เบื้องหลัง 4 ช็อตลอบสังหารในประวัติศาสตร์ เสี้ยววินาทีแห่งการเมืองและชีวิตที่สะท้อนพลังของภาพถ่าย

Post on 6 November

ในเหตุการณ์ลอบสังหาร ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภาพถ่ายของ ‘อีวาน วุชชี่’ จากสำนักข่าวเอพีได้จารึกวินาทีแห่งประวัติศาสตร์การเมืองและภาพถ่ายเอาไว้ได้ภาพถ่ายหนึ่งภาพกับการจัดองค์ประกอบที่ลงตัวและแฝงไปด้วยความประณีต สะท้อนถึงการประครองสติและความมืออาชีพของวุชชี่ ท่ามกลางสถานการณ์อันตรายถึงชีวิต ความสมบูรณ์แบบทั้งในแง่ของความงามและเหตุการณ์เบื้องหลังภาพนั้นมันยิ่งทำให้เหตุการณ์ในครั้งนี้มีพลังมากยิ่งขึ้น เป็นอีกครั้งที่ทำภาพถ่ายได้พิสูจน์ว่ามันยังคงทรงพลังแม้ในวันที่เรามีเอไอที่สร้างภาพได้ ‘เหมือนภาพถ่าย’ ก็ตาม

“ผมหันไปทางซ้ายและได้ยินเสียงปัง ๆ หลายครั้ง ผมรู้ทันทีว่าเป็นเสียงปืน” วุชชี่เล่าเกี่ยวกับเหตุลอบสังหารในวันเสาร์ “ตอนนั้นผมจับกล้องเล็งไปที่เวที และเห็นเจ้าหน้าที่หน่วยอารักขากำลังบังตัวทรัมป์ ผมเลยรีบเข้าสู่โหมดทำงานโดยอัตโนมัติ และตั้งหน้าตั้งตาถ่ายภาพ”

ขณะที่ผู้คนในงานต่างพากันหาที่หลบ วุชชี่และช่างภาพคนอื่น ๆ กลับเร่งมือทำหน้าที่ของตน

“มันคือสัญชาตญาณจริง ๆ” วุชชี่ซึ่งเป็นหัวหน้าช่างภาพวอชิงตันของ AP กล่าว “ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอะไรเลย นอกจากว่า ‘ผมต้องได้ภาพนี้’ เพราะมันเป็นสัญชาตญาณของช่างภาพ ที่จะรู้ว่าภาพนี้ต้องถ่ายให้ทันเพราะไม่มีโอกาสครั้งที่สอง”

วุชชี่ยืนอยู่ในบริเวณหน้าเวทีพอดีตอนเสียงปืนดังขึ้น เขาบอกว่าความคิดแรกไม่ได้อยู่ที่ความปลอดภัยของตัวเอง แต่คือการบันทึกภาพประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าเขา

“ผมพยายามหามุมที่ดีที่สุดเพื่อเห็นทรัมป์ชัด ๆ” เขากล่าว “จากนั้นก็เริ่มคิดว่า ‘โอเค เขาจะออกจากที่นี่ยังไง เขาจะไปทางไหน?’ แล้วเขาก็ลุกขึ้น ผมจึงรีบวิ่งไปที่อีกฝั่งของเวทีเพื่อถ่ายภาพ” ซึ่งความพยายามของวุชชี่ก็คุ้มค่า เพราะช็อตภาพถ่ายของเขาได้รับการกล่าวขานจากสื่อและช่างภาพหลายสำนักว่าเป็นหนึ่งในภาพถ่ายที่ทรงพลังที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์อเมริกัน

แต่ถ้าพูดถึงภาพถ่ายภาพแรก ๆ ที่สามารถบันทึกช่วงเวลาของ ‘ความเป็นและความตาย’ ไว้ได้ก็คือ ‘The Falling Soldier (1936)’ หนึ่งในภาพแทนความรุนแรงของสงครามที่เป็นที่จดจำมากที่สุด ถ่ายโดยช่างภาพสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ‘โรเบิร์ต คาปา’ ร่างของทหารชาวสเปนที่ถูกยิงจากฝ่ายตรงข้ามจนมือที่ถือปืนเหวี่ยงออกไปเพราะแรงกระสุนและในจังหวะปะทะของกระสุนก็คือจังหวะเดียวกันกับที่นิ้วของคาปาได้กดชัตเตอร์ นับตั้งแต่ที่โลกของเรามีสงครามและความรุนแรงที่พรากชีวิตของผู้คนไปเป็นจำนวนมาก เมื่อภาพนี้ถูกเผยแพร่ออกไป มันทำให้ผู้ชมมากมายรู้สึกกระอักกระอ่วนที่ได้เห็นความตายอยู่เบื้องหน้า กลายเป็นภาพสะท้อนความเป็นจริงอันแสนโหดร้าย มีการตั้งคำถามถึงจริยธรรมของช่างภาพสงคราม เกิดเป็นความซับซ้อนและความท้าทายในการนำเสนอความรุนแรง และที่สำคัญมันยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ทว่า ‘การลอบสังหาร’ ถูกยึดโยงกับสื่อและการเมืองมากกว่านั้นและหากจะบอกว่ามันไม่สามารถแยกออกจากกันได้ก็ไม่ผิดนัก การคร่าชีวิตเพราะความขัดแย้งทางการเมือง คุกรุ่นด้วยแรงขับเคลื่อนจากแนวคิดที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว การลอบสังหารมักเกิดขึ้นในระหว่างที่เป้าหมายอยู่ในความสนใจโดยเฉพาะการถ่ายทอดสด เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญญะและบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง มีเพียงไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์ที่ภาพถ่ายสามารถบันทึกเสี้ยววินาทีก่อน-หลังการลอบสังหารเอาไว้ได้ แต่เมื่อมันสามารถทำได้ มันได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลและในกรณีลอบสังหารทรัมป์ก็เช่นเดียวกัน ทันทีที่ภาพนี้ถูกเผยแพร่ออกไป มันก็กลายเป็นสัญญะทางการเมืองที่ทรงพลังมากถึงขั้นที่เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 2

จากคาปาสู่วุชชี่ มันได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่าภาพถ่ายยังคงเป็นสื่อที่มีอิทธิพลอย่างมหศาล และเพื่อให้เราได้เห็นความสำคัญของภาพถ่ายในการเมืองมากขึ้น ขอแนะนำ 4 เรื่องราวเบื้องหลังภาพถ่ายการลอบสังหารครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์

การลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี (1963)

เหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดี ‘จอห์น เอฟ. เคนเนดี’ (John F. Kennedy) ประธานาธิบดีคนที่ 35 แห่งสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นในช่วงเที่ยงวันของศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 1963 ระหว่างการหาเสียงการเลือกตั้งสมัยถัดไปในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส การยิงเกิดขึ้นทั้งหมดสามครั้งด้วยกัน ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อสหรัฐอเมริกา มันได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะด้านสื่อสารมวลชน เพราะนอกจากจะเป็นเหตุการณ์ที่มีการถ่ายทอดสดให้ผู้ชมนับล้านคนแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาหลังจากยุคทองของภาพข่าว-สารคดี ภาพถ่ายจึงเป็นสื่อที่มีอิทธิพลและความสำคัญอย่างมากในช่วงเวลานั้น มีช่างภาพมากมายได้บันทึกเหตุการณ์ในครั้งนี้เอาไว้ไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพหรือมือสมัครเล่น แต่ภาพถ่ายที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดและสามารถบันทึกในช่วงเวลาสำคัญที่สุดมีอยู่ด้วยกันถึง 3 คน คือ ‘เจมส์ อัลท์เกนส์’ (James Altgens), ‘จัสติน นิวแมน’ (Justin Newman) และ ‘แมรี่ แอน มัวร์แมน’ (Mary Ann Moorman)

ภาพโดย เจมส์ อัลท์เกนส์

ภาพโดย เจมส์ อัลท์เกนส์

สำหรับอัลท์เกนส์ เขาสามารถบันทึกภาพในจังหวะสำคัญ ๆ ไว้ได้หลายภาพ อย่างเช่นจังหวะกระสุนนัดแรกที่ถูกบริเวณคอของเคนเนดี (ภาพที่ 1) เป็นภาพจากมุมด้านหน้าของขบวนและมีฉากหลังเป็นอาคารที่เป็นจุดสุ่มยิงของมือปืน ภาพนี้หากมองผ่านกระจกหน้าของรถลีมูซีนเข้าไป เราจะเห็นเคนเนดีที่กำลังยกมือขึ้นและมี ‘แจ็กเกอลีน เคนเนดี โอนาสซิส’ (Jacqueline Kennedy Onassis) สตรีหมายเลขหนึ่งจับแขนเขาเอาไว้พยายามให้การช่วยเหลือ ในภาพถ่ายภาพนี้มีรายละเอียดน่าสนใจหลายจุด ทั้งสายตาของเจ้าหน้าที่อารักขาที่บางคนมองมายังเคนเนดีและบางคนที่หันกลับไปยังที่มาของเสียงปืน ผู้คนในฝูงชนบางคนที่หันมองไปยังตัวอาคาร ขณะที่บางคนก็ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น นอกจากนี้อัลท์เกนส์ยังสามารถบันทึกช่วงเวลาสำคัญได้อีกหนึ่งภาพ นั่นคือจังหวะที่โอนาสซิสกำลังกลับเข้าที่นั่งหลังจากเอื้อมมือไปเก็บเศษกะโหลกของสามีของเธอที่กระเด็นออกมา

ภาพโดย จัสติน นิวแมน

ภาพโดย จัสติน นิวแมน

ทางด้านของนิวแมน เขาได้บันทึกภาพหน่วยอารักขาประธานาธิบดีขณะกำลังกระโดดขึ้นรถลีมูซีนของเคนเนดีหลังการยิงนัดที่สองและในภาพเราจะเห็นโอนาซิสที่กำลังโน้มตัวไปประคองสามีของเธอ (ภาพที่ 3) ซึ่งภาพของนิวแมนเป็นมุมที่ใกล้กับเกิดเหตุมาก ๆ และน่าจะเป็นภาพถ่ายในจังหวะที่เคนเนดีถูกยิงที่ใกล้ที่สุด มีรายละเอียดมากที่สุดภาพหนึ่ง ทั้งอัลท์เกนส์และนิวแมนต่างก็เป็นช่างภาพมืออาชีพจากสำนักข่าวเอพี ในขณที่มัวร์แมนนั้น เธอเป็นเพียงแค่แม่บ้านที่ตั้งใจมาถ่ายภาพเคนเนดีกลับไปให้กับลูกชายของเธอ แต่ภาพที่เธอถ่ายได้นั้นกลับเป็นภาพที่บันทึกจังหวะสำคัญไม่น้อยไปกว่าภาพถ่ายของสำนักข่าวเลย

ภาพโดย แมรี่ แอน มัวร์แมน

ภาพโดย แมรี่ แอน มัวร์แมน

มัวร์แมนถ่ายภาพเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยกล้องโพราลอยด์ โดยจังหวะที่เธอบันทึกได้ว่ากันว่าห่างจากจังหวะหลังจากที่เคนเนดีถูกยิงเข้าที่ศีรษะในนัดที่สองเพียงเศษเสี้ยววินาทีเท่านั้น (ภาพที่ 2) ในภาพจะเห็นร่างของเคนเนดีที่กำลังโน้มมาทางภรรยาของเขา ซึ่งเป็นภาพที่มีความสำคัญมากสำหรับเหตุการณ์แห่งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ นอกจากนั้นภาพถ่ายของมัวร์แมนยังถูกใช้เป็นหนึ่งในหลักฐานของทฤษฏีสมคบคิดที่เรียกว่า ‘แบดเจอร์แมน’ บุคคลที่คาดว่าจะเป็นมือปืนยิงเคนเนดี ในช่วงก่อนที่จะมีการสรุปคดีได้ โดยภาพถ่ายของมัวร์แมนภาพนี้สามารถบันทึกสิ่งที่ดูเหมือนแสงที่ปากกระบอกปืน แต่ในภายหลังก็มีการยืนยันว่า บุคคลดังกล่าวคือเจ้าหน้าที่ในชุดตำรวจและแสงที่ปากกระบอกปืนอาจเป็นเพียงแสงสะท้อนจากเครื่องหมายบนหน้าอกเท่านั้น

การลอบสังหารเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำตุรกี อังเดร คาร์ลอฟ (2016)

เป็นเหตุการณ์ที่อุกอาจจนหลายคนเรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่าเป็นการ ‘ฆาตกรรม’ ซะมากกว่า 19 ธันวาคม 2016 ‘อังเดร คาร์ลอฟ’ (Andrei Karlov) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำตุรกีถูกยิงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตุรกี ‘เมฟลุต เมิร์ต อัลตินทาส’ (Mevlut Mert Altintas) ระหว่างพิธีเปิดนิทรรศการ ‘รัสเซียจากมุมมองของชาวเติร์ก’ (Russia as seen by Turks) ในเมืองอังการา ซึ่งก่อนที่อัลตินทาสจะก่อเหตุ มีภาพถ่ายบางภาพที่เห็นว่าเขากำลังยืนรักษาความปลอดภัยอยู่ที่บริเวณด้านหลังของคาร์ลอฟ แสดงถึงความตั้งใจในการก่อเหตุครั้งนี้

ภาพดังกล่าวถ่ายโดย ‘บูร์ฮาน ออซบิลิซี่’ (Burhan Ozbilici) จากสำนักข่าวเอพี ซึ่งเดิมทีเขาเป็นเพียงแค่ช่างภาพที่เดินทางไปเก็บภาพสิ่งที่น่าสนใจที่เหมาะจะมารายงาน ข่าวด่วนสำคัญ หรืออีเวนต์ต่าง ๆ แต่ทว่าในวันนั้นซึ่งเป็นงานเปิดนิทรรศการศิลปะ แต่เขากลับได้ภาพที่ทรงพลังและโดดเด่นที่สุดในรอบทศวรรษของแวดวงภาพข่าว ภาพร่างของคาร์ลอฟที่นอนแน่นิ่งอยู่บนพื้น ในขณะที่อัลตินทาสได้ออกมายืนข้าง ๆ มือขวาถือปืนและท่าทางที่กำลังตะโกนเพื่อบางอย่างอยู่ ซึ่งตัวของออซบิลิซี่และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ได้เล่าให้ฟังว่าอัลตินทาสได้ตะโกนเป็นภาษาอาราบิกและรัสเซีย พูดถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรียและอเลปโป

ภาพนี้ได้รับรางวัลรางวัลเวิลด์เพลสโฟโต้ประจำปี 2017 สะท้อนถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและตุรกี ‘สจวร์ต แฟรงคลิน’ (Stuart Franklin) ประธานคณะกรรมการเวิลด์เพลสโฟโต้ได้ยกย่องถึงความกล้าหาญและการตั้งสติของออซบิลิซี่ ที่สามารถบันทึกภาพถ่ายนี้มาได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่แสนจะตึงเครียดนี้

เหตุการณ์สังหาร อิเนจิโร อาซานูมะ ผู้นำพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น (1960)

วันที่ 12 ตุลาคม 1960 ‘อิเนจิโร อาซานูมะ’ (Asanuma Inejirō) ผู้นำพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น นักการเมืองฝ่ายซ้ายญี่ปุ่นคนสำคัญได้ถูก (ลอบ) สังหารโดย ‘โอโตยะ ยามากุจิ’ (Otoya Yamaguchi) จากสมาคมคนรักชาติแห่งมหาประเทศญี่ปุ่นด้วยดาบสั้นในระหว่างการกล่าวปราศรัยที่หอประชุมสาธารณะฮิบิยะในโตเกียว ซึ่งอาซานูมะเสียชีวิตในวันเดียวกันเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว

ภาพถ่ายภาพนี้ถ่ายโดย ‘ยาซูชิ นากาโอะ’ (Yasushi Nagao) ซึ่งเป็นเสี้ยววินาทีที่ยามากุจิกำลังง้างดาบสั้นก่อนจะแทงอาซามูนะในจังหวะที่สอง นากาโอะใช้กล้อง ‘สปีดกราฟิก’ ขนาด 4x5 ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ช่างภาพข่าวทั่วโลกอาทิ วีจี (Weegee), โดโรเธีย แลงจ์ (Dorothea Lange), กอร์ดอน ปาร์คส์ (Gordon Parks) กล้องตัวนี้เป็นกล้องขนาดใหญ่ และการโอเปอร์เรตที่ไม่ได้รวดเร็วนัก แต่จังหวะที่นากาโอะบันทึกมาได้ มันแสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจที่เด็ดขาดของเขาในการเลือกจังหวะสำคัญ ภาพนี้ได้รับรางวัลรางวัลเวิลด์เพลสโฟโต้และพูลิตเชอร์ในปี 1961 สะท้อนบรรยากาศการเมืองของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกที่มีการแบ่งขั้วทางการเมืองและตึงเครียดอย่างสุดขั้ว สร้างความตกตะลึงให้แก่คนญี่ปุ่นทั่วประเทศ

การสังหารครั้งนี้ส่งผลให้พรรคสังคมนิยมญี่ปุ่นอ่อนแอลงอยากหนัก ก่อให้เกิดการเลียนแบบอาชญากรรมตามมามากมาย ทั้งยังสร้างความสนใจในระดับนานาชาติ ทำให้หลายประเทศหันมาให้ความสนใจสถานการณ์ทางการเมืองของญี่ปุ่น เป็นอีกครั้งที่ภาพถ่ายของนากาโอะได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของภาพข่าวในการสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง

ความพยายามในการลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ (2024)

ระหว่างการหาเสียงของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) ที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนียเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพียงไม่กี่นาทีหลังจากที่ทรัมป์เริ่มการปราศรัย กระสุนได้วิ่งผ่านบริเวณปลายใบหูขวาของทรัมป์ ซึ่งมีคลิปวิดีโอเปิดเผยในภายหลังว่าหากจังหวะนั้นทรัมป์ไม่ได้เอียงศีรษะเพื่อหันไปมองจอ กระสุนอาจจะเข้าที่บริเวณศีรษะของทรัมป์ได้เลย และในเหตุการณ์นี้ภาพที่ถูกพูดถึงมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นภาพถ่ายของ ‘อีวาน วุชชี่’ (Evan Vucci, ภาพที่ 1) ที่คาดว่าจะเป็นตัวเต็งรางวัลภาพข่าวแห่งปีอย่างไม่มีเสียงคัดค้าน

ปกติแล้วทีมงานของทรัมป์จะให้เวลาช่างภาพราว 5 นาทีหลังจากเริ่มการปราศรัยในการถ่ายภาพใกล้ ๆ บริเวณเวที เนื่องจากการยิงเกิดขึ้นแทบจะทันทีหลังจากการเริ่มต้นปราศรัย ทำให้ช่างภาพหลายคนยังคงอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุมาก ๆ วินาทีที่ทรัมป์ก้มลงกับพื้น เจ้าหน้าที่อารักขาได้เข้าปกป้องทรัมป์เอาไว้ สัญชาตญาณของช่างภาพทุกคนได้ตื่นขึ้น มีหลายคนที่แม้จะรู้ตัวแล้วว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายมากแค่ไหน แต่ก็ยังพยายามที่จะหามุมที่ดีที่สุดให้จนได้ ตัวของวุชชี่เองภายหลังเขาให้สัมภาษณ์ว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังเข้าโอบตัวทรัมป์อยู่นั้น เขาคิดถึงวินาทีถัดไปทันที ด้วยประสบการณ์การของการเป็นหัวหน้าช่างภาพของสำนักข่าวเอพีในกรุงวอชิงตันดีซีและเคยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งในอิรักและอัฟกานิสถานมาก่อน เขารู้ดีว่าเจ้าหน้าที่จะต้องพาตัวทรัมป์ออกจากเวทีจากอีกมุมหนึ่งของทางขึ้นแน่ ๆ จังหวะนั้นวุชชี่ได้เดินอ้อมมารอทางด้านขวา แต่ก่อนที่ทรัมป์จะลงจากเวทีปราศรัย เขาได้ชูมือขึ้นและตะโกนว่า ‘สู้ สู้ สู้’ (Fight, fight, fight) ในตอนนั้นเองที่วุชชี่ได้ช็อตแห่งประวัติศาสตร์

การเลือกมุมเสยที่ทำให้พื้นหลังของภาพมีความคลีนช่วยขับความโดดเด่นของซับเจคออกมา ท่าทาของคนในภาพที่ราวกับถูกจัดวางเอาไว้ในเฟรมได้อย่างลงตัว สีหน้าที่มั่นใจของทรัมป์แสดงถึงความมุ่งมั่น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ภายใต้สถานการณ์ที่เชื่อว่าน้อยคนจะสามารถประคองสติและจัดองค์ประกอบภาพให้มีความสวยงามได้

หรืออย่างภาพวินาทีที่กระสุนทะลุปลายหูของทรัมป์ถ่ายโดย ‘ดั๊ก มิลส์’ (Doug Mills) ที่แม้แต่เจ้าตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าเขาสามารถบันทึกภาพนี้มาได้ มิลส์ถ่ายภาพรัวต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ซึ่งเรียกว่าเป็นปกติของช่างภาพสายข่าว ที่มักจะถ่ายภาพจำนวนมากและเลือกโมเมนต์ที่ ‘ใช่’ ที่สุด โดยกล้องของเขาสามารถบันทึกได้ 30 เฟรมต่อวินาที กับความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/8,000 วินาที ทำให้กล้องถ่ายภาพ ‘หยุด’ การเคลื่อนที่ที่มีความเร็วระดับเหนือเสียงของกระสุนเอาไว้ ถึงภาพนี้จะไม่ได้มีองค์ประกอบที่ลงตัว มีสัญญะและความหมาย หรือทรงพลังเท่ากับภาพถ่ายของวุชชี่ แต่ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งภาพสำคัญจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แสดงถึงพลังของภาพถ่ายและการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ทำให้ช่างภาพสามารถถ่ายทอดงานที่ทั้งมีความสวยงามและไม่พลาดในจังหวะสำคัญ

อ้างอิง

euronews
edition
bbc
theguardian