งานหนักไม่เคยฆ่าใครตาย แต่ ‘Dirty Work’ จะพาเราเย่วแตกตายกันหมด ในเอ็มวีเพลงใหม่ล่าสุด ‘Dirty Work’ ของวง aespa ที่พาสาว ๆ มาคลุกดิน กลิ้งในโคลน และทำให้โคลนไม่ได้เป็นเพียงฉากหลังธรรมดา แต่กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สะท้อนถึงความดิบเถื่อน และพลังแห่งการต่อสู้ของสมาชิกวง
คอนเซปต์โดยรวมของ ‘Dirty Work’ คือผสมผสานความกล้าหาญ ความดิบ และความท้าทายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง แสดงถึงความแข็งแกร่งและความอดทนของ aespa ที่ไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคใด ๆ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการก้าวออกจากธีมอนาคตสุดล้ำ มาเป็นภาพลักษณ์ที่ตรงไปตรงมาและแฝงด้วยความกบฏในแบบของ aespa เอง
สถานที่ถ่ายทำเอ็มวีคือโรงงานเหล็กและโกดังสินค้าของบริษัทฮุนได ซึ่งสะท้อนบรรยากาศดิบเถื่อนและอุตสาหกรรมหนัก ภาพของเครื่องจักรขนาดใหญ่และกองดินกว้างไกลสุดลูกหูลูกตาช่วยเสริมความขัดแย้งระหว่างความดิบกับความหรูหรา สะท้อนถึงความลำบากของการทำงานหนักและการเอาตัวรอดในโลกที่ไม่ง่าย ‘งานสกปรก’ ในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึงแค่แรงงานทางกาย แต่ยังเป็นการต่อสู้และความพยายามในเชิงเปรียบเทียบ เพื่อให้ถึงความสำเร็จและยืนยันตัวตนในโลกที่โหดร้าย ตามแท็กไลน์หลักของการโปรโมตคือ “Don’t Look Back, Do Dirty Work”
นอกจากความแข็งแกร่งแล้ว aespa ยังสร้างสรรค์ภาพลักษณ์แฟชั่นที่น่าสนใจ ด้วยการผสมผสานความดิบเถื่อนของโคลนเข้ากับแฟชั่นสุดหรู สร้างความเปรียบต่างระหว่างความแข็งแกร่งและความสง่างาม แนวทางนี้สอดคล้องกับเทรนด์แฟชั่นระดับโลกที่ใช้ความไม่สมบูรณ์แบบและความสกปรกเป็นสัญลักษณ์ของความจริงใจ ความกบฏ และความเข้มแข็ง สร้างเอกลักษณ์ใหม่ที่โดดเด่นในวงการ K-pop ที่แข่งขันสูงอย่างมาก
ในวงการแฟชั่นช่วงหลัง เรามักเห็นลุคเปื้อนโคลนบนรันเวย์ ท้าทายแนวคิดเดิมที่เชื่อมโยงแฟชั่นกับความงามและความสมบูรณ์แบบ โดยมีหัวขบวนหลักที่นำเทรนด์นี้คือ Demna ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ Balenciaga ที่มักใช้โคลนเป็นสื่อกลางเล่าเรื่องและสะท้อนจิตวิญญาณมนุษย์ผ่านแฟชั่น ทำให้โคลนกลายเป็นตัวแทนของ ‘ความจริง’ ที่แฟชั่นหรูมักหลงลืมไป

เอ็มวี ‘Dirty Work’ ของ aespa จึงสะท้อนธีมของความอดทน การต่อต้าน และการเสริมพลัง ผ่านฉากอุตสาหกรรม ลุคโคลนดิบเถื่อน และแฟชั่นลุคสุดลุย สื่อถึงความพร้อมของวงในการเผชิญอุปสรรคและก้าวข้ามขีดจำกัดตัวเอง สร้างบทใหม่ในเส้นทางศิลปินที่กล้าลุยและแสดงออกอย่างแท้จริง
แล้วในโลกแฟชั่นและสัญลักษณ์ ดินกลายเป็นตัวแทนของการต่อสู้และสะท้อนโลกดิสโทเปียอย่างไร? เรามาลองสำรวจไปด้วยกัน!
โคลนในฐานะเครื่องมือทางศิลปะ: การขุดค้นความจริงและการท้าทายความหรูหรา
ในปี 2022 แบรนด์แฟชั่นสัญชาติฝรั่งเศส Balenciaga ภายใต้การนำของ Demna ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการหยิบแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงมาสร้างผลงาน ได้เปิดตัวรองเท้าผ้าใบรุ่นลิมิเต็ด Fully Destroyed ร่วมกับศิลปิน Leopold Duchemin โดยออกแบบให้รองเท้าดูชำรุด สกปรก และผ่านการใช้งานอย่างหนัก แม้จะมีราคาสูงถึง 1,895 ดอลลาร์ก็ตาม ผลงานนี้จุดกระแสวิพากษ์ในโลกออนไลน์ ทั้งในแง่ของ จริยธรรม ความงาม และความเหมาะสมของแฟชั่นในโลกที่เหลื่อมล้ำ


ไม่นานหลังจากนั้น Demna ยิ่งผลักดันแนวคิดนี้ไปไกลกว่าเดิม ด้วยการเปิดตัวคอลเลกชันฤดูใบไม้ผลิ 2023 ในงาน Paris Fashion Week โดยเนรมิต พื้นที่โคลนลึกกว่า 9,700 ลูกบาศก์ฟุต กลางศูนย์ประชุมในชานกรุงปารีสให้กลายเป็นรันเวย์โชว์ เหล่านางแบบในชุดแฟชั่นหรูต้องเดินผ่านบ่อโคลนที่กระเซ็นเลอะทั้งตัวเองและคนดู เป็นภาพที่ทั้งขัดแย้งและทรงพลัง

Balenciaga's Spring Summer 2023 show
Demna ให้สัมภาษณ์ว่า โคลนในโชว์นี้ไม่ได้มีไว้แค่ ‘สร้างบรรยากาศ’ แต่เปรียบเสมือน สัญลักษณ์ของ ‘การขุดค้น’ และ ‘การติดดิน’ (down to earth) ซึ่งเป็นความพยายามตั้งคำถามถึงแก่นแท้ของแฟชั่น “อะไรคือความงาม?” “แฟชั่นควรสะท้อนความจริงแค่ไหน?” และ “ทำไมความสมบูรณ์แบบจึงเป็นบรรทัดฐาน?”
รันเวย์โคลนจึงไม่ใช่แค่ฉากหลังของการแสดงแฟชั่น แต่คือ งานศิลปะร่วมสมัย ที่บีบบังคับให้ทั้งคนดูและวงการแฟชั่นต้องเผชิญหน้ากับ ‘ความไม่งาม’ อย่างตรงไปตรงมา เป็นการนำแฟชั่นออกจากพื้นที่ปลอดภัย และโยนมันลงไปในดินโคลนแห่งความขัดแย้งระหว่างความงามและความพังทลาย



แนวคิดนี้ยังสะท้อน ความตึงเครียดทางสังคมและการเมืองในโลกจริง ตั้งแต่สงคราม ภาวะโลกร้อน ไปจนถึงวิกฤตผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะในมุมส่วนตัวของ Demna ผู้เติบโตมาในฐานะผู้ลี้ภัยจากสงครามในจอร์เจีย โคลนจึงกลายเป็นฉากหลังของ ความไม่แน่นอน ความเจ็บปวด และการดิ้นรนเอาชีวิตรอด ที่ตัดกันอย่างรุนแรงกับภาพของแฟชั่นหรู ซึ่งมักหมายถึงโลกที่ไร้รอยเปื้อน
ในบริบทนี้ โคลนจึงไม่ใช่สิ่งสกปรกธรรมดาอีกต่อไป แต่คือ เครื่องมือศิลปะ ที่ใช้ตั้งคำถามกับบรรทัดฐานเดิมของอุตสาหกรรมแฟชั่น และเปิดพื้นที่ให้แฟชั่นได้สะท้อน ‘ความจริง’ มากขึ้น ทั้งในเชิงอารมณ์ สังคม และความรู้สึกที่ไม่สมบูรณ์แบบของความเป็นมนุษย์

ความไม่สมบูรณ์ และความงามในความเสื่อมสลาย
ในวัฒนธรรมตะวันตก สิ่งสกปรกมักถูกมองว่าเป็นวัตถุที่ไม่พึงประสงค์ทางกายภาพ ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และถือเป็นสิ่งที่รบกวนหรือทำลายสภาพที่ควรจะเป็นของวัตถุหรือสถานที่ต่าง ๆ ทว่ากาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงความหมายของสิ่งสกปรกจากเพียงแค่คราบเปื้อนที่จับต้องได้ ให้กลายเป็นสิ่งที่มีนัยทางสังคมและวัฒนธรรมซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อโครงสร้างทางสังคม วิถีชีวิต เทคโนโลยี และการขยายตัวของเมืองพัฒนาไป สิ่งสกปรกจึงไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งสกปรกทางกายภาพเท่านั้นอีกต่อไป
ในความหมายเชิงสัญลักษณ์ สิ่งสกปรกถูกเชื่อมโยงกับความยากจน ความเสื่อมเสีย และการถูกผลักไสออกจากขอบเขตของสังคมกระแสหลัก มันกลายเป็นภาพแทนของความต่ำต้อย ความอับอาย และบางครั้งก็ถึงขั้นน่าขยะแขยง การเปลี่ยนผ่านจากคราบที่มองเห็นได้สู่สัญญะที่สะเทือนใจนี้ แสดงให้เห็นถึงพลังของสิ่งที่ดูเหมือนไร้ค่า แต่สามารถสื่อสารอารมณ์และสภาวะของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง
ในแง่ของสุนทรียภาพ ความสกปรกและความไม่สมบูรณ์จึงกลายเป็นภาษาร่วมสมัยที่ทรงพลังในโลกแฟชั่น โดยเฉพาะเมื่อแนวคิด “ความเสื่อมสลาย” ถูกนำมาใช้เพื่อขับเน้นความจริงของชีวิตมากกว่าภาพลวงของความสมบูรณ์แบบ เสื้อผ้าที่ดูเปื้อน เปื่อย หรือขาดจงใจถูกออกแบบอย่างประณีต อาทิ การใช้เลเซอร์สร้างรอยซีดหรือรูฉีกขาดให้เหมือนผ่านการใช้งานจริง แนวคิดเหล่านี้มิได้เกิดจากความไม่เรียบร้อย แต่เป็นผลลัพธ์ของการคิดวิเคราะห์ที่ลึกซึ้ง ว่า ความไม่สมบูรณ์แบบสามารถเล่าเรื่องราวได้มากกว่าเพียงรูปลักษณ์อันไร้ที่ติ

โคลนและคราบเปื้อนบนเสื้อผ้าจึงไม่ใช่เพียงสไตล์ แต่กลายเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่คล้าย ‘ผืนผ้าแห่งความจริง’ มันบันทึกเรื่องราวของความยากลำบาก ความเจ็บปวด และความอดทน เปรียบเสมือนการตีความใหม่ของแฟชั่นหรู ที่ไม่ใช่เพียงความฝันอันไกลเกินจริง แต่คือสิ่งที่ยึดโยงอยู่กับประสบการณ์ชีวิตจริงของมนุษย์ในโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบ
แม้จะสื่อถึงสิ่งที่ต้อยต่ำและไร้คุณค่า แต่ในหลาย ๆ ครั้ง ดินยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความยืดหยุ่น’ และ ‘การฟื้นฟู’ โดยเฉพาะในยุคที่โลกต้องเผชิญกับวิกฤตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน ความขัดแย้งทางการเมือง หรือความไม่มั่นคงทางสังคม โคลนกลายเป็นภาพแทนของความเปราะบางที่ยังสามารถยืนหยัดได้ท่ามกลางแรงกดดัน
แนวคิดนี้สะท้อนผ่านกรอบความคิดเรื่อง Cultural Resilience หรือความยืดหยุ่นทางวัฒนธรรม ดินกลายเป็นพื้นที่ที่เก็บรักษาความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และความหวังของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการฝังเมล็ดพันธุ์ การเยียวยาผ่านพิธีกรรมพื้นถิ่น หรือการกลับคืนสู่ธรรมชาติ ดินคือชีวิตที่อาจไม่สมบูรณ์ แต่มีคุณค่าในทางอารมณ์และวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง


ในแง่นี้ ดินโคลนจึงกลายเป็นภาพเปรียบ (visual metaphor) ที่สะท้อนทั้งความทุกข์ ความหวัง และความไม่ยอมแพ้ ดังที่กวีหญิง Maya Angelou เคยเขียนไว้ว่า “You may trod me in the very dirt, but still, like dust, I’ll rise.”
คำกล่าวนี้ยืนยันว่า แม้เราจะถูกเหยียบย่ำลงในดิน แต่เรายังสามารถลุกขึ้นได้เสมอ เช่นเดียวกับที่โคลนกลายเป็นพื้นที่ของศิลปะ ความจริง และความงามที่งอกขึ้นจากความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต
ดิสโทเปียกับแฟชั่น: เมื่อโคลนกลายเป็นอนาคต
ความนิยมของโคลนในแฟชั่นไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่สะท้อนความวิตกกังวลของโลกยุคใหม่ต่อสังคมดิสโทเปีย ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือสงคราม รันเวย์ที่เต็มไปด้วยโคลนจึงกลายเป็นโลกหลังหายนะจำลอง ที่เชื้อเชิญผู้ชมให้สำรวจภาพลักษณ์ของความเสื่อมโทรม ความอยู่รอด และการต่อต้าน
เสื้อผ้ารูปแบบดิสโทเปียที่เปื้อนโคลน มักออกแบบให้ใช้งานได้จริง แข็งแรง ซ้อนชั้น และดูทรุดโทรม ราวกับเตรียมตัวสำหรับโลกที่ไม่มั่นคง การผสมผสานนี้ระหว่าง avant-garde กับ utility ทำให้โคลนกลายเป็นเสมือน ‘เครื่องแบบของผู้รอดชีวิต’ ที่ขัดแย้งกับโลกแฟชั่นดั้งเดิมอย่างสุดขั้ว


ในโลกของสตรีทแฟชั่น โดยเฉพาะแฟชั่นแนวดิสโทเปียและแฟชั่นของวัยรุ่น โคลนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านความเรียบร้อยและการตั้งคำถามต่ออำนาจต่าง ๆ เสื้อผ้าที่เปื้อนโคลนจึงไม่ใช่แค่การแต่งตัวเท่านั้น แต่เป็นการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การไม่ยอมแพ้ และการต่อต้านระบบบริโภคนิยม
ภาพลักษณ์นี้พบได้ชัดเจนในแฟชั่นแนวกรันจ์ พังก์ รวมถึงแฟชั่นของวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดและฮิปฮอป ที่เน้นความเป็นจริง ความไม่สมบูรณ์ และพลังแห่งการอยู่รอด โคลนและสิ่งสกปรกในบริบทนี้จึงทำหน้าที่เหมือนทั้งบาดแผลและเครื่องประดับของผู้ที่ไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์

DEMOBAZA's "The Source" collection
ไม่ถึงปีหลังจากที่ Balenciaga เปิดตัวคอลเลกชันบนรันเวย์ที่เต็มไปด้วยดินโคลน แบรนด์อื่น ๆ ก็เริ่มนำแนวคิดนี้มาเล่นด้วย หนึ่งในนั้นคือ Acne Studios ที่เปิดตัวคอลเลกชันฤดูใบไม้ร่วง 2023 ด้วยแจ็กเก็ตยีนส์ตัวใหญ่และกางเกงยีนส์ทรงหลวมที่ดูเลอะเทอะอย่างตั้งใจ พร้อมกับแคมเปญโฆษณาที่มี Kylie Jenner เปื้อนดินเปื้อนทราย ซึ่งกลายเป็นไวรัลบน TikTok มียอดกดไลก์กว่า 626,000 ครั้ง และแชร์มากกว่า 5,200 ครั้ง


เทรนด์แฟชั่นเปื้อนโคลนและสิ่งสกปรกยังแพร่หลายสู่โลกออนไลน์ เห็นได้จากการที่แฟนแฟชั่นแชร์เทคนิค DIY เพื่อสร้างลุคสกปรกแต่มีสไตล์ด้วยตัวเอง ตัวอย่างเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำว่า รอยเปื้อนและความไม่สมบูรณ์กลายเป็นเทรนด์ที่ขยายจากรองเท้าผ้าใบเฉพาะกลุ่ม ไปสู่เสื้อผ้าและเครื่องประดับสำหรับผู้ชายและผู้หญิงอย่างกว้างขวาง
โคลนจึงกลายเป็นสื่อศิลปะทรงพลังที่เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งความเจ็บปวด การพลัดถิ่น ความหวัง และการต่อต้าน ในโลกที่เปราะบางและซับซ้อนนี้ โคลนและสิ่งสกปรกไม่ได้เป็นแค่สัญลักษณ์ของการเสื่อมสลาย แต่ยังเป็นพื้นฐานของการฟื้นฟู และการสร้างสรรค์ความงามในแบบที่เป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
ในบริบทของแฟชั่นและวัฒนธรรมร่วมสมัย โคลนไม่ได้เป็นเพียงสิ่งสกปรกธรรมดา แต่กลายเป็นสัญลักษณ์ทางสุนทรียะที่ทรงพลัง สื่อถึงความไม่สมบูรณ์ ความต่อต้าน และการฟื้นฟู ในเอ็มวีของ aespa การใช้ภาพโคลนและสิ่งสกปรกอย่างจงใจ จึงไม่ใช่แค่ฉากหลังหรือเทคนิคภาพเท่านั้น แต่เป็นการสื่อสารเชิงลึกถึงความขัดแย้งระหว่างความงามและความเปราะบางของมนุษย์ รวมถึงการท้าทายกรอบความสมบูรณ์แบบในโลกดิจิทัล ผ่านสัญลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นจริง ความไม่แน่นอน และพลังแห่งการปรับตัวในยุคสมัยใหม่อย่างชัดเจน
อ้างอิง
Fashioning Dirt: Opening a New Discourse. Fashion Theory. Published online 2025. doi:https://doi.org/10.1080//1362704X.2025.2481671
Waste Land. Frieze.com. Published June 30, 2025. Accessed July 1, 2025. https://www.frieze.com/article/waste-land
Resilience. Home Soil. resilience. Published May 25, 2022. Accessed July 1, 2025. https://www.resilience.org/stories/2022-05-25/home-soil/