GC_ArtistinOurRadar_Tomás Sánchez.jpg

‘การเมืองเรื่องของแมว’ สำรวจประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่าน แมว สายรุ้ง และดอกทานตะวันของ 29xart

Post on 27 June

ทุกครั้งที่วันที่ 24 มิถุนายน หรือวันครบรอบการ ‘ปฏิวัติการปกครอง 2475’ วนมาถึง หน้าฟีดโซเชียลของเราก็จะเต็มไปด้วยคอนเทนต์ที่พาย้อนสำรวจวันที่เป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยนี้ แต่ท่ามกลางความเข้มข้นอัดแน่นของคอนเทนต์ที่นำเสนอแง่มุมต่าง ๆ ของวันอภิวัฒน์สยาม เราก็แอบสะดุดตากับความสดใสของสายรุ้ง ดอกทานตะวัน และแมว ที่อยู่ในผลงานภาพวาดทางการเมืองของศิลปินที่ใช้ชื่อว่า 29xart ซึ่งนอกจากจะทำให้เราแอบอมยิ้มกับอารมณ์ขันแอบตลกร้ายในภาพ เหล่าเจ้าเหมียวถือปืนและสายรุ้งที่ทอดยาวหลังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้นยังกระตุ้นให้เราฉุกคิดสงสัยอะไรบางอย่าง จนทำให้เราต้องหอบคำถามนั้นไปถามไถ่เจ้าของผลงาน พร้อมกับขอให้เขาช่วยแนะนำตัวให้ชาว GroundControl ได้รู้จักกัน

“ชื่อโยษิตา สินบัว ชื่อเล่น สปาย หรือ เจี๋ยเจี๋ย ตอนนี้เรียนอยู่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวารสารสนเทศและสื่อใหม่ ชั้นปีที่ 2 ซึ่งเราซิ่วมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาภูมิสถาปัตยกรรม

“นอกจากการเป็นนักศึกษา เราก็เป็นฟรีแลนซ์ (ที่ไม่ค่อยได้ตังค์) ส่วนใหญ่เราจะรับออกแบบกราฟิก วาดภาพประกอบ สต็อปโมชั่น มีตัดต่อวิดีโออยู่ช่วงนึง แล้วก็มีช่วงหนึ่งที่เราเรียกตัวเองว่า ‘นักเขียน’ เพราะเคยเขียนนิยายในจอยลดา แต่ช่วงหนึ่งปีมานี้ไม่ได้เขียนเลยเพราะงานเยอะมาก หวังว่าสักวันหนึ่งเราจะได้กลับไปเขียนนิยายเหมือนกัน (หัวเราะ)

“แต่อนาคตอยากเป็นนักข่าวนะ”

เมื่อถามว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสนใจในประวัติศาสตร์และการเมือง เจี๋ยเจี๋ยก็ย้อนเล่าความเป็นมาว่า “เรารู้สึกว่าที่บ้านเราชอบพูดคุยเรื่องการเมืองเป็นปกติ พ่อชอบเปิดประชุมสภาให้ดูตั้งแต่ประถม ตอนนั้นเราก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่าเขาทำอะไรกัน แต่นั่งดูก็เพลินดี

“ที่ผ่านมาเราเหมือนคนที่รับรู้แต่ไม่ได้คิดจะเข้ามาขับเคลื่อนอะไร และไม่ค่อยเข้าไปอ่านรายละเอียดหรือทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่าไหร่ จนตอนปี 2 จะขึ้นปี 3 ตอนเรียนสถาปัตย์ เราได้ลงเรียนวิชา Intoduction to Law แล้วอาจารย์ได้ให้เราทำรายงานเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายไทย หรือตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายที่แปลก ๆ ในประเทศไทย ซึ่งช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่การเมืองไทยเดือด ๆ เลย (พ.ศ. 2563) เราเลยเลือกเรื่องรัฐธรรมนูญ 60 กับส.ว. 250 เสียงมา พอได้หาข้อมูลทำรายงาน เราก็ได้เข้าใจปัญหามากขึ้น เรารู้สึกเหมือนตัวเองกำลังถูกเอาเปรียบจากคนที่ออกกฎหมาย รัฐธรรมนูญ 60 มันเป็นกฎหมายที่โคตรไม่แฟร์กับประชาชนเลย ยิ่งผ่านมาหลายปียิ่งเห็นได้ชัดว่าส.ว. 250 เสียง มันสร้างความฉิบหายแค่ไหน จากนั้นเราก็เริ่มสนใจในประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับกฎหมายและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น พอได้อ่านไปเรื่อย ๆ เราเลยรู้สึกว่า ขนาดเรายังพึ่งรู้ว่าตัวเองกำลังถูกเอาเปรียบและลิดรอนสิทธิจากรัฐหลายเรื่องมาก ๆ แล้วจะมีคนไทยอีกกี่ล้านคนที่ไม่รู้

“จากจุดนั้น เราจึงสนใจเรื่อง ‘สื่อกับการเมือง’ มากขึ้น ประกอบกับภาวะหมดไฟในการเรียนสถาปัตย์ เราเลยดรอปเรียนแล้วมาสอบเข้านิเทศศาสตร์แทน เพราะหวังว่าตัวเองจะได้เอาความรู้และประสบการณ์ระหว่างเรียนไปใช้ทำสื่อในปัจจุบันและอนาคต”

และเมื่อถามว่าทำไมถึงเลือกใช้แมวเป็นสื่อหลักในภาพ เจี๋ยเจี๋ยก็ตอบว่า “ตอบตรง ๆ ก็คือมันวาดง่าย (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าแมวเป็นของเหลว เราสามารถวาดมันได้หลายท่าทางโดยไม่รู้สึกว่าประหลาด แต่ถ้าให้ตอบแบบเท่ ๆ คือ แมวเป็นสัตว์ที่เข้าถึงคนหลายกลุ่มมากกว่า เพราะการ์ตูนดัง ๆ หลายเรื่องก็ใช้แมว เช่น โดราเอมอน, การ์ฟิลด์, Tom & Jerry, Hello Kitty, Push In Boots ฯลฯ เราเลยน่าจะติดภาพตั้งแต่เด็กว่าแมวเป็นสัตว์ที่ทำได้ทุกอย่าง เดินสองขาหรือทำท่าทางแบบคนก็ได้

“นอกจากนี้แมวยังเป็นสัตว์ที่อึเป็นที่เป็นทาง แล้วมันก็จัดการกับอึของมันได้ แมวเป็นอิสระด้วยตัวมันเอง เราเคยเลี้ยงแมวแล้วน้องหายไปเพราะเราไม่ได้ซื้ออาหารแมวที่น้องชอบมาให้สองวัน น้องก็หายไปแล้วไม่กลับมาเลย เหมือนที่ผ่านมาไม่มีความหมาย (แอบเสียใจนะ เพราะหายไปวันที่เราซื้อมาง้อแบบเยอะมาก) จากนิสัยของแมวสองเรื่องนี้ เราคิดว่าถ้าแมวได้ครองเมืองและได้เป็นนายก มันคงสามารถดูแลและรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำลงไป แมวไม่ได้แบ่งพรรคพวก แมวไม่คอยมานั่งทวงบุญคุณหรือรำลึกบุญคุณ มีการตัดสินใจที่เด็ดขาด แต่ความเด็ดขาดนั้นก็มากับความรับผิดชอบต่อตนเองและไม่เดือดร้อนคนอื่น”

และสุดท้ายเมื่อถามว่า เธอมีความคาดหวังอย่างไรต่อผลงานของตัวเอง เจี๋ยเจี๋ยก็ตอบสรุปส่งท้ายว่า “ในช่วงแรก เราหวังว่าภาพของเราจะเป็นจุดหยุดพักสายตาให้คนบนโลกโซเชียลได้บ้าง แต่ในช่วงหลังที่เราเริ่มมาวาดภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง เพราะช่วงปีนี้มีคนถูกขังเกี่ยวกับคดีทางการเมืองเยอะมาก แต่กลับได้รับพื้นที่สื่อน้อยลง เราเลยอยากเอาภาพวาดของเราที่แฝงนัยยะต่าง ๆ เป็นหนึ่งในเสียงที่ช่วยตะโกนให้คนมาสนใจการเมืองมากขึ้น เรารู้สึกว่าภาพวาดของเรามันเป็น Political + Art Therapy มันทำให้เพื่อนเราที่ปกติไม่ค่อยแชร์อะไรเกี่ยวกับการเมืองเริ่มหันมาแชร์ภาพวาดของเราบ้าง และเราคิดว่าการทำแบบนี้ก็เป็นการช่วยกระจายข่าวสารในรูปแบบนึง ซึ่งนัยยะเหล่านี้ก็มีทั้งคนที่รู้ความหมายและไม่รู้ความหมาย แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยกระจายภาพเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นไปได้บ้าง”

ติดตามผลงานของ 29xart ได้ที่ 29xart