275499930_554117142898331_4356992955367786589_n.jpg

ป่า – กล้วยไม้ – การหลับใหล 3 สัญลักษณ์พบบ่อยในหนังของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์

Post on 9 March

ไม่ว่า เจ้ย–อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับไทยสายศิลปะ จะทำหนังออกมากี่เรื่อง บรรยากาศในหนังของเขาก็ยังอบอวลด้วยกลิ่นอายความงามชวนตราตรึงใจปนความพิศวงไปด้วยในเวลาเดียวกัน พาผู้ชมให้ได้ซึมซับกับบรรยากาศอันแปลกประหลาด ไม่เหมือนใคร จนเกิดเป็นภาวะความสับสนบนเส้นแบ่งกึ่งจริงกึ่งฝันได้เสมอมา แต่ที่น่าทึ่งไปอีกขั้นก็คือ แม้ว่าผู้ชมอย่างเราจะมองสถานการณ์ตรงหน้าด้วยความงงงวยเล็กน้อย แต่บรรยากาศต่าง ๆ กลับดูคุ้นชิน คล้ายว่าเคยเห็นหรือสัมผัสจากที่ไหนมาก่อน

 

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า องค์ประกอบในหนังของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ คือสิ่งที่เราพบเห็นกันเป็นปกติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นบนฉากหลังของป่า การมีอยู่ของกล้วยไม้ หรือสภาวะการนอนหลับ สิ่งเหล่านี้ต่างเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันผู้คน หรือหากไม่ใช่กิจวัตรที่ต้องเจอทุกวัน ส่วนประกอบที่ว่ามาก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่คงอยู่ในความทรงจำหรือการรับรู้ของผู้คนทั่วไป ด้วยความคุ้นเคยนี้เอง ทำให้องค์ประกอบหลักในหนังของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ สามารถพาผู้ชมก้าวข้ามเส้นแบ่งเวลา ดื่มด่ำไปกับการสำรวจชอตภาพอันนิ่งช้า ล่องลอยอยู่ในจักรวาลคู่ขนาน ที่พร้อมจะเดินควบคู่ไปกับประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ชม ซึ่งก็แน่นอนว่าใน MEMORIA ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ ที่กำลังเข้าฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ในตอนนี้ ก็มีหลายส่วนเชื่อมโยงถึงความทรงจำของผู้กำกับ นักแสดง รวมถึงความทรงจำจากพื้นที่หนึ่งสู่พื้นที่หนึ่งในแต่ละห้วงเวลา จนส่งต่อมาถึงคนดูด้วยเช่นกัน ส่วนจะมีอะไรบ้าง ตามไปชมกันได้เลย

ป่าในที่นี้ไม่ใช่ป่าจริง ๆ แต่เป็นป่าในความทรงจำสมัยเด็ก ที่ซึ่งเราได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์หรือตัวอะไรแปลก ๆ เหมือนเป็นที่ที่เราหลบซ่อนได้ ฉะนั้นป่าเลยกลายเป็นสัญลักษณ์ในหนังเสมอมา 

ป่า

อย่างที่ได้เห็นกันมาโดยตลอดว่า ภูมิทัศน์ และธรรมชาติ คือส่ิงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติเสมอในหนังของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ สิ่งนี้ได้ตอกย้ำชัดเจนถึงความสำคัญของพื้นที่ ซึ่งเชื่อมโยงจากความทรงจำส่วนตัวของผู้กำกับ โดยเฉพาะฉากหลังในบ้านเกิดทางแถบภาคอีสานที่เขาเติบโตมา การสร้างหนัง รวมถึงผลงานศิลปะของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ จึงมักจะมีฉากป่าเป็นหมุดหมายหลักในเรื่องตามไปด้วย เห็นได้ชัดจากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (2002) ที่เน้นย้ำถึงความงามของแสงแดดซึ่งตกกระทบกับต้นไม้ใบหญ้า สะท้อนมาถึงตัวละครคู่รักคนชายขอบ รายละเอียดของแสงแดดรำไรบนผิวหนังหนุ่มสาว ได้ขับให้ช่วงเวลาอันแสนธรรมดานั้น สวยงามจนติดอยู่ในใจผู้ชมได้ไม่รู้ลืม จนเมื่อ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ สร้างภาพยนตร์เรื่องใหม่อย่าง สัตว์ประหลาด (2004) เขาก็ไม่ลืมพาหนังก้าวข้ามเส้นการเล่าเรื่อง มาสู่ตำนานพื้นบ้าน ชวนให้ผู้ชมได้สัมผัสกับป่าทั้งในเวลากลางวันอันเงียบสงบ และช่วงกลางคืนสุดอ้างว้าง วังเวง จนเกิดเป็นความรู้สึกไม่ปลอดภัย

ถึงแม้ว่าใน MEMORIA จะเปิดเผยให้เห็นสภาพพื้นที่ที่แตกต่างออกไป เนื่องจากสถานที่ถ่ายทำ เกิดขึ้นในโคลอมเบีย ซึ่งนับว่าห่างกับไทยกันคนละซีกโลก แต่ความคล้ายคลึงทางพื้นที่ ยังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องผ่านสภาพป่าดิบชื้น พืชพันธุ์บางชนิด จึงมีความละม้ายคล้ายคลึงกับประเทศไทยอยู่ไม่น้อย ยิ่งเมื่อรวมกับบริบททางสังคมแล้ว ฉากหลังของโคลอมเบีย ยิ่งชวนให้ผู้ชมชาวไทยอย่างเรา หันกลับมาเชื่อมโยงถึงความทรงจำของตัวเองได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เมื่อ ‘ป่า’ ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านภาษาภาพยนตร์ มวลความลี้ลับจึงถูกขับเน้นให้เห็นเป็นภาพ ราวกับว่า ป่า เป็นเหมือนพื้นที่กึ่งฝันกึ่งจริง สร้างอารมณ์ร่วมตามแต่ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ชม ป่าในหนังของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ จึงเป็นมากกว่าแค่ฉากหลังของเรื่อง แต่ยังกระตุ้นความปราถนาขึ้นอย่างช้า ๆ ในใจตัวละคร โดยไม่ผ่านขอบเขตทางเหตุผล จึงไม่แปลกใจเลยหากใครจะบอกว่าตัวเองตกอยู่ในภวังค์ความงามของป่าในหนัง เพราะแม้แต่ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ เอง ก็มองว่าการถ่ายทำในป่า ซึ่งเป็นสถานที่ที่ควบคุมอะไรไม่ได้นั้น ถือเป็นการทำงานบนพื้นที่แห่งอิสรภาพและความท้าทายโดยแท้จริง

กล้วยไม้

อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ในหนังของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ อย่าง แสงศตวรรษ (2006) หรือแม้กระทั่งการก้าวขึ้นมาเป็นคีย์สำคัญใน MEMORIA นั่นก็คือพืนพันธ์ุอันสวยงามอย่าง ‘กล้วยไม้’ แต่แม้ว่ากล้วยไม้จากหนังทั้งสองเรื่องจะดูมีความคล้ายคลึงกันจากภาพลักษณ์ภายนอก แต่การมีอยู่ของสองต้นไม้สายพันธ์ุเดียวกันนี้ กลับแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ใน MEMORIA เราจะเห็นว่า เจสสิกา (ทิลดา สวินตัน) ตัวละครเอกของเรื่อง ทำฟาร์มกล้วยไม้ แต่กล้วยไม้ของเธอกลับอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถเติบโตได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเติบโต ต่างจากใน แสงศตวรรษ ที่อธิบายกล้วยไม้ป่าว่า พวกมันมีความสามารถในการเปล่งแสงออกมาได้และพิเศษกว่าพืชพันธุ์ทั่วไป อีกทั้งกล้วยไม้ต้นนี้ยังได้เติบโตในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งด้วยการดูแลเอาใจจากคนในนั้น

ที่จริงแล้ว อาจเดาได้คร่าว ๆ ว่าความชอบส่วนตัวของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ ที่มีต่อไม้ดอกพันธุ์นี้ คงมาจากความทรงจำที่สวยงามในอดีตซึ่งตัวเขามีต่อสวนกล้วยไม้ของแม่ เหมือนกับที่เขาเคยบอกเล่าในผลงานชื่อ My Mother’s Garden ไว้ว่า “รากกล้วยไม้สีเทาที่เรียงกันเป็นแถวแตะหัวของผมขณะที่ผมกำลังเดินออกไป รากของมันเหมือนหนวดที่คอยดูดซับความทรงจำของผู้มาเยือนและป้อนให้กับดอกไม้ที่ชูช่ออยู่ เวลาอาหารเย็นมาถึงพร้อมอาทิตย์อัสดง ดอกกล้วยไม้ตั้งตระหง่าน ย่อยกินความทรงจำที่ได้มาในวันนั้น” นั่นเอง

การหลับใหล

สภาวะร่างกายชัตดาวน์ตัวเองจากโลกแห่งความเป็นจริงที่เราเรียกกันว่า ‘การนอนหลับ’ ในแง่หนึ่งเป็นเหมือนกับการพาร่างกายของเราก้าวเข้าสู่ห้วงแห่งความฝัน บ้างก็สร้างสภาวะอันอ่อนแอ ซึ่งเป็นผลจากความรู้สึกนึกคิดในช่วงเวลาก่อนหน้าจนแสดงออกอย่างไม่รู้ตัว ในฝันนั้น คล้ายกับว่าตัวเราได้ยืนอยู่กึ่งกลางตัวเอง และมีอิสระที่จะไปไหนก็ได้อย่างไร้การควบคุมจากกฎเกณฑ์ทั้งหมด ความน่าสนใจของห้วงเวลาที่เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้นี้ ส่งผลมายัง เจ้ย-อภิชาติพงศ์ โดยตรง ถึงขั้นที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “การที่เราไม่สามารถอยู่ได้ในพื้นที่แห่งความจริง การนอนจึงเป็นพื้นที่สำหรับการหลบหนี เพราะตอนหลับ ไม่มีใครสามารถมาควบคุมเราได้แม้แต่ตัวเราเอง”

จึงจะเห็นได้ว่าในภาพยนตร์ของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ การนอนหลับหรือการสำรวจภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น กลายมาเป็นส่วนผสมสำคัญที่เขาเลือกใช้เพื่อเบลอเส้นแบ่งระหว่างความจริงกับความเหนือจริง ตัวอย่างเช่น ภาวะการหลับใหลซึ่งปรากฏใน รักที่ขอนแก่น (2015) ซึ่งบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ประเทศไทย ผ่านเรื่องราวการหลับอันยาวนานของทหารคนหนึ่ง นอกจากนี้ ความหลงใหลในสภาวะการหลับใหล แสดงให้เห็นเด่นชัดใน SLEEPCINEMAHOTEL ผลงานศิลปะโดย เจ้ย-อภิชาติพงศ์ ที่จัดขึ้นในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเตอร์ดัมปี 2018 ชวนให้ผู้ชมมาดูหนัง และจำลองการผล็อยหลับไปในโรงแรมชั่วคราวที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ด้วยเช่นกัน

ในส่วนของ MEMORIA ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่กำลังฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ ก็ได้วาดภาพให้ เจสสิกา ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง มีอาการนอนไม่หลับ เนื่องจากเสียงระเบิดปริศนาดังขึ้นในหู จนกลายเป็นเหมือนคลื่นที่คอยรบกวนเธอเสมอโดยที่เธอไม่อาจคาดเดาเวลาเกิดได้