GC_beingartist_Johannes Vermeer.jpg

Johannes Vermeer ศิลปินผู้ฉาย ‘แสง’ ส่องสามัญชนคนธรรมดา

Post on 24 January

“เวลาที่คุณคิดถึงภาพ Mona Lisa เธอหันมามองเราเช่นกัน แต่เธอไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเรา เธอนั่งอยู่ในภาพนั้น ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ในขณะที่ในภาพ Girl with a Pearl Earring ไม่มีสิ่งใดขวางกั้นระหว่างเรากับหญิงสาวในภาพ ราวกับว่าเธอมีมนต์ขลังพิเศษที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราเข้าถึงเธอได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ดูลึกลับ และนั่นล่ะคือความงดงามน่าหลงใหลของเธอ” - Tracy Chevalier ผู้เขียนหนังสือ Girl with a Pearl Earring

เมื่อเอ่ยชื่อ โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ ขึ้นมา อาจมีคนที่ไม่ได้สนใจศิลปะเพียงไม่มากนักที่สามารถบอกได้ว่าเขาคือใคร แต่หากลองพูดถึงชื่อภาพวาด Girl with a Pearl Earring หรือ สาวใส่ต่างหูมุก เชื่อว่าต้องมีคนคุ้นหูกับชื่อนี้มากกว่าชื่อของเฟอร์เมร์อย่างแน่นอน

ที่จริงแล้วเคยมีการสำรวจว่า คนอเมริกันมากถึง 82 เปอร์เซนต์ที่ไม่สามารถบอกชื่อของคนที่วาดภาพ Girl with a Pearl Earring ได้ และหากย้อนกลับไปดูผลสำรวจที่เคยมีคนทำไว้ในปี 1850 ก็จะพบว่า มีคนอเมริกันน้อยกว่า 1 เปอร์เซนต์ที่ตอบได้ว่า เฟอร์เมร์คือเจ้าของภาพวาดหญิงสาวกับต่างหูมุก

หากย้อนกลับไปในอดีต การที่ชื่อของเจ้าศิลปินชาวดัตช์แห่งศตวรรษที่ 17 ผู้นี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะไม่เพียงตลอดชีวิตของเฟอร์เมร์จะผลิตผลงานออกมาเพียง 36 ชิ้น เมื่อเขาเสียชีวิตลงในปี 1675 ชื่อของเขาก็ค่อย ๅ ถูกหลงลืมไปจากโลกของศิลปะ และเมื่อผลงานหญิงสาวกับต่างหูมุกถูกนำออกมาประมูลครั้งแรกในปี 1881 หรือประมาณ 200 ปีถัดมา มันก็ถูกประมูลไปในราคาเพียง 2 กิลเดอร์เนเธอร์แลนด์เท่านั้น

แต่เมื่อถึงศตวรรษที่ 20 ความเปลี่ยนแปลงของสังคมในโลกและการหันมาให้ความสำคัญกับคนชนชั้นล่างที่เคยถูกมองข้ามเสมอมา ก็ทำให้ผลงานของเฟอร์เมร์กลับมาได้รับความในใจ ภาพวาดของหญิงรีดนมและหญิงรับใช้ขณะกำลังดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเฟอร์เมร์ที่เคยถูกหมางเมินจากโลกศิลปะร่วมยุค ค่าที่หาได้นำเสนอผู้คนใหญ่โตซึ่งมีเรื่องราวยิ่งใหญ่ กลับได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ศิลปะยุคใหม่ในฐานะผลงานที่มีความขบถต่อจารีตศิลปะของยุค และมองเห็นความงดงามในความธรรมดาสามัญของชีวิตผู้คน การถ่ายทอดแสงที่ตกกระทบเหล่าผู้คนสามัญในภาพวาดด้วยวิถีความดรามาติกแบบที่สงวนไว้สำหรับนำเสนอภาพบุคคลหรือผู้นำที่ยิ่งใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงการปลดเปลื้องเปลือกนอกทางชนชั้นเพื่อเฉลิมฉลองให้กับความงดงามของชีวิตประจำวัน

เนื่องในโอกาสที่วันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมาถูกบันทึกไว้ว่าเป็นวันครบรอบการเข้าพิธีศีลจุ่มปีที่ 389 ของ โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นวันคล้ายวันเกิดของเขา GroundControl จึงขอใช้คอลัมน์ The Art of Being An Artist ประจำสัปดาห์นี้พาผู้อ่านไปทำความรู้จักเฟอร์เมร์ผ่านชีวิตและผลงานของเขาด้วยกัน

Girl with a Pearl Earring หญิงสาวที่แนะนำให้โลกรู้จักเฟอร์เมร์

‘Mona Lisa of the North’ หรือ ‘โมนาลิซ่าแห่งแดนเหนือ’ คือสมญานามของหญิงสาวกับต่างหูไข่มุกในภาพ Girl with a Pearl Earring (1665) ซึ่งเป็นการสะท้อนนัยถึงความสำคัญของหญิงสาวทั้งสองในโลกศิลปะ ถ้ายุคเรอเนซองส์มีโมนาลิซ่าเป็นหญิงสาวตัวแทนของยุค ยุคบาโรกก็จะมีหญิงสาวกับต่างหูมุกผู้นี้เป็นตัวแทนของยุคบาโรกเช่นกัน

หญิงสาวกับต่างหูมุกได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผลงานของเฟอร์เมร์ที่สะท้อนถึงสุนทรียะในแบบของเขาได้ชัดเจนที่สุด หากมองภาพนี้เพียงผิวเผิน เราก็อาจจะคิดว่าภาพนี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าภาพของหญิงสาวผู้หนึ่งที่กำลังหันมาจับจ้องสบสายตากับผู้ชม ทว่าเมื่อลองจ้องภาพนี้อย่างพิเคราะห์ ก็จะสังเกตได้ว่า ผลงานชิ้นนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย โดยเฉพาะการให้รายละเอียดของแสงและเงา โดยจุดที่สังเกตได้ชัดเจนที่สุดก็คือแสงที่ตกกระทบบริเวณบนหน้า การใช้โทนสีเพื่อสร้างโครงหน้าและสันจมูกโดยไม่ต้องวาดเส้น การสะท้อนความมันวาวสะท้อนแสงของใบหน้า บวกกับการให้แสงสว่างที่ตัดชัดกับเงามืดที่เป็นฉากหลัง และวิธีการนำเสนอไข่มุกที่ติ่งหูโดยไม่ต้องอาศัยเส้นสายลายโค้ง เพียงใช้ความเข้มอ่อนของโทนสีจนทำให้ผู้ชมรับรู้ถึงรูปทรงของหยดไข่มุก องค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ผู้ชมรู้สึกราวกับว่าไม่ได้กำลังจ้องมองภาพวาด หากแต่เรากำลังเผชิญหน้ากับหญิงสาวตัวจริง หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือเรากำลังจ้องมองภาพถ่ายของหญิงสาวจากศตวรรษที่ 17 ในยุคที่กล้องถ่ายรูปยังไม่ถูกคิดค้นขึ้นมา

Girl with a Pearl Earring ไม่เพียงสะท้อนความเก่งกาจในด้านเทคนิคของเฟอร์เมร์ แต่เธอยังเป็นภาพวาดที่สะท้อนบริบทของยุคสมัยในช่วงนั้นได้อย่างชัดเจน หญิงสาวกับต่างหูไข่มุกเป็นภาพสะท้อนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ในยุคนั้น ความมั่งมีของดินแดนแห่งนี้ถูกนำเสนอผ่านเครื่องแต่งกายอันสง่างามและความ ‘แพง’ ของเครื่องประดับตุ้มหูไข่มุกที่มีมูลค่าเกินประเมินในยุคนั้น

แต่สิ่งที่สะท้อนความแพงเหนือองค์ประกอบใดในภาพ กลับเป็นการใช้สีน้ำเงินบนผ้าโพกหัวของหญิงสาว ซึ่งในยุคของเฟอร์เมร์นั้น สีนำ้เงินคือสีล้ำค่าที่สงวนไว้สำหรับการวาดภาพทางศาสนาอันสูงส่งหรือไม่ก็เจ้าขุนมูลนายเท่านั้น เพราะสีน้ำเงินเป็นสีที่ไม่อาจสกัดได้ตามธรรมชาติ แต่ต้องอาศัยการทดลองผสมแร่หลายอย่างเข้าด้วยกัน ซึ่งถิ่นกำเนิดของแร่เหล่านั้นก็อยู่ไกลถึงดินแดนตะวันออกกลาง การใช้สีน้ำเงินในภาพหญิงสาวคนธรรมดา (ที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ฟันธงว่านางแบบในภาพคือใคร) จึงเป็นเรื่องที่ผิดแผกและถือว่า ‘ใจถึงมาก’ ของศิลปิน ซึ่งกว่าที่จะได้สีน้ำเงินเฉดอัลตรามารีนนี้มาได้ เฟอร์เมร์ก็ต้องลงทุนควักเงินตัวเองออกมาเป็นจำนวนมหาศาลเพียงเพื่อจะย้อมสีผ้าโพกหัวของหญิงสาวให้เป็นสีน้ำเงิน ซึ่งก็ทำให้เขามีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงการทุ่มเททั้งกายใจเพื่อศิลปะของศิลปินผู้นี้

จากลูกคนงานทำผ้าไหม สู่ศิลปินที่ใช้สีน้ำเงินที่แพงที่สุด

เด็กชาย โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ เข้าพิธีรับศีลจุ่มเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1632 ในครอบครัวฐานะปานกลางที่มีพ่อเป็นคนงานทำผ้าไหมที่อาศัยอยู่ในบ้านบนถนน Sint Antoniesbreestraat ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นถนนที่เป็นแหล่งรวมตัวของศิลปินมากมาย

ก่อนที่พ่อของเฟอร์เมร์จะเสียชีวิตในปี 1625 จากเหตุทะเลาะวิวาทกับทหาร เขาได้ผันตัวมาเป็นนายหน้าขายงานศิลปะก่อนจะเช่ากิจการโรงแรมมาดำเนินงานต่อ ซึ่งเมื่อเขาเสียชีวิตลง เฟอร์เมร์ก็ได้สานต่อธุรกิจของพ่อ แต่ก็มาพร้อมกับภาระหนี้สินที่ใหญ่พอตัว

ว่ากันว่าในช่วงที่พ่อของเขาทำอาชีพนายหน้าขายงานศิลปะนี่เองที่เฟอร์เมร์เริ่มสนใจในศิลปะและสร้างผลงานของตัวเอง การคลุกคลีอยู่กับผลงานของศิลปินผู้เก่งฉกาจก็เอื้อให้เฟอร์เมร์สามารถเรียนรู้สุนทรียะและเทคนิคทางศิลปะได้โดยไม่ต้องไปเข้าโรงเรียนฝึกฝนเฉพาะทางเหมือนมาสเตอร์คนอื่น ๆ (ซึ่งครอบครัวของเขาก็ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยพอที่จะส่งเสริมด้วย)

ผลงานช่วงแรกของเฟอร์เมร์สะท้อนช่วงเวลาของการศึกษาเทคนิคจากบรรดามาสเตอร์คนดังแห่งศตวรรษที่ 17 ตัวอย่างเช่นในผลงาน House of Martha and Mary (1654–55) เฟอร์เมร์ก็ได้ผสานสุนทรียะของ อันโตน ฟัน ไดก์ (Anthony van Dyck) และ แฮ็นดริก เตอร์บรึคเคิน (Hendrick ter Brugghen) เข้าด้วยกัน หรืออย่าง The Procuress (1656) ที่เป็นงานที่เฟอร์เมร์สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยศึกษาจากงานของ การาวัจโจ (Caravaggio) โดยเฉพาะในเรื่องของเทคนิคการใช้แสงและเงาแบบดรามาติก

แต่มาสเตอร์ที่ส่งอิทธิพลต่อเฟอร์เมร์มากที่สุดคงหนีไม่พ้น คาเรล ฟาบริเชียส ศิลปินผู้เป็นลูกศิษย์ของ แร็มบรันต์ (Rembrandt) และยังได้ชื่อว่าเป็นลูกศิษย์เพียงคนเดียวของ Rembrandt ที่ได้พัฒนาเทคนิคและสไตล์ของตัวเอง โดยสไตล์ที่ชัดเจนของฟาบริเชียวสก็คือการนำเสนอมุมมองในภาพที่แตกต่างไปจากมุมมองศิลปะจารีต โดยเฉพาะในภาพบุคคลที่ฟาบริเชียสนำเสนอมุมมองและการถ่ายทอดแสงที่แปลกใหม่ จนทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งแรงบันดาลใจผลงานภาพบุคคลอันลือลั่นของเฟอร์เมร์

ในปี 1653 เฟอร์เมร์แต่งงานกับลูกสาวของพ่อหม้ายผู้ร่ำรวย ซึ่งทำให้ฐานะการเงินของเขาดีขึ้น แต่สภาวะเศรษฐกิจอันย่ำแย่ของเนเธอร์แลนด์ในช่วง 1670s ซึ่งเป็นช่วงปีท้าย ๆ ในชีวิตของเฟอร์เมร์ก็ทำให้เขาและครอบครัวต้องตกระกำลำบากอีกครั้ง

The Love Letter, 1669-70

The Love Letter, 1669-70

The Master of Light

แม้จะเริ่มต้นจากการวาดภาพฉากทางศาสนาตามรอยเหล่ามาสเตอร์ที่เขาศึกษาผลงานเพื่อเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจ แต่ในที่สุดเฟอร์เมร์ก็ค้นพบหนทางของตัวเองในภาพวาดบุคคลที่หาใช่ภาพวาดของผู้ยิ่งใหญ่หรือผู้บัญชาการกองทหาร แต่กลับเป็นภาพผู้คนสามัญธรรมดาขณะกำลังดำเนินชีวิตประจำวันของตนเองในพื้นที่บ้าน ซึ่งก็เป็นผลมาจากการที่เฟอร์เมร์ถถูกรายล้อมด้วยบรรยากาศความรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจและความรุ่มรวยด้านศิลปะเมืองเดลฟท์อันเป็นบ้านที่เขาปักหลักพักพิง

การนำเสนอภาพฉากในบ้านของเฟอร์เมร์ก็หาใช่การนำเสนอฉากมืด ๆ ทึม ๆ ตามวิถีการถ่ายทอดฉากในบ้านของศิลปะยุคนั้น แต่เฟอร์เมร์กลับเลือกที่จะนำเสนอแสงสีทองที่ลอดส่องเข้ามาจากช่องหน้าต่าง แล้วอาบไล้ทั้งผู้คนและสิ่งต่าง ๆ ในบ้านให้ดูเรืองรอง จนทำให้กิจกรรมสามัญธรรมดาอย่างการเทนม อ่านหนังสือ หรืออ่านจดหมาย กลับดูมีความพิเศษขึ้นมา

ความพิเศษอีกประการหนึ่งในภาพวาดผู้คนในบ้านของเฟอร์เมร์ก็คือการนำเสนอมิติลึกชัดของภาพที่ดูราวกับว่าถูกถ่ายออกมาด้วยกล้องถ่ายรูป เฟอร์เมร์ให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดในภาพด้วยการใช้แสงและเงาที่สร้างระยะตื้นลึกให้กับภาพวาดประหนึ่งว่าถูกนำเสนอผ่านเลนส์กล้อง ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยการเลือกใช้สีอย่างประณีตบรรจงเพื่อไล่แสงเงาและโทนสีให้ดูสมจริงเหมือนมองด้วยตาเปล่า

การถ่ายทอดแสงและเงาอย่างบรรจงนี้ทำให้ภาพชีวิตของคนธรรมดากลับดูน่าสนใจและมีมนต์วิเศษขึ้นมา ซับเจกต์หลักในภาพของเฟอร์เมร์มักเป็นเหล่าหญิงสาวซึ่งผูกพันกับพื้นที่บ้านมากกว่าผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นสาวใช้หรือลูกคุณหนูผู้สูงศักดิ์ ที่ทางของพวกเธอถูกผูกตรึงไว้กับพื้นที่บ้าน และเฟอร์เมร์ก็ใช้เทคนิคส่วนตัวของเขาในการถ่ายทอดโมงยามแห่งการอยู่บ้านของพวกเธอได้อย่างงดงามและดูนุ่มนวล จนให้ผู้ชมที่มองภาพนั้นรู้สึกราวกับว่าได้จ้องมองพวกเธอในช่วงเวลาที่เป็นส่วนตัวที่สุด

Girl Reading a Letter at an Open Window (1657-59)

เป็นเวลาหลายสิบปีที่ภาพ ‘หญิงสาวอ่านจดหมายข้างหน้าต่าง’ ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผลงานของแร็มบรันต์ และต่อมาก็เป็น ปีเตอร์ เดอ โฮค ( Pieter de Hooch) กระทั่งในปี 1880 ที่ชื่อของเจ้าของผลงานตัวจริงอย่างเฟอร์เมร์ได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ และนับตั้งแต่นั้นมา หญิงสาวข้างหน้าต่างก็สร้างมนต์ขลังสะกดใจผู้ชม และยังคงเผยความลับออกมาไม่จบสิ้น

ในโลกศิลปะของชาวดัตช์ ภาพหญิงสาวอ่านจดหมายเป็นที่เข้าใจกันดีว่ามักมีความหมายเกี่ยวข้องกับอารมณ์รัก แต่ในผลงานของเฟอร์เมร์ชิ้นนี้ เขาได้ใส่ความหมายอื่น ๆ ที่นอกเหนือกไปจากหญิงสาวในห้วงรัก นักประวัติศาสตร์ศิลปะตีความว่า หน้าต่างที่เปิดกว้างนั้นสะท้อนถึงความโหยหาที่จะออกจากพื้นที่บ้านของหญิงสาว หรืออีกนัยหนึ่งคือความต้องการที่จะปลดแอกตนเองจากความหมายเกี่ยวกับผู้หญิงที่สังคมกำหนดไว้ การตีความดังกล่าวทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะจินตนาการไปถึงเนื้อหาในจดหมายที่หญิงสาวกำลังอ่านว่าน่าจะเป็นจดหมายจากชายคนรักที่ชักชวนเธอให้หนีตามไปด้วยกัน

และในปี 2021 นี้ก็มีการเปิดเผยอีกหนึ่งความลับที่ซ่อนอยู่ในภาพวาดของเฟอร์เมร์ชิ้นนี้ โดยหลังจากถูกนำไปเข้ากระบวนการบูรณะที่ใช้เวลาถึงสองปี สิ่งที่เพิ่งเผยให้เห็นในภาพอายุกว่าสามศตวรรษนี้ก็คือ ภาพวาดคิวปิดที่ซ่อนอยู่ในกำแพงเบื้องหลังเด็กสาวที่กำลังอ่านจดหมาย ซึ่งการเผยตัวของคิวปิดก็ยิ่งเป็นการสนับสนุนสมมติฐานว่า จดหมายที่เด็กสาวกำลังอ่านอยู่นั้นคือจดหมายรัก

The Milkmaid (1657-58)

ในวรรณกรรมและเรื่องเล่าของชาวดัตช์ เป็นที่ชัดเจนว่าสาวรีดนมักเป็นภาพแทนของความปรารถนาทางเพศและอารมณ์ใคร่ การปรากฏตัวของสาวรีดนมวัวในวรรณกรรมหรือภาพวาดใด ๆ จึงมักเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดความปรารถนาทางเพศของผู้ชาย

ในภาพสาวรีดนมของเฟอร์เมร์ หญิงสาวผู้กำลังเทนมอยู่ที่ข้างหน้าต่างนั้นก็เล่นไปตามบทบาทของและความหมายในเรื่องความผปรารถนาทางเพศเช่นกัน แต่เฟอร์เมร์ขยับไปอีกขั้นด้วยการเพิ่มมิติและความหมายที่ลึกล้ำยิ่งกว่าเข้าไปในภาพ หากลองซูมภาพเข้าไปที่กระเบื้องซึ่งอยู่ด้านหลังที่อุ่นขาที่วางอยู่บนพื้น ก็จะเผยให้เห็นภาพคิวปิดบนกระเบื้องซึ่งเพิ่มความหมายให้กับตัวหญิงรีดนมมากขึ้น ในที่นี้ หญิงรีดนมหาได้เป็นเพียงวัตถุทางเพศของเพศชายที่ไร้ปาก ไร้เสียง ไร้มิติทางชีวิตและจิตใจ แต่การปรากฏตัวของกามเทพช่วยเปิดให้ผู้ชมเห็นว่า หญิงสาวเองก็กำลังตกอยู่ในภวังค์รักและกำลังนึกถึงชายคนรักของเธอเช่นกัน ในขณะที่การใส่ที่อุ่นเท้าเข้าไปในภาพก็สะท้อนถึงความปรารถนาทางเพศของผู้หญิง ทำให้ภาพสาวรีดนมของเฟอร์เมร์หาได้ทำหน้าที่เป็นเพียงวัตถุกระตุ้นความใคร่ของผู้ชาย แต่สาวรีดนมของเฟอร์เมร์นั้นก็มีชีวิตจิตใจ และมีความปรารถนาของเธอเองเช่นกัน

ศิลปินผู้สร้างมนต์ขลังให้ชีวิตคนธรรมดา

ชะตากรรมของบรรดาผลงานของเฟอร์เมร์กับชีวิตของของศิลปินผู้สร้างต้องประสบพบเจอกับความผกผันขึ้นลงไม่ต่างกัน ในขณะที่ชีวิตของเฟอร์เมร์เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสถานะทางสังคม จากศิลปินผู้ยากไร้สู่ลูกเขยตระกูลเศรษฐี แล้วต้องกลับมายากจนอีกครั้งด้วยผลพวงจากสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น จนทำให้เขาจากโลกนี้ไปโดยทิ้งหนี้สินไว้ให้ภรรยาและลูก ๆ (มีการสันนิษฐานว่าหนี้สินของเฟอร์เมร์นี้อาจมาจากการที่เขาทุ่มเงินไปกับการซื้อสีน้ำเงินอัลตรามารีนอันสุดแสนจะหายาก) ผลงานสะท้อนภาพชีวิตประจำวันของคนสามัญธรรมดาของเฟอร์เมร์ก็มีอันต้องระหกระเหินไม่ต่างกัน

ความตลกร้ายก็คือ ในขณะที่เฟอร์เมร์ตั้งใจสะท้อนภาพชีวิตคนธรรมดาที่หาใช่ผู้นำทางการเมืองหรือทหารหาญ ภาพวาดของเขากลับไปต้องตาทรราชย์ทางการเมืองที่ฉาวโฉ่ที่สุดในโลกอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้ที่หมายมั่นจะใช้ผลงานของเฟอร์เมร์เป็นหนึ่งในเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อความยิ่งใหญ่และบริสุทธิ์ของชนชาวเยอรมัน โดยเมื่อฮิตเลอร์ตั้งใจจะสร้างพิพิธภัณฑ์ Thousand Year Reich เพื่อประกาศศักดาและความเกรียงไกรของอาณาจักรไรค์ ผลงานชิ้นเด่นที่ฮิตเลอร์ตั้งใจให้เป็นศูนย์กลางของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็คือ The Astronomer (1668) ภาพวาดสีน้ำมันของเฟอร์เมร์ซึ่งนำเสนอภาพของนักดาราศาสตร์ขณะกำลังทำการค้นคว้าศึกษาในบ้าน โดยเหตุผลที่ทำให้ฮิตเลอร์หมายปองผลงานชิ้นนี้ก็เพราะว่านี่คือภาพวาดชิ้นแรก ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญของด้านวิทยาศาสตร์ของชาวเยอรมัน

แต่ไม่ว่าเฟอร์เมร์และผลงานของเขาจะถูกโชคชะตาพัดเหวี่ยงไปเผชิญกับสิ่งใด ความจริงหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็คือ ผลงานของเฟอร์เมร์ได้นำเสนอท่วงถ้อยงดงามในการดำรงอยู่ของมนุษย์ ที่ไม่ได้จำกัดแค่มนุษย์ที่ถูกขนานนามว่าเป็นอหังการผู้ยิ่งใหญ่ แต่แม้กระทั่งในชีวิตของมนุษย์กระจ้อยร่อยธรรมดาสามัญ เฟอร์เมร์ก็หาหนทางที่จะนำเสนอความงดงามในความธรรมดานั้น และทำให้ชีวิตของมนุษย์ทุกคนถูกขับขานได้งดงามดังบทกวี

อ้างอิง: https://www.metmuseum.org/toah/hd/verm/hd_verm.htm
https://www.oxfordbibliographies.com/.../obo...
http://www.essentialvermeer.com/.../girl_with_a_pearl...
https://news.artnet.com/.../what-is-the-greatest-vermeer...
https://www.theguardian.com/.../vermeer-artist-who-taught...
https://mymodernmet.com/vermeer-the-girl-with-the-pearl.../