ผมไม่ใช่ศิลปินนามธรรม… สายสัมพันธ์ระหว่างสีสันและรูปทรงหาใช่สิ่งที่ผมสนใจ… ผมสนใจแค่การสะท้อนอารมณ์สามัญธรรมดาของมนุษย์อย่างความโศกเศร้า ความสุขสม ความล่มสลาย และอารมณ์อื่น ๆ การที่ผู้ชมหลายคนปลดปล่อยอารมณ์และร้องไห้ออกมาเมื่อยืนอยู่ตรงหน้าผลงานของผมก็แสดงให้เห็นว่า ผมประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์แล้ว
- Mark Rothko
ว่ากันว่า ในวันที่ มาร์ก รอทโก จากโลกนี้ไป คุณูปการที่เขาทิ้งไว้ให้กับศิลปะโมเดิร์นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลพอ ๆ กับที่ วินเซนต์ แวนโกะห์ เคยทิ้งไว้ให้กับขบวนการเคลื่อนไหวศิลปะลัทธิประทับใจ (Impressionism) เลยทีเดียว รอทโกเปิดทางให้ศิลปินอเมริกันรุ่นหลังเห็นว่า ศิลปะไม่จำเป็นต้องลอกเลียนภาพที่อยู่ตรงหน้า และการนำเสนอสีสันลงบนผืนผ้าใบขนาดมหึมาก็สามารถสื่อสารและสร้างบทสนทนากันทรงพลังกับผู้ชมได้
ใช่เหรอ? แค่การป้ายสีลงไปบนผ้าใบแบบง่าย ๆ ที่ ‘ฉันก็ทำได้’ สามารถสั่นสะเทือนผู้คนได้ขนาดนั้นเชียวหรือ? นั่นอาจจะเป็นข้อสงสัยตั้งต้นของใครหลาย ๆ คนเมื่อได้เผชิญหน้ากับผลงานของรอทโกเป็นครั้งแรก แต่หากลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะสามารถ ‘วาด’ อารมณ์ของมนุษย์ออกมาเป็นภาพได้อย่างไร? หรือ เราก็อาจจะเข้าใจความยิ่งใหญ่ในผลงานของรอทโกมากยิ่งขึ้น
ย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่มนุษย์โลกเพิ่งเผชิญหน้ากับฝันร้ายที่มาในรูปของสงครามโลก ผู้คนแทบทั่วทุกหนแห่งมองโลกด้วยความรู้สึกหวาดกลัว สิ้นหวัง และตื่นตระหนก ศิลปินในขบวนการศิลปะลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ (Expressionism) คือกลุ่มศิลปินที่ลุกขึ้นมาถ่ายทอดอารมณ์อันคลุ้มคลั่งที่อัดแน่นในใจคนผ่านรูปทรงอันบิดเบี้ยวและการปาดพู่กันอย่างรวดเร็ว แต่รอทโกไม่ได้แค่วาดรูปที่ ‘สะท้อน’ ถึงอารมณ์อันเดือดคลั่ง สิ่งที่รอทโกทำคือการ ‘วาดอารมณ์’ ต่าง ๆ เหล่านั้นออกมาผ่านเทคนิคการนำเสนอสีสันที่ทำให้สีบนผืนผ้าใบของเขาดูราวกับสามารถเคลื่อนไหวได้ เมื่อเราจ้องมองไปที่ผลงานของรอทโก เรากำลังจ้องมองเข้าไปในโลกแห่งจิตใต้สำนึกอันเป็นพื้นที่แห่งความวุ่นวายและบ้าคลั่ง และระหว่างที่เรากำลังจ้องมองสีสันเหล่านั้น เราก็ได้รับการเชื้อเชิญจากศิลปินสู่การเดินทางเพื่อเข้าไปสำรวจภายในตัวตนของเราเอง และไถลลื่นเข้าสู่เส้นทางแห่งการสำรวจสารัตถะ (essence) ของมนุษย์ ที่ในมุมมองของรอทโก มนุษย์เราล้วนประกอบร่างสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์อันเลวร้ายและอารมณ์อันดำมืด
ในวาระที่วันคล้ายวันเกิดของรอทโกกำลังจะวนมาในวันที่ 25 กันยายนนี้ GroundControl จึงขอใช้โอกาสนี้พาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจชีวิตและผลงานของศิลปินผู้วาดอารมณ์ของมนุษย์ร่วมกัน
สู่การเป็นศิลปิน ‘อเมริกัน’
มาร์ก รอทโก เกิดในลัตเวีย ซึ่งย้อนกลับไปในเวลานั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียอยู่ พ่อของเขาเป็นเภสัชกรและปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่พร่ำสอนลูก ๆ เกี่ยวกับอุดมการณ์มาร์กซิสต์ และในขณะที่ศิลปินหลายคนเติบโตขึ้นมาในครอบครัวเคร่งศาสนาที่ส่งผลอย่างยิ่งต่อการสร้างผลงานของตน รอทโกและพี่น้องกลับเติบโตขึ้นมาในบ้านคนยิวที่มีพ่อคอยสอนให้ลูกต่อต้านศาสนา ซึ่งที่มาของการเป็นคนต่อต้านศาสนาหัวรุนแรงของผู้เป็นพ่อก็น่าจะมาจากความคับข้องใจจากการเป็นคนยิวในสังคมที่ยิวถูกเหยียดและถูกมองว่าเป็นต้นเหตุแห่งความตกต่ำของสังคมรัสเซีย
ครอบครัวรอทโกตัดสินใจย้ายมาเผชิญโชคในแผ่นดินอเมริกาเมื่อลูกชายคนโตเกือบถึงวัยที่จะต้องเข้าเกณฑ์ทหาร และทั้งพ่อแม่ก็ไม่อยากให้ลูก ๆ ของตนต้องโตขึ้นมาเพื่อรับใช้กองทัพจักรวรรดิรัสเซีย แต่ไม่นานหลังจากที่มาถึงพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน พ่อของเขาก็เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ การเสียชีวิตของพ่อทำให้รอทโกตัดสะบั้นกับศาสนาอย่างสิ้นเชิง และหลังจากที่เสร็จสิ้นจากการไว้ทุกข์ให้พ่อด้วยการไปเยี่ยมหลุมศพที่โบสถ์ยิวเป็นเวลาเกือบปี รอทโกก็สาบานกับตัวเองว่าเขาจะไม่เหยียบเข้าโบสถ์ไหนอีกเลย
รอทโกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเยลในปี 1921 ในสาขาวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์ยุโรป นอกจากนี้เขายังได้เรียนปรัชญา จิตวิทยา ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ โดยความตั้งใจแรกของรอทโกก็คือการเป็นทนายความหรือไม่ก็วิศวกร แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเลิกเรียนและย้ายมานิวยอร์ก และแม้จะไม่เชื่อในศาสนา แต่รอทโกยังคลุกคลีและทำงานในชุมชนคนยิว ด้วยความที่ถูกปลูกฝังในเรื่องความคิดทางการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของอุดมการณ์งมาร์กซิส รอทโกจึงมักตั้งกลุ่มถกเถียงเรื่องการเมืองที่ศูนย์ชุมชนคนยิว โดยประเด็นที่เขาสนใจก็คือเรื่องของสิทธิแรงงานเช่นเดียวกับพ่อของเขา ซึ่งก็สอดคล้องกับบรรยากาศของสังคมอเมริกันช่วงนั้นที่อุดมการณ์มาร์กซิสต์กำลังเบ่งบาน และได้เริ่มมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานโลก (IWW - Industrial Workers of the World)
จุดเปลี่ยนในชีวิตของรอทโกมาถึงเมื่อเขาได้พบกับ มิลตัน เอเวอรี จิตรกรชาวอเมริกันผู้ส่งอิทธิพลอย่างยิ่งต่อแวดวงศิลปินอเมริกันสมัยใหม่ ภาพวาดที่นำเสนอข้าวของในชีวิตประจำวันด้วยรูปทรงง่าย ๆ แต่เปี่ยมด้วยสีสันของเอเวอรีดึงดูดใจรอทโกเป็นอย่างมาก จนทำให้เขาเข้าร่วมกลุ่มดรอวิงที่เอเวอรีจัดขึ้นเป็นประจำที่บ้านของตัวเอง
สุนทรียะของเอเวอรีส่งอิทธิพลต่อผลงานในช่วงแรกของรอทโกเป็นอย่างมาก ภาพวาดของรอทโกในช่วงนั้นมักเป็นการนำเสนอภาพฉากและชีวิตของผู้คนบนถนนและในเมืองด้วยความเรียบง่าย แต่มุ่งเน้นนำเสนออารมณ์ผ่านฝีแปรง การใช้สีสัน และฝีแปรงฉวัดเฉวียนเร้าอารมณ์ ความสนใจในการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านงานศิลปะโดยไม่คำนึงถึงเทคนิคหรือจารีตทางศิลปะทำให้รอทโกสนใจศิลปะในเด็กเป็นอย่างมาก จนทำให้เขาไปรับตำแหน่งครูสอนศิลปะเด็กที่ชุมชนคนยิวในย่านบรูคลิน และสอนเด็ก ๆ มายาวนานกว่า 20 ปี
The Ten
ในปี 1934 รอทโกได้ร่วมจัดแสดงผลงานในนิทรรศการของกลุ่มศิลปินอเมริกันรุ่นใหม่ที่เรียกตัวเองว่า ‘The Ten’ ซึ่งประกอบด้วยรอทโก, Ilya Bolotowsky, Ben-Zion, Adolph Gottlieb, Louis Harris, Ralph Rosenborg, Louis Schanker และ Joseph Solman ตามที่ปรากฏในสูจิบัตรนั้น จุดประสงค์ของการจัดงานนิทรรศการของกลุ่ม The Ten ก็เพื่อ “ประท้วงต่อจารีตทางศิลปะในแวดวงศิลปะอเมริกันซึ่งเน้นการวาดภาพแบบเหมือนจริง”
แม้ว่าช่วงนั้นรอทโกจะมีผลงานเข้าตานักวิจารณ์และได้กลายเป็นศิลปินดาวรุ่งที่มีชื่อเสียงนำเพื่อนร่วมกลุ่ม แต่รอทโกก็ไม่ได้ฉกฉวยชื่อเสียงหรือมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นศิลปินดัง ในทางกลับกัน รอทโกกลับเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดตั้งสหพันธ์ศิลปินหรือ Artists Union ที่มีเป้าหมายมุ่งมั่นที่จะจัดตั้งแกลเลอรีท้องถิ่นเพื่อให้ศิลปินสามารถมาจัดแสดงผลงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านระบบตัวแทนของแกลเลอรีทั่วไป จนเกิดเป็นนิทรรศการแรกของกลุ่มสหพันธ์ศิลปินที่ไปจัดแสดงที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะได้รับเสียงตอบรับนอกบ้านดี จนทำให้ได้กลับมาจัดนิทรรศการนี้ที่นิวยอร์กบ้านเกิดในปี 1938 ซึ่งการจัดนิทรรศการครั้งนี้ก็มีเป้าหมายเพื่อโจมตีสถาบันศิลปะแห่งอเมริกาอันทรงเกียรติอย่าง Whitney Museum of American Art โดยเฉพาะ เนื่องจากรอทโกและกลุ่มสหพันธ์ศิลปินต่างมองว่า สถาบันอันทรงเกียรตินี้มีอุดมการณ์ชาตินิยมที่มีขนบจารีตทางศิลปะคับแคบเกินไป นอกจากนี้ในช่วงเวลาเดียวกัน รอทโกยังได้ร่วมกับเพื่อนศิลปินชาวอเมริกันหัวก้าวหน้าอย่างเอ เวอรี, แจ็กสัน พอลล็อก และ วิลเลิม เดอ โกนิง จัดตั้ง Works Progress Administration ซึ่งเป็นสมาคมที่ช่วยจัดหาทุนสนับสนุนศิลปินในการทำโปรเจกต์ต่าง ๆ ด้วย
สไตล์ศิลปะของรอทโกในช่วงนี้ก็สอดคล้องกับอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อผลักดันแวดวงศิลปะอเมริกาและต่อสู้กับชนชั้นในแวดวงศิลปะ ผลงานของรอทโกในช่วง 1930s มักเป็นการนำเสนอภาพสถานีรถไฟใต้ดินนิวยอร์กในฐานะพื้นที่ที่ผู้คนที่ดูสิ้นหวังและทนทุกข์มารวมตัวกัน รอทโกได้เปลี่ยนพื้นที่สถานีรถไฟของเมืองใหญ่ให้เป็นพื้นที่แห่งความแปลกแยกและความหลอนล้ำ ผู้คนในภาพสถานีรถไฟใต้ดินของรอทโกมักเป็นบุคคลไร้หน้า และที่สำคัญที่สุดคือดูไร้ชีวิตจิตวิญญาณ ส่วนองค์ประกอบและโครงสร้างต่าง ๆ ในสถานีก็ดูแบนราบห่างไกลจากความเป็นจริง
นักวิจารณ์ต่างให้ความเห็นว่า ภาพสถานีรถไฟใต้ดินในยุคนี้ของรอทโกเผยให้เห็นร่องรอยการมาถึงของการใช้ภาพวาดสะท้อนอารมณ์ของรอทโก แทนที่จะนำเสนอและบรรยากาศในสถานีรถไฟใต้ดินแบบสมจริง รอทโกกลับเลือกที่จะนำเสนอภาพและเรื่องราวผ่านมุมมองทางประสบการณ์ความรู้สึกที่ได้ประสบจากการไปเยือนพื้นที่นั้น ซึ่งการให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าความเป็นจริงนี้จะกลายเป็นแก่นหลักในผลงานของรอทโกต่อไป
ศิลปะแห่งสัญญะ
เมื่อถึงช่วง 1940s ผลงานที่เคยนำเสนอภาพชีวิตเมืองใหญ่ที่เปี่ยมด้วยสีสันของรอทโกอันเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากเอเวอรีก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 และบรรยากาศในสังคมก็ถูกปกคลุมด้วยมวลของความหดหู่สิ้นหวัง ภาพของรอทโกที่เคยนำเสนอสิ่งต่าง ๆ ที่พบเห็นบนท้องถนนเมืองใหญ่และในชีวิตประจำวันก็เริ่มบิดเบี้ยวและไร้รูปฟอร์มมากขึ้น
...และท่ามกลางมวลอารมณ์แห่งความเศร้าโศกสิ้นหวังนี้ รอทโกกลับได้พบกับสิ่งที่เขามองว่าเป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจที่แท้จริงของศิลปะ นั่นก็คือ โศกนาฏกรรมและความสิ้นหวังของมนุษย์
ในที่สุดแล้วผมก็พบว่าการนำเสนอรูปต่าง ๆ ในงานศิลปะไม่อาจตอบสนองจุดมุ่งหมายของผมได้อีกต่อไป… และแล้วราก็เดินทางมาถึงจุดที่เราไม่สามารถเชื่อมโยงกับรูปทรงใด ๆ… โดยที่ไม่บิดเบือนหรือลดทอนมันลงเสียก่อนได้”
ในช่วงนี้รอทโกยังได้ตกผลึกอย่างจริงจังว่างานศิลปะที่ลอกเลียนแบบหรือนำเสนอภาพตามความเป็นจริงนั้นไม่อาจรับใช้ผู้ชมได้อีกต่อไป ในจดหมายที่รอทโกเขียนถึงเพื่อนศิลปินร่วมขบวนอย่าง อดอล์ฟ ก็อตต์ลีบ (Adolph Gottlieb) และ บาร์เนต นิวแมน (Barnett Newman) เขาได้พรรณนาว่า “กลายเป็นว่าศิลปินทุกคนยอมรับกันไปแล้วว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเราวาดอะไร แต่อยู่ที่ว่าเราวาดได้สวยหรือเปล่า ซึ่งเป็นวิธีการคิดแบบศิลปะตามขนบ แต่มันไม่มีหรอกนะ งานศิลปะที่ดีแต่ไม่ได้นำเสนออะไรเลยน่ะ เราควรยืนหยัดในความเชื่อว่าสารและข้อความที่เราส่งผ่านงานนั่นต่างหากที่สำคัญ ซึ่งสิ่งนั้นก็คือความเจ็บปวดและความจริงแท้ของมนุษย์ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงมีความรู้สึกเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณกับงานศิลปะบรรพศิลป์ (Primitive Art) และงานศิลปะโบราณยังไงล่ะ”
ความรู้สึกไม่ศรัทธาและเชื่อมโยงกับตรรกะแห่งโลกยุคใหม่ทำให้รอทโกหันกลับไปสนใจเรื่องราวของตำนานและปกรณัมกรีกโบราณ รวมไปถึงเรื่องราวในคัมภีร์ทั้งฉบับพันธะสัญญาเก่าและใหม่ โกยรอทโกหาได้กลับมาเชื่อมโยงหรือเชื่อมั่นในพระเจ้า แต่เขามองว่าเรื่องราวโบราณที่ถูกเล่าขานนี้สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์บรรพกาลที่ยังคงแฝงฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนยุคปัจจุบัน เหนือไปกว่านั้น รื่องเล่าหรือฉากเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในตำนานเทพโบราณนั้นแท้จริงแล้วคือ ‘สัญญะ’ ที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์
“เรื่องเล่าตำนานเก่าแก่นั้นแท้จริงแล้วคือสัญญะที่สะท้อนถึงความกลัวและแรงขับดันอันเก่าแก่ของมนุษย์ ตำนานเหล่านี้เปลี่ยนไปแค่ในแง่ของสถานที่ เวลา และรายละเอียดของเรื่องราวเท่านั้น แต่สารเดิมของมันไม่เคยเปลี่ยน”
รอทโกมองว่า การที่บรรพบุรุษของเรานำเสนอเรื่องราวและฉากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในตำนานและปกรณัมออกมาได้ ย่อมต้องมาจากแรงกระตุ้นและความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของพวกเขา ซึ่งความรู้สึกเหล่านั้นก็ตกทอดมาถึงมนุษย์ยุคปัจจุบันด้วย รอทโกมองว่าการที่มนุษย์ในยุคสมัยใหม่ยังคงเล่าขานตำนานโบราณเหล่านี้ก็เพราะว่าเรื่องราวเหล่านี้สะท้อนภาพความเป็นจริงของมนุษย์ยิ่งกว่าเรื่องเล่าคลาสสิกหรือเรื่องโรแมนติกใด ๆ เรารู้สึกเชื่อมโยงกับตำนานเพราะตำนานสะท้อนภาพตัวตนที่แท้จริงของเราและอารมณ์ความรู้สึกที่สถิตย์อยู่ในตัวเรา
งานของรอทโกในยุคนี้จึงได้รับอิทธิพลจากลัทธิเหนือจริง (Surrealism) เป็นอย่างมาก เพราะงานศิลปะเหนือจริงมักเป็นการนำเสนอภาพเรื่องราวตำนานโบราณที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกรุนแรงของมนุษย์ รวมไปถึงภาพจากความฝันที่ไร้ตรรกะหรือตั้งอยู่บนความเป็นจริง
แต่เหนือสิ่งอื่นใด อิทธิพลจากลัทธิเหนือจริงที่นำมาซึ่งจุดเปลี่ยนในการสร้างงานศิลปะของรอทโกก็คือเทคนิคการวาดภาพแบบ ‘Automatic Writing’ ซึ่งเป็นการปล่อยให้มือที่จับพู่กันลากเส้นอย่างอิสระ ไร้การกำหนดหรือความตั้งใจ ซึ่งศิลปินในขบวนการนี้มองว่าผลงานที่ได้จากการปล่อยมือปล่อยใจนี้ก็คือภาพสะท้อนของอารมณ์และสิ่งต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่จิตใต้สำนึกของศิลปิน รอทโกรวมถึงเพื่อนศิลปินเซอร์เรียลลิสต์อย่าง ฌูอัน มิโร (Joan Miró), อ็องเดร แมสสัน (André Masson) และ อาร์ไชล์ กอร์กี (Arshile Gorky) ต่างก็ใช้เทคนิคนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเอกลักษณ์ของตัวเอง
‘ทำลายภาพลวงตา เปิดเผยความจริง’
แต่พอถึงปี 1947 รอทโกก็ได้จำกัดสไตล์และการใช้สัญญะที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดศิลปะเหนือจริงทั้งหมดทิ้งไป เหลือไว้ซึ่งแก่นความคิดเรื่องการนำเสนออารมณ์อันเป็นสัจธรรมของมนุษย์ โดยรอทโกได้ประกาศลงในนิตยสาร New York Times ว่า “เรามุ่งหน้าสู่การนำเสนอรูปแบนราบ เพราะความไร้มิติเช่นนี้ได้ทำลายเปลือกที่เป็นภาพลวงตา และเปิดเผยให้เราเห็นความจริงแท้ที่ซ่อนอยู่ข้างใต้”
จากการนำเสนอรูปสัญญะต่าง ๆ ในยุคเซอร์เรียลสม์ งานของรอทโกยุคนี้กลับนำเสนอเพียงแค่เส้นสายต่าง ๆ ที่พาดกันจนเกิดเป็นรูปรอยของความอสมมาตร สิ่งที่โดดเด่นขึ้นมาคือการใช้สีสันที่พาดทับกันจนเกิดเป็นองค์ประกอบภาพ ผลงานของรอทโกในยุคนี้มักเป็นการใช้สีน้ำป้ายลงไปบนผ้าใบเปียกชุ่ม จนทำให้สีนั้นค่อย ๆ ขยายวงรอบจนเกิดเป็นรูปฟอร์มอิสระที่ดูราวกับเป็นวงแหวนของรัศมีจากฮาโล สำหรับรอทโก รูปรอยของและรูปทรงอสมมาตรเหล่านี้สะท้อนถึงอารมณ์ในรูปแบบต่าง ๆ ความไม่ชัดเจนเหล่านี้กลับช่วยทำให้ศิลปินนำเสนอไอเดียของตัวเองได้อย่างชัดเจนขึ้น รวมไปถึงผู้ชมเองก็สามารถปลดปล่อยจินตนาการ และใช้ความรู้สึกและประสบการณ์ของตัวเองในการเชื่อมโยงกับผลงานได้ชัดเจนมากขึ้น การนำเสนอรูปรอยของสีที่แสนจะนามธรรมไร้คำจำกัดความเหล่านี้คือวิธีการที่รอทโกพาผู้ชมไปสำรวจแก่นของอารมณ์และความคิดแบบเพียว ๆ โดยลอกเปลือกที่เป็นสัญญะ คำเรียก หรือรูปร่างต่าง ๆ ทิ้งไป สีและองค์ประกอบอันไร้รูปร่างที่อยู่ตรงหน้าของผู้ชมจึงเป็น ‘ไอเดีย’ แท้ ๆ ที่ศิลปินสกัดมาวางไว้ตรงหน้าของผู้ชมแล้ว
รอทโกเคยนิยามผลงานในช่วงปลายยุค 1940s ของตัวเองว่า เป็น ‘การแสดง’ ของเหล่ารูปทรงต่าง ๆ บนผืนผ้าใบ โดยเขามองว่าเมื่อแรกจรดฝีแปรงลงไปบนผืนผ้าใบว่างเปล่า ก็เหมือนกับเป็นการเริ่มต้นการผจญภัยบนดินแดนที่ไม่รู้จัก และยิ่งรูปทรงเหล่านั้นปรับเปลี่ยนหรือผสานเข้ากับรูปทรงอื่นจนเกิดเป็นรูปทรงใหม่ ผลงานที่เสร็จสมบูรณ์นั้นก็คือเรื่องเล่าการผจญภัยสู่การสำรวจความรู้สึกภายในของศิลปิน “สำหรับผมแล้ว ศิลปะคือการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของจิตวิญญาณ”
เมื่อถึงจุดหนึ่ง รอทโกก็เผชิญปัญหาเดียวกับเพื่อนศิลปินอเมริกันร่วมยุค นั่นก็คือการที่รู้สึกว่าตัวเองติดอยู่ระหว่างแนวคิดของศิลปะนามธรรมที่ไม่เน้นการนำเสนอรูปทรงหรือสัญญะ กับศิลปะที่ยังใช้รูปทรงในการสะท้อนความคิดของตัวเอง จนในที่สุดแล้วรอทโกจึงตกผลึกว่า พื้นที่ที่รูปทรงพาดทับกันหรือที่เรียกว่า ‘Pictural Space’ นั่นเองคือพื้นที่ที่อยู่ตรงกลางระหว่างความนามธรรมกับการนำเสนอภาพแทนหรือสัญญะบางอย่าง ...ณ พื้นที่ที่เป็นจุดตัดระหว่างรูปทรงนั้นคือพื้นที่ที่ปราศจากทั้งความนามธรรมและความไม่นามธรรม นี่คือพื้นที่ที่ ‘กำกวม’ ระหว่างความแบนราบสองมิติซึ่งเป็นสไตล์ของศิลปะนามธรรม แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไปไม่ถึงความเป็นสามมิติที่จะทำให้ตัวมันกลายเป็นภาพแทนของอะไรสักอย่าง พื้นที่แห่งความกำกวมและก้ำกึ่งนี้จึงเป็นพื้นที่สำคัญที่สะท้อนไอเดียเรื่องการนำเสนอแก่นคิดอันบริสุทธิ์ของรอทโก
Classic Paintings
เมื่อถึงยุค 1950 ผลงานของรอทโกก็เข้าสู่รูปแบบที่เราคุ้นเคยกันดี นั่นก็คือการแบ่งช่องสีเป็นสอง สาม หรือสี่ส่วน ต่างจากในยุคก่อนหน้าที่เป็นการระบายสีทาบทับกันจนเกิดเป็นรูปทรงต่าง ๆ มากมายในหนึ่งผืนผ้าใบ นอกเหนือไปจากนั้น ในยุคนี้รอทโกยังเลิกตั้งชื่อภาพเป็นถ้อยคำหรือประโยค (แต่ตั้งชื่อเป็นตัวเลขแทน ซึ่งก็เพื่อประโยชน์ในการแยกผลงานแต่ละชิ้นออกจากกันเท่านั้น) รวมถึงปฏิเสธที่จะอธิบายความหมายของผลงานแต่ละชิ้น เพราะไม่อยากให้ถ้อยคำใด ๆ ไปรบกวนหรือปิดกั้นจินตนาการของผู้ชมขณะดูผลงาน เหนือสิ่งอื่นใด รอทโกบอกว่า “ความเงียบให้ความหมายที่ตรงตัวที่สุด”
การใช้สีต่าง ๆ ในยุคผลงานที่เป็นภาพจำของรอทโกนี้มักเป็นไปเพื่อสะท้อนอารมณ์ในรูปแบบต่าง ๆ และเพื่อสร้างบรรยากาศกระตุ้นให้ผู้ชม ‘รู้สึก’ มากกว่า และแม้ว่าผลงานของรอทโกในยุคนี้จะเรียบง่ายจนมักถูกครหา (มาจนถึงปัจจุบัน) ว่า ‘ใคร ๆ ก็วาดได้’ แต่สิ่งที่แฝงอยู่ในการระบายสีสันของรอทโกก็คือเทคนิคการใช้สีที่ทำให้สีสันเหล่านั้นดูราวกับวิ่งฉวัดเฉวียนไปมาบนผืนผ้าใบ ซึ่งหนึ่งภาพของรอทโกแม้จะประกอบด้วยสีไม่มาก แต่หนึ่งสีกลับมีโทนที่หลากหลาย จนทำให้เกิดมิติความตื้นลึกในภาพ สิ่งสำคัญก็คือรอทโกมักจะนำเสนอผลงานของเขาบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่มหึมา โดยจุดประสงค์ของเขาก็คือการเชิญชวนให้ผู้ชมเดินเข้ามาดูผลงานใกล้ ๆ ก่อนที่จะพบว่าตัวเองถูกโอบล้อมเข้าไปอยู่ในภาพ ซึ่งสำหรับรอทโกแล้ว นี่คือช่วงเวลาอันแสนใกล้ชิดที่ผู้ชมได้เป็นหนึ่งเดียวกันกับผลงาน
ภาพวาดขนาดเล็กในยุคเรอเนซองส์นั้นเหมือนกับนวนิยาย แต่ภาพวาดขนาดใหญ่คือบทละครเวทีที่ผู้ชมรับชมด้วยการประจันหน้ากับมันตรง ๆ เท่านั้น
Dark Period
เมื่อถึงปลายยุค 1950s สีสันในงานของรอทโกก็เริ่มหม่นหมองลง จนในที่สุดก็เห็นได้ชัดว่าเขาได้ผันมาสู่การใช้สีโทนมืดอย่างชัดเจน สีแดง น้ำตาล และสีดำ คือสามสีที่รอทโกเลือกใช้เป็นประจำในผลงานยุคนี้ ผืนผ้าใบของเขากลายเป็นพื้นที่ของการทาบทับและพาดผ่านของสีโทนมืดหม่นทั้งหลาย ถึงกับที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะได้ให้คำนิยามผลงานของรอทโกในยุคนี้ว่า ‘บทกวีแห่งราตรีกาล’ (Poems of the Night)
ซึ่งหากจะมีผลงานชิ้นหนึ่งชิ้นเดียวที่สะท้อนภาพยุค (โทน) มืดของรอทโกนี้ได้ดีที่สุด ก็ย่อมต้องเป็น Rothko Chapel (1971) ผลงานภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่ 14 ชิ้นที่คอมิชชั่นโดยคู่สามีภรรยานักสะสมงานศิลปะ John และ Dominique de Menil โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นงานศิลปะสำหรับประดับเพื่อสร้างบรรยากาศในห้องทำสมาธิรูปทรงแปดเหลี่ยมที่ถอดแบบมาจากโบสถ์นิกายคริสต์ออร์โธด็อกซ์ ซึ่งด้วยมวลความขลังและความรู้สึกยิ่งใหญ่ที่ได้รับจากการถูกโอบล้อมด้วยสีดำในภาพวาดของรอทโก ห้องทำสมาธิที่เปิดให้คนเข้ามาใช้ได้อย่างสาธารณะนี้จึงถูกขนานนามว่า ‘โบสถ์ของรอทโก’ ในที่สุด
แม้ดูเผิน ๆ แล้วจะเป็นแค่ผืนผ้าใบที่ถูกทาทับด้วยสีโทนมืด 14 ชิ้น แต่หากได้มองดูดี ๆ แล้วจะพบว่า ภาพแต่ละภาพนั้นหาได้เหมือนกันเลย ยิ่งไปกว่านั้นผู้ชมที่เดินเข้ามาชมภาพนี้ในแต่ละช่วงเวลาก็จะมองภาพเหล่านี้แตกต่างกันไป ซึ่งก็เป็นผลมาจากความตั้งใจของรอทโกที่สร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาโดยคำนึงถึงความเข้มของแสงในแต่ละช่วงเวลาที่จะสาดส่องเข้ามาในห้องนี้
ภาพที่ใครหลายคนมองมองแบบเผิน ๆ แล้วคิดว่า ‘ฉันก็วาดได้’ นี้กลับเรียกน้ำตาจากผู้ชมมากมายที่ได้เดินเข้ามาอยู่ในวงล้อมสีรัตติกาลของรอทโก โดยผู้ชมหลายคนบอกเป็นเสียงตรงกันว่าความงามอันแสนเรียบง่ายของภาพทั้ง 14 ชิ้นนั้นกลับกระตุ้นความรู้สึกอิ่มเอิบในใจ ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ความรู้สึกอันท่วมท้นหรือที่เรียกว่า ‘Sublimeง ที่รอทโกต้องการจะนำเสนอให้กับผู้ชม ...เมื่อจ้องมองเข้าไปในผืนผ้าใบสีมืดขนาดใหญ่เหล่านี้ การเดินทางสู่ดินแดนกว้างใหญ่ไร้ขอบเขตและไร้ที่สิ้นสุดก็ได้เริ่มต้นขึ้น ประสบการณ์การทำงานกับสีสันมาทั้งชีวิตทำให้รอทโกตระหนักได้ว่า ในขณะที่สีสันสดใสดึงดูดความสนใจและทำให้ผู้คนรู้สึกสะดุดหยุดชะงัก สีโทนมืดนั้นกลับดึงดูดผู้คนให้มองลึกเข้าไปอย่างไร้ที่สิ้นสุด
ยุคมืดของรอทโกหาได้มีต้นสายปลายเหตุมาจากความหลงใหลในการศึกษาสีโทนมืดของเขาเท่านั้น แต่ยุคนี้ยังเป็นช่วงเวลาที่รอทโกต้องทรมานจากโรคเส้นเลือดใหญ่โป่งพองและโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรง แต่แม้จะประสบกับอาการป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ รอทโกก็ยังไม่หยุดการดื่มหนักและสูบหนักที่เขาติดเป็นนิสัยมาตลอดชีวิต
...กระทั่งในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1970 ผู้ช่วยของรอทโกก็ได้พบร่างไร้ชีวิตของรอทโกในบ้านพักของเขา แม้จะปราศจากจดหมายลาตายใด ๆ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่ารอทโกได้จบชีวิตของตัวเองในวัย 66 ปี
แม้ว่าผลงานเกือบทั้งชีวิตของรอทโกจะมาจากความพยายามในการนำเสนอความเศร้าโศกและล่มสลายในฐานะความจริงแท้ของมนุษย์ และแม้ว่าบทสุดท้ายในชีวิตของเขาจบลงในแบบที่ทำให้คนที่รักในผลงานของเขาต้องหลั่งน้ำตา แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในการนำเสนอความเศร้าและอารมณ์อันหม่นหมองผ่านสีสันต่าง ๆ นั้น รอทโกเปิดให้ผู้คนได้เห็นความงดงามในความเศร้า มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเศร้าเป็นเจ้าเรือน ...และความเศร้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราสามารถมองหาแง่มุมอันงดงามจากมันได้
มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่น่าจะสะท้อนปรัชญาความงามในความเศร้าของรอทโกได้ดีที่สุด ครั้งหนึ่งมีผู้หญิงคนหนึ่งมาที่สตูดิโอของรอทโก และแสดงเจตจำนงที่จะว่าจ้างให้รอทโกวาดภาพที่ ‘เปี่ยมสุข’ ที่สุด โดยใช้สีสันอบอุ่นสดใส เช่น สีแดง สีเหลือง และสีส้ม...
สิ่งที่รอทโกตอบกลับหญิงสาวผู้นั้นไปก็คือ
“สีแดง สีเหลือง สีส้มนี่ไม่ใช่สีของไฟนรกหรอกหรือ?”
อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Mark_Rothko
https://www.theartnewspaper.com/.../my-father-and-music...
https://www.nga.gov/.../mark.../mark-rothko-early-years.html
http://newyorker.com/.../the-dark-final-years-of-mark-rothko
https://www.mark-rothko.org/