125878925_203591137950935_2293594692435452892_n.jpg

Last and First Men ภาพยนตร์ไซไฟที่เป็นจุดตัดของปรัชญา วิทยาศาสตร์ ศิลปะ วรรณกรรม และประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

Post on 26 May


“โปรดตั้งใจฟัง พวกเรา มนุษย์กลุ่มสุดท้าย ปรารถนาจะสื่อสารกับคุณ นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบความจริงอันน่าสะพรึงกลัว นั่นก็คือสัญญาณว่าจุดจบของมนุษยชาตินั้นอยู่ใกล้แค่เอื้อม พวกเราช่วยคุณได้ และพวกเราก็ต้องการให้คุณช่วย” 

หากถามว่า สิ่งที่นักเขียนนวนิยายไซไฟระดับตำนานไม่ว่าจะเป็น C. S. Lewis, Arthur C. Clarke, H. P. Lovecraft หรือ Brian Aldiss มีร่วมกันคืออะไร? คำตอบนั้นย่อมเป็นการที่พวกเขาต่างยกให้นวนิยายไซไฟปี 1930 อย่าง Last and First Men ของ Olaf Stapledon เป็นแรงบันดาลใจและต้นแบบในการเล่านวนิยายวิทยาศาสตร์ของพวกเขา

ซึ่งตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป คอหนังชาวไทยก็จะได้ประจักษ์ถึงความยิ่งใหญ่ของเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับสุดยอดฝีมือแห่งโลกวรรณกรรมไซไฟใน ในรูปแบบของมหากาพย์ภาพยนตร์ที่เป็นผลงานกำกับหนังยาวชิ้นแรกและชิ้นสุดท้ายในชีวิตของ Jóhann Jóhannsson คอมโพเซอร์ชาวไอซ์แลนด์ผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบหนังดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น The Theory of Everything (2014), Sicario (2015) และ Arrival (2016) 

หลังจากที่ Jóhannsson ลาลับจากไปด้วยวัยเพียง 48 ปี เมื่อต้นปี 2018 ที่ผ่านมา โปรดิวเซอร์ Thor Sigurjonsson คือผู้ที่ต้องต่อลำนำภาพยนตร์ที่ Jóhannsson ทิ้งไว้ให้จบ ซึ่งเขาก็เคยกล่าวไว้ว่า มันไม่ใช่ภารกิจที่หนักหนาอะไร เพราะแม้ว่า Jóhannsson จะจากไป แต่สิ่งที่เขาทิ้งไว้ก็คือวิสัยทัศน์แสนชัดเจนของ Last and First Men ซึ่งทุกอย่างที่ปรากฏในหนังทั้งภาพและเสียง ล้วนมาจากความหลงใหลที่เขามีต่อนวนิยายที่เป็นดัง ‘ประวัติศาสตร์แห่งโลกอนาคต (The History of Future)’ เรื่องนี้ โดยภาพตั้งต้นของหนังที่ Jóhannsson ทิ้งไว้ก็คือการปรากฏตัวของภาพของอนุสาวรีย์หินขนาดใหญ่ที่ราวกับหลุดมาจากยุคคอมมิวนิสต์ของสาธารณรัฐยูโกสลาเวีย… พร้อมไปกับภาพคือเสียงของ Tilda Swinton ที่อ่านบทตอนหนึ่งจากนวนิยายของ Stapledon… เคล้าคลอด้วยเสียงประกอบหลอนหูฝีมือของเขาเอง

“โปรดตั้งใจฟัง พวกเรา มนุษย์กลุ่มสุดท้าย ปรารถนาจะสื่อสารกับคุณ นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบความจริงอันน่าสะพรึงกลัว นั่นก็คือสัญญาณว่าจุดจบของมนุษยชาตินั้นอยู่ใกล้แค่เอื้อม พวกเราช่วยคุณได้ และพวกเราก็ต้องการให้คุณช่วย” 

GroundControl จึงขอเชิญชวนทุกคนขึ้นยานย้อนเวลากลับไปสำรวจเรื่องราวของ ‘มนุษย์กลุ่มแรกและกลุ่มสุดท้าย’ ของ Olaf Stapledon… เรื่องราวใน “อีกสองพันล้านปีข้างหน้า เมื่อเผ่าพันธุ์มนุษยชาติใกล้ดับสูญ โลกหลงเหลือเพียงสิ่งก่อสร้างประหลาดที่ตั้งอยู่อย่างเดียวดาย และพยายามเปล่งเสียงส่งสารของมันออกมาท่ามกลางความเวิ้งว้างว่างเปล่า…”
 

Olaf Stapledon

Olaf Stapledon เกิดและเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจขนส่งทางเรือในเมือง Wallasey ประเทศอังกฤษ ที่จริงแล้วเขาก็ควรจะเติบโตขึ้นมาแล้วรับช่วงต่อทำงานในออฟฟิศของครอบครัวที่ท่าเรือ แต่เขากลับสนใจในกวีนิพนธ์และการเขียน กระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ประทุขึ้น Stapledon จึงถูกเกณฑ์ให้ทำหน้าที่รับใช้ชาติ โดยเขาทำหน้าที่ขับรถพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งการเผชิญกับการบาดเจ็บล้มตายในสนามรบก็เริ่มฝังแนวคิดเรื่อง World Government ในห้วงคิดของ Stapledon

หลังกลับจากสงคราม Stapledon จึงเข้าเรียนในสาขาวิชาปรัญชาที่มหาวิทยาลัย Liverpool จนถึงระดับปริญญาเอก Stapledon ใช้วิทยานิพนธ์ของเขาที่เป็นการวิเคราะห์ ‘ความหมาย’ (Meaning) เป็นฐานในการต่อยอดความคิดจนนำไปสู่การตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกของเขา นั่นก็คือ A Modern Theory of Ethics (1929) ซึ่งทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการ

แต่การมาถึงของงานเขียนชิ้นต่อมาคือ Last and First Men นวนิยายขนาดยาวเรื่องแรกในชีวิตของเขา นั่นเองที่ทำให้เขากลายเป็นตำนาน โดยงานชิ้นนี้เป็นการนำเสนอปรัชญาที่ Stapledon คิดค้นแล้วนำเสนอออกมาในรูปแบบของนวนิยาย โดยหลังจากงานเขียนชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ Stapledon ก็ได้รับเชิญไปเลคเชอร์ในวิชาต่าง ๆ ไล่ไปตั้งแต่วรรณกรรมอังกฤษ, ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรม, จิตวิทยา ไปจนถึงปรัชญา 
 

First Men

Last and First Men เป็นงานเขียนที่ยากจะจัดว่าจะให้อยู่ใน Genre ใด มันมีความเลื่อนไหลระหว่างการเป็นสารคดีหรือฟิคชั่น วิทยาศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า… นี่คืองานเขียนที่เบลอเส้นแบ่งระหว่างทุก Genre และ ทุก Field ทางการวิชาการศึกษาเข้าด้วยกัน

ในแง่ของการเป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์ Last and First Men ใช้การเขียนแบบ "future history" หรือประวัติศาสตร์อนาคต ซึ่งเป็นการเล่าถึงเหตุการณ์ในอนาตตโดยอ้างอิงหรือพยากรณ์จากเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาปัจจุบันที่นักเขียนใช้ชีวิตอยู่ 

เรื่องราวใน Last and First Men จะว่าด้วยช่วงเวลา 2,000 ล้านปีต่อจากนี้ ที่มนุษย์เกิดขึ้นและสูญพันธุ์ไปถึง 18 สปีชีส์ด้วยกัน โดย The First Men หรือมนุษย์สปีชีส์แรกก็คือมนุษย์ในช่วงเวลาปัจจุบัน แล้วสูญพันธู์ แล้วเกิดมนุษย์สปีชีส์ใหม่และอารยธรรมใหม่ ไล่เรียงไปเรื่อย ๆ จนถึงสปีชีส์ที่ 18 หรือ The Last Men ซึ่งเป็นสปีชีส์ที่มีวิวัฒนาการก้าวหน้าล้ำกว่าทุกสปีชีส์ที่เคยมีมา เป็นเผ่าพันธุ์แห่งศิลปินและนักปรัชญา และมีสำนึกเรื่องเพศที่เป็น ‘อิสระเสรี’ 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีวิทยาการก้าวล้ำ มนุษย์เผ่าพันธุ์สุดท้ายนี้กลับมีประเพณี ‘กินมนุษย์ด้วยกันเอง’ (Canibalism) นอกจากนี้ การระเบิดของซูเปอร์โนวาที่กลืนกินดวงดาวในระบบสุริยจักรวาลไปอย่างรวดเร็ว ก็กำลังจะทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ 18 นี้เดินทางมาสู่วิกฤตการณ์สูญพันธุ์อีกครั้ง กลุ่มสุดท้ายของสปีชีส์ที่ 18 ของจึงได้ประดิษฐ์เครื่องแพร่ไวรัสให้ระบาดออกไปทั่วกาแลกซี ด้วยความหวังว่าไวรัสเหล่านั้นจะนำไปสู่การวิวัฒนาการที่ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตใหม่ในดวงดาวอื่น

Last and First Men เป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องแรก ๆ ในประวัติศาสตร์ที่อ้างเอ่ยถึงวิศวกรรมพันธุกรรม (Genetic Engineering) และความเป็นไปได้ในการที่มนุษย์ไปตั้งถิ่นฐานบนดาวดวงอื่น นอกจากนี้ Last and First Men ยังเป็นงานเขียนที่นำเสนอความเชื่อของ Stapledon ในเรื่องเกี่ยวกับการรับรู้นอกประสาทรับสัมผัส (หรืออาจจะอธิบายง่าย ๆ ว่า สัมผัสที่หก ก็ได้) แต่ ‘สัมผัสที่หก’ ในความหมายของ Stapledon นั้นคือการที่เขาเชื่อว่า มนุษย์มีความสามารถในการรับรู้มิติในโลกที่เหนือไปจากการรับรู้ผ่านผัสสะทั้งห้า เป็นการตระหนักรับรู้ถึง ‘ตัวตน’ ของตนเองในบริบทที่ใหญ่ขึ้นว่าที่รับรู้ได้ด้วยประสาท หู ตา จมูก ปาก และเข้าถึงได้ทางจิตวิญญาณ (spiritual values) ผ่าน ปัญญา ความรัก และการสร้างสรรค์ (Intelligence, love and creative action)

<p>Timeline ประวัติศาสตร์อนาคตใน Last and First Men ที่เขียนโดย Stapledon</p>

Timeline ประวัติศาสตร์อนาคตใน Last and First Men ที่เขียนโดย Stapledon

Future History

“หากเราไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น นั่นก็เป็นเพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นมันแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง” 

มหาวิทยาลัย Liverpool ได้มีการจัดตั้งศูนย์ Olaf Stapledon Centre for Speculative Futures หรือศูนย์ Olaf Stapledon เพื่อการคาดคำนวณอนาคต ศูนย์นี้จัดตั้งขึ้นมาโดยมีรากมาจากผลงานทั้งชีวิตของ Stapledon ที่เป็นการผสานศาสตร์และสาขาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ปรัชญา วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งสังคมศาสตร์ 

เป้าหมายของศูนย์ Olaf Stapledon Centre for Speculative Futures ก็คือการใช้วิถีการศึกษาแบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary) ที่นำศาสตร์ทุกอย่างในโลกมาใช้ร่วมกันแบบไม่แบ่งแยกสายวิทย์หรือสายศิลป์ เพื่อคาดคำนวณถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเป้าหมายสูงสุดของศูนย์วิจัยแห่งนี้ก็คือการคาดคำนวณถึงที่ทางและอนาคตของมนุษยชาติในจักรวาลนี้ 

Olaf Stapledon Centre for Speculative Futures ทำงานผสานร่วมกับองค์ความรู้ด้านสาขาวิชาวรรณกรรมและวิทยาศาสตร์ที่สังกัดอยู่ในภาควิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัย Liverpool และยังเชื่อมต่อกับองค์ความรู้ภายนอกมหาวิทยาลัย ด้วยการร่วมมือกับมูลนิธิวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ ( Science Fiction Foundation) โดยพันธกิจของศูนย์วิเคราะห์ประวัติศาสตร์อนาคตนี้คร่าว ๆ ก็คือ เพื่อสำรวจว่านวนิยายวิทยาศาสตร์จะสามารถคาดคะเนถึงเหตุการณ์ที่ ‘มีความเป็นไปได้’ ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือวรรณกรรมเหล่านี้จะสามารถเปิดคำถามทางปรัชญาได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยแห่งนี้ยังตั้งใจที่จะผลิตผลงานเพื่อนำเสนอสู่สังคมว่า ปรัชญาในปัจจุบัน รวมไปถึงปรัชญา ‘ที่คาดว่า’ จะเป็นของอนาคต สามารถช่วยให้เราทำความเข้าใจและมองเห็นตัวเราในปัจจุบัน ล่วงเลยไปถึงตัวเราในอนาคต ได้อย่างไรบ้าง

Last Men

“อนุสาวรีย์แห่งนี้ดูราวกับหลุดมาจากดาวดวงอื่นในห้วงอวกาศ หล่นลงมาตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของโลกอย่างไม่รู้ที่มาที่ไป มันคือเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงอดีตที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจ บางส่วนก็มีกราฟิตีสาดทับไว้ ทับคลุมด้วยพืชพันธุ์ต่าง ๆ มันคือสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญที่ทำให้นึกถึงภาพฝันสังคมยูโปเทียของยูโกสลาเวีย”

นั่นคือวิชั่นของผู้กำกับ Jóhann Jóhannsson ทิ้งไว้ก่อนจะโบกมือลาจากโลกนี้ไป โดยคนที่มาสานต่อภาพในหัวของ Jóhannsson ให้ออกมาเป็นภาพต่อไปก็คือช่างกล้อง Sturla Brandth Grøvlen โดยสิ่งที่ดึงดูดให้ Grøvlen เข้ามาร่วมโปรเจกต์นี้ก็คือหลังจากที่เขาได้พบและพูดคุยกับ Jóhannsson ในปี 2014 และเกิดความประทับใจในความแข็งแรงของไอเดียที่ผู้กำกับมีอยู่ในหัวทั้งเรื่องของภาพและเพลง 

สิ่งที่ทั้งสองครุ่นคิดถึงขั้น ‘หมกมุ่น’ ด้วยกันก็คือ การหาหนทางถ่ายทอดอนุสาวรีย์หินยักษ์ออกมาให้ดูแอบสแตรคที่สุด ทั้งในเรื่องของรูปทรงและการเคลื่อนไหว โดยโจทย์ก็คือการทำให้มันดูเคลื่อนไหวแบบยานอวกาศ แต่ในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนมันจะอยู่ตรงนั้นไปตลอดกาล นอกจากนี้ตากล้องเองยังต้องเดินทางไปยังประเทศรัสเซียในส่วนที่เคยเป็นยูโกสลาเวียเก่า เพื่อเก็บภาพบรรยากาศเย็นเยียบและสถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์อันแข็งกร้าวยุคสังคมนิยมของประเทศสังคมนิยมในยุคนั้นมาไว้ในหนัง

ในส่วนของการหาผู้ที่มาสานต่อเรื่องต่อจากผู้กำกับที่เป็นคอมโพเซอร์ยอดฝีมือก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะคนที่ทำหน้าที่แต่งเพลงและซาวนด์ประกอบในหนังเรื่องนี้ก็คือ Yair Elazar Glotman คอมโพเซอร์และซาวนด์อาร์ตทิสต์ที่ทำงานร่วมกับ Jóhannsson มาก่อนอยู่แล้ว ดังนั้นเสียงซาวนด์หลอนล้ำที่เรากำลังจะได้ยินกันในหนังก็ยังคงตรงกับความต้องการของผู้กำกับไม่เปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการได้พระแม่ Tilda Swinton มาทำหน้าที่ Narrator ในหนัง ตามความตั้งใจของ Jóhannsson แต่แรก 

อ้างอิง: liverpool.ac.uk และ theupcoming.co.uk