หน้าที่ของ ‘ภาพถ่าย’ ในเช้าวันที่ 6 ตุลา คุยกับ ‘เล็ก เกียรติศิริขจร’ ศิลปินช่างภาพผู้ตามหา ‘ต้นมะขาม’ และความจริงในภาพถ่าย

Post on 5 October

ผมเคยเห็นการจลาจลรุนแรงในที่อื่น ๆ รวมถึงเหตุการณ์ครั้งใหญ่ในแถบอินโดจีน แต่เหตุการณ์นี้เต็มไปด้วยการยิงกันอย่างบ้าคลั่งมากกว่าที่ผมเคยเห็นมา

- นีล อูเลวิช เจ้าของภาพถ่ายนักศึกษาถูกแขวนใต้ต้นมะขาม ให้สัมภาษณ์กับ Bangkok Post เมื่อปี พ.ศ. 2559

ร่างไร้ชีวิตของนักศึกษาที่ถูกแขวนอยู่ใต้ต้นมะขาม กำลังถูกชายคนหนึ่งหยิบเก้าอี้เข้ามาฟาดด้วยความโกรธแค้น ทว่าการกระทำที่โหดร้ายถูกรายล้อมด้วยท่าทีที่สงบกับสีหน้าที่นิ่งเฉย ราวกับว่านี่เป็นการแสดงโชว์ที่มีการตระเตรียมคิวมาเป็นอย่างดี หรือแม้กระทั่ง ‘รอยยิ้ม’ ที่ปรากฎขึ้นบนใบหน้าของเด็กชายคนหนึ่งอย่างผิดที่ผิดทาง หากบอกว่าภาพนี้เป็นภาพจาก AI ยังจะดูน่าเชื่อถือเสียมากกว่า

แต่มันคือภาพถ่ายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นภาพที่ถ่ายโดย ‘นีล อูเลวิช’ จากสำนักข่าว AP ที่ได้มาประจำการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลานั้น และเราจะไม่มีวันได้เห็นภาพนี้เลยถ้าหากไม่มีหนังสือพิมพ์ของกรุงเทพลงข่าวว่าภาพถ่ายของอูเลวิชภาพนั้นได้รับรางวัลพูลิตเชอร์ที่เป็นรางวัลสูงสุดของช่างภาพและนักข่าวในสหรัฐอเมริกา

นเวลาผ่านไปหลายทศวรรษภาพถ่ายชุด 6 ตุลาที่ไม่เคยเห็น ได้รับการเผยแพร่ เรื่องราวของเหตุการณ์ในวันนั้นเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วยภาพถ่าย หลายภาพแสดงถึงการกระทำที่ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่าเพราะอะไรคนเราถึงกล้ากระทำสิ่งนี้ต่อชีวิตอื่นได้อย่างไม่รู้สึกรู้สาอะไร อะไรที่นำพามาสู่เหตุการณ์ในวันนั้น และวินาทีถัดมา ‘ภาพถ่าย’ ก็กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นอะไรมากมายจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ทั้งในแง่ของการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง การเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ทั้งเป็นบทเรียนล้ำค่าที่ทำให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้อะไรมากมายผ่านภาพถ่ายเหล่านั้น

แม้จะเป็นที่รู้กันว่าภาพถ่ายสามารถบันทึก ‘ความจริง’ เอาไว้ได้ ทว่าความจริงในวัตถุไวแสงเหล่านี้กลับถูกบิดเบือนได้อย่างง่ายดาย นอกเหนือจากสิ่งที่ปรากฎบนภาพ การพิจารณาถึงสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในตัวภาพถ่ายก็สำคัญไม่แพ้กัน ด้วยเหตุนี้ เมื่อ 6 ตุลา ย้อนกลับมา เราจึงมองหาใครสักคนที่จะมาให้คำแนะนำถึงวิธีการ ‘อ่าน’ ภาพถ่ายได้ลึกซึ้งมากขึ้น เราจึงได้ชวน ‘พี่เล็ก’ หรือ ‘เล็ก เกียรติศิริขจร’ เจ้าขอผลงาน ‘Lost in Paradise’ การเดินทางเข้าสู่กรุงเทพของคนต่างจังหวัดที่ต้องทิ้งบ้านเกิดเพื่อเข้ามาทำงานและชีวิตอยู่ในดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสรวงสวรรค์ในช่วงของนโยบายเสือตัวที่ห้า หรือ การเผยให้เห็นสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ใต้ผืนหญ้าเขียวขจีท่ามกลางแสงแดดที่ราวกับสามารถจะแผดเผาทุกสิ่งให้เป็นจุณ ‘UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER’ ในฐานะของผู้ที่คลุกคลีอยู่กับภาพถ่ายในหลายแง่มุม และใช้มันเป็นเสมือนไฟฉายที่คอยส่องสว่างความมืดมิดของสังคมไม่ให้เลือนหายไป มาพูดคุยถึงความอ่อนไหวและความเปราะบางของภาพถ่าย สู่การเป็นเครื่องมือทางการเมือง และวิธีการเอาตัวรอดจากกระแสน้ำแห่งความมัวเมา ที่มีต้นน้ำเป็นอคติและความเกลียดชัง โดยเฉพาะวันที่ความสะใจส่วนบุคคลอยู่เหนือความถูกต้องและมนุษยธรรม

UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER

UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER

ภาพจำของคำว่า ‘ประวัติศาสตร์’ และคติแปลกประหลาดที่นำไปสู่ ‘คาแรคเตอร์’ ของคนประเทศนี้

การพูดคุยกับนักถ่ายภาพคนนี้ มักจะได้แง่คิดอะไรที่น่าสนใจอยู่เสมอ เราจึงเริ่มต้นด้วยคำถามเบสิค ๆ อย่างเช่น ครั้งแรกที่ได้เห็นภาพถ่าย 6 ตุลา และความรู้สึกที่ได้เห็นนั้นเป็นอย่างไร

“ก็เคยเห็นในหนังสือเรียนนะ ตั้งแต่สมัยมัธยมแล้ว”

เรารู้สึกประหลาดใจกับคำตอบของเขาเล็กน้อย เพราะกลับกันแล้ว ในความทรงจำของเรา เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ปรากฏในหนังสือเรียนนั้นแทบจะเลือนลางจนอาจบอกได้ว่าไม่ปรากฏ ทว่าสิ่งที่ชัดเจนกลับเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อกว่าสองร้อยปีก่อน การอธิบายอย่างละเอียดว่าดินแดนเพื่อนบ้านของเราได้ทำลายดินแดนสยามไว้อย่างไร ทั้งยังลงลึกถึงดีเทลชนิดที่บอกเล่าวิธีการที่เพื่อนบ้านทำกับชาวสยามเราอย่างผิดมนุษย์มนา จนถึงกับทำให้เรา (และหลายคน) ไม่ชอบขี้หน้าประเทศเพื่อนบ้านไปอยู่พักใหญ่ กลายเป็นว่าประวัติศาสตร์เหล่านั้นกลับปรากฏในความทรงจำของเราอย่างแจ่มชัดยิ่งกว่า

แต่พี่เล็กยืนยันว่า เขาน่าจะเคยเห็นภาพถ่ายเกี่ยวกับ 6 ตุลา ในหนังสือเรียน เพียงแต่มันไม่ใช่เซ็ตภาพถ่ายอันแสนรุนแรงเซ็ตนั้น และการที่เล็กใช้คำว่า ‘น่าจะ’ ก็เป็นเพราะรายละเอียดของเนื้อหาที่เบาบาง มีเพียงคำอธิบายว่าเป็นเหตุการณ์ทางการเมือง เกิดเหตุอะไร ในวันที่เท่าไหร่ มีการประท้วง และมีผู้เสียชีวิต ทว่าหนังสือเรียนกลับไม่ให้ข้อมูลไปมากกว่านั้น แม้ในความทรงจำจะเลือนราง แต่พี่เล็กก็มั่นใจและย้ำอีกว่ามันต้องมีในบทเรียนแน่ ๆ

“หรือเพราะว่ามันมีอารมณ์อยู่ในนั้น?” พี่เล็กให้ความเห็นถึงการที่เราจดจำประวัติศาสตร์การเผาบ้านเผาเมืองเมื่อหลายร้อยปีก่อนได้มากกว่าการ ‘สังหารหมู่’ กลางเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 40 กว่าปีก่อน

ความคลุมเครือของความทรงจำทำให้เราเห็นว่า จุดแตกต่างระหว่างสองเหตุการณ์นี้คือปริมาณของ ‘อารมณ์’ ที่ถูกเพิ่มเติมลงไป ซึ่งพี่เล็กได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมถึงการถกเถียงประวัติศาสตร์ไทยของกลุ่มนักวิชาการ ไปจนถึงวิธีการที่นานาประเทศจัดการกับประวัติศาสตร์อันเลวร้ายของตัวเอง

ตอนไปเรียนภาษา (ที่อังกฤษ) ที่มีคนเอเชียเยอะ อาจารย์บอกพวกเราก่อนเลยว่า ‘แอมโซซอรี่ บริเตนฟัคอัพเดอะเวิลด์’ เขาพูดถึงสมัยที่มาล่าอาณานิคมทั่วโลก นี่แสดงว่าอะไร แสดงว่าคุณสอนประวัติศาสตร์ประเทศคุณเอง คุณถึงพูดแบบนี้ คุณถึงไม่ภูมิใจในความเป็นบริทิชในยุคนั้นของคุณ

มันแสดงให้เห็นว่าแม้คนในชาติเอง พวกเขาก็ไม่ได้ภูมิใจกับประวัติศาสตร์ชาติที่บัดซบมากนัก และยังแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีการศึกษาและชำระประวัติศาสตร์ของพวกเขาเองอยู่เสมอ ท่ามกลางคลาสประวัติศาสตร์กับพี่เล็ก เราได้ไปแตะจุดสำคัญที่ทำให้ประเทศนี้มีคติแปลก ๆ กับประวัติศาสตร์ของเรา และราวกับว่ามันจะกำหนดคาแรกเตอร์ของคนในชาติเราอยู่ไม่น้อย

“แน่นอน ไม่ว่าจะประเทศไหน การสร้างเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มันมีความเป็นชาตินิยมในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ว่ามันก็มีหลักฐานใหม่มาให้เราได้รับรู้และวิเคราะห์ แต่ว่าสิ่งที่ประเทศนี้มันมีแล้วไม่ดีคือ เราไปยึดสิ่งที่เราเชื่อแล้วคิดว่ามันเป็นความจริงที่สุด โดยไม่คิดจะย้อนกลับมาพิจารณาเลยว่าความเป็นจริงในเวอร์ชั่นที่เราเชื่อมันมีที่มาอย่างไร อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้มันดูเป็นจริงทางความรู้สึกกว่าเรื่องเล่าในเวอร์ชั่นอื่น ๆ”

ภาพรวมของการศึกษาที่ทั้งน่ากังวลและมีความหวัง

แล้วอะไรที่ทำให้คนไทยเชื่อแบบนั้น?

ก่อนที่คลาสประวัติศาสตร์แบบขอสั้น ๆ กับพี่เล็กจะจบลง เราได้ถามถึงต้นตอของการยึดถือความจริงหรือความเชื่อเพียงหนึ่งเดียวว่าอะไรคือสารตั้งต้นของแนวคิดนี้ การย้อนกลับไปศึกษาและสำรวจประวัติศาสตร์ของตัวเองอีกครั้ง เป็นสิ่งที่นานาประเทศที่มี ‘การศึกษา’ ที่เจริญ ทำกันอย่างเป็นเรื่องปกติ และในประเทศเดียวกันนี้เองก็ยังมองว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่พิเศษและสำคัญมากชนิดที่สามารถกำหนดอนาคตของประเทศได้ บ่อยครั้งเราจึงเห็นผู้นำประเทศเลือกระบบการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นในการนำพาประเทศไปในทิศทางที่พวกเขาต้องการ ซึ่งนั่นรวมถึงหมุดหมายปลายทางที่อาจจะไม่ค่อยดีนัก ยกตัวอย่างเช่น การปฏิวัติทางวัฒนธรรมในจีน หรือค่ายยุวชนในเยอรมัน ที่มีการพุ่งเป้าไปยัง ‘เยาวชน’ และ ‘ระบบการศึกษา’ อย่างตั้งใจ เพื่อการันตีถึงอำนาจในอนาคตและการควบคุมที่ง่ายกว่า

ตัดกลับมายังปัจจุบันที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่า (มาก) ซึ่งมันเป็นจุดสำคัญที่ทำให้หลาย ๆ คนตื่นรู้หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า ‘เบิกเนตร’ ทว่าข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายนี้ มันก็ง่ายเสียจนอะไรหลาย ๆ อย่างดูจะยากไปหมด ในแง่ของการต้องพิจารณาข้อมูลเหล่านั้นด้วยตัวคนเดียว ปริมาณข้อมูลมหาศาลที่ไม่ได้ถูกคัดกรอง ฟลัดเข้าหาสมองของเราแบบไม่หยุดหย่อน มันจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะแยกแยะความถูกต้องของข้อมูลว่าสิ่งไหนที่เป็นสาระ และสิ่งไหนไร้สาระ

การศึกษาที่มีคุณภาพจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ พี่เล็กได้พูดย้ำถึงการศึกษาอยู่หลายครั้ง และเราก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าถ้าเริ่มปรับกันที่ตรงนั้น ปัญหาในสังคมทุกวันนี้จะลดลงไปได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะทักษะที่สำคัญอย่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-Checking) การวิเคราะห์อย่างรอบด้าน ถ้าหากเราเอ๊ะสักหน่อย ตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็นสักหน่อย เราก็คงไม่ต้องเห็นสังคมที่สาดใส่กันด้วยความคิดเห็นที่เกลียดชัด สังคมที่ขอแค่ให้ฉันได้ด่าไว้ก่อน

ทั้งหมดไม่ใช่เพียงเพื่อการได้รับข้อมูลอย่างถูกต้องเท่านั้น สำคัญกว่าคือการที่เราจะได้เข้าใจมุมมองของสองฟากฝั่ง เข้าใจถึงเหตุและผลที่พวกเขาต้องการ เจ้าของข้อมูลอาจไม่ได้ตั้งใจให้ข้อมูลชี้นำไปทางใดทางหนึ่ง เพียงแค่ต้องการเสนอแนะแนวทางเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน อาจมีบ้างและเป็นเรื่องปกติที่ความเห็นที่ไม่ตรงกันนี้มันจะนำไปสู่การถกเถียงและความขัดแย้งก็ตาม แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันก็ไม่ควรเกิดขึ้นแบบในเหตุการณ์ 6 ตุลา

“เมื่อใดก็ตามที่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น สิ่งใดถูกหรือสิ่งใดผิดเป็นสิ่งที่ควรถูกชำระ แต่ที่สำคัญกว่าคือเราควรถามว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไรหรือเปล่า? เพื่อทำให้คนรุ่นหลังเกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับองคาพยพรอบข้างที่สนับสนุนเหตุการ์ณนั้น ๆ ให้เป็นไปอย่างที่เป็น”

ภาพถ่ายมาพร้อมกับบริบทเสมอ

เราโยนคำถามที่เป็นเหมือนหัวใจสำคัญของการพูดคุยในวันนี้ให้พี่เล็กว่า แล้วแล้วเราจะพิจารณาหรือพูดแบบบ้าน ๆ ว่า ‘อ่าน’ ภาพถ่ายอย่างไรได้บ้าง? ซึ่งการพิจารณา ‘บริบท’ แวดล้อมภาพถ่ายนั้น ๆ รวมถึงที่มาของบริบท ก็คือคำตอบของพี่เล็ก ด้วยเหตุนี้ คำว่า ‘บริบท’ จึงเป็นคำตอบของคำถามที่เราได้จั่วเอาไว้ แต่ก่อนที่จะปิดบทความนี้แล้วกลับไปไถฟีดเพราะว่าได้ข้อสรุปแล้ว เราอยากชวนให้ทุกคนได้ไปกันอีกสักนิด เพราะต่อให้ไม่ใช่ภาพถ่าย ‘บริบท’ ก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจเบื้องหลังของทุกสิ่งได้มากขึ้น มันสำคัญชนิดที่เป็นเสมือนเครื่องมือที่สามารถใช้ต่อกรกับการ ‘พร๊อบพากันดา’ หรือ 'การโฆษณาชวนเชื่อ’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ถ้าเรามองภาพถ่ายในแง่ของความเป็นตัวมัน ไม่ใช่ผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการหรือในแกลเลอรี เราจะพบว่าภาพถ่ายมักจะโดนหยิบไปอยู่ในบริบทใดบริบทหนึ่งเสมอ เวลาดูภาพถ่ายนอกแกลเลอรี สิ่งที่เราต้องคำนึงก็คือการอ่านและวิเคราะห์บริบท ณ ขณะที่เราดูภาพถ่ายนั้น ภาพที่เราเห็น ไม่ว่าจะโฆษณา หรือภาพถ่ายในแม็กกาซีน เราต้องรู้ทันว่ามันอยู่ในบริบทไหน เพื่อที่จะทำให้เราอ่านมันได้อีกทีหนึ่ง ภาพถ่ายเหล่านี้ไม่เคยทำงานและสื่อความหมายด้วยตัวมันเอง บริบทเกี่ยวข้องกับการตีความภาพถ่ายเสมอ”

การอ่านภาพถ่ายจึงไม่ใช่แค่การมองดูว่าตัวมันกำลังจะนำเสนออะไรหรือมีองค์ประกอบอะไรบ้างในภาพ แต่ยังรวมไปถึงพื้นที่ที่ภาพถ่ายนั้นไปปรากฎ ข้อความประกอบ และสิ่งที่อยู่นอกเหนือที่เรามองเห็น ซึ่งวิธีการนี้เราสามารถนำไปใช้ได้ในช่องทางของโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง แล้วเราจะเห็นภาพถ่ายแต่ละภาพมันมีเบื้องหลังมากกว่าที่เห็น ถ้าเราสามารถพิจารณาไปจนถึงสิ่งที่แอบซ่อนอยู่ได้ มันจะทำให้เราเห็นอะไรได้มากขึ้น ที่แน่นอนคือเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการชี้นำของผู้ที่ไม่ประสงค์ดี

แต่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ยุคสมัยที่ช่องทางการรับรู้ข่าวสารมีอยู่อย่างจำกัด บวกกับความเกลียดชังที่ถูกหว่านเมล็ดพันธุ์มาอย่างยาวนาน ไปจนถึง ‘บริบท’ อื่น ๆ ในสังคม ทำให้เหตุการณ์ในครั้งนั้นกลับมีความชอบธรรมและทุกคนก็พร้อมที่จะเดินไปตามทิศทางของข้อมูลที่ถูกส่งเข้ามาอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ พฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนั้น มันมากเสียจนทำให้เราสงสัยในเชิงกลยุทธ์ว่า พวกเขาต้องวางแผนกันขนาดไหนที่จะทำให้คนคนหนึ่งจงเกลียดจงชังชีวิตร่วมโลกอีกหลายชีวิตได้ถึงเพียงนั้น

ไม่รู้ว่าเราต้องโกรธกันขนาดไหน ถึงกับเมื่อทำร้ายกันจนเสียชีวิตแล้วยังต้องเอาเก้าอี้ไปฟาดและเอาไม้ไปตอกอกร่างที่ไร้วิญญาณ

ภาพถ่ายมันก็แค่นี้แหละ

“สิ่งที่เป็นหน้าที่ของภาพถ่าย และสิ่งที่ทำให้มันมีคุณค่ามากที่สุด คือการบันทึก มันคือพื้นฐานของภาพถ่าย เป็นความพิเศษที่สื่อชนิดอื่นทำไม่ได้ ภาพถ่ายคือสื่อชนิดเดียวที่สามารถบันทึกแล้วเชื่อมโยงความจริงได้ นอกเหนือไปจากนั้นก็จะเป็นวิดีโอหรือฟิล์ม ซึ่งก็มีพื้นฐานและพัฒนามาจากภาพถ่ายเช่นกัน”

“ภาพถ่ายส่งผลกระทบอย่างไรในเหตุการณ์ 6 ตุลาและสังคม?”

พี่เล็กตอบกลับด้วยการยกบริบทของสิ่งที่เกิดขึ้นกับภาพถ่าย 6 ตุลาให้ฟัง การเข้าถึงที่ยาก การที่มันไม่ได้ถูกเผยแพร่ หรือแม้กระทั่งการที่มันถูก ‘แทรกแซง’ จนถึงขั้นที่ภาพบางภาพก็ถูกลบออกไป เพราะสุดท้ายแล้วตัวของภาพถ่ายจากเหตุการณ์เหล่านั้นเองมันไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่านั้น หน้าที่เพียงหนึ่งเดียวและเป็นสิ่งที่ทำให้ภาพถ่ายยังไม่ตายจนถึงทุกวันนี้ ก็คือความสามารถในการบันทึก ไม่ว่าจะในเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ทั่วโลก ภาพถ่ายก็ยังมีคุณค่าและความสำคัญ ช่วยส่งต่อให้ความจริงเดินทางต่อไปได้ ยิ่งเวลาผ่านไปตัวภาพถ่ายเองยิ่งมีคุณค่ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความรู้สึกหรือทางด้านหลักฐานทางประวัติศาสตร์

แล้วตัวช่างภาพล่ะ ?

แน่นอนว่าหากไม่มีช่างภาพ ก็คงไม่มีภาพถ่ายให้เราเห็น แต่ความเห็นที่น่าสนใจระหว่างการพูดคุยกันกับพี่เล็กก็คืออำนาจของตัวช่างภาพที่มีอยู่เหนือภาพถ่ายของพวกเขา โดยเฉพาะในแวดวงของช่างภาพข่าว พวกเขาทำหน้าที่แค่บันทึกเท่านั้น แต่ผู้มีอำนาจในการบอกว่าภาพถ่ายเหล่านั้นจะต้องไปทางไหนคือกองบรรณาธิการ หรือคนที่มีอำนาจในการวางภาพเอาไว้ตรงไหนอย่างไร รวมถึงจะเอาภาพนั้นไปประกอบข้อมูลอะไร

พี่เล็กได้ยกตัวอย่างถึงนิทรรศการที่ตัดภาพถ่ายออกจากบริบทเดิมของมัน นั่นคือนิทรรศการของ MoMA ที่ชื่อว่า ‘Road to Victory’ โดย ‘เอ็ดเวิร์ด สไตเชน’ ช่างภาพ ผู้บัญชาการทหารเรือ และภัณฑารักษ์ภาพถ่ายของ MoMA เป็นนิทรรศการที่ MoMA เองก็บอกว่ามันคือนิทรรศการที่เป็นการ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ อย่างชัดเจน (“with its clearly propagandistic aim”)

“สไตเชนไปดึงภาพชาวนา แล้วก็ตัดเขาออกจากบริบทต้นทางทั้งหมด เอามาแค่ภาพนั้น ไม่รู้คนนี้เป็นใคร ให้รู้ว่าการแต่งตัวเป็นชาวนานะ มองไปที่ญี่ปุ่น ที่เพิร์ลฮาเบอร์ และใต้ภาพเพิร์ลฮาร์เบอร์มีนักธุรกิจญี่ปุ่นสองคนจับมือแล้วหัวเราะ”

นิทรรศการ Road to Victory จัดแสดง 21 พฤษภาคม - 4 ตุลาคอม 1942 ที่ MoMA นิวยอร์ก

นิทรรศการ Road to Victory จัดแสดง 21 พฤษภาคม - 4 ตุลาคอม 1942 ที่ MoMA นิวยอร์ก

นิทรรศการนี้เกิดขึ้นไม่ถึงหกเดือนหลังจากกองทัพญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ นำเสนอชีวิตชาวอเมริกันที่มีตั้งแต่ภาพถ่ายพาโนรามาในชนบท ไปจนถึงฉากการเตรียมรบ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ชาวอเมริกันทุกคนมองเห็นว่าตัวเองเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการได้มาซึ่งชัยชนะ ภาพถ่ายส่วนใหญ่ไม่ได้มีการให้เครดิตช่างภาพ จากโปรเจกต์ของรัฐบาลเช่น Farm Security Administration นอกจากนี้นิทรรศการยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสำหรับการออกไปจัดแสดงทั่วโลกอีกด้วย
.
“สไตเชนตัดบริบทที่ช่างภาพไปถ่ายต้นทางทั้งหมด ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับสงครามเลย ไปถ่ายชาวนาในยุคเศรษฐกิจตกต่ำของอเมริกา (Great Depression) อย่างเช่น โดโรเธีย แลงจ์ แล้วไปอีดิทมาอยู่ในนิทรรศการ บิดเบือนมัน ทำให้บริบทต้นทางไร้ความหมาย”

ภาพถ่ายในแกลเลอรี กับงานศิลปะที่ (จะ) เปลี่ยนแปลงสังคม (?)

พี่เล็กยังได้ยกตัวอย่างภาพถ่าย ‘The Vulture and the Little Girl’ โดยช่างภาพ ‘เควิน คาร์เตอร์’ ภาพเด็กหญิงชาวซูดานในร่างสูบผอมที่มีแร้งอยู่ด้านหลัง ภาพนี้ได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง ซูดานได้รับความช่วยเหลือ ประเด็นปัญหามากมายในแอฟริกาได้รับความสนใจ ทว่าเบื้องหลังภาพนี้กลับมีเรื่องราวให้ถกเถียงมากมายมากมาย ตั้งแต่เป็นต้นเหตุของการที่ตัวคาร์เตอร์ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง หรือการที่เหตุการณ์ในภาพอาจจะไม่ได้รุนแรงอย่างที่เข้าใจในตอนแรก แต่ไม่ว่าจะมีเบื้องหลังอย่างไร ภาพถ่ายภาพนี้ก็ได้สร้างผลกระทบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

The Vulture and the Little Girl โดยช่างภาพ เควิน คาร์เตอร์

The Vulture and the Little Girl โดยช่างภาพ เควิน คาร์เตอร์

แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่ภาพถ่ายจะทำงานด้วยตัวของมันเองได้มากขนาดนี้ และหากเราพิจารณาดี ๆ ก็ไม่ใช่แค่เพราะตัวภาพถ่ายตั้งแต่แรกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคม ในฐานะที่อีกด้านหนึ่งของพี่เล็กก็ถือว่าเป็นศิลปินที่ทำงานกับภาพถ่ายมาอย่างยาวนานและยืนอยู่บนการนำเสนอประเด็นทางสังคมและการเมืองมาโดยตลอด เราจึงได้ชวนคุยส่งท้าย ถึงวิธีการทำงานและคำแนะนำสำหรับใครก็ตามที่ ‘ตาสว่าง’ และอยากจะนำเสนอประเด็นทางสังคม

งานศิลปะคือการ ‘เสนอ’ ความคิดเห็นของศิลปิน ก่อนหน้านี้ที่พี่เล็กได้พูดถึงการดูบริบทภาพถ่ายที่อยู่นอกเหนือแกลเลอรี นั่นหมายความว่าผลงานที่อยู่ในแกลเลอรีมันจะเป็นการนำเสนอความคิดเห็นของศิลปินต่อเหตุการณ์นั้น ๆ และเป็นการนำเสนอเพื่อสร้างบทสนทนากับผู้ชม ให้ตระหนักรู้ ให้เกิดการพูดคุย นั่นคือการทำงานที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นงานที่ ‘ดี’ ในอีกแง่หนึ่งของการสร้างสรรค์งานศิลปะ การทำงานที่ยืนอยู่ตรงกลาง แม้มันจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการสื่อสารมวลชวนแต่สำหรับการทำงานศิลปะแล้ว อาจจะไม่ได้เวิร์กเสมอไป (ก็เป็นได้) ทั้งนี้ทั้งนั้นงานที่ดีก็ควรที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่แข็งแรงและมีข้อมูลมารองรับเช่นกัน

ศิลปะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไหม อาจจะได้ เพราะมีตัวอย่างให้เห็น แต่ก็ไม่เยอะ มันเป็นไปได้ แต่มันต้องอาศัยองคาพยพอื่นนอกจากตัวมันเอง จุดแรกสุดคือการสร้างความตระหนักรู้ แต่ว่ามันจะไปต่อได้มั้ย เป็นองคาพยพอื่นที่จะพามันไป