“เหตุการณ์นี้เป็นการรัฐประหารอย่างรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ทำให้การทดลองประชาธิปไตยของไทยที่ดำเนินมาเป็นเวลา 3 ปีสิ้นสุดลง ตามมาด้วยการกวาดล้างครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร” ประโยคสุดท้ายในตอนจบของภาพยนตร์เรื่อง ทองปาน (2520) ที่แสดงให้เห็นถึงความเศร้าสร้อยต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังพังทลายลง
หลังสิ้นสุดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ภาคประชาชนเริ่มได้สัมผัสได้ถึงความหวังที่กำลังก่อตัวขึ้นในการเมืองไทยที่จะกลายเป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่หลังจากนั้นไม่ถึง 3 ปี ประชาธิไปไตยไทยที่เคยเบ่งบานกลับร่วงโรยลงไปในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 การเมืองไทยจึงเริ่มเข้าสู่ยุคมืดอีกครั้งนึง
เหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่การเมืองไทยเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบไปยังสื่อบันเทิงอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นก็คืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่ถูกจำกัดเสรีภาพทางความคิดลงเนื่องจากแนวคิดทางการเมือง ในช่วงเวลานั้นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมและการเมืองถูกงดฉายในทุกกรณี รวมไปถึงภาพยนตร์ที่อยู่ในช่วงถ่ายทำก็ได้รับผลกระทบจากการเมืองในช่วงนั้นเช่นกัน
แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านมาแล้ว 47 ปี แต่ผลกระทบที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้รับในช่วงเวลานั้นกลับยังคงส่งผลมาถึงปัจจุบัน เสรีภาพในการพูดถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นยังคงถูกจำกัดและปิดกั้น ภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องถูกสั่งให้ห้ามฉายและถูกแบนคล้ายจะกลายเป็นความพยายามในการปกปิดช่วงเวลาที่อยากจะลบเอาไว้
วันนี้ GroundControl จึงอยากพาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจช่วงเวลาที่ว่าด้วยภาพยนตร์และเหตุการณ์ 6 ตุลา ตั้งแต่ผลกระทบที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้รับ ณ ช่วงเวลานั้น การนำภาพยนตร์มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ไปจนถึงความพยายามในการปกปิดบาดแผลด้วยการสั่ง ‘ห้าม’ เพื่อย้ำเตือนและสำรวจถึงความทรงจำและบาดแผลในช่วงเวลานั้นให้กับผู้คนในสังคมปัจจุบันได้เรียนรู้ถึงอดีต
ภาพยนตร์ในช่วงเวลา 6 ตุลา
ในช่วงเวลาหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา มีสิ่งหนึ่งที่เราเริ่มมองเห็นได้ถึงการเปลี่ยนแปลง คือบรรยากาศของการผลิตสื่อต่าง ๆ ที่มีความอิสระมากขึ้น ทั้งแง่มุมของการสะท้อนสภาวะสังคมและการเมืองในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะสื่อหลักอย่างภาพยนตร์ที่กลายเป็นตัวแทนในการบอกเล่าถึงอุดมการณ์และการวิพากษ์วิจารณ์สังคมไม่ว่าจะเป็น เขาชื่อกานต์ (2516) ที่พูดถึงระบบการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยตรง หรือ ตลาดพรหมจารีย์ (2516) ที่สะท้อนสิทธิของลูกผู้หญิงในสังคมอันห่างไกล
แตกต่างกันกับในช่วงเวลา 6 ตุลา ที่ภาพยนตร์สะท้อนอุดมการณ์และสังคมเริ่มถูกจำกัดลง ภาพยนตร์ในช่วงเวลานั้นมักจะถูกนำมาเชื่อมโยงและได้รับผลกระทบที่เกี่ยวโยงกับการเมืองอยู่เสมอ เช่น ทองปาน (2519) ภาพยนตร์กึ่งสารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวนาอีสานที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนผามอง ซึ่งด้วยสถาวะทางการเมืองที่กำลังมาคุ ทำให้ในระหว่างการตัดต่อบรรดาทีมงานและนักแสดงได้ตกเป็นผู้ต้องหากระทำการเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ ‘ไพจง ไหลสกุล’ ผู้สร้าง เขียนบทและกำกับที่ต้องหนีไปต่างประเทศพร้อมกับฟิล์มหนัง ก่อนจะนำกลับมาฉายที่ไทยในวงจำกัดช่วงปลายปี 2520
รวมไปถึงภาพยนตร์เรื่อง เทวดาเดินดิน (2519) ที่เล่าเรื่องของวัยรุ่นสามคนผู้จนตรอกได้รวมตัวกันออกสร้างปัญหา จนเลยเถิดกลายเป็นการก่อความผิดทางกฏหมาย ซึ่งถึงแม้ว่าเรื่องราวในภาพยนตร์พยายามที่จะไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมืองมากนัก แต่ตลอดทั้งเรื่องก็ได้ทิ้งนัยยะบางอย่างเกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่วงเดือนตุลาเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่นในฉากหนึ่งที่ทหารคนหนึ่งปฏิเสธคำสั่งให้สังหารคอมมิวนิสต์ เมื่อเขาตระหนักว่าพวกเขาคือผู้รักชาติที่จงรักภักดี ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายที่บิดเบือนการโฆษณาชวนเชื่อ
แต่ถึงอย่างนั้นภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องในปีเดียวกัน มักจะถูกนำมาเชื่อมโยงให้เข้ากับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้าง ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ เป้าหมายเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์บางอย่างและป้ายสีให้อีกฝ่าย ดังเช่นภาพยนตร์ เรื่องหนักแผ่นดิน (2520) ที่เล่าเรื่องราวของกลุ่มลูกเสือชาวบ้านที่ต้องต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกดัดแปลงมาจากเพลงในชื่อเดียวกันที่ประพันธ์โดย ‘พันเอก บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก’ โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำมาใช้ในการต่อต้านขบวนการคอมมิวนิสต์
หรือจะเป็นเรื่องเก้ายอด (2520) ที่บอกเล่าเกี่ยวกับองค์การเก้ายอด องค์การก่อการร้ายที่มีเครือข่าวทั่วโลกกำลังวางแผนก่อวินาศกรรมในเมืองไทย โดยในเรื่องได้มีการนำภาพข่าวการชุมนุมประท้วงของประชาชนมาเสริมเรื่องราว เพื่อตอกย้ำประเด็นการมุ่งล้มประชาธิปไตยไทยของฝ่ายซ้ายนั่นเอง
บาดแผล ความทรงจำ และช่วงชีวิตของผู้คนในเหตุการณ์ 6 ตุลา
ถึงแม้ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา สื่อและภาพยนตร์ไทยหลาย ๆ เรื่องจะถูกปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดและการสะท้อนสังคม จนกลายเป็นเหมือนยุคมืดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย แต่ถึงอย่างนั้นความต้องการในการบอกเล่าถึงบาดแผลที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้นก็ยังคงหลงเหลืออยู่ ภาพยนตร์ไทยหลาย ๆ เรื่องจึงยังคงหยิบยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาใช้ เพื่อบอกเล่าถึงบาดแผลของผู้คนที่ผ่านพ้นเหตุการณ์ 6 ตุลามาเพื่อสะท้อนความเจ็บปวดของผู้คนในช่วงเวลานั้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิต ความฝัน และอุดมการณ์ที่ผู้คนเหล่านั้นได้รับ
หนึ่งในนั้นคือภาพยนตร์เรื่อง ช่างมันฉันไม่แคร์ (2529) ที่เล่าเรื่องของหญิงสาวแห่งวงการโฆษณา ผู้เป็นอดีตนักศึกษาผู้มีบาดแผลความทรงจำจากเหตุการณ์ 6 ตุลา และความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับหนุ่มชนชั้นล่าง ที่เข้ามาทำงานเป็นผู้ชายขายตัวในเมืองหลวง ซึ่งตัวภาพยนตร์เองได้วิพากษ์ถึง ‘คนเดือนตุลา’ ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลที่ได้รับทางกายและทางใจ ที่ส่งผลต่ออุดมการณ์และชีวิตของแต่ละคน
เฉกเช่นเดียวกันกับ เวลาในขวดแก้ว (2534) ที่บอกเล่าเรื่องราวของการเติบโตและเปลี่ยนผ่านของคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง โดยมีเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นชนวนเหตุที่สร้างหลุมดำอันโหดร้ายที่คอยบดบังความฝันเรืองรองของวัยรุ่นเหล่านี้ นอกจากนั้นในภาพยนตร์ยังเลือกใช้ภาพข่าวจากเหตุการณ์จริงในการเล่า และแสดงภาพเพื่อนของนัตที่ถูกทำร้ายจนเลือดเปรอะเต็มเสื้อ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบาดแผลที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตคน โดยเฉพาะคนที่กำลังเติบโตและแสวงหาความหมายในชีวิต หรือจะเป็นฉากที่แพทย์ปฏิเสธที่จะรักษาเหยื่อการสังหารหมู่ ทำให้เธอต้องเสียเลือดจนตาย ซึ่งเป็นผลพวงจากความโหดร้ายที่เกิดขึ้นเหตุการณ์นี้เช่นกัน
เหตุการณ์ 6 ตุลานอกจากจะถูกนำมาบอกเล่าผ่านภาพยนตร์สะท้อนสังคมและชีวิตแล้ว ‘ความรัก’ ก็เป็นอีกหนึ่งแง่มุมที่ถูกนำมาเชื่อมโยงกับเหตุการ์ 6 ตุลาบนแผ่นฟิล์ม เช่น ภาพยนตร์เรื่อง October Sonata รักที่รอคอย (2552) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่อง ‘สงครามชีวิต’ ของศรีบูรพา โดยบอกเล่าเรื่องราวของ ‘แสงจันทร์’ หญิงสาวผู้ไม่รู้หนังสือ คืนหนึ่งเธอได้พบกับหนุ่มนักเคลื่อนไหวที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเธอ ตั้งแต่วันนั้นเธอจึงตั้งตารอที่จะเจอเขาทุกปี โดยผ่านหลายเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์สังคมไทย หนึ่งในนั้นก็คือเหตุการณ์ 6 ตุลา
สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงบริบทของผู้คนที่ได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ถึงแม้คนเหล่านั้นจะไม่ได้รับบาดแผลที่เกิดขึ้นโดยตรง แต่ช่วงเวลานั้นก็ยังคงเป็นบทเรียนให้กับผู้คนรุ่นหลัง ที่พยายามจะบอกว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ได้ส่งผลต่อการเมืองเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตในช่วงเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน
ปกปิดบาดแผลด้วยการ ‘แบน’
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องได้พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการบอกเล่าถึงความโหดร้ายของเหตุการณ์ 6 ตุลาโดยตรง ซึ่งจะเห็นได้จากหลาย ๆ เรื่องที่พยายามสอดแทรกประเด็นทางการเมืองร่วมกับประเด็นของความรักหรือการใช้ชีวิต ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีภาพยนตร์อีกหลาย ๆ เรื่องที่ต้องการจะสื่อสารประเด็นนั้น ๆ กับผู้ชมโดยตรง แต่กลับกันการเลือกที่จะบอกเล่าตรง ๆ นั้นกลับส่งผลให้ภาพยนตร์เหล่านั้นถูกงดฉายหรือถูกแบนจากกองเซ็นเซอร์ไทย
ยกตัวอย่างเช่น เชคสเปียร์ต้องตาย (2554) ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรม ‘แม็คเบ็ธ’ ของเชคสเปียร์ ที่ถูกสั่งห้ามฉายโดยให้เหตุผลว่าการนำเหตุการณ์ 6 ตุลาขึ้นมาบอกเล่าใหม่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม นอกจากนั้นยังถูกอ้างว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สื่อถึงความรุนแรงและอคติที่รุนแรง จากการนำเหตุการณ์ฉาวโฉ่ที่ชายคนหนึ่งตีศพที่แขวนคอด้วยเก้าอี้ ซึ่งปรากฏในภาพถ่ายข่าวของ ‘นีล อูเลวิช’ มาบอกเล่า โดยเจ้าหน้าที่กองเซ็นเซอร์ได้แนะนำภาพยนตร์เรื่องนี้เปลี่ยนลำดับด้วยตอนจบใหม่ แต่ทีมงานได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งห้ามต่อศาลฎีกาแทน ส่งผลให้เชคสเปียร์ต้องตายถูกแบนจากกองเซ็นเซอร์ไทยถึง 11 ปี ก่อนที่จะนำกลับมาฉายอีกครั้งในปี 2567
เช่นเดียวกันกับ มหา'ลัย สยองขวัญ (2552) ภาพยนตร์สยองขวัญกึ่งการเมือง ที่ไม่เพียงนำเหตุการณ์ 6 ตุลา มารับใช้เรื่องราวสยองขวัญดังเท่านั้น แต่ยังเพิ่มองค์ประกอบเรื่องความสูญเสีย ความพลัดพราก และความโรแมนติกลงไป กลายเป็นความพยายามที่จะพูดถึงประเด็นเรื่องการเมืองอย่างจริงจังมากกว่า โดยเฉพาะฉากที่จำลองความรุนแรงของการสังหารหมู่ขึ้นมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงโดยอาวุธปืนกับนักศึกษา หรือเหตุการณ์ลิฟต์แดง ทำให้สุดท้ายภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกปรับบริบทและหลาย ๆ ฉากตามคำสั่งของกองเซ็นเซอร์ ทำให้สามารถนำมาฉายได้ปกติ
นอกจากนั้นยังมีภาพยนตร์เรื่อง เชือดก่อนชิม (2552) ที่ต้องมีการแก้และปรับหลาย ๆ ฉาก เพื่อให้สามารถนำมาฉายในประเทศได้ เพราะถึงแม้เนื้อหาหลักในภาพยนตร์จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความสยอง แต่ในฉากหลังก็ยังคงเป็นบริบทของเหตุการณ์ 6 ตุลาอยู่ดี เห็นได้จากฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้นำเสนอภาพเหตุการณ์ของศพที่ถูกเผาในวันที่ 6 ตุลา ที่ถูกนำมาเก็บไว้ในคลังเพื่อนำไปใช้ทำก๋วยเตี๋ยว ทำให้เชือดก่อนชิมถูกกองเซ็นเซอร์ระงับการฉาย จนต้องปรับหลาย ๆ ฉากและลบภาพเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาทิ้งให้หมด รวมไปถึงการเปลี่ยนชื่อเรื่องจาก ‘ก๋วยเตี๋ยวเนื้อคน’ เป็น ‘เชือดก่อนชิม’ ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันกองเซ็นเซอร์ไทยได้มีการปรับกฏให้มีความเสรีมากขึ้น การบอกเล่าหรือนำเหตุการณ์ 6 ตุลามาใช้เป็นฉากหลังยังคงสามารถทำได้ โดยการหลีกเลี่ยงเลือดหรือการเสียชีวิตจึงถือว่าเป็นที่ยอมรับ ในขณะที่การนำเสนอภาพจริงหรือเหตุการณ์จริงก็ยังคงถูกจำกัดอยู่
มรดกของ 6 ตุลาที่ยังคงถูกทิ้งไว้ในภาพยนตร์
ในช่วงเวลา 47 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าสื่ออย่างภาพยนตร์ได้นำเรื่องราวของเหตุการณ์ช่วง 6 ตุลามาผลิตซ้ำอยู่ตลอดเวลา จุดประสงค์ก็เพื่อกระตุ้นให้คนในปัจจุบันยังคงคิดถึงเรื่องนี้ อาจเป็นเด็กรุ่นหลังที่ไม่ได้โตมากับเหตุการณ์นี้ หรือไม่ได้รู้จักเหตุการณ์นี้ ภาพยนตร์จึงเป็นเหมือนอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยไปกระตุ้นว่าอยากให้ทำความรู้จัก และอยากให้คนรุ่นหลังได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ตรงนั้นด้วยตัวเอง เพื่อจดจำและเรียนรู้ถึงอดีตที่ผ่านมา
แต่ถึงอย่างนั้นบทเรียนเหล่านี้ก็ยังคงถูกจำกัดไว้ในภาพยนตร์อิสระเท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากกฎหมายเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ในอดีต และแม้จะยกเลิกกฎหมายนี้แล้ว แต่ผู้สร้างภาพยนตร์ยังคงต้องเลือกทำหนังที่สุ่มเสี่ยงน้อยกว่าด้วยเหตุผลทางสังคมและธุรกิจ สะท้อนให้เห็นว่าผู้มีอำนาจและเหล่าคนชนชั้นสูงยังคงไม่ยอมรับถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น กลายเป็นมรดกตกทอดมาถึงภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องในช่วงเวลาปัจจุบัน
ซึ่งในช่วงเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมา การเน้นย้ำถึงมรดกแห่งความรุนแรงของเหตุการณ์ 6 ตุลาในภาพยนตร์ก็ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ ลุงบุญมีระลึกชาติ (2553) ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เล่าเรื่องของชายชราที่เคยฆ่า ‘คอมมิวนิสต์’ ในยุคสงครามเย็น ที่มีลูกชายเป็น ‘ลิงป่า’ ได้เลือกใช้หมู่บ้านนาบัว จ.นครพนม เป็นสถานที่ถ่ายทำหลัก เพื่อเน้นย้ำถึงประเด็นของความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามป่าและหมู่บ้านต่าง ๆ ในช่วงเวลานั้น นอกจากนั้นเราจะเห็นลิงป่าที่มีดวงตาสีแดงเรืองแสงซึ่งได้กลายเป็นคนนอกคอกในป่า แสดงให้เห็นถึงนัยทางการเมืองที่แฝงไว้ เช่นเดียวกับคอมมิวนิสต์จำนวนมากจากนาบัวและที่อื่น ๆ ที่กลายเป็นกลุ่มคนนอกคอกจากเหตุการณ์ 6 ตุลา
ภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่บอกเล่าถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาในช่วงเวลาปัจจุบันได้อย่างโดดเด่นก็คือเรื่องดาวคะนอง (2559) ที่เล่าถึงผู้สร้างภาพยนตร์ที่ต้องการสร้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา และถ่ายทอดความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นที่พร่าเลือน โดยในภาพยนตร์ได้มีการนำเสนอเหตุการณ์ที่นักศึกษาหลายร้อยคนถูกบังคับให้นอนราบระหว่างเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาเป็นการเตือนใจถึงอดีตอันรุนแรงของพื้นที่ที่ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ที่บอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาก็เริ่มจางหายไปอีกครั้ง เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเรื่องดาวคะนอง ที่ถึงแม้จะได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ และชมรมวิจารณ์บันเทิง รวมถึงการเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์ แต่อย่างไรก็ตามตัวภาพยนตร์เองกลับมีเหตุการณ์ที่ถูกสั่งให้ห้ามฉาย เช่น ในปี 2560 ดาวคะนองถูกเจ้าหน้าที่ขอให้ห้ามฉาย และห้ามจัดกิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับหนังที่ Warehouse30 โดยให้เหตุผลว่าได้รับความเห็นจากเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายว่าเนื้อหาของภาพยนตร์มีความสุ่มเสี่ยงเกินไป
หลังจากผ่านมา 8 ปี นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องดาวคะนอง เหตุการณ์ 6 ตุลาได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งใน ตาคลี เจเนซิส (2567) ภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์ ที่บอกเล่าเรื่องราวของเครื่องย้อนเวลาที่สร้างอนาคตทางเลือกได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงอดีต ซึ่ง 6 ตุลาก็เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ในอดีตที่ถูกหยิบยกมาเล่า โดยมีตัวละครตัวหนึ่งอธิบายว่าเครื่องจักรดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้เพื่อลบเหตุการณ์ 6 ตุลาให้หายออกไปจากประวัติศาสตร์ไทย และเพื่อปกปิดการสังหารหมู่อันโหดร้ายที่เกิดขึ้น
นอกจากนั้นยังมีตัวละครหลักอีกตัวหนึ่งอย่าง ’ก้อง’ ที่ถูกเปิดเผยว่าเป็นหนึ่งในเหยื่อของการสังหารหมู่ในไทม์ไลน์อื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลืมและถูกลบในอนาคต เขาจึงมอบฟิล์มม้วนหนึ่งซึ่งมีภาพถ่ายของการสังหารหมู่ให้กับตัวละครอีกตัวหนึ่งและพูดว่า “อย่าลืมพวกเรานะ” เป็นความพยายามในการย้ำเตือนถึงเหตุการณ์อันเลวร้ายในอดีต ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีสิ่งเหล่านี้ก็ยังควรที่จะถูกพูดถึงอยู่เสมอ
สุดท้ายแม้จะผ่านมาแล้วเกือบครึ่งทศวรรษ แต่สื่อภาพยนตร์เหล่านี้ก็เป็นเครื่องเตือนใจที่แสดงให้เห็นถึงบาดแผลที่ยังคงถูกส่งต่อมาเรื่อย ๆ ถึงแม้แต่ละเรื่องจะถูกเล่าในบริบทที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็ยังคงมีจุดเชื่อมโยงเดียวกันคือบาดแผลที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ได้ทิ้งบางสิ่งบางอย่างและยังคงเป็นจุดด่างพร้อยที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย เป็นดั่งมรดกตกทอดที่ยังคงถูกกีดกันและยังคงไม่ได้รับการชำระล้างจากผู้ที่มีอำนาจ ภาพยนตร์จึงทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นและเพื่อย้ำเตือนถึงคำสัญญาว่าผู้ชมอย่างพวกเราจะไม่มีวันลืม
อ้างอิง
Hunt M. Film, Art, and Politics: 6 Th October 1976. Accessed September 14, 2024. https://matthewhunt.com/6october.pdf
Thai Cinema Uncensored
6 ตุลา’ กับความทรงจำในสื่อ-วัฒนธรรมร่วมสมัย จากหนัง ถึงเพลง สะท้อนอะไรบ้าง
หอภาพยนตร์ - มรดกภาพยนตร์ของชาติ
จาก 14 ตุลาฯ 16 ถึง 6 ตุลาฯ 19: การเบ่งบานและร่วงโรยของประชาธิปไตยไทย
‘ดาวคะนอง’ หนังตัวแทนประเทศไทยชิงออสการ์ปีล่าสุดถูกห้ามฉาย