กล้านั่งไหม ถามใจเธอดู เมื่อศิลปินดังสร้างงานศิลปะในรูปแบบ ‘เก้าอี้’

Art
Post on 24 January

แม้เก้าอี้จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่เราเห็นจนชินตา จะอยู่บ้าน ทำงาน หรือไปดินเนอร์ก็ไม่วายต้องพึ่งพิงการรองรับน้ำหนักคลายเมื่อยของพวกมัน แต่อย่างไรก็ดี มันก็มีหลาย ๆ ครั้งที่เก้าอี้เหล่านี้ ไม่ได้ถูกออกแบบโดยนำฟังก์ชั่นการใช้งานตามหน้าที่รองรับน้ำหนักตัวของมนุษย์เป็นที่ตั้ง แต่กลับใช้มันในฐานะผลงานศิลปะรูปแบบหนึ่งแทน 

GroundControl ขอชวนทุกคนมาร่วมส่อง 7 เก้าอี้จากฝีมือ 7 ศิลปินดังที่ไม่เพียงมีรูปร่างแปลกตาเหนือจินตนาการ แต่ยังมีแนวคิดสุดล้ำที่จะมาเปลี่ยนนิยามของ ‘ศาสตร์แห่งการนั่ง’ ไปตลอดกาล ดูจบแล้วก็อย่าลืมกลับมาตอบเราด้วยนะ คุณจะกล้าหย่อนก้นนั่งลงบนผลงานศิลปะเหล่านี้หรือไม่?

Chair (II), 1963, Günther Uecker.

หลังจาก Günther Uecker ศิลปิน Op Art และศิลปะจัดวางชาวเยอรมันค้นพบศาสตร์แห่งการตอกตะปูในปี 1956 เขาก็นำมันมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะมาโดยตลอด ผลงานของเขามีตั้งแต่งานจิตรกรรมตะปูที่ใช้หลักการของแสงเงามาสร้างภาพลวงตาที่เคลื่อนไหวในสมอง ไปจนถึงผลงานศิลปะจัดวางจากวัตถุรอบตัวที่ล้วนถูกตอกตะปูจนพรุนกันทุกชิ้น

โดย Chair (II) ผลงานประติมากรรมชวนเสียวก้นนี้ ก็เป็นผลงานหนึ่งของซีรี่ส์ดังกล่าว ปัจจุบันผลงานชิ้นนี้ถูกจัดแสดงอยู่ที่ MoMA หรือ Museum of Modern Art ในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

Chair, 1969, by Allen Jones.

เห็นผลงานเก้าอี้ในรูปทรงหญิงสาวขนาดเท่าคนจริงนี้แล้วรู้สึกคุ้น ๆ กันบ้างไหม?

ใช่แล้ว Chair คือหนึ่งผลงานจากทั้งหมด 3 ชิ้นของซีรี่ส์ Hatstand, Table and Chair ผลงานประติมากรรมไฟเบอร์กลาสกึ่งเฟอร์นิเจอร์โดย Allen Jones ศิลปินป็อปอาร์ตชาวอังกฤษ ที่ต่อมากลายมาเป็นต้นแบบให้กับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์หญิงเปลือยใน Korova Milkbar จากภาพยนตร์เรื่อง A Clockwork Orange (1971) โดย Stanley Kubrick นั่นเอง

แต่ถึงจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับป็อปคัลเจอร์มากมาย แต่ความจริงแล้ว เมื่อคราวที่ผลงานซีรี่ส์นี้ถูกปล่อยออกมาจัดแสดงครั้งแรก มันก็ได้รับเสียงก่นด่าถึงการนำผู้หญิงมาใช้เป็นวัตถุทางเพศจากทั้งศิลปินหญิงและนักเคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมทางเพศจากทั่วสารทิศ โดยปัจจุบันผลงานชิ้นนี้ถูกจัดแสดงอยู่ที่ Tate Gallery กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

Mae West Lips Sofa, 1937-1938 (designed), 1938 (made), by Salvador Dalí.

ครั้งหนึ่งมาสเตอร์แห่งลัทธิ Surrealism อย่าง Salvador Dalí เองก็เคยทำงานประติมากรรมกึ่งเฟอร์นิเจอร์กับเขาเหมือนกัน โดยครั้งนี้ เขาออกแบบโซฟาที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจากริมฝีปากอันอวบอิ่มของ Mae West ดาราสาวชื่อดังในขณะนั้นจากการว่าจ้างของมหาเศรษฐี Edward James อย่างไรก็ดี ตัว Dalí เองกลับไม่เคยตั้งใจให้ผลงานชิ้นนี้มีฟังก์ชั่นตอบสนองการใช้งานจริง แต่กลับมองมันเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะเหนือจินตนาการที่ใช้แทนส่วนต่าง ๆ ของใบหน้ามากกว่า

โดยภายหลัง ในปี 1973 โซฟาตัวนี้ก็ถูกนำมาผลิตใหม่โดยบริษัท Bocaccio Design หรือที่ต่อมารู้จักกันดีในชื่อ BD Barcelona Design กำเนิดเป็นเทรนด์การแต่งบ้านสุดชิคของเหล่าป็อปไอค่อนมากหน้าหลายตา ส่วนผลงานชิ้นต้นแบบก็ถูกกระจายจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ชื่อดังทั่วโลก

TV Chair, 1968, by Nam June Paik.

ในผลงาน TV Chair ศิลปินชั้นครูจากประเทศเกาหลีใต้อย่าง Nam June Paik ยังคงสานต่อลายเซ็นอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาด้วยการผสมผสานสื่อสมัยใหม่เข้ากับงานวิดีโออาร์ต โดยในครั้งนี้ เขานำจอโทรทัศน์มาติดตั้งที่บริเวณด้านล่างของเก้าอี้โครงสร้างโปร่งใส อีกทั้งยังนำกล้อง CCTV ไปติดตั้งจากมุมสูง และถ่ายทอดสดภาพวิดีโอจากมุมมองดังกล่าวมาสู่ที่จอโทรทัศน์ด้านล่าง

ความย้อนแย้งอยู่ที่ หากเรากำลังนั่งอยู่ที่เก้าอี้ตัวนี้ เราก็จะไม่สามารถมองเห็นภาพจากจอโทรทัศน์ด้านล่างได้ แต่หากเราลุกขึ้นมาดู ก็จะไม่ได้เห็นภาพจากมุมมองเดิมอีกต่อไป โดยปัจจุบันผลงานไอเดียแหวกชิ้นนี้ถูกจัดแสดงอยู่ที่ SF MoMA หรือ Museum of Modern Art San Francisco ในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

Chair, 1961, by Pablo Picasso.

ถึงแม้เราจะคุ้นชินกับ Pablo Picasso ในฐานะจิตรกรชื่อก้องโลกผู้อยู่เบื้องหลังผลงานจิตรกรรมระดับมาสเตอร์พีซหลายต่อหลายชิ้น แต่ความจริงแล้ว เขาเองก็เคยสร้างผลงานสามมิติกับเขาบ้างเหมือนกัน

โดยในผลงาน Chair นี้ เขาเริ่มต้นสเกตช์ในกระดาษตามปกติ แล้วจึงค่อย ๆ นำมันมาตัดและพับเป็นผลงานชิ้นต้นแบบด้วยวิธีการที่ไม่ต่างจากการสร้างสรรค์งานโอริกามิของญี่ปุ่น ทำให้เจ้าเก้าอี้รูปทรงแปลกตานี้มีลักษณะเป็นการสร้างรูปทรงสามมิติจากระนาบแบนราบของแผ่นสองมิติ และยังคงเก็บความเป็นเหลี่ยมเป็นมุมตามแบบ Cubism อันเป็นมุมจุดเด่นของเขาไว้ได้อย่างครบถ้วนนั่นเอง ที่ฮาก็คือ แม้แต่ตัว Picasso เองก็ยังเคยพูดแซวผลงานตัวเองว่า เก้าอี้ตัวนี้ดูเหมือนกับโดนรถบดถนนชนจนยับยู่ยี่ยังไงยังงั้น

Fat Chair, 1964–85, by Joseph Beuys.

เจ้าก้อนสามเหลี่ยมสีเหลืองที่เห็นบนเก้าอี้ไม้นั่นไม่ใช่ชีสเลิศรส แต่เป็นก้อนไขมันที่ Joseph Beuys ศิลปินและนักคิดชาวเยอรมันผู้ทรงอิทธิพลของโลกศิลปะร่วมสมัยนำมาใช้เพื่อเป็นภาพตัวแทนของมนุษย์

ไขมันเป็นวัสดุที่น่าค้นหา เมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมจะแข็งตัวเป็นรูป แต่เมื่อได้รับความร้อนจะละลายกลายเป็นของเหลว ณ วันแรกเมื่อสร้างสรรค์ ผลงานชิ้นนี้อาจจะดูสมบูรณ์ดี แต่ยิ่งวันเวลาผ่านไป มันก็จะค่อย ๆ ย่อยสลายตัวเองไปเรื่อย ๆ จนแทบไม่เหลืออะไร (แม้จะถูกจัดเก็บในตู้กระจกรักษาอุณหภูมิอย่างดีก็ตาม) โดยปัจจุบันผลงานชิ้นนี้ถูกจัดแสดงอยู่ที่ Tate Gallery กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

Accumulation No. 1, 1962, by Yayoi Kusama.

คุณป้าลายจุด Yayoi Kusama เริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานในซีรี่ส์ Accumulation มาตั้งแต่ช่วงต้นยุค 1960s โดยหยิบเอาวัตถุ Found Object ที่เธอพบเจอตามท้องถนนของมหานครนิวยอร์คมาใช้ในการทำผลงานศิลปะสุดล้ำชุดนี้ ซึ่งวัตถุที่ว่าก็มีตั้งแต่รองเท้าคู่เล็ก ๆ ไปจนถึงเก้าอี้และโซฟาขนาดใหญ่

โดยรูปทรงยาวคล้ายองคชาติของเพศชายที่ยื่นออกมาจากวัตถุเหล่านี้ แท้จริงแล้วมีลักษณะอ่อนนุ่มจากเทคนิคการเย็บยัดไส้ผ้า ไม่ใช่ปูนปั้นอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจผิด โดยปัจจุบันผลงานชิ้นนี้ถูกจัดแสดงอยู่ที่ MoMA หรือ Museum of Modern Art ในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

อ้างอิง: moma.org, tate.org.uk, A CHAIR IN ART?, Design Exercise: Altered Chairs