พาสปอร์ตอีกรูปแบบหนึ่ง

Art
Post on 14 March

(บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือระหว่าง GroundControl และพันธมิตรสื่อทางศิลปะ Protocinema ผู้เผยแพร่สื่อดิจิทัลด้านศิลปะรายเดือน เพื่อนำเสนอมุมมองของศิลปินที่มีต่อสังคมร่วมสมัย การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยดำเนินการผ่าน Protodispatch ผู้เป็นตัวกลางเผยแพร่ข่าวสารประจำเดือนให้แก่พันธมิตรในเครือ โดย GroundControl ได้รับเกียรติให้เป็นพันธมิตรสื่อเพื่อเผยแพร่บทความในภาษาไทย ร่วมกับ Artnet.com จากนิวยอร์ก และ Argonotlar.com จากอิสตันบูล เพื่อร่วมกันสร้างโครงข่ายของระบบนิเวศน์ทางศิลปะที่เข้มแข็ง และเพื่อให้ผู้สนใจศิลปะชาวไทยสามารถเข้าถึงได้โดยปราศจากกำแพงด้านภาษา)

กูลซูน คารามูสตาฟา และ ภัณฑารักษ์ อเล็กซ์ ไคลน์ ย้อนกลับไปสำรวจวิถีที่ภูมิทัศน์ทางทางภูมิรัฐศาสตร์ ปฏิสัมพันธ์ทางการเมือง และเครื่องมือทางศิลปะสำหรับการต่อต้าน ได้ก่อกำเนิดช่วงเวลาซึ่งถือเป็นหนึ่งในปีที่กลายมาเป็นรากฐานสำคัญที่สุดในชีวิตของคารามูสตาฟา

กูลซูน คารามูสตาฟา และ อเล็กซ์ ไคลน์

จากการใช้วัยเด็กในช่วงเวลาที่ตุรกีถูกคุมขังภายใต้นโยบาย ‘ม่านเหล็ก’ (Iron Curtain) จนถึงการได้รับหน้าที่เป็นผู้รายงานภาคสนามของสถานีวิทยุบีบีซีลอนดอนในช่วง 1990s ประสบการณ์ของคารามูสตาฟาได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของปฏิบัติการทางศิลปะอันทรงพลังของเธอ การถูกปฏิเสธพาสปอร์ตเป็นเวลายาวนานถึง 16 ปี ทำให้เธอและสามีพบว่าตัวเองถูกจองจำอยู่ในตุรกี ซึ่งนำมาสู่การสำรวจและการอพยพครั้งสำคัญในการทำงานศิลปะของเธอ การได้รับอนุญาตให้เดินทางได้ในปี 1986 นำมาสู่ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ทำให้เธอได้เดินทางไปทั่วโลก ซึ่งส่งอิทธิพลให้ต่อพัฒนาการในงานของเธอ ด้วยความร่วมมือทางการทำภาพยนตร์และการจัดนิทรรศการจากทั่วโลก ผลงานศิลปะของคารามูสตาฟาได้กลายเป็นทั้งพาสปอร์ตของจริงและพาสปอร์ตในทางเปรียบเปรย ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและการสร้างพันธมิตรข้ามพรมแดน ในบทสัมภาษณ์นี้ คารามูสตาฟาได้แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวพร้อมย้อนกลับไปทบทวนชีวิต นิทรรศการของเธอที่จัดแสดงอยู่ที่พาวิลเลียนตุรกี ณ มหกรรมศิลปะเวนิสเบียนนาเล่ครั้งที่ 60 คือคำถามต่อความขัดแย้งในประเด็นเรื่องความเป็นชาติ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และพรมแดนที่สร้างขึ้นมาโดยมนุษย์

Gülsün Karamustafa, Still from 'The City and the Secret Panther 
Fashion, single-channel video film,' 2007, Courtesy of the artist and 
BüroSarıgedik

Gülsün Karamustafa, Still from 'The City and the Secret Panther
Fashion, single-channel video film,' 2007, Courtesy of the artist and
BüroSarıgedik

อเล็กซ์ ไคลน์: กูลซูน งานจำนวนมากของคุณสร้างขึ้นในเงื่อนไขเฉพาะของสถานที่ที่เกี่ยวพันกับการต่อต้าน การเคลื่อนย้ายที่ถูกจำกัด และการอพยพ คุณกำลังก้าวเข้าสู่ประวัติศาสตร์แห่งการพลัดถิ่น เช่นเดียวกับการกักล้อมทางภูมิศาสตร์ ยิ่งกว่านั้นคุณยังสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้กับผู้ชมทั้งที่อยู่ในและนอกตุรกี ประเทศกำเนิดของคุณด้วจ

ฉันอยากเริ่มด้วยการชวนคุณย้อนกลับไปยังช่วงเวลาแรก ๆ ในเส้นทางอาชีพของคุณ หลังจากเรียนจบจากโรงเรียนศิลปะในอิสตันบูล ตอนที่คุณทำงานให้สถานีวิทยุบีบีซีของตุรกี คุณอาศัยอยู่ในลอนดอน คอยรายงานเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตุรกี เกี่ยวกับสถานการณ์ที่บ้านที่คุณรับรู้มาจากวิทยุต่างประเทศ ฉันว่านี่เป็นภาพที่ทรงพลังมาก และมันเป็นแรงกดดันที่ปรากฏอย่างน่าสนใจในวิธีการทำงานของคุณ

กูลซูน คารามูสตาฟา: ม่านเหล็กกักขังพวกเราในตุรกีในช่วงระหว่าง 1950s ถึง 1960s ฉันใช้เวลาช่วงวัยเด็กไปกับการรับรู้ว่าเราอยู่ในประเทศที่อยู่หลังกำแพง รับรู้ถึงภัยคุกคามจากศัตรูอย่างสหภาพโซเวียต ผู้อยู่ใกล้เรา และอยู่ท่ามกลางพวกเรา กักขังเราไว้หลังกำแพง และเราต้องปกป้องตัวเอง

มันไม่ง่ายเลยสำหรับคนตุรกีที่จะเดินทางไปยังยุโรปในตอนนั้น เราต้องได้รับอนุญาตจากรัฐก่อนที่จะไปต่างประเทศ ในปี 1970 ฉันเดินทางไปลอนดอนพร้อมกับคนที่กลายมาเป็นสามีของฉันในปัจจุบัน เราไปเข้าร่วมขบวนการของนักกิจกรรมในโรงเรียน แล้วก็แต่งงานกันในเวลาไม่นานเพื่อที่จะได้เดินทางด้วยกันได้ ที่นั่นเราได้สัมผัสกับลอนดอนในยุคที่ เดอะบีทเทิลส์, แมรี ควานท์ และ ทวิกกี กำลังเฟื่องฟู และเป็นลอนดอนที่เบ่งบานและตื่นตัวทางการเมืองมาก ๆ ตอนที่เราไปถึง มีการรวมตัวนัดหยุดงานครั้งใหญ่เพื่อประท้วงการออกกฎหมายกดขี่ของพวกทอรี (Tory กลุ่มอนุรักษนิยมในอังกฤษ) ที่ริดรอนสิทธิของคนทำงาน เราไปร่วมเดินขบวนกับ TUC ( Trades Union Congress สภาสหภาพแรงงาน) ที่จัตุรัสทราฟัลการ์ มีการคาดคะเนว่าในวันนั้น มีผู้ร่วมประท้วงหยุดงานในลอนดอนถึง 250,000 คน และอีก 1.5 ล้านคนจากทั่วสหราชอาณาจักร มีพนักงานไปรษณีย์ร่วมขบวน ชาวเวียดนามอีกหลายคนก็ร่วมประท้วงด้วย ตอนนั้นสงครามเวียดนามดำเนินมาถึงปีที่ 16 แล้ว คนทำงานที่ท่าเรือก็ร่วมกันหยุดงาน หยุดดำเนินการเรือขนส่งที่ทหารอเมริกาต้องการ ปฏิบัติการในท้องที่เหล่านี้ส่งผบกระทบในระดับโลก ตอนนั้นพวกเราก็กำลังทำงานกับองค์กรเฟมินิสต์หลายแห่ง อย่างงานเดินขบวนปลดแอกของผู้หญิงเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1971 เราก็ไปช่วยออกแบบแบนเนอร์ให้พวกเขา ช่วยเหลือในทุก ๆ ทางเท่าที่ทำได้

ตอนนั้นฉันทำงานอยู่ที่บีบีซีในกรุงลอนดอน แล้วในเวลาไร่เรียงกัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม, 6 มีนาคม และสุดท้ายวันที่ 12 มีนาคม ก็มีการรัฐประหารในอิสตันบูล ซึ่งฉันต้องประกาศข่าวนั้นผ่านสถานีวิทยุบีบีซี โดยที่ตัวฉันอยู่ในลอนดอน นั่นคือจุดเปลี่ยนในชีวิตของเรา เราเดินทางกลับตุรกีทันที แล้วพอเข้าเดือนพฤษภาคม พวกเราก็ถูกจับข้อหาให้ที่หลบซ่อนแก่ผู้ลี้ภัยในแฟลตของเรา สามีของฉันใช้ชีวิตสองปีครึ่งในคุก ฉันเองก็ติดคุกอยู่หกเดือน ซึ่งก็เทียบอะไรไม่ได้เลยกับ 15 ปีหลังจากนั้น จนถึงปี 1986 เราจึงถูกยกเลิกพาสปอร์ต เป็นผลให้เราถูกกักขังอยู่ในประเทศตัวเอง

Gülsün Karamustafa, 'Prison Painting 12', 1972, Courtesy of the artist and BüroSarıgedik

Gülsün Karamustafa, 'Prison Painting 12', 1972, Courtesy of the artist and BüroSarıgedik

Gülsün Karamustafa, 'Londra Trafalgar Attack the bill büyük sendika yürüyüşü', 1971, Courtesy of the artist and BüroSarıgedik

Gülsün Karamustafa, 'Londra Trafalgar Attack the bill büyük sendika yürüyüşü', 1971, Courtesy of the artist and BüroSarıgedik

อเล็กซ์ ไคลน์: การถูกริบพาสปอร์ตนี้ทำให้สิทธิของคุณในฐานะพลเมืองถูกริดรอนไปด้วย และหมายความว่าสัญชาติของคุณยังถูกเพิกถอนไปจากสายตาของรัฐในทางสัญลักษณ์อีกด้วย ชีวประวัติของคุณ การเคลื่อนย้ายถิ่นฐายของคุณ หรือการหายไปของสิ่งเหล่านั้น ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับจินตนาการและความทรงจำส่วนตัวและส่วนรวม คุณเดินทางผ่านสิ่งเหล่านี้มาได้อย่างไรในช่วงปีเหล่านั้น?

กูลซูน คารามูสตาฟา: ย้อนกลับไปตอนนั้น การสื่อสารก็ถูกจำกันเช่นกัน ยุคนั้นเราไม่มีอินเทอร์เน็ต ได้แต่เขียนจดหมายหรือส่งพัสดุเล็ก ๆ เท่านั้น บริการไปรษณีย์เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ในช่วงเวลานั้น จนกระทั่งเรามีแฟกซ์ใช้ การรูัว่าคุณกำลังติดอยู่ในประเทศของตัวมันก็เรื่องหนึ่ง แต่การรู้ว่าคุณมีหนทางสื่อสารอันแสนจำกัดนั้น (ไม่เท่ากับที่มีในตอนนี้) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน เพื่อนคนหนึ่งจากสหรัฐฯ ส่ง ‘Village Voice’ (นิตยารรายงานเรื่องราวทางวัฒนธรรมในนิวยอร์ก) มาให้เรา มันเป็นประตูที่พาเราออกไปสู่วัฒนธรรมในที่อื่น ๆ เพราะที่นั่นเรามีแค่หนังสือพิมพ์และรายการทีวีท้องถิ่นที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลไปหมดแล้ว การมีแหล่งข้อมูลข่าวสารที่จำกัดบังคับให้เราต้องหันมาใส่ใจการอพยพภายในประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ มวลผู้คนจากชนบทจึงอพยพเข้าสู่ใจกลางเมือง มันหนักหน่วงรุนแรงมาก และทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย มันเป็นอะไรที่ที่เปี่ยมด้วยสีสัน ความสร้างสรรค์ และไม่เป็นที่ต้อนรับเอาเสียเลย การเหยียดเชื้อชาติกลายเป็นปัญหารุนแรง และยังคงรุนแรงอยู่ ฉันจึงสนใจที่จะสร้างงานศิลปะที่บอกเล่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบชีวิตให้เข้ากับช่วงเวลาแห่งการปะทะสังสรรค์นั้น

ในปี 1988 ฉันมีโอกาสได้ทำนิทรรศการเดี่ยวที่ห้องสมุดตะวันออกกลางแห่งเมืองเกรอนอบล์ ซึ่งฉันเอาพวกของตกแต่งผนังและพรมใหญ่ ๆ ใส่ไปในเป้และกระเป๋า นั่นคือก้าวแรกของฉันในการไปสู่พรมแดนอื่น

Gülsün Karamustafa, Still from 'The City and the Secret Panther 
Fashion, single-channel video film,' 2007, Courtesy of the artist and 
BüroSarıgedik

Gülsün Karamustafa, Still from 'The City and the Secret Panther
Fashion, single-channel video film,' 2007, Courtesy of the artist and
BüroSarıgedik

Gülsün Karamustafa, Still from 'The City and the Secret Panther 
Fashion, single-channel video film,' 2007, Courtesy of the artist and 
BüroSarıgedik

Gülsün Karamustafa, Still from 'The City and the Secret Panther
Fashion, single-channel video film,' 2007, Courtesy of the artist and
BüroSarıgedik

อเล็กซ์ ไคลน์: ในช่วงนี้เองที่คุณเริ่มนำสีและวัสดุหากสีสันเข้ามาใช้ในงานของคุณ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? และคุณแยกมันออกจากงานโทนขาวดำของคุณอย่างไร? ในการใช้สีที่ดึงดูดนั้น ดูเหมือนว่าคุณจะมีการเข้ารหัสของบางสิ่ง หลบซ่อนบางอย่าง รวมทั้งยังมีการใช้สิ่งดึงดูดสายตาเพื่อนำผู้ชมเข้ามาเผชิญหน้ากับประเด็นที่ทั้งรุนแรงและเป็นเรื่องการเมืองเข้มข้นด้วย

กูลซูน คารามูสตาฟา: อย่างที่เรารู้กัน สิ่งที่สดใสไม่ได้สื่อถึงความสุขเสมอไป และเราเองก็ต้องหลบซ่อนเพื่อที่จะอยู่รอด เพื่อปกป้องตัวเอง มันมีสองด้านอยู่ในนี้ ตัวอย่างเช่น ในงานวิดีโอของฉันที่ชื่อ ‘The City and the Secret Panther Fashion’ (2007) ซึ่งนำเสนอลายเสือที่ใช้ในแวดวงแฟชั่น ซึ่งได้รับความนิยมและให้ความรู้สึกเซ็กซี่มาก ๆ แต่ในขณะเดียวกัน งานชิ้นนี้ก็มีความดราม่าสุด ๆ และพูดถึงประเด็นที่ตึงเครียดมาก ๆ เพราะมันว่าด้วยความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงในพื้นที่บ้าน ซึ่งเรายังคงเห็นภาพอันน่าสะพรึงกลัวนี้ได้ทั่วไปในตุรกี ในวิดีโอนี้ ผู้หญิงแต่ละคนมาถึงอะพาร์ตเมนต์ส่วนตัวแห่งนี้ในชุดธรรมดา ๆ ที่เห็นได้ทั่วไป แต่ทันทีที่ผู้หญิงเหล่านี้ก้าวข้ามจากพื้นที่ถนนมาสู่พื้นที่ในห้อง พวกเธอก็เปลี่ยนไปใส่เสื้อผ้าแฟชั่นลายเสือ และพวกเธอก็เปลี่ยนมู้ดไปสู่การเฉลิมฉลองรื่นเริง มันเป็นอะไรที่ฉูดฉาดสดใส พวกเธอเปิดกว้างให้แก่กันและกัน มันเต็มไปด้วยบรรยากาสของความสุข ผู้หญิงเหล่านี้ล้วนถูกกดทับ พวกเธอเป็นตัวแทนคนอพยพ คนจน คนกลุ่มน้อย และคนเมืองที่ถูกกดทับโดยอำนาจเหนือกว่าของเพศชายไปพร้อม ๆ กันด้วย เมื่อวิดีโอนี้จบลง ผู้หญิงเหล่านี้เปลี่ยนเสื้อผ้ากลับไปสู่ความจืดชืดเช่นเดิม แล้วกลับคืนสู่ชีวิตจริงของพวกเธอ งานชิ้นนี้คือการใช้การปรากฏและไม่ปรากฏของสีอย่างตรงไปตรงมา ลายเสือ หรือที่ฉันเรียกมันในภาพยนตร์ของฉันว่า ‘แฟชั่นลับลายพราง’ (The Secret Panther Fashion) แสดงให้เห็นถึงความสูงและความต่ำไปพร้อม ๆ กัน ลวดลายนี้ยังคงครองตลาดแฟชั่นบนท้องถนนเมืองอิสตันบูล ตั้งแต่เมืองกระต๊อบจนถึงย่านที่อยู่อาศัยหรูหรา เห็นได้ตั้งแต่ในแบรนด์อย่าง Dolce&Gabbana, Louis Vuitton ฯลฯ มันคือวัตถุที่สะท้อนอำนาจและความปรารถนาของผู้หญิงและผู้ชายได้อย่างไม่ล้าสมัย

ในอีกแง่หนึ่ง ผลงาน ‘Memory of a Square’ (2005) คือภาพยนตร์ขาวดำ เมื่อฉันตัดต่อเสร็จ ฉันมานั่งย้อนดูฟุตเทจแล้วก็พบว่า ตัวฉันสามารถไปจะดำรงอยู่ในทุก ๆ เฟรมได้เลย (ในทางเปรียบเปรย) มันถูกทำให้เป็นสีขาวดำเพื่อที่จะได้ปรับการรับรู้เกี่ยวกับช่วงเวลาให้เสมอกัน เมื่อคุณดูและจำช่วงเวลาเหล่านั้นได้ คุณก็จะเห็นภาพมันผ่านสีสันที่คุณเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หากคุณลองขยายภาพดู คุณก็จะเห็นคนคนหนึ่งที่แทรกตัวอยู่ในแต่ละกลุ่ม ผู้ซึ่งสามารถเป็นเป้าหมายของทุกสิ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกบังคับให้อยู่ในที่นี้ หรือถูกบังคับให้ย้ายออกไป มันเป็นเรื่องการเมืองอีกเช่นเคย มันคือเรื่องราวของฉัน ซึ่งฟุตเทจของครอบครัวไหน ๆ ก็สามารถนำมาทำงานนี้ได้เหมือนกัน

Gülsün Karamustafa, 'Motorcycle', fabric collage, 1986, Courtesy of the artist and BüroSarıgedik

Gülsün Karamustafa, 'Motorcycle', fabric collage, 1986, Courtesy of the artist and BüroSarıgedik

อเล็กซ์ ไคลน์: คุณทั้งผูกพันและไม่ผูกพันกับพรมแดนแห่งชาติของคุณ คุณมีโอกาสที่จะสำรวจการย้ายถิ่นของผู้คนจากภูมิภาคอื่น ๆ และการที่ผลกระทบของมันส่งผลต่อสายใยที่ถักทออยู่ในสังคมของคุณได้อย่างไร ในอีกแง่หนึ่ง 16 ปีที่คุณไม่สามารถเดินทางไปที่ใด ๆ ได้ ยังกลายเป็นรากฐานสำหรับวิธีการทำงานของคุณ ตั้งแต่ ‘Prison Paintings’ เป็นต้นมา และกระเป๋าที่คุณใช้บรรจุผลงานเพื่อขนส่งไปยังที่ต่าง ๆ ก็เป็นแหล่งบรรจุอุปมาแห่งการเดินทางและการพลัดถิ่นไว้ด้วย…

กูลซูน คารามูสตาฟา: ถูกต้องแล้ว ในช่วงเวลานั้น มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะดำรงชีวิตอยู่ที่นี่ด้วยการทำงานศิลปะ ฉันจึงหันไปหาภาพยนตร์ ฉันได้งานเป็นผู้กำกับศิลป์ในวงการหนังและได้มีโอกาสเข้าร่วมกับชุมชนสร้างสรรค์อื่น ๆ

Gülsün Karamustafa, 'Heimat Ist wo Mann', 1994, Courtesy of the artist and BüroSarıgedik

Gülsün Karamustafa, 'Heimat Ist wo Mann', 1994, Courtesy of the artist and BüroSarıgedik

อเล็กซ์ ไคลน์: หลังจากทำงานอย่างโดดเดี่ยวมาโดยตลอด คุณสนุกกับการทำงานในบริบทที่ทำให้คุณได้ร่วมงานกับผู้อื่น และมีโอกาสได้แบ่งปันมันกับผู้ชมที่กว้างขึ้นหรือเปล่า

กูลซูน คารามูสตาฟา: ฉันรักมันเลยล่ะ การผจญภัยนี้นำฉันไปสู่การถ่ายหนังยาวที่ชื่อ ‘My Cinemas’ (1990) สำหรับฟูรูซาน (Füruzan) นักเขียนนิยายชื่อดังและเพื่อนของฉัน ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เข้าฉาบใยเทศกาลหนังเมืองคานส์สาย Semaine de La Critique และเข้าชิงรางวัลปาล์มทอง เพราะการทำงานร่วมกับผู้อื่นนี่ล่ะ เราถึงสามารถเดินทางไปฝรั่งเศสได้ ซึ่งหลังจากนั้น คำเชิญจากเทศกาลต่าง ๆ ก็เริ่มหลั่งไล่เข้ามา เราได้ไปโตรอนโต เตหะราน และไคโร นี่คือวิธีการ ‘แหวกม่านกลับ’ ของเรา และแหวกม่านแห่งฝันร้ายในวัยเด็กของเราไปพร้อม ๆ กัน ในระหว่างที่สิ่งเหล่านี้ดำเนินไปข้างหน้า การสื่อสารข้ามพรมแดนก็พัฒนาขึ้น และการเติบโตของเทศกาลศิลปะแบบเบียนนาเล่ก็เริ่มต้นขึ้น ฉันเข้าร่วมงานอิสตันบูลเบียนนาเล่ครั้งที่หนึ่ง สอง และสาม แล้ว เรอเน บล็อก (René Block) ก็เชิญฉันไปร่วมจัดแสดงผลงานในนิทรรศการชุดประวัติศาสตร์ของเขา “ศิลปะตุรกีวันนี้” (Turkish Art Today) ที่ IFA Gallery ในเมืองชตุทการ์ทปี 1994 นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า ‘İskele’ (ท่าเรือ) ซึ่งมีงาน ‘Home is where you eat’ ที่ประกอบไปด้วยช้อนสามคันรวมอยู่ด้วย ตุรกีในช่วง 1990s ถูกฝังกลบอยู่ภายใต้ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างรุนแรง นิทรรศการชุดนี้พาฉันออกเดินทางไปยังตะวันออกกลางและยุโรป, เอเชีย, โตเกียว, เกียวโต, ไซตามะ, กวางจู, โซล, ไทเป, โตรอนโต, มอนทรีออล, นิวยอร์ก, มินนีแอโพลิส, วอชิงตัน, สแกนดิเนเวีย, สวีเดน, นอร์เวย์, เดนมาร์ก, เซาเปาโล มันตรงกันข้ามเลยกับช่วง 50s และ 60s ในแง่หนึ่งมันทำเอาฉันหายใจไม่ทันเลย

Gülsün Karamustafa, 'Memory of a Square', two channel video, 2005, Courtesy of the artist and BüroSarıgedik

Gülsün Karamustafa, 'Memory of a Square', two channel video, 2005, Courtesy of the artist and BüroSarıgedik

อเล็กซ์ ไคลน์: สถานที่ไหนมีความหมายสำหรับคุณมากที่สุด

กูลซูน คารามูสตาฟา: หนึ่งในความสัมพันธ์สำคัญที่ฉันได้จากต่างแดนคือที่บอลข่าน ที่ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบรรพบุรุษของฉัน ยายของฉันเป็นชาวออตโตมันเติร์ก ถูกบังคับให้อพยพจากบัลเกเรียไปยังตุรกีในปี 1893 หลังการทลายกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 และสงครามบอลข่าน ยุโรปต้องการที่จะนับภูมิภาคบอลข่านเข้าเป็น “ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้” เมื่อคุณพูดถึงบอลข่าน แน่นอนว่าคุณไม่สามารถตัดประวัติศาสตร์ที่พัวพันของจักรวรรดิออตโตมันและสาธารณรัฐตุรกีกับความยุ่งเหยิงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ นิทรรศการที่ ฮารัลด์ ชีมาน (Harald Szeemann) และ เรอเน บล็อก เป็นภัณฑารักษ์ ยิ่งช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินบอลข่านด้วยกันเอง ซึ่งน่าสนใจมาก บอสเนีย เฮอร์เซโกวีนา เซอร์เบีย โคโซโว อัลบาเนีย มอนเตเนโกร โรมาเนีย เราต่างก็กำลังเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ของตัวเอง

อเล็กซ์ ไคลน์: มันมหัศจรรย์มากที่ได้ยินว่าภาพยนตร์ได้กลายเป็นพาสปอร์ตอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับคุณ แบบจริง ๆ เลย คุณพอจะสะท้อนความรู้สึกของการที่ผลงานของคุณมาถึงจุดเปลี่ยนในปี 1986 เมื่อคุณเริ่มเดินทางมากขึ้นได้มั้ย? ก่อนหน้านั้นคุณอยู่กับที่ภายในพรมแดนของคุณ แล้วอยู่ดี ๆ ก็ได้ท่องไปทั่วโลก ในแง่ของจิตใจ คุณคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากประสบการณ์นั้น และเพื่อที่จะโยงกลับไปเรื่องการกระจายเสียงที่เราคุยกันก่อนหน้า ฉันสงสัยว่าคุณได้พบความเข้าใจร่วมที่คุณแชร์กับชุมชนอื่น ๆ ซึ่งอาจพบกับประสบการณ์บาดแผลเหมือนกันบ้างไหม? และในทางกลับกัน ฉันสงสัยว่าคุณเคยรู้สึกเหมือนกับว่าผลงานถูกทำให้เป็นวัตถุหรือมันผลิตความเข้าใจผิด ๆ ออกมาบ้างไหม?

กูลซูน คารามูสตาฟา: ใช่เลย แน่นอนอยู่แล้ว การอยู่ตัวคนเดียวโดยที่ต้องอยู่แต่กับเรื่องของตัวเองเป็นปี ๆ แล้วอยู่ดี ๆ ก็ต้องเปิดตัวรับโลก มันทำให้คุณเกิดความต้องการที่จะสื่อสารเชื่อมต่อกับคนอื่น ๆ อย่างรุนแรงเลยล่ะ

ในประเทศของคุณ คุณทำได้แค่มองและพูดคุยกับตัวเอง ย้อนกลับไปในตอนนั้น การสื่อสารยังคงถูกจำกัด การนำงานของฉันออกไปโชว์และได้สื่อสารกับนักศึกษาผ่านเวิร์กชอปและสัมมนาในประเทศต่าง ๆ นอกตุรกีทำให้ฉันได้รับมุมมองที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เพราะฉันถูกเห็น และในขณะเดียวกันก็ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมคนอื่น ๆ ฉันได้มอบบางอย่างให้พวกเขา และพวกเขาก็ได้มอบบางอย่างแก่ฉันเช่นกัน ฉันป้อนและก็ถูกป้อน ซึ่งก็เป็นการให้และรับที่สำคัญ เป็นการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกัน

เมื่อเราและงานของพวกเราถูกรวมเข้าด้วยกันจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เรากลับได้พบว่า เราต่างก็เผชิญหน้ากับปัญหาแบบเดียวกัน และมันมีเป็นพันวิธีที่เราสามารถใช้ในการมองชีวิต สิ่งนี้ได้สร้างสะพานร่วมแก่เรา ทำให้เราเข้าใจและได้รับความเข้าใจในกันและกัน ไม่ใช่แค่นั้น ปัญหาต่าง ๆ หลากหลายที่ปะทุขึ้นมา ยังได้สร้างภราดรภาพในหมู่พวกเรา มันชัดเจนเลยว่าเราไม่ได้อยู่ลำพัง และนั่นคือวิธีที่เราต่างเป็นฝ่าย ‘ได้’