เชื่อว่าอาทิตยนี้คงเป็นอาทิตย์ที่คึกคักสุด ๆ ของโลกศิลปะ เพราะเป็นช่วงเวลาแห่ง ‘Bangkok Art Biennale 2024’ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่กลับมาหาพวกเราเป็นประจำทุก ๆ สองปี ซึ่งในปีนี้พวกเขาก็มาในคอนเซปต์ ‘รักษา กายา’ (Nurture Gaia) ที่ได้แรงบันดาลใจมากจาก ‘ไกอา’ เทวีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในเทพปกรณัมกรีก ซึ่งทางทีมคิวเรเตอร์เขาก็ได้ดึงเอาแก่นของเรื่องนี้มาใช้ในการตีความเรื่องความเป็นหญิง การเมืองเชิงนิเวศ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี วิญญาณนิยม และสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ
ซึ่งหลังจากที่ GroundControl ได้ไปชมงานมาแล้วในสี่พื้นที่จัดแสดงจาก 11 พื้นที่ อย่าง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, หอศิลป์เจ้าฟ้า และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พวกเราก็ได้เก็บเกี่ยวเอางานที่ชอบมารวมเป็นไฮไลต์ให้ทุกคนได้องตามไปดูกันยาว ๆ ถึง 10 ชิ้น ที่จะแสดงให้เห็นถึงภาพรวมความเป็น ‘Bangkok Art Biennale 2024’ ได้อย่างหลากหลาย
ถ้าพร้อมแล้ว ก็ตามเรามาได้เลยยย!
Still Life
โดย เอล์มกรีน & แดรกเซท
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เอล์มกรีน & แดรกเซท (Elmgreen & Dragset) ศิลปินคู่สุดโด่งดังที่ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 1995 ในฐานะผู้สร้างงานศิลปะ การออกแบบ และสถาปัตยกรรม ที่สะท้อนเรื่องราวทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม โดยมักจะตั้งคำถามต่อความหมายของพื้นที่สาธารณะและเอกชน และบทบาทของศิลปะในสังคม โดยเฉพาะงานแบบ denial works หรืองานอินเทอร์แอคทีฟอาร์ตที่อินเทอร์แอคทีฟตรง ๆ ไม่ได้ เช่น ‘Prada Marfa’ ร้าน Prada ปลอมที่ตั้งอยู่กลางทะเลทรายในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เพื่อสะท้อนถึงวัฒนธรรมบริโภคนิยม และความไร้ความหมายของการสะสมแบรนด์แฟชั่น ซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่สองแล้วที่พวกเขาได้เข้าร่วมกับเทศกาล Bangkok Art Biennale
สำหรับผลงาน Still Life (2023) พวกเขาก็กลับมาในคอนเซปต์ denial works เพราะเป็นงานศิลปะจัดวางที่มาในรูปแบบอินเทอร์แอคทีฟอาร์ตเล่นกับใจ และแม้จะขึ้นชื่อว่าชวนให้เราเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ได้ แต่เรากลับทำอะไรไม่ได้เลย โดยงานชิ้นนี้จะตั้งอยู่ภายในห้องมืด ๆ ชวนให้รู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว และมีแค่ตัวเรา และเมื่อมองไปยังพื้นที่ตรงกลาง ก็จะได้พบกับชิ้นงานที่มีลักษณะเป็นประติมากรรมรูปมือเด็กกำลังถือนกกระจอก (สัตว์สตัฟฟ์) ที่ติดตั้งอุปกรณ์บางอย่างไว้ภายใน ทำให้ดูเหมือนนกตัวนี้กำลังบาดเจ็บหนัก และหายใจรวยริน ราวกับกำลังเรียกร้องให้เราเข้าไปช่วยเหลือมัน แต่ในท้ายที่สุดผู้ชมก็ทำได้เพียงจ้องมองเท่านั้น งานชิ้นนี้จึงถือเป็นหนึ่งในงานที่ชวนหน่วงใจ ไปพร้อม ๆ กับทึ่งในผลลัพธ์ทางอารมณ์ที่งานสามารถส่งผ่านมาถึงเราได้อย่างชัดเจนแบบไม่ต้องอธิบาย
Project Pleiades
โดย แอกเนส อาเรลลาโน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือ หอศิลป์เจ้าฟ้า
แอกเนส อาเรลลาโน (Agnes Arellano) คือศิลปินร่วมสมัยจากฟิลิปปินส์ ผู้ชื่นชอบการสำรวจลงไปในเรื่องเพศ ศาสนา ความตาย และปรัชญา ผ่านประติมากรรมที่แสดงออกถึงร่างกายมนุษย์และสัญลักษณ์ที่มีความหมายเชิงจิตวิญญาณ โดยมักใช้รูปร่างของมนุษย์เป็นตัวแทนในการสำรวจความหมายเหล่านั้น
สำหรับผลงาน Project Pleiades (2024) คือผลงานที่เธอได้ตีความคอนเซปต์ ‘รักษา กายา (Nature Gaia)’ ผ่านการนำเสนอภาพเทพีสี่องค์ที่เหมือนคล้ายแต่ก็ไม่คุ้นเคย เพราะเธอได้สร้างผลงานเหล่านั้นขึ้นมาใหม่จากเทวตำนาน ศาสนาต่าง ๆ ทั่วโลก หลักฐานทางโบราณคดี ศิลปะแนวเหนือจริง และนิยายวิทยาศาสตร์ โดยนำมาจัดแสดงเป็นศิลปะจัดวางที่เชื่อมโยงพลังของเทพีและจักรวาลผ่านประติมากรรมเทพีทั้งสี่ในพื้นที่มืด พร้อมเสียงดนตรีประกอบ
ผลงานชุดนี้ได้แสดงถึงพลังและธรรมชาติหลายด้านของเทพีจากวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น อินันนา กาลี เไอซิส ฑากิณี และ Black Magdalene ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของเลดี้ แมคดาเลน หญิงสาวที่มักมีข่าวลือว่าเป็นภรรยาของพระเยซู (ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้) โดยทั้งหมดถูกเชื่อมโยงกับสัญลักษณ์สตรีเพศ และแนวคิดเรื่องพลังของผู้หญิงในศาสนาและวัฒนธรรมต่าง ๆ พร้อมนำเสนอทั้งความแข็งแกร่งและความลึกลับของพลังสตรีที่เป็นเอกลักษณ์
สีทันดรสันดาป
นักรบ มูลมานัส
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
นักรบ มูลมานัส (Nakrob Moonmanas) เป็นศิลปินชาวไทยที่มีชื่อเสียงจากการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบคอลลาจที่ผสมผสานภาพประวัติศาสตร์ สัญลักษณ์ และองค์ประกอบจากศิลปะและวัฒนธรรมอื่น ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อนำเสนอเรื่องเล่าในหลายมิติ ทั้งในด้านการเมือง วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ผ่านการจัดวางภาพที่มีความซับซ้อนและสร้างสรรค์ในมุมมองที่ไม่เหมือนใคร
สีทันดรสันดาป (2024) เป็นงานศิลปะจัดวางที่นักรบได้ผสานประวัติศาสตร์วังหน้าของสยามเข้ากับประเด็นร่วมสมัยอย่างวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุค Anthropocene ผ่านการนำประติมากรรมปลา โบราณวัตถุ และสื่อผสมมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงความเชื่อเกี่ยวกับจุดสิ้นสุดของโลกตามคติไตรภูมิ มาผสานกับการทำลายล้างที่มนุษย์ก่อขึ้นบนโลกใบนี้ งานชิ้นนี้ไม่ได้เพียงเชิญชวนให้ผู้ชมทบทวนถึงอดีต แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเป็นไปได้ของอนาคตที่ยังไม่แน่นอน งานชิ้นนี้ได้จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
Amamata the First Mom
บู้ซือ อาจอ
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
บู้ซือ อาจอ ศิลปินไทย เชื้อสายอาข่า เธอสนใจในการทำงานศิลปะที่นำเสนอเรื่องราวของประวัติศาสตร์ชาวอาข่า เพื่อบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นเอาไว้ โดยเธอกังวลว่าองค์ความรู้ที่ส่งผ่านกันแบบมุขปาฐะเพียงอย่างเดียวของชาวอาข่า อาจทำให้เรื่องราวของชาวอาข่าสูญหายไป ทำให้เธอนำแนวคิดการบันทึกเรื่องราวแบบตะวันตกมาจับเข้ากับวัฒนธรรมความเป็นอาข่า และสานต่อใหม่ด้วยการใช้ศิลปะที่เรียนรู้ด้วยตัวเองเข้ามาช่วยเล่าเรื่อง
Amamata the First Mom (2023) คืองานที่เล่าเรื่องความเป็นหญิงผ่านตำนาน ‘Amamata’ ของชาวอาข่า ผู้เชื่อกันว่าเธอคือมารดาคนแรกที่ถูกยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งภาวะเจริญพันธุ์ การให้กำเนิด และการปกป้องผู้หญิง โดยทำออกมาในรูปแบบงานจิตรกรรม จัดแดงคู่กับผลงานศิลปะจัดวางที่ได้แรงบันดาลใจมาจากห้องครัวของชาวอาข่า เพื่อแทนถึงพื้นที่ที่มีแค่อำนาจของผู้หญิงเท่านั้น และยังมีการใส่ผ้านุ่งของหญิงอาข่าพาดตามราวต่าง ๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความเป็นหญิงเพิ่มเข้ามาด้วย เพราะในวัฒนธรรมอาข่าผู้ชายจะไม่ทำอาหาร ไม่เข้าห้องครัว และไม่ตากผ้านุ่งของผู้หญิง) งานชิ้นนี้จึงสำรวจลงไปถึงบทบาทและความสามารถของสตรีในชุมชนอาข่า และเชื่อมโยงเข้ากับบทบาทของผู้หญิงในครอบครัวปัจจุบัน
Transfigurations
แอกกี้ เฮนส์
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
แอกกี้ เฮนส์ (Aggie Haines) เป็นศิลปินร่วมสมัยจากประเทศอังกฤษที่ทำงานศิลปะในหลากหลายสื่อ โดยเฉพาะในด้านประติมากรรมและศิลปะแบบติดตั้ง ผลงานของเธอเป็นการสำรวจและตั้งคำถามเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ เทคโนโลยี การแพทย์ และมักจะผสมผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับศิลปะเพื่อสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมนุษย์และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ
Transfigurations (2013) คืองานประติมากรรมรูปร่างเด็กทารกหลากหลายเชื้อชาติ ที่มาพร้อมลักษณะที่ผิดปกติไปจากเด็กมนุษย์ในยุคปัจจุบัน โดยศิลปินได้ตั้งใจออกแบบขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงการดัดแปลงร่างกายมนุษย์ให้สามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการแพทย์ สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การยกระดับสถานะทางสังคม
งานชิ้นนี้ได้ชี้ชวนให้ทุกคนเข้ามาร่วมสำรวจความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนเรือนร่างของมนุษย์ผ่านเทคโนโลยีชีวการแพทย์และการดูแลสุขภาพ และวนให้ตั้งคำถามถึงต้นทุนที่มาพร้อมกับการดัดแปลงเหล่านี้ ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และเศรษฐกิจ โดยงานนี้เป็นทั้งการทดลองและวิพากษ์เกี่ยวกับอนาคตของมนุษย์ ไปพร้อม ๆ กับคาดคะเนถึงผลกระทบทางจริยธรรมที่อาจตามมา
Nature Study
หลุยส์ บูชัวร์
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
หลุยส์ บูชัวร์ (Louise Bourgeois) คือศิลปินชาวฝรั่งเศส-อเมริกันที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับตัวแม่ของวงการศิลปะสมัยใหม่ โดยเธอเป็นที่รู้จักมากที่สุดจากผลงาน ‘Maman’ (1999) ประติมากรรมรูปแมงมุมขนาดยักษ์ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของเธอกับแม่ ในฐานะของสัญลักษณ์แห่งการปกป้องและเลี้ยงดู เธอยังสนใจในการสำรวจความทรงจำ ความเปราะบางของมนุษย์ และบทบาทของเพศสภาพ ที่สะท้อนถึงประเด็นเกี่ยวกับครอบครัว ซึ่งมักสะท้อนถึง ความกลัว ความเจ็บปวด และความขัดแย้งทางอารมณ์ ที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัวของเธอเอง
Nature Study (1984) เป็นผลงานประติมากรรมที่สำรวจบทบาทของความเป็นแม่และการปกป้อง ผ่านภาพลักษณ์ของเทพีที่มีลักษณะคล้ายสุนัข โดยมีเต้านมหลายเต้าและยังมีองคชาติในตัวเดียวกัน เพื่อผสมผสานสัญลักษณ์ทางเพศที่กระตุ้นให้ผู้ชมขบคิดถึงพลังและอารมณ์อันรุนแรงของสตรีเพศ เมื่อประกอบเข้ากับฉากหลังสีแดง และชิ้นงานอื่น ๆ อย่าง Femme (1960-1969) และ Janus in Leather Jacket (1968) รวมถึงหินโยนีจากสมัยอาณาจักรลพบุรี ที่วางในพื้นที่เดียวกัน ก็ยิ่งเสริมสร้างความหมายให้กับความลึกซึ้งของบทบาทผู้หญิงในทั้งอดีตและปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
Thumb Centric Cosmology
ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือ หอศิลป์เจ้าฟ้า
ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ (Supawich Weesapen) นับเป็นหนึ่งในศิลปินไทยอายุน้อยที่กำลังเป็นดาวรุ่งคนสำคัญในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยในเวลานี้ โดยผลงานของเขามักเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ ตำนาน และโลกไซเบอร์ ที่ถ่ายทอดพลังลึกลับออกมาผ่านสุนทรียศาสตร์แบบดิจิทัลและสีสันอันลี้ลับ พร้อมกับผสมผสานโลกเสมือนเข้ากับสัญลักษณ์โบราณและสร้างออร่าที่ไร้รูปทรงด้วยสีน้ำมัน
Thumb Centric Cosmology (2024) คือศิลปะแบบจัดวางที่นำเสนอภูมิทัศน์นามธรรมและจักรวาลเสมือนจริง โดยได้แรงบันดาลใจจากตำนานของชาวไทที่เล่าว่าแมงมุมคือผู้ที่ใช้ใยถักทอจนกลายเป็นท้องฟ้า แล้วนำมาเชื่อมโยงระหว่างโลกดิจิทัลและโลกทางกายภาพ จนกลายเป็นจักรวาลใหม่ที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อค้นหาตำแหน่งแห่งที่ของตนเองที่กำลังดำรงอยู่ในโลกปัจจุบัน
ศิลปินได้นำองค์ประกอบทั้งหมดมาตีความในเชิงศิลปะ เพื่อแสดงภาพการมีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีและชีวิตของคนในยุคนี้ โดยตั้งใจใช้เส้นสายแบบ ‘Spiral’ ที่ชวนให้นึกถึงสุนทรียะของโลกเสมือน ในขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามถึงผลกระทบของการใช้ชีวิตหน้าจอมากเกินไปด้วย
เคล็ดลับการชมงานจากศิลปิน: ให้ลองเปิดแฟลชถ่ายภาพแล้วจะพบกับอีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจ
Solitude of Silences
กิม ฮง ซก
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
กิม ฮง ซก (Gimhongsok) เป็นศิลปินร่วมสมัยจากประเทศเกาหลีใต้ที่มีชื่อเสียงในวงการศิลปะนานาชาติ ผลงานของเขามักสะท้อนความซับซ้อนทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงขบขันและเสียดสี เขาทำงานในหลากหลายสื่อ ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรม การแสดงสด และงานศิลปะติดตั้ง
Solitude of Silences (2017 - 2019) คือชุดผลงานประติมากรรมที่สะท้อนความเหนื่อยล้าของแรงงานในระบบทุนนิยม และวิพากษ์ระบบแรงงานสมัยใหม่ที่ทุกคนต้องทำงานตามตลาดเศรษฐกิจที่เปิดอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านภาพของคนทำงานธรรมดาสามคนในสังคมไทย ได้แก่ พนักงานส่งของ พนักงานทำความสะอาด และพนักงานขับรถบัส ที่ศิลปินได้เข้าไปสัมภาษณ์มา ก่อนจะนำมาออกเป็นให้แต่ละคนสวมหน้ากากสัตว์ที่บ่งบอกถึงความเปราะบางและความฝันที่ไม่อาจเป็นจริง โดยศิลปินตั้งใจจัดวางงานประติมากรรมทั้งสามให้อยู่ในท่าทางของคนที่กำลังพักผ่อน เพราะในยุคที่ทุกคนต้องทำงานและตอบรับกับความต้องการในระบบทุนนิยม การนอนหลับและพักผ่อนก็ถือเป็นหนึ่งในการต่อต้านเช่นกัน
Mapping the Land Body Stories of its Past
บากุส ปันเดกา & เคอิ อิมาซุ
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
บากุส ปันเดกา (Bagus Pandega) คือศิลปินอินโดนีเซียที่เชี่ยวชาญงานศิลปะจัดวางและประติมากรรมสื่อผสม โดยผลงานของเขามักใช้เทคโนโลยี เสียง และการเคลื่อนไหว เพื่อวิพากษ์สังคมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมท้าทายการรับรู้ของผู้ชมเกี่ยวกับเวลาและการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี ส่วนเคอิ อิมาซุ (Kei Imazu) เป็นศิลปินชาวญี่ปุ่นที่สร้างสรรค์ภาพวาดและศิลปะดิจิทัล โดยเธอผสมผสานประวัติศาสตร์ศิลปะ วัฒนธรรมป๊อป และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อสร้างงานที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และการตีความภาพที่ซับซ้อนระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
ในผลงาน Mapping the Land Body Stories of its Past (2021) พวกเขาทั้งสองคนได้ทำงานร่วมกัน และตั้งใจเล่าถึงการทำลายป่าดิบชื้นในอินโดนีเซีย ที่เกิดจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก) ทำให้เกิดการถางป่าเป็นวงกว้างจนส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและการสูญเสียที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า โดยศิลปินตั้งใจออกแบบพู่กันที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า ซึ่งได้พลังงานมาจากน้ำมันปาล์มที่สะกัดจากต้นปาล์มในพื้นที่ มาวาดภาพ และถูกลบไปด้วยการไหลของน้ํา
การใช้สัญลักษณ์น้ำมันปาล์มในงานศิลปะชิ้นนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่ยังตั้งคำถามถึงความยั่งยืนของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน ส่วนการใช้การไหลของน้ำมาทำหน้าที่ลบเลือนก็สื่อถึงกระบวนการทำลายล้างที่ต่อเนื่อง เหมือนกับการทำลายป่าที่ไม่อาจฟื้นฟูได้ง่าย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องผลกระทบจากการบริโภคสินค้ากับการทำลายธรรมชาติ
Parvati
ราวินเดอร์ เรดดี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ราวินเดอร์ เรดดี (Ravinder Reddy) เป็นศิลปินอินเดียที่มีชื่อเสียงจากประติมากรรมศีรษะผู้หญิงขนาดใหญ่ สีสันสดใส ซึ่งสะท้อนความงามของผู้หญิงอินเดียในบริบทสังคมร่วมสมัยและวัฒนธรรมดั้งเดิม ผลงานของเขาได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะฮินดูโบราณและวัฒนธรรมป๊อป ทั้งยังท้าทายมาตรฐานความงามและบทบาทของผู้หญิงในสังคม
สำหรับผลงานที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี ก็น่าจะเป็น Head/Devi เพราะเป็นหนึ่งในชิ้นงานที่เคยถูกติดตั้งอยู่ที่ Central World ช่วงปี 2010 ก่อนจะกลายเป็นภาพสุดไอคอนิก ในช่วงการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บานปลายจนกลายเป็นเหตุจลาจล และมีกรณีไฟไหม้เกิดขึ้นในบริเวณนั้น ซึ่งก็มีหลายคนที่มองว่าประติมากรรมผู้หญิงหัวสีทองชิ้นนั้นคือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เกิดอาเพศที่ว่าก็มี ซึ่งในปีนี้ทาง Bangkok Art biennale 2024 เขาก็ได้นำเอาชิ้นงานนี้กลับมาจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อเล่าเรื่องในพื้นที่ใหม่ และท้าทายดูว่า เมื่อพื้นที่เปลี่ยน บริบทเปลี่ยน ความคิดของผู้ชมจะเป็นเช่นไร โดยชิ้นนี้จะตั้งอยู่บริเวณด้านหลังพระตำหนักแดง
อีกชิ้นหนึ่งคืองานที่มีชื่อว่า Parvati (2019) เป็นงานประติมากรรมรูปหัวของผู้หญิงขนาดใหญ่ ที่มีใบหน้าสีน้ำเงิน และมุ่นมวยผมอย่างพิถีพิถัน เอกลักษณ์สำคัญของผลงานชิ้นนี้คือดวงตาของประติมากรรมที่เบิกกว้าง เพื่อสื่อถึงเรื่องความมั่นใจ ความตระหนักรู้ และความกล้าของเพศหญิง ที่พร้อมเผชิญกับโลกด้วยใจสงบนิ่ง โดยผลงานชิ้นนี้ยังชวนให้ผู้ชมอย่างเรารู้สึกถึงการพลิกบทบาทจากผู้จ้องมอง (ศิลปะ) กลายเป็นผู้ถูก (ศิลปะ) มอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมุมกลับใหม่ที่ไม่ได้มองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ โดยชิ้นนี้จะจัดแสดงอยู่ภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน