“ทุกสิ่งที่ปรากฏแก่สายตา ล้วนซ่อนเร้นบางสิ่งไว้เบื้องหลัง และเรามักปรารถนาจะมองเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ความชัดเจนนั้นเสมอ” - เรอเน มากริต
ครั้งหนึ่ง คำว่า ‘Ceci n'est pas une pipe’ หรือ ‘นี่ไม่ใช่ไปป์’ บนภาพ ‘The Treachery of Images’ (1929) เคยกลายเป็นหนึ่งในความฉงนครั้งใหญ่ของโลกศิลปะ เพราะในขณะที่เรากำลังจะอ้าปากเถียงศิลปินว่า “อ้าว ก็นี่มันภาพไปป์ชัด ๆ” แต่พอคิดต่อไปอีกสักพักก็ต้องพลิกกลับมาหนึ่งตลบแล้วยอมรับแต่โดยดีว่า “เอ้อ มันก็ไม่ใช่ไปป์ของจริง จริง ๆ นี่นา”
คนที่วาดภาพชวนสนเท่ห์ชิ้นนั้นขึ้นมา ก็คือ ‘เรอเน มากริต’ (René Magritte) ศิลปินแนวเซอร์เรียลลิสม์ชาวเบลเยียม ผู้โดดเด่นเรื่องการสร้างพื้นที่แห่งปริศนาไว้บนงานศิลปะของตัวเอง ด้วยการนำวัตถุธรรมดามาจัดวางในสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา ดังเช่นในภาพนี้ที่เขาได้ทำการ ‘ทรยศ’ ต่อภาพวาด โดยไม่ยอมปล่อยให้มันได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความหมายต่อผู้ชม และเลือกใช้ข้อความกำกับภาพมาดึงความสนใจและสร้างอีกหนึ่งการรับรู้ใหม่ให้ทุกคนได้ลองตีความแทน
‘The Treachery of Images’ (1929) ไม่ใช่มาสเตอร์พีซชิ้นเดียวที่ทำให้ชื่อเสียงของมากริตโด่งดัง แต่เขายังสร้างผลงานเหนือจริงอื่น ๆ ที่ท้าทายการรับรู้เอาไว้อีกมากมาย ผ่านการจัดวางสิ่งธรรมดาในพื้นที่ที่ไม่ตรงบริบท การเอาอะไรสักอย่างมาปิดบังใบหน้า คาแรกเตอร์ชายสวมเสื้อโค้ทที่โผล่ไปทุกที่ รวมไปถึงบรรดาท้องฟ้าและบรรยากาศ ที่ดูประหลาดเมื่อถูกถ่ายทอดออกมาจากสายตาของมากริต
และเนื่องจากวันนี้ (21 พฤศจิกายน) เป็นวันครบรอบวันเกิดของมากริตพอดี GroundControl เลยอยากชวนทุกคนมาสำรวจโลกของมากริตกันอีกครั้ง ผ่าน 5 สัญลักษณ์เจอบ่อยที่ติดสอยห้อยตามไปในหลาย ๆ ภาพของเขา เพื่อที่เราจะได้เข้าใจโลกของศิลปินเซอร์เรียลลิสม์คนนี้ให้มากขึ้น และสนุกกับการรับรู้โลกเหนือจริง ที่เต็มไปด้วยความจริงของเขาไปพร้อม ๆ กัน
ชายสวมหมวกทรงกลมและเสื้อโค้ตปริศนา
สิ่งธรรมดาที่สามารถพบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ในภาพวาดของมากริตก็คือชายชายไร้หน้าและหมวกทรงสูง ที่มักปรากฏขึ้นมาเป็นตัวเอกในภาพวาดของมากริตเป็นประจำ แต่เรากลับไม่เคยเห็นหน้าของบุคคลนี้ชัด ๆ เลยสักครั้ง เพราะถ้าเขาไม่ถูกอะไรบางอย่างบังหน้าอยู่ ก็มักจะยืนอยู่ไกลออกไปจนใบหน้าไม่ถูกโฟกัสไปเลย เช่น ในภาพ The Son of Man (1964), Golconda (1953) และ Man in a Bowler Hat (1964) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ชายคนนี้จะดูลึกลับ แต่ก็ถูกเฉลยมาแล้วเหมือนกันว่า ‘เขา’ ก็คือ ‘มากริต’ โดยมากริตมักจะใช้ภาพชายคนนี้ (หรือตัวเขาเอง) แทนถึงคนทั่วไปในสังคม ในอีกแง่หนึ่งอาจหมายถึงตัวมากริตเองที่ต้องการลบตัวตนในฐานะปัจเจกบุคคลออกไป แล้วสร้างตัวตนที่เป็นกลางขึ้นมา เพื่อสร้างพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับการตีความภาพในแบบฉบับของผู้ชมแต่ละคน
สำหรับมากริต ชายสวมหมวกทรงสูงจึงเป็นเหมือนเส้นสายที่เชื่อมโยงผลงานของเขาเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในบริบทของ The Son of Man (1964) ที่ชายคนนี้ถูกแอปเปิ้ลบังหน้าเอาไว้ เหลือไว้เพียงเสี้ยวดวงตาที่โผล่พ้นขอบแอปเปิ้ลได้นิดหน่อย บริบทนี้ก็แสดงให้เห็นถึงการเล่นกับการบดบังและความอยากรู้อยากเห็นของคน ใน Golconda (1953) ที่ชายสวมหมวกปรากฏซ้ำหลายร้อยคนลอยอยู่กลางอากาศเหมือนหยดฝน ก็สะท้อนถึงความซ้ำซากในชีวิตประจำวัน หรือ Man in a Bowler Hat (1964) ที่ถูกบดบังด้วยนกพิราบ ก็ชวนตั้งคำถามถึงการมองเห็นที่ไม่สมบูรณ์
จากตัวอย่างทั้งหมดนี้ล้วนชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจของมากริตที่เชิญชวนให้ผู้ชมมองลึกเข้าไปในสิ่งที่อยู่ ‘หลังฉาก’ เหนือจริง และสำรวจลงไปในชีวิตประจำวันที่ดูเหมือนจะเรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยความลึกลับที่ไม่มีที่สิ้นสุด
ท้องฟ้าและก้อนเมฆ
ท้องฟ้าและก้อนเมฆถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่พบเป็นประจำในงานของมากริต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงฉากหลังเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ทำให้เราเข้าถึงโลกเหนือจริงในงานของเขาได้มากขึ้นด้วย เช่น ในภาพ The False Mirror (1929) ที่เนื้อในดวงตาถูกแทนที่ด้วยท้องฟ้า หรือใน The Castle of the Pyrenees (1959) ที่ก้อนเมฆและท้องฟ้าเข้ามาช่วยขับเน้นความเหนือจริงให้กับปราสาทหินใหญ่ ที่ลอยอยู่กลางอากาศ เพราะสามารถสร้างความขัดแย้งในมิติของธรรมชาติและจินตนาการในสายตาของเราได้อย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างสำคัญอีกชิ้นคือ The Empire of Light (1950) ในภาพนี้ ท้องฟ้าก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนสัญญาณบอกเวลาที่ตรงข้ามกับความเป็นจริงในภาพ ท้องฟ้าสีฟ้าสดใสและก้อนเมฆขาวในเวลากลางวันตั้งอยู่เหนือบ้านและถนนที่จมอยู่ในความมืดของเวลากลางคืน ความขัดแย้งนี้สร้างความรู้สึกแปลกประหลาดและลึกลับ ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงธรรมชาติของเวลาและความจริงที่เราเชื่อว่าเข้าใจ
ในภาพรวม ก้อนเมฆและท้องฟ้าในงานของมากริตต์ไม่ได้แค่เพิ่มความสวยงามให้ภาพ แต่ยังตั้งคำถามถึงความจริงและสิ่งที่เราเชื่อว่ารู้จัก ความเรียบง่ายของมันช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ชมคิดและจินตนาการถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในผลงานเหล่านี้
ของธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
ของธรรมดาที่ไม่ธรรมดาคือจุดเด่นสำคัญของมากริต และเพื่อช่วยให้ทุกคนเห็นภาพชัด ๆ เราเลยขอย้อนกลับมาพูดถึงภาพ The Treachery of Images (1929) เพราะนอกจากภาพนี้จะสร้างความฉงนให้กับโลกศิลปะ ก็ยังเป็นตัวอย่างการนำ ‘วัตถุธรรมดา’ มาใช้ในบริบทเหนือจริงด้วย
ในภาพ The Treachery of Images (1929) มากริตต์แสดงภาพไปป์ธรรมดา ๆ พร้อมข้อความว่า ‘Ceci n'est pas une pipe’ ที่แปลว่า ‘นี่ไม่ใช่ไปป์’ ข้อความนี้ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามว่า ภาพวาดของไปป์ไม่ใช่ไปป์จริง ๆ แต่เป็นเพียงภาพที่แทนวัตถุนั้น การผสมผสานคำพูดและภาพเช่นนี้สร้างความไม่ลงรอยกันระหว่างสิ่งที่เห็นและความหมายที่แท้จริง โดยมากริตต์ได้ใช้วิธีนี้เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมคิดถึงขีดจำกัดของภาษาและการรับรู้
ภาพ Time Transfixed (1938) มากริตได้วาดภาพรถไฟเครื่องจักรไอน้ำไว้ในบริบทแปลก ๆ โดยวาดให้พุ่งออกมาจากเตาผิงในห้องที่ว่างเปล่า ภาพนี้สร้างความไม่สมเหตุสมผลและชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ เมื่อวัตถุธรรมดาในภาพถูกเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความลึกลับ ความทรงจำ และการแสดงออกทางอารมณ์
ผลงานที่ยกตัวอย่างมา สะท้อนให้เห็นแนวทางของมากริตที่ใช้วัตถุธรรมดาเพื่อท้าทายกฎของตรรกะและมิติ โลกที่มากริตต์สร้างจึงเต็มไปด้วยเรื่องที่คาดไม่ถึง แต่ในขณะเดียวกันก็ดึงดูดผู้ชมให้หลงใหลในความไม่ปกติและความเป็นไปไม่ได้ในแบบเหนือจริง
ตัวตนที่ไร้ตัวตน
การปกปิดใบหน้าแสดงถึงความลึกลับและความไม่เข้าใจอย่างแท้จริงในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เช่น The Lovers (1928) ที่ผ้าคลุมใบหน้าของคู่รักสื่อถึงความจริงที่ถูกซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงสิ่งที่เราไม่อาจมองเห็นหรือเข้าใจได้ทั้งหมด
แม้บางคนเชื่อว่าแรงบันดาลใจของภาพนี้ และการใช้สิ่งต่าง ๆ มาปิดบังใบหน้าเอาไว้ อาจมาจากเหตุการณ์สะเทือนใจในวัยเด็กของมากริต แต่เขาปฏิเสธการเชื่อมโยงนั้น โดยยืนยันว่าผลงานของเขาไม่ได้มีคำตอบตายตัว ความลึกลับของใบหน้าที่ถูกปกปิดจึงกลายเป็นตัวแทนของสิ่งที่ซ่อนเร้นในชีวิตมนุษย์ และกระตุ้นให้เราตั้งคำถามถึงความจริงที่อยู่เบื้องหลังภาพที่เห็น
ดวงตา
ดวงตาเป็นองค์ประกอบที่ศิลปินแนวเซอร์เรียลลิสม์มักใช้ในการทำงาน เพราะดวงตาเปรียบเสมือนประตูเชื่อมระหว่างตัวตนภายในกับโลกภายนอก มากริตเองก็ชอบทำงานเกี่ยวกับดวงตาเหมือนกัน เช่นในภาพ ‘The False Mirror’ (1929) ดวงตาได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการมองเห็นและการรับรู้ในโลกเซอร์เรียลลิสม์ ผ่านการแทนที่แก้วตาด้วยภาพท้องฟ้าสีฟ้าครามและเมฆขาว
ภาพนี้ไม่ใช่แค่การผสมผสานภาพจริงกับจินตนาการ แต่ยังทำให้ผู้ชมตั้งคำถามว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นเพียงภาพลวงหรือประตูสู่ความเป็นจริงที่อยู่ลึกลงไปกว่านั้น การขาดการสะท้อนในดวงตาชี้ให้เห็นถึงความว่างเปล่า ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลในตัวตนและความเป็นมนุษย์
ดวงตาในภาพนี้ยังมีบทบาทในการสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่มั่นคง ผู้ชมรู้สึกเหมือนกำลังถูกดวงตาจ้องมองกลับมา ทั้งที่ในความจริงแล้ว ดวงตานั้นไร้ตัวตน นี่คือความสามารถของมากริตในการเล่นกับความรู้สึกของผู้ชม ทำให้พวกเขาสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับตัวตน จิตใจ และความหมายของการดำรงอยู่ The False Mirror (1929) จึงไม่ได้เป็นเพียงภาพวาดที่ดึงดูดสายตา แต่ยังเป็นการเชื้อเชิญให้ผู้ชมเดินทางสู่โลกที่ความเป็นจริงและจินตนาการหลอมรวมกัน เป็นบทสนทนาที่ไร้คำพูดระหว่างตัวผู้ชมกับภาพ ซึ่งนำไปสู่การตีความที่ไร้จุดสิ้นสุด
อ้างอิง
René Magritte : ศิลปินที่ทรยศต่อภาพวาดด้วยภาพวาด
moma