การทำงานกลุ่มไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ยิ่งถ้าเป็นงานประเภทที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วยแล้ว ยิ่งต้องหาทางประนีประนอมกันดี ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดแบบที่ไม่ขัดใจทุกคนมากนัก
และโมเดลตัวอย่างที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับงานกลุ่มแบบนี้คือวงดนตรีแจ๊ส แต่หาใช่เพราะว่าแจ๊สเป็นดนตรีที่ฟังยากและซับซ้อน แต่เพราะแจ๊สคือดนตรีที่มากับปรัชญาแห่งการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ในแบบที่เป็นของตัวเองที่สุด
ภาพยนตร์อนิเมชัน ‘BLUE GIANT เป่าฝันให้เต็มฟ้า’ เล่าเรื่องภารกิจตามล่าฝันจะเป็นนักดนตรีระดับโลกของนักเรียนมัธยมปลาย ‘มิยาโมโตะ ได’ ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนมากมายตลอดเส้นทางการเติบโตของเขา ตั้งแต่เพื่อนร่วมวงยอดฝีมือ คุณป้าเจ้าใจดีของร้านดนตรีแจ๊ส ไปจนถึงแฟนเพลงที่ตามดูการเติบโตของวง ซึ่งแม้เพลงจะเยอะตลอดเรื่อง (ดีมาก!) แต่เนื้อเรื่องก็มีอะไรให้ติดตามตลอดเหมือนกัน เพราะไดเองถึงจะเปิดตัวมาอย่างเก่ง แต่การพบกันของเขากับทุกคนก็อาจเรียกว่าเป็นการ “ปะทะ” ได้อยู่เหมือนกัน
นักดนตรีคนหนึ่งที่ซ้อมแต่กับตัวเอง แน่นอนว่าพอมาเล่นกับวงก็ต้องปรับจังหวะส่วนตัวให้เข้ากับจังหวะของทุกคน สำเนียงหรือน้ำเสียงของคนแต่ละคนเองก็สร้างมาจากภูมิหลังชีวิต ซึ่งมีแต่ตัวเองเท่านั้นที่รับรู้เรื่องราวทั้งหมด แล้วถ่ายทอดออกมาในท่อนโซโล่ ที่ตัวโน้ตแต่ละตัวประกอบกันเล่าเรื่องเหล่านั้นเป็นฉาก ๆ ห้วงเวลาที่นักดนตรีทุกคนสื่อสารกันบนเวที คือช่วงเวลาแห่งเวทมนตร์ที่ส่งเราไปลอยคว้างในห้วงจักรวาล ก็เพราะทุกคนต่างเป็นดวงดาวที่เดินทางมาจากเส้นวงโคจรของตัวเอง บางคนได้ยินเสียงดนตรีมาตั้งแต่จำความได้ บางคนเพิ่งได้ยินดนตรีแจ๊สมาแค่ไม่นาน เพียงแต่ในช่วงเวลาหนึ่งนั้น พวกเขาประกอบกันเข้าเป็นภาพของกลุ่มดาวที่ส่องแสงสวยงาม
แม้ว่าเวลาผ่านไปพวกเขาแต่ละคนจะต้องเดินทางไปต่อตามจังหวะชีวิตของแต่ละคน แต่เส้นทางที่ไม่เหมือนกันนี้ก็ทำให้การโคจรมาเจอกันของพวกเขาเต็มไปด้วยความหมาย — พวกเขาปรับเปลี่ยนกันและกัน ส่งอิทธิพลต่อกันและกัน ผูกพันกัน และฝากงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ในรูปแบบของชีวิตด้วยกัน การเติบโตของพวกเขาอาจเต็มไปด้วยน้ำตา (ของคนดู) แต่ก็เต็มไปด้วยพลังทางจิตวิญญาณ และแง่มุมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เน้นย้ำถึงปัจเจกและส่วนรวมไปพร้อมกันตามวิถีแจ๊ส BLUE GIANT จึงเป็นหนังอีกเรื่องที่คนรักแจ๊สไม่ควรพลาด หรือถ้าอยากลองเข้าใจแจ๊สก็ยิ่งน่าไปดู
‘BLUE GIANT เป่าฝันให้เต็มฟ้า’ เข้าฉาย 25 มกราคมนี้ ในโรงภาพยนตร์