สโนไวท์ไม่ใสนะคะ 3 สัญญะหลอน ดาร์ก อันตราย สไตล์ ‘นิทานกริมม์’ ใน Snow White

Post on 6 April

กระจกวิเศษบอกข้าเถิด ใครงามเลิศในปฐพี

ประโยคข้างต้นคือบทพูดสุดไอคอนิกในเรื่อง ‘Snow White’ การ์ตูนดังจากดิสนีย์และนิทานวัยเด็กอันสดใสที่เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหลายคนวาดฝันถึงรักแท้และจุมพิตแรกแห่งรักกันแบบชวนฝันสุด ๆ ซึ่งล่าสุดเรื่องราวของ Snow White ฉบับ Live Action ของดิสนีส์ก็ได้กลับมาโลดแล่นในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกอีกครั้ง พร้อมการตีความให้ต่างออกไปจากเวอร์ชันเดิม

แต่เชื่อเหลือเกินว่า ต่อให้จะเปลี่ยนวิธีการตีความเรื่องนี้ไปอีกสักกี่เวอร์ชัน เรื่องราวของ Snow White ก็ยังคงมีกลิ่นแปลก ๆ อันน่าตะงิดใจโชยมาเสมอ เพราะรากฐานดั้งเดิมของเรื่องนี้มีต้นฉบับสุดดาร์กมาจากนิทานกริมม์ โดย ยาโคบ กริมม์ (Jacob Grimm) และ วิลเฮล์ม กริมม์ (Wilhelm Grimm) สองพี่น้องนักภาษาศาสตร์และนักวรรณกรรมชาวเยอรมัน ผู้ออกเดินทางเพื่อรวบรวมนิทานพื้นบ้านจากผู้คนทั่วเยอรมันในช่วงศตวรรษที่ 19

ในฉบับนิทานกริมม์ สโนว์ไวท์เป็นแค่เด็กที่ถูกแม่เลี้ยง (บางฉบับก็บอกว่าแม่แท้ ๆ) อิจฉาในความสวย สำหรับฉากที่ขอให้นายพรานนำหัวใจกลับมา จริง ๆ แล้วราชินีผู้ชั่วร้ายไม่ได้สั่งให้นายพรานนำกลับมาเพื่อเป็นหลักฐานการเสียชีวิตอย่างเดียว แต่ยังต้องการกินพวกมันด้วย แถมราชินียังหลอกลวงสโนว์ไวท์และทำร้ายเธอด้วยความรุนแรงหลายครั้งกว่าจะตาย ทั้งการเอาเชือกรัดรอบเอวให้แน่นจนหายใจไม่ออก หวีอาบยาพิษ และสุดท้ายคือแอปเปิลอาบยาพิษที่ทำให้เธอหมดสติ

ยังมีพาร์ทของเจ้าชายที่ตกหลุมรักร่างไร้ลมหายใจของสโนว์ไวท์ และขอซื้อเธอจากคนแคระ โดยในขณะที่เขาแบกโลงแก้วกลับปราสาท คนแบกโลงศพดันสะดุดล้มส่งผลให้แอปเปิลพิษที่ติดคอของสโนว์ไวท์หลุดออกมา เธอเลยฟื้นคืนชีวิตและแต่งงานกับเจ้าชายในที่สุด ส่วนราชินีชั่วร้ายก็ถูกลงโทษให้สวมรองเท้าเหล็กเผาไฟและต้องเต้นจนตายในงานแต่งงานของสโนว์ไวท์

ด้วยต้นฉบับที่โหดระดับนี้ ต่อให้ดิสนีส์จะพยายามลดทอนความรุนแรงลงแค่ไหน ก็ปิดกลิ่นอายความแปลกประหลาดและน่ากลัวของเรื่องราวได้ไม่หมด เพราะสัญญะสำคัญที่เป็นแก่นของเรื่องยังคงได้รับการสืบทอดมาจากต้นฉบับนิทานกริมม์อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น กระจกวิเศษ แอปเปิลอาบยาพิษ และจุมพิตจากชายแปลกหน้า ที่ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความไม่ปลอดภัยและความอันตรายของเรื่องราวอยู่เสมอ

แต่เพราะอะไรทั้งสามองค์ประกอบนี้ถึงทำให้เรารู้สึกแบบนั้น? ทำไมการคงอยู่ของทั้งสามสิ่งนี้ถึงเชื่อมโยงเรากลับไปยังความโหดร้ายของต้นฉบับนิทานกริมม์ได้ง่ายดาย? ถ้าคุณเองก็สงสัยในเรื่องนี้ สามารถตามมาถอดรหัสและทำความเข้าใจกับเบื้องหลังสุดดาร์กที่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องราวในตำนาน ศาสนา และจิตวิทยาสุดอันตราย ไปพร้อมกับเราได้เลย

กระจกวิเศษ ภาพสะท้อนของปีศาจ อัตตา และภาวะนาร์ซิสซัส

สิ่งที่สะท้อนออกมาจากกระจกวิเศษในเรื่อง Snow White ไม่ได้มีแค่คำชมโฉมสโนว์ไวท์จนเกิดโศกนาฏกรรม แต่ยังแฝงความหมายเบื้องหลังทางจิตวิทยาอย่างภาวะนาร์ซิสซัสเอาไว้ด้วย

ในตำนานกรีกโบราณ ‘นาร์ซิสซัส’ คือชื่อของชายหนุ่มรูปงามผู้หล่อเหลา ความงามของเขาไปสะดุดตา ‘เอคโค่’ นางไม้ในป่าที่ถูกเฮร่าสาปให้พูดได้แต่สิ่งที่คนอื่นพูดเท่านั้น เธอเลยคอยตามติดนาร์ซิสซัสจนเขารำคาญและขับไล่ ทำให้เอคโค่ตรอมใจและแตกสลายไปเหลือเพียงฝุ่น เมื่อเทพีอะโฟร์ไดต์เห็นดังนั้น ก็รู้สึกไม่พอใจนาร์ซิสซัส เลยสาปให้เขาตกหลุมรักตัวเอง จะได้เข้าใจความรู้สึกของการตกหลุมรักแต่ไม่สามารถคว้าเขามาเป็นคู่ครองหรือตอบสนองความรักได้ ส่งผลให้นาร์ซิสซัสหลงรักตัวเองและเอาแต่นั่งมองเงาสะท้อนของตัวเองอยู่ที่ริมน้ำจนตายในที่สุด

จากตำนานนี้ทำให้คำว่า ‘นาร์ซิสซัส’ ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อ ภาวะนาร์ซิสซัส หรือ Narcissistic Personality Disorder (NPD) โรคทางบุคลิกภาพที่อธิบายถึงคนที่มีความหลงใหลในตัวเองมากเกินไป ขาดความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น และไม่สามารถรับฟังคำวิจารณ์หรือมองเห็นความบกพร่องของตัวเองได้ ซึ่งคนที่มีอาหารเหล่านี้ครบถ้วนในเรื่องสโนว์ไวท์ก็คือราชินีนั่นเอง ดังนั้น กระจกวิเศษเลยเป็นสัญญะทางจิตวิทยาที่สะท้อนตัวตนและบุคลิกของราชินีที่ยึดมั่นในอัตตาและตัวตนของตัวเองมาก ๆ และยังหลงใหลในเงาสะท้อนของตัวเองแบบนาร์ซิสซัส

การหลงใหลในเงาสะท้อนเชื่อมโยงกับการหลงเชื่อปีศาจ เพราะกระจกวิเศษไม่ได้สะท้อนความจริงอย่างแท้จริง แต่มันเป็นเสียงกระซิบที่เติมเต็มอัตตาของราชินี คล้ายกับปีศาจที่ล่อลวงมนุษย์ด้วยคำพูดหวานหู ความยึดมั่นในภาพลักษณ์ของตัวเองทำให้เธอตกอยู่ในวังวนของความอิจฉาและความคลั่งไคล้ จนยอมทำทุกอย่างเพื่อกำจัดภัยคุกคามต่ออำนาจของเธอ ดังนั้น การจ้องมองเงาสะท้อนไม่ใช่แค่การหลงใหลในความงาม แต่เป็นภาพแทนของการติดอยู่กับอัตตา จนไม่สามารถมองเห็นความจริงได้นั่นเอง

แอปเปิลอาบยาพิษ สัญญะของบาปแรก การล่อลวง และการตื่นรู้ทางเพศของหญิงสาว

แอปเปิลเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แรก ๆ ที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันดีผ่านเรื่องเล่าและตำนานต่าง ๆ โดยเฉพาะในบริบททางศาสนาคริสต์จากฉากกินผลไม้ต้องห้ามในสวนอีเดน (แต่จริง ๆ ในตำนานไม่ได้เจาะจงว่าผลไม้ที่ว่าคือแอปเปิ้ล) ซึ่งเป็นต้นเหตุของการล่มสลายของมนุษย์ โดยหลังจากที่อีฟถูกงูล่อลวงให้กินแอปเปิล เธอก็ตื่นรู้ถึงความจริงของโลกและถูกขับไล่ออกจากสวนอีเดนในทันที แอปเปิลในที่นี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ต้องห้าม การล่อลวง ความปรารถนา การสิ้นเดียงสา และสิ้นความบริสุทธิ์

ในเรื่อง Snow White แอปเปิลก็เป็นผลไม้ที่มีบทบาทสำคัญและเชื่อมโยงกับเรื่องการล่อลวงด้วยเหมือนกัน โดยราชินีได้ปลอมตัวเป็นหญิงชราผู้ใจดี และหลอกล่อให้สโนว์ไวท์กินแอปเปิลที่ถูกอาบยาพิษ เช่นเดียวกับงูที่ล่อลวงอีฟ โดยหลังจากเธอกินมัน เธอก็ล้มลงและเข้าสู่าภาวะหลับใหลในทันที แต่นอกเหนือจากเรื่องการล่อลวงและความปรารถนา เรายังมองว่าในบริบทของ Snow White แอปเปิลยังสามารถสื่อถึงการตื่นรู้ทางเพศของหญิงสาววัยแรกรุ่นได้อีกด้วย

ที่คิดเช่นนี้ เพราะในเนื้อหาต้นฉบับ ราชินีได้ใช้แอปเปิลแดงมาหลอกล่อสโนว์ไวท์ โดยทายาพิษไว้ที่ด้านสีแดงเพื่อเชิญชวนให้ดูน่ากิน ส่วนด้านสีขาวคือด้านปลอดภัย หลังจากเธอกัดด้านสีขาวโชว์ สโนว์ไวท์ก็กัดด้านสีแดงและโดนยาพิษในทันที ซึ่งเรามองว่า ‘สี’ ของแอปเปิลก็สามารถสื่อถึงเรื่องราวได้ โดย ‘สีแดง’ มักเกี่ยวข้องกับ ความปรารถนา ความเย้ายวน และเลือด ระดู หรือเลือดจากการเสียพรหมจรรย์ของหญิงสาว ส่วน ‘สีขาว’ เป็นสัญลักษณ์ของ ความบริสุทธิ์ ความไร้เดียงสา และความไร้มลทิน ซึ่งสะท้อนถึงตัวตนของสโนว์ไวท์ก่อนที่เธอจะลิ้มรสแอปเปิลต้องห้าม

การที่สโนว์ไวท์เลือกกินด้านสีแดงที่สามารถสื่อถึงเลือดระดูของหญิงสาวหรือเลือดหลังจากเสียพรหมจรรย์ เมื่อรวมเข้ากับความหมายทางสัญญะพื้นฐานของแอปเปิล ที่สื่อถึงการสิ้นเดียงสา และสิ้นความบริสุทธิ์ การกัดแอปเปิลของสโนว์ไวท์จึงอาจเปรียบได้ดั่งการก้าวข้ามเส้นแบ่งวัยเด็ก และเข้าสู่โลกของผู้หญิงอย่างเต็มตัว

การที่เจ้าชายมาจุมพิตและ ‘ปลุกเธอให้ตื่นขึ้น’ ยังอาจเป็นสัญลักษณ์ของการตื่นรู้ทางเพศหรือการถูกปลุกเร้า และเมื่อเธอฟื้นขึ้นมา เธอก็เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลง นั่นคือการแต่งงาน ซึ่งในเชิงวัฒนธรรม การแต่งงานมักถูกมองว่าเป็นจุดสิ้นสุดของความไร้เดียงสาอย่างสมบูรณ์

จุมพิตแห่งรักหรือ Necrophilia กันแน่?

ฉากจุมพิตของเจ้าชายใน Snow White มักถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของ ‘รักแท้’ ที่สามารถปลุกเจ้าหญิงให้ตื่นจากการหลับใหลอันยาวนาน หรืออาจมองว่าเป็นการกระตุ้นทางเพศที่ทำให้สโนว์ไวท์โตเป็นสาวเต็มตัว แต่หากพิจารณาในเชิงจิตวิทยา การที่เจ้าชายหลงใหลในร่างไร้ชีวิตของสโนว์ไวท์นั้นอาจถูกตีความได้ว่าเป็นอาการของ Necrophilia หรือ ‘โรคใคร่ศพ’ ซึ่งเป็นภาวะที่บุคคลมีความพึงพอใจทางเพศต่อร่างที่ไม่มีชีวิต

ในเชิงจิตวิเคราะห์ Necrophilia ไม่ได้หมายถึงเพียงความหลงใหลในร่างไร้ชีวิตเท่านั้น แต่ยังสะท้อนความต้องการอำนาจ การควบคุม และความสัมพันธ์ที่ไม่ต้องเผชิญกับการต่อต้านหรือขัดขืน นักจิตวิเคราะห์บางกลุ่มอย่าง อีริค ฟรอมม์ (Erich Fromm) อธิบายว่า necrophilic personality มักเกิดจากจิตใจที่หวาดกลัวชีวิต ความเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอน คนกลุ่มนี้จึงเลือกผูกพันกับสิ่งที่ ‘ตายแล้ว’ หรือสิ่งที่ไม่มีอำนาจโต้ตอบ เพื่อรักษาความมั่นคงทางจิตใจของตน

หากเชื่อมโยงสิ่งนี้กับคาแรกเตอร์ของเจ้าชายใน Snow White เราจะพบว่าเขาไม่เคยรู้จักหรือพูดคุยกับสโนว์ไวท์ในระดับลึกมาก่อน ทั้งในฉบับนิทานกริมม์และเวอร์ชันดิสนีย์ปี 1937 สิ่งที่เจ้าชายตกหลุมรักคือรูปลักษณ์ภายนอกของเธอ สโนว์ไวท์จึงเป็นเสมือน ‘วัตถุแห่งความงาม’ โดยเฉพาะในฉบับนิทานกริมม์ ที่เจ้าชายเจอสโนว์ไวท์ครั้งแรกตอนเธอหลับใหลไปแล้ว แถมยังถึงขั้น ‘ขอซื้อศพ’ ของเธอจากเหล่าคนแคระเพื่อนำกลับไปยังปราสาท เหมือนเป็นการครอบครองร่างของหญิงสาวแสนสวยคนหนึ่ง

ความต้องการนี้จึงไม่ใช่ความรักในแง่ของการรู้จักกัน แต่เป็นความใคร่ในรูปลักษณ์ และความพึงใจที่ได้ควบคุมสิ่งที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เหมือนกับสภาวะของ Necrophilia และเป็นการตอกย้ำมุมมองแบบ objectification หรือการลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงให้เหลือเพียงสิ่งของที่มีไว้ให้เสพและครอบครอง ทำให้การตีความสโนว์ไวท์ในแบบร่วมสมัยมักตั้งคำถามกับพฤติกรรมของเจ้าชายอย่างหนักหน่วง

โดยเฉพาะเรื่องของแนวคิดชายเป็นใหญ่ ที่ส่งต่อผ่านระบบความเชื่อที่สืบทอดผ่านนิทานที่สอนให้ผู้หญิงเชื่อว่าเราควรเป็นฝ่าย ‘รอ’ ให้ใครบางคนมาช่วย มารัก หรือแม้แต่มาเป็นเจ้าของ ในขณะเดียวกันก็สอนให้ผู้ชายรู้สึกมีสิทธิ์เข้าไปครอบครอง หรือ ‘ปลุก’ ใครสักคนให้มีชีวิตขึ้นมาตามความปรารถนาของตน ดังนั้น ในหลาย ๆ มุมมอง เรื่องราวของสโนว์ไวท์จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องราวของเจ้าหญฺงที่หลุดพ้นจากคำสาป แต่คือภาพสะท้อนของผู้หญิงในอดีตที่ไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียงในร่างกายของตัวเองเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย

อ้างอิง

Bible D. The Apple In Biblical Symbolism: An Exploration Of Its Historical And Biblical Significance. Digital Bible. Published November 24, 2023. Accessed April 2, 2025. https://digitalbible.ca/article-page/bible-study-symbols-the-apple-in-biblical-symbolism-an-exploration-of-its-historical-and-biblical-significance-1700845097840x367687428290405700#:~:text=Contrasting%20its%20role%20as%20a,affection%2C%20longing%2C%20and%20courtship.

Using Monster Myths to Understand Narcissism. Psychology Today. Published 2022. Accessed April 2, 2025. https://www.psychologytoday.com/us/blog/minds-and-men/202206/using-monster-myths-understand-narcissism

Biophilia EF. Erich Fromm’s Biophilia. NiCHE. Published July 6, 2023. Accessed April 4, 2025. https://niche-canada.org/2023/07/06/erich-fromms-biophilia/?utm_source=chatgpt.com

Colour symbolism: Red. Nicholas Wells Antiques Ltd. Published August 16, 2023. Accessed April 2, 2025. https://nicholaswells.com/news/colour-symbolism-red/

Colour symbolism: White. Nicholas Wells Antiques Ltd. Published August 18, 2023. Accessed April 2, 2025. https://nicholaswells.com/news/colour-symbolism-white/

Shining light on an unspeakable crime: necrophilia and the need for legal reform. Current Issues in Criminal Justice. Published online 2024. doi:https://doi.org/10.1080//10345329.2023.2238378