ประจำสัปดาห์นี้ Groundcontrol จึงจะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักและเจาะลึกประวัติเบื้องลึกเบื้องหลังชีวิตของศิลปินผู้นำสะท้อนภาพฝันร้ายผู้นี้ด้วยกัน
โลกอันสว่างไสวในรั้วราชสำนัก
ฟรานซิสโก เดอ โกยา เกิดในแคว้นซาคาโกซา เมืองชนบทของสเปนซึ่งไม่ไกลจากเมืองหลวงมากนัก เขาเป็นลูกคนที่สี่ในครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยเงินทองมากนัก ในช่วงวัยเด็กเข้าจึงต้องเข้าเรียนในโรงเรียนศิลปะอุปถัมภ์ กระทั่งเมื่อเมื่อโตขึ้น โกยาจึงย้ายไปเรียนต่อที่เมืองศูนย์กลางศิลปะของยุโรปในสมัยนั้นอย่างกรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อหาแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตบนเส้นทางศิลปิน
โกยาได้ย้ายกลับมายังกรุงมาดริดด้วยการช่วยเหลือของเพื่อนสนิท ฟรานซิสโก บาเยอร์ (Francisco Bayeu) ที่สนิทกันมาตั้งแต่วัยรุ่น โดยในตอนนั้น บาเยอร์ซึ่งเป็นสมาชิกประจำสถาบันศิลปะชั้นสูงของสเปน ได้เชิญชวนให้โกยามาช่วยเขาวาดรูปบนผ้าประดับผนัง (Tapestry) เพื่อประดับตามฝาผนังในวัง ผลงานของเขาในครั้งนั้นเป็นที่พึงพอใจในหมู่ขุนนางชั้นสูงมาก ด้วยเหตุนี้โกยาจึงได้เริ่มทำงานให้กับเหล่าสมาชิกราชวงศ์ในหลายยุคสมัย
สมัยที่โกยารับราชการช่วงแรก ๆ ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ภาพวาดพอร์เทรตของเขาจะเน้นไปที่ความสดใส ความมีชีวิตชีวา สีสันฉูดฉาด นำเสนอรายละเอียดครบถ้วน ทั้งองค์ประกอบบนตัวแบบไปจนถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบกาย ซึ่งการรับราชการในรั้วในวังก็ทำให้โกยาได้ผลิตผลงานภาพวาดบุคคลออกมามากมายหลายชิ้นมาก
การขึ้นมามีอำนาจของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 4 ทำให้โกยาได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากการเป็นจิตรกรทั่วไป สู่การเป็นหัวหน้าคณะศิลปินประจำราชวงศ์ ซึ่งการได้เป็นศิลปินในวังนั้นก็ถือเป็นเกียรติอย่างมากแล้ว แต่การได้รับตำแหน่งโดยการแต่งตั้งจากกษัตริย์โดยตรงนั้นนับเป็นเกียรติสูงสุด แถมตอนนั้นโกยายังเพิ่งอายุแค่ 50 ต้น ๆ เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับตำแหน่งนี้
แต่การขึ้นมาอยู่ ณ จุดสูงสุดของอาชีพห็ทำให้โกยารู้สึกอิ่มตัวในหน้าที่การงาน นักวิจารณ์ศิลปะยุคหลังเคยตีความบรรดาภาพวาดสมาชิกราชวงศ์ของโกยาว่า หากมองเพียงผิวเผินก็เป็นเพียงแค่รูปภาพหมู่ของสมาชิกราชวงศ์ธรรมดา แต่หากมองลึกลงไปก็จะเห็นความพยายามของโกยาในการ ‘เสียดสี’ ธรรมเนียมประเพณีของราชสำนัก รวมไปถึงการแอบบอกเป็นนัยถึงการคอร์รัปชั่นที่ซ่อนอยู่ใต้พรมของระบอบศักดินาและระบบการปกครองในสเปน ตัวอย่างเช่น ภาพวาดบุคคลของสมาชิกในราชวงศ์ที่รายล้อมรอบกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 4 ทว่าตัวโกยาเองต้องการจะสื่อถึงอำนาจของพระราชินีซึ่งเป็นผู้มีบารมีและอำนาจเหนือพระราชา โกยาจึงเลือกจัดวางลำดับให้พระราชินีประทับอยู่ตรงกลางของภาพ เพื่อสะท้อนถึงพระราชินีผู้เป็นศูนย์กลางของอำนาจที่แท้จริง
หลังจากรับราชการสูงสุดในวังได้ไม่นาน โกยาก็ขอลาออกจากตำแหน่งสูงสุดอย่างกะทันหันเพราะอาการป่วยของเขาที่ส่งผลทำให้เขาถึงกับต้องหูหนวกอย่างถาวรนับตั้งแต่นั้นมา
ในโลกอันเงียบงันและมืดหม่น
บริบทสังคมยุโรปในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่กระแสข่าวเรื่องการล่มสลายของชนชั้นปกครองในฝรั่งเศสแพร่ระสัดไปทั่ว ส่งผลให้ระบอบกษัตริย์ในยุโรปหลายประเทศเริ่มสั่นคลอน ซึ่งสเปนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น และด้วยพลังของแรงกดดันจากฝรั่งเศสก็ทำให้กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 4 ตัดสินใจสละบัลลังก์ในท้ายศตวรรษที่ 18 บรรยากาศการเปลี่ยนแปลงและความสับสนในสังคมซึ่งเกิดจากการรุกรานของกองทัพฝรั่งเศสที่นำโดยนโปเลียน ประจวบกับอาการป่วยที่ทวีความรุนแรงขึ้นของโกยา และจุดอิ่มตัวทางอาชีพ ต่างเป็นที่มาของความมืดหม่นในผลงานยุคหลังของโกยา โดยจะเห็นชัดเจนว่า ผลงานยุคหลังของเขาจะเน้นไปที่การสะท้อนความเป็นไปของบ้านเมือง เหตุการณ์ความขัดแย้ง ฝันร้ายที่เขาต้องเผชิญยามหลับ และสิ่งเหนือธรรมชาติมากขึ้น
โกยาในวัยราว 50 ปีที่อิ่มตัวจากหน้าที่การทำงานระดับสูงสุด ซ้ำร้ายยังต้องมาเผชิญกับโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ซึ่งทำให้เขากลายเป็นคนหูหนวกถาวรนับตั้งแต่ปี 1793 ทำให้โกยาที่อยู่ในโลกอันเงียบงันต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทางจิตใจซ้ำเข้าไปอีก ผลงานของโกยาในช่วงนี้จึงเริ่มเห็นเค้าโครงของความพยายามในการสำรวจความนึกคิดและจิตใต้สำนึกของเขาเองมากขึ้น
แต่เหนือสิ่งอื่นใด การเผชิญหน้ากับภาวะสงครามและความโหดร้ายทารุณของมนุษย์ ก็ทำให้โกยาเกิดคำถามว่า ‘มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผลจริงหรือไม่’ ภาพวาดของเขาเริ่มสะท้อนภาพความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะภาพการล้มตายของชาวมาดริด รวมไปถึงการย้อนกลับไปหารากเหง้าของชาวสเปน ด้วยการวาดภาพที่สะท้อนวัฒนธรรมของสเปนที่เขาชื่นชอบ เช่น การต้อนวัวกระทิง โดยเขาได้นำการละเล่นนี้มาผูกกับสถานการณ์ความขัดแย้งในบ้านเมือง ทั้งในต่างประเทศและภายในประเทศสเปนเอง
แม้ว่านักประวัติศาสตร์ยุคหลังจะมาร์กว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงยุคมืดสนิทของโกยา ทั้งด้านสุขภาพและด้านศิลปะ แต่ในทางกลับกัน ยุคนี้ก็สะท้อนผลงานยุคแรก ๆ ที่โกยาได้สร้างสรรค์งานออกมาด้วยตัวของเขาเอง ไม่มีใครมากำหนด ไม่มีใครมาตีกรอบ และไม่มีใครสั่งว่าเขาต้องวาดอะไร ยุคนี้จึงนับเป็นยุคแรกที่จินตนาการของโกยาได้ปลดปล่อยออกมาอย่างแท้จริง
“Yo lo vi” (“I saw it”) “ฉันเห็น”
แม้จะไม่สามารถได้ยินเสียงปืนหรือเสียงผู้คนกำลังกรีดร้องจากการรุกรานของนโปเลียนได้ แต่ภาพจากสงครามสเปนที่ถูกนำเสนอโดยโกยานั้นกล่อบสะท้อนความโหดเหี้ยมและความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกรุงมาดริดได้อย่างสมจริง
โกยาอยู่ในความเงียบงันมาตั้งแต่ปี 1793 จนถึงบั้นปลายชีวิต เขาจึงต้องใช้สัมผัสอื่นเพื่อรับรู้ถึงสภาพ แวดล้อมและเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด และเครื่องมือที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับสัมผัสได้ดีที่สุดก็คือ ดวงตา โกยาสังเกตเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกรุงมาดริด ผู้คนล้มตาย กองเลือด กลุ่มควันพวยพุ่ง ประชาชนกำลังวิ่งหนีตาย เขาเห็นถึงความเจ็บปวดของประชาชนชาวสเปนที่โดนรุกรานจากทหารฝรั่งเศสโดยการนำของนโปเลียนที่ 1 ที่ต้องการเข้ามาควบคุมพื้นที่ไอบีเรีย (Iberia)
ด้วยอำนาจของกองทัพฝรั่งเศสที่เข้ามาแทรกแซงระบบการเมืองสเปนอยู่ในระยะหนึ่ง โกยาจึงได้กลับมาทำงานรับราชการอีกรอบ โดยทำหน้าที่วาดภาพบุคคลให้กับนายทหารยศใหญ่โตชาวฝรั่งเศสแทน แต่ในเวลาเดียวกัน โกยาก็ได้สร้างสรรค์ภาพวาดอีกซีรีส์หนึ่งที่สะท้อนความเจ็บปวดของชาวสเปนที่ชื่อว่า The Disasters of War (1810-20)
โกยาตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้เพื่อตีแผ่เหตุการณ์เลวร้ายที่สเปนต้องเผชิญภายใต้การรุกรานของนโปเลียนที่นำมาซึ่งความตายของประชาชนชาวสเปนมากมาย โกยาได้วาดรูปที่อ้างอิงจากประสบการณ์ตรงของเขาจากการเฝ้าสังเกตความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างชาวสเปนและทหารฝรั่งเศส สงครามนี้กินเวลายาวนานกว่า 7 ปีซึ่งก็นานพอที่จะทำให้เขาผลิตชิ้นงานที่เกี่ยวข้องออกมาได้หลายชิ้น
ผลงาน The Third of May เป็นชิ้นงานโบว์แดงนำเสนอเหตุการณ์วันที่ 3 พฤษภาคม ปี 1808 ซึ่งประชาชนชาวสเปนล้มตายจากการถูกทหารชาวฝรั่งเศสล้อมเมืองสังหารด้วยความอำมหิต เพียงเพราะต้องการล้างแค้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันก่อนหน้า เมื่อประชาชนได้ขับไล่เหล่าทหารออกจากเมือง โกยานำเสนอการเผชิญหน้ากับความตายของชาวสเปนผู้ลุกขึ้นสู้ ผลงานชิ้นนี้เต็มไปด้วยความหดหู่ ความกลัว และความรุนแรง
The Third of May นับเป็นผลงานแรก ๆ ที่โกยาวาดสิ่งที่ตรงข้ามกับความมีชีวิตชีวา ความสดใสซึ่งก็คือกองเลือดและความตาย
โฉมหน้าแห่งความอัปลักษณ์และปีศาจร้ายในใจคน
ในช่วงบั้นปลายของชีวิตและช่วงสุดท้ายของการรับราชการในวัง ความสามารถที่ยังเตะตาและเป็นที่ไว้ใจของเหล่าขุนนางและเหล่าชนชั้นปกครอง ก็ทำให้โกยายังคงได้รับการเชื้อเชิญใหเข้าไปทำงานให้กับกษัตริย์องค์ใหม่ นั่นก็คือ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 7 หลังจากที่อำนาจของฝรั่งเศสได้เสื่อมถอยลงไปแล้ว กระทั่งอาการป่วยของเขากลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง โกยาจึงตัดสินใจที่จะย้ายออกจากวังและขอเกษียณอายุราชการ
ภายในกระท่อมชานเมืองกรุงมาดริด Quinta del Sordo ‘กระท่อมของคนหูหนวก’ ที่โกยาซื้อต่อมาจากเจ้าของบ้านคนเก่าที่หูหนวกเหมือนกัน เขาใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังและสร้างผลงานที่สะท้อนจินตนาการสุดขีดคลั่งแบบไม่ต้องทำตามใบสั่งของใคร นำมาสู่ซีรีส์ผลงานชุดสุดท้ายในชีวิตของโกยาอย่าง Black Paintings ที่นำเสนอขั้นสุดของความสยดสยอง สิ่งเหนือธรรมชาติ และดำดิ่งสู่ด้านมืดที่สุดเท่าที่โกยาเคยสร้างสรรค์มาตลอดชีวิต โดยทั้งหมดถูกวาดลงบนผนังบ้านของเขา ราวกับจะสะท้อนภาพโลกอันมืดหม่นที่คอยหลอกหลอนเขามาเกือบครึ่งชีวิต
ด้วยสุขภาพทางจิตที่ไม่ค่อยสู้ดี บวกกับอาการประสาทหลอนในบางครั้งบางคราว โกยาเริ่มเพ้อฝันถึงจินตนาการอันสุดโต่งที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าน่ากลัวจากตำนานเก่าแก่และสิ่งเหนือธรรมชาติ ผลงานจากซีรีส์ภาพวาดทมิฬที่หลายคนน่าจะคุ้นชินที่สุดคงหนีไม่พ้น Saturn Devouring One of His Sons
โกยาได้อ้างอิงเรื่องราวของภาพมาจากตำนานกรีกเทพเจ้ากรีก ในปฐมบทของการถือกำเนิดเทพเจ้าบนยอดเขาโอลิมปัส กษัตริย์แห่งปวงเทพองค์ก่อนอย่าง ‘แซทเทิร์น’ หรือ ‘โครนัส’ กลัวว่าลูกทั้งหลายจะกลับมาทำร้ายตน ตามคำสาปแช่งของ ยูเรนัส พ่อของเขาที่ถูกเขาเองโค่นบัลลังก์สวรรค์ เมื่อใดที่พระแม่ธรณีให้กำเนิดลูกคนใหม่ โครนัสจึงจับเอาลูก ๆ กลืนลงท้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกย้อนกลับมาชิงบัลลังก์ของตนดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ความพิเศษของภาพวาดชิ้นนี้ก็คือการที่โกยานำเสนอภาพของเทพเจ้าในรูปลักษณ์ของชายแก่ไม่ต่างจากมนุษย์ผู้สุดแสนอัปลักษณ์ อีกทั้งเลือดและความสยดสยองของการฉีกเนื้อก็ทำให้คนดูรู้สึกได้ถึงความป่าเถื่อนอัปลักษณ์ ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นเทพอันสูงส่ง
ผลงานในซีรีส์ชุดนี้ยังสะท้อนสิ่งเหนือธรรมชาติ มนุษย์กลายพันธุ์ แม่มด สิ่งลี้ลับอีกมากมาย โดยทั้งหมดถูกเก็บไว้เป็นความลับภายในกระท่อมหลังเล็ก ๆ แห่งนี้ โกยาไม่เคยปริปากบอกใครถึงการมีอยู่ของซีรีส์ชุดนี้ กระทั่งเขาจากโลกไปในวัย 88 ปี ที่เมืองบอร์โดซ์ ประเทศฝรั่งเศส กระท่อมแห่งนี้จึงถูกเปิดออก และนั่นเองที่เหล่าผลงาน Black Painting ได้ถูกเผยต่อสายตาผู้คน
จากจินตนาการมืดสู่แรงบันดาลใจแห่งโลกศิลปะ
จากเริ่มต้นเส้นทางอาชีพศิลปินจนถึงบั้นปลายสุดท้ายของชีวิต โกยาได้สร้างสรรค์ผลงานมากมายทั้งรูปแบบที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตชีวา ความสดใส ไปจนถึงผลงานที่สะท้อนด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ที่เราอยากเบือนหน้าหนี ...แต่ก็ถูกดึงดูดไปพร้อม ๆ กัน
ผลงานของโกยาเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินยุคหลังมากมาย หนึ่งในนั้นคือศิลปินแห่งศตวรรษที่ 20 อย่าง ปาโบล ปิกัสโซ ที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพสงครามของโกยาอย่าง The Disaster of War มาสร้างผลงานสะท้อนสงครามทางการเมืองของสเปนในสไตล์ของตนเอง
ผลงานของโกยายังส่งอิทธิพลต่อเหล่าศิลปินยุคโมเดิร์นมากมาย ผลงานที่นำเสนอภาพหญิงสาวเปลือยเปล่า Naked Maja (1797–1800) ก็ยังส่งอิทธิพลต่อจิตรกรอิมเพรสชันนิสม์อย่าง เอดัวร์ มาเนต์ ที่ได้วาด Olympia (1863) โดยได้แรงบันดาลใจในความกล้าและความขบถของโกยา ที่เผยความเปลือยเปล่าอย่างอล่างฉ่างตระการตา โดยที่หญิงสาวในภาพล้วนหันมาจ้องมองผู้ชมอย่างไม่เขินอายต่อสภาพเปลือยของตนเอง
หนึ่งในแฟนตัวยงของโกยาก็คือผู้กำกับ กิลเยร์โม เดล โทโร ที่ได้แรงบันดาลใจจากผลงานในช่วงท้ายชีวิตอย่าง Saturn Devouring His Son มาเป็นต้นแบบของปีศาจไร้ตาสุดไอคอนิกในหนัง หรือภาพ Colossus (1808) ที่เป็นภาพยักษ์ดุร้ายน่าเกรงขามกำลังเดินเข้าหาเมืองในภูเขา ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เดลโทโรในการทำหนังหุ่นยนต์ยักษ์อย่าง Pacific Rim (2013)
แม้ว่าชีวิตและผลงานของโกยาจะเต็มไปด้วยเรื่องราวความโหดร้ายและความดำมืด แต่ในขณะเดียวกัน ผลงานของเขาก็เปิดให้ผู้คนได้เห็นความจริงแท้ของมนุษย์และสังคม ที่แม้ว่าเราอยากจะเบือนหน้าหนี แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ จนเราอาจกล่าวได้ว่า ผลงานของโกยาเปิดให้เห็นความเป็นมนุษย์ และแง่มุมของตัวเราเองที่เราอาจไม่ยอมรับ แต่เราจำเป็นต้องมอง
อ้างอิง :