Sometimes making something leads to nothing - บางครั้ง การทำอะไรบางอย่างก็ไม่เกิดอะไรเลย
จากประโยคขึ้นต้นวิดีโองานแสดงของ Francis Alÿs ศิลปินสายคอนเซ็ปต์ชาวเบลเยี่ยม ที่สร้างความงงงวยแต่ก็กระแทกใจในเวลาเดียวกัน ศิลปินได้พาผู้ชมก้าวเข้าสู่ความงงคูณสองด้วยภาพที่เขาพยายามผลักก้อนน้ำแข็งไปทั่วเม็กซิโกซิตี้ตลอดเวลากว่า 9 ชั่วโมง (ตัวคลิปวิดีโอถูกตัดให้สั้นลงเหลือเพียงไม่กี่นาที) ถึงประโยคที่ Alÿs ได้ใบ้ไว้ในตอนต้น จะสื่อชัดเจนถึงสิ่งที่เขาทำอยู่ แต่เขาทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไรกัน?
แค่นี้ได้เหรอ..
แม้ Francis Alÿs จะเป็นคนเบลเยี่ยม แต่การที่ได้ย้ายมาอยู่เม็กซิโกซิตี้ตั้งแต่ปี 1986 ก็ทำให้เขาเห็นถึงปัญหาหลายด้านที่ทับถมกันจนยากจะแยกได้ ไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวายในเมือง หรือการใช้ชีวิตของผู้คนที่ต้องดิ้นรนตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ล้วนอธิบายถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทาง ‘การเมือง’ ที่หยั่งรากลึกจนกระทบกับผู้คนทุกระดับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจเป็นเพราะตัวเขาได้เห็น และจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมือง Alÿs จึงเข้าใจปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี เขาเปลี่ยนความคับข้องใจให้กลายเป็นผลงานที่จิกกัดสังคมอย่างเจ็บแสบ
ตลอดเวลาที่ Alÿs เข็นก้อนน้ำแข็งไปทั่วเมืองในโปรเจ็กต์ Paradox of Praxis 1 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ Sometimes making something leads to nothing (1997) เราก็จะได้เห็นภาพของน้ำแข็งที่ค่อย ๆ ละลายไปพร้อมกับฉากหลังของเม็กซิโกซิตี้ ซึ่งเต็มไปด้วยทางเท้าขรุขระและแอ่งน้ำขัง ภาพผู้คนในเมืองที่ใช้ชีวิตของตัวเองตามสภาพ ตลอดจนมลพิษทางเสียงในเมืองใหญ่ เมื่อเวลาผ่านไป ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ ก็ละลายกลายเป็นน้ำที่รอเวลาเหือดแห้ง ละลายไปในพื้นคอนกรีตจนไม่เหลือร่องรอยเดิม ไม่ต่างกับผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างไม่มีทางเลือก
นอกจาก Paradox of Praxis 1 แล้ว Alÿs ยังคงสำรวจเมืองอย่างมีกวีศิลป์ผ่านผลงานศิลปะเชิงเปรียบเทียบ เพื่อย้ำให้ผู้คนเห็นถึงภาพความจริงของสังคม ที่ซ้อนทับด้วยปัญหายิบย่อยมากมายตั้งแต่ระดับการใช้ชีวิต การเมืองระดับชาติ ไปจนถึงผลกระทบของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป .. เห็นภาพคล้าย ๆ กันแบบนี้ ถ้าเปลี่ยนมาที่ไทยจะเข็นอะไรกันดี?
ชม Paradox of Praxis 1 ได้ที่ : https://youtu.be/ZedESyQEnMA
อ้างอิง : publicdelivery