ตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้วจนถึงกันยายนปีนี้ Nakrob Moonmanas ใช้ชีวิตเป็น Artist in Residency อยู่ที่ฝรั่งเศส และใช่, เขาไปอยู่ในห้วงเวลาล็อกดาวน์แบบเต็มๆ
ถ้าคิดแบบผิวเผิน นี่ฟังดูไม่คุ้มเอาเสียเลย อุตส่าห์ได้โอกาสไปสัมผัสอาร์ตซีนของประเทศฝรั่งเศสทั้งที แต่โควิดเจ้ากรรมดันมาสกัดขาเขาเสียได้ แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นเหตุผลเดียวกันนี้เอง ที่ทำให้นักรบได้ค้นพบบางอย่างที่เขาติดค้างตั้งแต่อยู่ประเทศไทย
‘ฉันควรมองตัวเองแบบไหน’, ‘ที่ผ่านมาฉันทำอะไร’ และ ‘ชีวิตบทต่อไปควรเป็นไปอย่างไรกันแน่’, นักรบตอบคำถามทั้งหมดกับตัวเองได้ และยังเป็นสิ่งเดียวกันกับที่เขาเล่าให้เราฟังผ่านบทสัมภาษณ์นี้ด้วย
GroundControl : ทำไมคุณถึงอยากไปเป็น Artist in Residency
นักรบ : “เราว่าจุดแรกเริ่มเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เป็นช่วงที่เราคิดกับตัวเองว่าทำไมงานที่ทำอยู่ถึงไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวหรืองานคอมเมอร์เชียล โจทย์ที่เราได้ล้วนคล้ายๆ กัน ทำมา 6-7 ปีจนรู้สึกว่าตัวเองทำซ้ำ อยู่ในคอมฟอร์ตโซนจนรู้ว่าถ้าทำแบบนี้ จัดองค์ประกอบแบบนี้ สีแบบนี้ มันจะเวิร์ก เราเลยทำๆๆๆ ไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งก็รู้สึกเบื่อ และในเมื่อเรายังเบื่อ คนดูจะไม่เบื่อได้ยังไง”
GroundControl : ย่ำอยู่กับที่
นักรบ : “ว่าอย่างนั้นก็ได้ และยิ่งด้วยความที่จังหวะเวลานั้นเราสำรวจอาร์ตซีนในจุดที่อยู่ประมาณหนึ่งแล้ว เราเลยอยากลองไปดูที่อื่นบ้างว่าศิลปินเขาทำอะไรกัน
“จากตรงนั้นเราจึงตั้งคำถาม ว่ามันจะมีที่ไหนนะ ที่เราจะได้รีแลกซ์ คิดอะไรใหม่ๆ ศึกษาหาความรู้ และได้คอนเนกชั่น ซึ่งความคิดแรกของเราคือการเรียนปริญญาโท แต่คิดไปคิดมาก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองแก่เกินเรียนหรือเปล่า สุดท้ายเลยมาลงตัวกับโปรแกรม Artist in Residency แทน
“นี่คือโครงการที่ให้ศิลปินหรือคนทำงานสร้างสรรค์จากทั่วโลกมาสลับสับเปลี่ยนทำงานในพื้นที่เดียวกัน เน้นให้ศิลปินมารู้จักกัน เพื่อนำพาไปสู่โปรเจกต์ใหม่ที่มีการผสมผสานของวัฒนธรรม เรารู้สึกว่านี่แหละที่เหมาะกับเรา ซึ่งพอเขียน Proposal ส่งเข้าไปก็โชคดีที่สุดท้ายได้โอกาส โดยเป็นโครงการของหน่วยงานที่คล้ายกับกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศฝรั่งเศส แต่สารภาพว่าตอนแรกยัง blank อยู่เลยนะ ยังไม่แน่ใจว่าต้องไปทำอะไรบ้าง เพราะตัวโปรแกรมไม่ได้มีเงื่อนไขใดๆ เรารู้แค่ว่ามันน่าจะดีกับเรา ทั้งจังหวะ อายุและโอกาส”
GroundControl : ทำไมต้องเป็นฝรั่งเศส
นักรบ : “เราชอบ (หัวเราะ) ให้อธิบายเป็นเหตุผลชัดๆ คงยาก แต่คงเป็นเพราะที่นี่มีหลายอย่างที่เราหลงไหล ทั้งศิลปะตั้งแต่ยุคเก่าจนถึงยุคใหม่ หรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สำหรับเราแล้วฝรั่งเศสเลยลงตัว อดีตกับปัจจุบันอยู่ด้วยกันได้อย่างถูกจริต ดังนั้นพอต้องเลือกสถานที่เราเลยไม่คิดถึงที่อื่น เหมือนโดนฝรั่งเศสซื้อไปแล้วน่ะ (ยิ้ม)”
GroundControl : แต่จากที่คุณเคยให้สัมภาษณ์ คุณไปถึงแค่เดือนเดียวฝรั่งเศสก็ประกาศล็อกดาวน์ทันที
นักรบ : “ใช่ ตอนแรกตามแผนคือจะได้ไปอยู่ 3 เดือนเอง แต่กลายเป็นว่าพอไปถึงเดือนแรกเขาก็ปิดเมือง ล็อคดาวน์ใหญ่ ถึงที่เราอยู่จะมีสตูดิโอกว่าสามร้อยห้องเพื่อรองรับ Artist in Residency แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ช่วงนั้นไม่มีกิจกรรมใดๆ ไม่มีนิทรรศการ ไม่มี Open Studio และไม่ได้ให้แต่ละคนมาอยู่รวมกัน เขาเลยมีโครงการเพิ่มเติมสำหรับคนที่อยากอยู่ต่อ ให้เขียน Proposal ส่งมาอีก เราเลยเขียนส่งไป ปรากฏว่าก็โชคดีอีกครั้ง เขาตอบรับ เลยได้อยู่ต่ออีก 3 เดือน”
GroundControl : ชีวิตประจำวันของการไปเป็น Artist in Residency เป็นอย่างไรบ้าง
นักรบ : “ถ้าช่วงเดือนแรก ส่วนใหญ่เรายังทำงานเดิมที่ได้รับจากเมืองไทย บวกกับโปรเจกต์ของตัวเองที่ยังทำต่อเนื่อง แต่ก็กันเวลาในแต่ละวันเพื่อไปเดินในเมืองและดูมิวเซียมด้วย เพราะฝรั่งเศสมีนิทรรศการใหม่ๆ เสมอ รวมถึงใช้เวลากับเพื่อนใหม่ที่เป็น Artist in Residency ที่ได้เจอที่นั่น
“แต่พอเข้าสู่ช่วงล็อคดาวน์ ทุกอย่างก็เปลี่ยน เราต้องอยู่ในสตูดิโอตลอด ออกบ้านได้แค่ครั้งเดียวต่อวัน ภายในรัศมีหนึ่งกิโลเมตรเท่านั้น โดยรวมก็ถือว่าโหดเหมือนกัน
GroundControl : การใช้ชีวิตแบบนั้นส่งผลอย่างไรต่อคุณบ้าง
นักรบ : “ในแรกเริ่มมีความเสียดายอยู่แล้ว มาถึงทั้งทีแต่ไม่ได้ออกไปไหนเลย แต่พอเวลาผ่านไปและได้ลองมองในอีกมุม จังหวะเวลาตรงนั้นก็ทำให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้นนะ ได้ครุ่นคิดกับชีวิตหลายอย่าง ได้วางเป้าหมาย และได้ถามตัวเองว่าตกลงเราอยากทำงานประมาณไหน เราเคยทำอะไรมาบ้าง แล้วในอนาคตเราควรไปต่อยังไง ซึ่งหลังจากตกตระกอน เราก็ตอบตัวเองได้ว่าขั้นแรกเราอยากกลับไปทดลอง ทั้งสิ่งที่ไม่เคยทำหรือสิ่งที่เคยทำแต่ไม่ได้ทำมานานมากแล้ว
“อย่างแรกที่เราลองคือการกลับไปทำงานมือ เพราะมันเป็นรูปแบบงานในช่วงแรกของอาชีพ เราทำออกมาหลายชิ้นอยู่เหมือนกัน เพราะยิ่งทำก็เหมือนยิ่งได้ทบทวน มันทำให้เราเห็นเนื้อหาของตัวเองตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน และตั้งคำถามไปถึงอนาคต ซึ่งจากตรงนั้น มันก็ทำให้เราตอบตัวเองได้มากขึ้นด้วยว่าเราอยากทำงานที่เป็นส่วนตัวเพื่อพูดถึงประเด็นที่เราอินมากกว่านี้ อย่างประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
“นอกเหนือจากนั้นเราก็ได้ทดลองอีกหลากหลายรูปแบบกับงาน เช่น การซื้อสีไม้ระบายน้ำมาใช้กับงานที่เป็นรูปขาวดำ หรือการลองซื้อสีโปสเตอร์มาแปะกับงาน ผลที่ออกมาก็ไม่ใช่ว่าจะดีหรือสวยอะไรหรอก แต่เราทำเพราะมันช่วยให้เราคิดอะไรใหม่ๆ ได้มากขึ้น เหมือนค่อยๆ ได้ปลดล็อกตัวเองและเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยมองเห็นมาก่อน”
GroundControl : เพราะการไม่ได้ออกไปข้างนอก เลยทำให้ได้สำรวจข้างใน
นักรบ : “ถูกต้อง (ตอบทันที) ซึ่งมันรู้สึกดีมากเลย”
GroundControl : พอได้สำรวจความคิดภายใน คุณเจอสิ่งที่หาอยู่บ้างไหม
นักรบ : “(นิ่งคิด) เรื่องหลักๆ ที่เราสงสัยก่อนไปฝรั่งเสศคือตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง เหมือนเป็นปมที่เรามีมาตั้งนานแล้วจากการที่ไม่ได้จบตรงสาย เราเลยไม่แน่ใจว่าตัวตนเราอยู่ตรงไหน ระหว่างการเป็นนักออกแบบ นักวาดภาพประกอบ หรือศิลปิน เราตอบตัวเองไม่ได้ว่าเรารู้สึกกับอะไรเป็นพิเศษหรืออยากไปตรงไหนกันแน่ นี่จึงกลายเป็นเรื่องหลักที่เราคิดตลอดเวลาช่วงที่อยู่ที่นั่น คิดไปคิดมาจนสุดท้ายก็ได้ข้อสรุป ว่า ‘ฉันไม่เห็นต้องจำกัดตัวเองเลย ฉันก็ทำได้หมด และพอใจที่ได้ทำหลายอย่าง!’
“เอาเข้าจริงจุดที่ทำให้คิดได้อาจไม่ได้มีแค่จุดเดียว และอาจไม่ใช่เพราะฝรั่งเศสอย่างเดียวด้วย เราว่ามันเป็นเรื่องของวัย เหมือนพอได้สำรวจตัวเอง เราก็ได้เห็นว่าเมื่อก่อนที่อยากคูล มันเลยทำให้เราอยากเป็นนั่นเป็นนี่ แต่พอตอนนี้เราเอาความพอใจของตัวเองเป็นที่ตั้ง เราถึงได้รู้ว่าแท้จริงแล้วเรามีความสุขกับความหลากหลายของงานที่ได้รับนั่นแหละ ดังนั้นทำไมเราต้องรีบจำกัดบทบาทของตัวเองด้วยล่ะ บทบาทเรามีได้หลายแบบมากกว่าที่สังคมจำกัดให้เราเป็นนี่”
“เราเคยถามเพื่อนที่นั่นเหมือนกันนะ ว่าถ้าฉันจะเรียนต่อ เธอว่าฉันควรเรียนอะไร Illustration หรือ Fine Arts ดี เธอว่าฉันเหมาะกับแบบไหน แต่กลายเป็นว่าแทบทุกคนตอบเหมือนกันหมดว่าเราไม่เห็นต้องจำกัดความเลย งานเรามันแตกต่างและเป็นไปได้หลายแบบอยู่แล้ว ดังนั้นทำไมต้องไปยึดติดกับนิยามด้วย ทำไมมัวแต่มานั่งกังวลและพยายามจับตัวเองใส่กล่อง โลกสมัยใหม่เขาไม่ได้สนใจเรื่องนี้ ซึ่งพอมาคิดดูเราว่ามันก็จริง เราค่อยๆ ตอบตัวเองได้มากขึ้น พร้อมกับ Let It Go ได้ว่าเราคือคนที่ทำอะไรหลายอย่างนี่แหละ
“จะเป็นงาน Fine Arts ก็ได้ ภาพประกอบก็ได้ งานคอมเมอร์เชียลก็ได้ หรือเป็นนักเขียนก็ได้ ตัวตนเราเป็นแบบนี้ เราเป็นเป็ด และเราแฮปปี้กับมัน”
GroundControl : แม้ล็อกดาวน์ แต่การอยู่ในแวดล้อมชุมชนศิลปะทำให้คุณเห็นอะไรเพิ่มเติมบ้างไหม
นักรบ : “ด้วยความที่อยู่จนโควิดค่อยๆ คลี่คลาย เราเลยได้ร่วมกิจกรรม Open Studio มันเป็นกิจกรรมที่เปิดให้ Artist in Residency คนอื่นหรือบุคคลภายนอกเข้ามาดูวิธีการทำงานของเรา ซึ่งผลที่ออกมาคือเราสนุกมาก
“การได้เห็นคนที่ไม่ได้รู้บริบทไทยมาดูงานเราแล้วตีความในรูปแบบของตัวเอง มันเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่นะ เช่น การที่เพื่อนเราจากประเทศแอฟริกาใต้ตีความงานเราว่าสื่อสารเรื่องการปลดแอกของชนพื้นเมือง สำหรับเราเรื่องนี้น่าสนใจมาก เหมือนก่อนหน้านี้ด้วยความที่พอทำงานแล้วใจและสายตาอยู่ชิดกับงาน เราจึงไม่อาจมองเห็นภาพรวม แต่พอได้มาเจอฟีดแบ็กจากคนดูใหม่ๆ แบบนี้ มันจึงสร้างประโยชน์ให้กับเราในการทำงานต่อๆ ไปอย่างสูง”
“โลกมันกว้างใหญ่ไพศาล การอยู่เมืองไทยมาทั้งชีวิตอาจทำให้เราคิดว่าเวทีการทำงานคงอยู่แค่ตรงนี้ แต่พอได้ออกมา มันทำให้เราเห็นว่าเวทีที่เราแสดงงานแท้จริงแล้วนั้นใหญ่มาก และก็มีอีกหลายที่ที่รอให้เราไปคว้าโอกาส ประสบการณ์ที่ฝรั่งเศสเลยเป็นเหมือนการเปิดดวงตาให้เราอยากหาประสบการณ์อื่นเพื่อไปสู่หมุดหมายถัดไปที่กว้างขึ้น”
GroundControl : แล้วทำไมกลับมา
นักรบ : “(หัวเราะ) จริงๆ แล้วเราหาทำมาก อย่างที่เล่าไปว่าเราได้วีซ่าจากสถานที่ฝรั่งเศส 3 เดือนแล้วค่อยขยายมาเป็น 6 เดือนใช่ไหม แต่หลังจากนั้นเราก็ไปต่อวีซ่าอีกจนได้อยู่ 11 เดือน เรียกได้ว่าต่อจนต่อไม่ได้แล้วเพราะถ้าอยู่มากกว่า 1 ปีมันต้องใช้วีซ่าอีกประเภทหนึ่งซึ่งไม่ได้อยู่ในข้อตกลงแรก เราเลยต้องกลับมา“
GroundControl : แล้วถ้าให้มองย้อนสรุป คุณว่า ‘นักรบ มูลมานัส’ ก่อนมา Artsist in Residency กับหลังมาต่างกันไหม อย่างไร
นักรบ : “(นิ่งคิด) มันเปลี่ยนไปอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่แค่ Artsist in Residency อย่างเดียวหรอก สังคมและโลกทัศน์ของเราใน 1 ปีที่ผ่านมาก็ส่งผลด้วย ลองมองจากงานในตอนนี้ของเราก็ได้ จากที่งานเรามีความชัดเจนแต่ตอนนี้เราเริ่มอยากทำงานที่ Abstract มากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับการเติบโตของเรา ที่เมื่อก่อนเราอาจชื่นชมความเป็นไทย แต่ตอนนี้เราเริ่มตั้งคำถาม มันก็สะท้อนออกมาผ่านงานว่าภาพไม่จำเป็นต้องสวยงามไปเสียทั้งหมดก็ได้ เราควรปลอดปล่อยด้านที่ไม่สวยงามออกมาบ้างเพื่อให้เกิดการยอมรับ
"งานเราไม่ใช่แค่เอา East meets West แล้วจบอีกต่อไป แต่เราอยากหาอะไรที่มากกว่านั้น”
GroundControl : ล่าสุดกับงานนิทรรศการ Photo Alchemy นั้นเริ่มต้นได้อย่างไร
นักรบ : “นิทรรศการครั้งนี้เริ่มต้นจากการที่เราได้ไปทำนิทรรศการกลุ่มที่ฝรั่งเศส เพื่อนเราที่เป็นข่างภาพคนอิตาเลียนกับศิลปินที่เป็นคนเยอรมัน เขาคิดทำนิทรรศการกลุ่มร่วมกันโดยใช้ความชำนาญของแต่ละคนผลิตงานออกมาภายใต้หัวข้อเดียว ซึ่งหัวข้อนั้นคือ ‘Alchemy’ (การเล่นแร่แปรธาตุ) โดยงานนี้จะมีศิลปินร่วมประมาณสิบคน แต่ละคนก็จะไปตีความคำว่า Alchemy ในรูปแบบของตัวเอง
“ในแรกเริ่มพอได้รับโจทย์นี้เราตีความมันออกมาเป็นคำว่า ‘ผสมสาน’ แต่มันยังไม่ชัดเราเลยจับไปรวมกับเรื่องที่สนใจนั่นคือประวัติศาสตร์ จากตรงนั้นมันทำให้เรานึกย้อนไปถึงการเข้ามาของกล้องถ่ายรูปในไทย เราชอบประเด็นที่ว่าในช่วงแรกคนไทยไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้คืออะไร ส่วนมากมองว่ามันเป็นการเล่นแร่แปรธาตุระหว่างเวทมนตร์กับความเป็นวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ สุดท้ายเราเลยตีความมันออกมาเป็นผลงาน 1 รูปเพื่อเข้าร่วมในนิทรรศการ แต่ก็คิดกับตัวเองว่ามันมีศักยภาพที่จะไปไกลมากกว่านั้นอยู่
“ซึ่งพอกลับมามาไทย โชดคี Alliance Française de Bangkok ติดต่อมาอยากให้แสดงงานพอดี เราเลยมีโอกาสเอาไอเดียของงานชุดนี้มาต่อยอดจนออกมาเป็นนิทรรศการอย่างที่เห็น”
GroundControl : แนวคิดในการต่อยอดคืออะไร
นักรบ : “มันเริ่มมาจากการที่เราได้ไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มแล้วได้พบว่ากล้องถ่ายรูปเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 เราเลยตั้งคำถามว่าการเข้ามาของมันมีเหตุผลเพื่ออะไร เพื่อศาสนา เพื่ออาณานิคมหรือเพื่อสำรวจชนที่พวกเขามองว่าป่าเถื่อน และในมุมคนไทยเองล่ะ มองการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกตรงนี้อย่างไร กล้องถ่ายรูปสร้างอะไรให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยบ้าง
“เราค่อยๆ ปะติดปะต่อคำถามเหล่านี้จนเกิดเป็นไอเดียของงานในชื่อ ‘Photo Alchemy’ ที่เราจับเอาอีกหนึ่งความหมายของคำว่า Photo ที่แปลว่า ‘แสง’ มารวมด้วย ผสมกับตัวเราที่อยากมีอิิสระมากขึ้นผ่านงานโดยไม่ได้จำกัดตัวเองเท่าเดิม ซึ่งผลสุดท้ายที่ออกมาโดยรวมถือว่าน่าพอใจนะ
“เราได้แสดงงานที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้างแล้ว เป็นการแสดงออกถึงการเติบโตและวิธีคิดผ่านวัยที่เติบโตขึ้นน่ะ”
GroundControl : ในมุมมองคุณหลังจากได้ไปทำงานศิลปะที่ต่างประเทศ และได้กลับมาจัดแสดงงานที่ไทยอีกรอบ คุณเห็นความแตกต่างของสังคมศิลปะระหว่างสองที่นี้มากขึ้นไหม
นักรบ : “เราว่าประเด็นของเรื่องนี้มันคือการให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมของแต่ละที่ที่ต่างกัน เพราะจากการพูดคุยกับเพื่อนที่นั่นเราได้เห็นเลยว่าศิลปินจากประเทศอื่นเขามีคุณภาพชีวิตที่โอเคจริงๆ อาจต้องดิ้นรนและมีน้อยคนที่ทะลุขึ้นไประสบความสำเร็จคล้ายกับประเทศเรา แต่อย่างน้อยพวกเขาก็มีคนที่เห็นความสำคัญในศิลปะ ศิลปินมีที่ทางของตัวเองเสมอ
“ตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่เราต้องดิ้นรนกันแทบตาย ศิลปินต้องตะเกียกตะกายกันเอง ชีวิตแสนเหนื่อยเพราะไม่ได้มีแรงซัพพอร์ตจากส่วนกลาง ถึงมีทุนก็เป็นทุนป่วงๆ อะไรก็ไม่รู้ สังคมเองก็ไม่ได้เข้าใจขนาดนั้น ทุกอย่างมันเลยยากกว่า
“ทั้งที่ในมุมเรานั้นศิลปินไทยเก่งมาก แต่พอทุกอย่างเป็นแบบนี้มันเลยน่าเสียดาย รอบตัวเราล้วนเต็มไปด้วยทรัพยากรที่มีคุณค่า ทรัพยากรมนุษย์ก็ไปสู่ระดับโลก แต่ดูสิ ว่าหลายงานศิลปะในไทยแทบไม่ได้เกิดจากหน่วยงานรัฐเลย มันเกิดขึ้นจากเอกชนทั้งนั้น โดยที่ก็ไม่รู้ด้วยว่าในอนาคตจะพัฒนาขึ้นบ้างไหม
“แน่ล่ะว่ามันมีโอกาสที่สังคมจะได้พลิกฟื้น และอาจมีโอกาสที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปิวัฒนธรรมเกิดขึ้นอยู่บ้าง แต่มันจะอีกกี่ปีกัน”
GroundControl : ไม่อยากคิดถึงตัวเลขเลยว่ากี่ปี
นักรบ : “(หัวเราะแห้ง) ก็ไม่รู้เหมือนกันเนอะ ทุกวันนี้มันเลยสิ้นหวังแบบนี้ไง แต่ในขณะเดียวกัน แม้ไม่อยากจะหาข้อดีแต่ก็ต้องยอมรับว่าสังคมการเมืองในปัจจุบันนี่แหละ ที่เป็นแรงผลักดันให้ศิลปินสร้างงานขึ้นมาต่อสู้ ความบีบคั้น ความเจ็บแค้นและความโกรธทำให้ปัจจุบันศิลปินผลิตงานขึ้นมาเยอะมาก และยังเป็นเหตุผลที่ทำให้คอมมูนิตี้ศิลปะของเราค่อยๆ แข็งแรงมากขึ้นด้วย
แต่ก็นั่นแหละ สุดท้ายแล้วไม่ใช่แค่ศิลปินหรอก ไม่ว่าจะอาชีพไหนก็ไม่ควรที่จะต้องจับมือต่อสู้ด้วยตัวเองขนาดนี้เพื่อแรงซัพพอร์ตที่ควรได้ตั้งแต่แรก มันเกินไป เราควรมีคอมมูนิตี้ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่ดีกว่านี้ได้แล้วจริงๆ”
ติดตามผลงานของนักรบได้ที่ :
- facebook.com/nakrobmoon
- และ instagram.com/nakrobmoon