ถ้าเราเป็นคนทำหนัง แล้วได้รับคำวิจารณ์ว่า “ไม่น่าเบื่อเลย” เราก็คงแค่ดีใจเฉย ๆ แต่สำหรับ เอก — เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ และสนุ้ก — ธนกฤต ดวงมณีพร สองผู้กำกับสารคดี ‘Breaking the Cycle’ ที่ตามติดชีวิตของพรรคอนาคตใหม่ พวกเขามองว่าคำชมนี้มีประเด็นบางอย่างที่น่าเอามาคิดต่อหนัก ๆ อยู่
ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่พอใจกับคำชมดังกล่าว แต่เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของผู้ชม และที่ทางของหนังประเภทสารคดี ที่มักจะมาคู่กับภาพจำแบบน่าเบื่อ เป็นข่าว เป็นข้อเท็จจริง หรือไม่ก็เป็นภาพสารคดีสัตว์ป่า แบบสิงโตขยุ้มกวางในทุ่งหญ้าไปเลย ซึ่งแน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาสัมผัสได้ถึงทัศนคติแบบนี้ เพราะวิธีการทำงานแบบตามติดถ่ายวิดีโอไปเรื่อยตลอดเวลาเป็นปี ๆ ย่อมไม่ใช่อะไรที่คนไทยคุ้นชินกันแน่ ๆ ถ้าเทียบกับนักข่าวที่มาเก็บภาพเป็นวัน ๆ แล้วก็ลงข่าวตามสถานการณ์
มาถึงตอนนี้หลายคนคงได้สัมผัสแล้ว ว่าความ “สนุก” ของสารคดีเรื่องที่ว่านั้นมาจากทั้งเรื่องราวการเมืองไทยที่ “โคตรหนังเลย” แต่เรื่องราวที่ว่าก็ถูกขับเน้นอารมณ์ขึ้นมาได้ด้วยดนตรีที่เร้าเหลือเกิน จนทำให้หลายคนตั้งคำถามในใจว่า นี่เป็นหนังปลุกระดมมาอวยใครหรือเปล่า
ในบทสัมภาษณ์นี้ เราต่อสายตรงหาสองผู้กำกับที่ (ตอนนั้น) กำลังกระทำภารกิจซอฟต์พาวเวอร์ (ไปตระเวนฉายหนัง) อยู่ที่ Sheffield DocFest ประเทศอังกฤษ เพื่อพูดคุยเรื่องการทำงานที่อยู่บนพื้นที่คลุมเครือระหว่างความเป็น “เรื่องจริง” กับการเน้นอารมณ์ของสารคดี, การส่งอารมณ์ในหนัง (ที่พวกเขาบอกว่า เหมือนเป็นบันทึกของตัวเองมากกว่า) และเรื่องสีหน้าของธนาธร ในซีนที่ถูกตัดออกจากหนัง
ใครดูหนังแล้วติดใจตรงไหน บทสัมภาษณ์นี้ก็อาจจะตอบคำถามคาใจเหล่านั้นได้บ้าง หรือใครยังไม่ได้ดูก็ลองทดสอบตัวเองดูก็ได้ว่าเปิดใจฟังเสียงคนกลุ่มนี้แค่ไหน แล้วถ้าอยากสัมผัสหนังเรื่องนี้ยังไง ก็รีบพุ่งไปที่โรงภาพยนตร์เครือ SF, house samyan และ Docclub เลย พวกเขายังฉายอยู่!
สวัสดีครับคุณเอก คุณสนุ้ก ที่อังกฤษตอนนี้เป็นไงบ้างครับ
คือเรามาร่วมเทศกาลหนัง Sheffield DocFest เป็นเทศกาลสารคดีนานาชาติของอังกฤษ คิดว่าน่าจะใหญ่ที่สุดนะ ก็เอาหนังไปฉายตามแต่ละโรงครับ แล้วก็มีส่วนหาทุน ตอนกลางคืนก็มีปาร์ตี้ ไปเมากัน ไปทำความรู้จักกันกับคนทำหนังประเทศอื่นอะไรอย่างนี้ครับ เมื่อสองวันที่แล้วไปในโบสถ์ กินเบียร์ในโบสถ์ (หัวเราะ)
งั้นขอเข้าสู่ตัวหนังที่ทำให้เราต้องมาคุยกันในวันนี้เลยนะครับ Breaking the Chcle หนังเรื่องนี้น่าจะเป็นการเดินทางที่ยาวนานเลยกว่าจะมาถึงจุดนี้ ถ้าย้อนไปในวันแรก ๆ ที่เริ่มเข้าหาธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ ยังจำได้ไหมว่ามันเป็นอย่างไร มีความท้าทายอะไรตอนนั้นบ้าง
ในการเข้าหาคุณธนาธร ไม่มีปัญหาอะไรเลยนะ เรามีเพื่อนคนหนึ่งอยู่ในกลุ่มก่อตั้งพรรค เคยเป็นหนึ่งในสมาชิก Hello Filmmaker นี่แหละ เราก็ขอให้เขาติดต่อให้ เหมือนตอนนั้นเขาทำนโยบายพรรคอยู่พอดี เรากับสนุ้กก็ทำเค้าโครง (Proposal) ไปเสนอกัน วันที่เจอคุณธนาธร เราก็ยื่นเป็นกระดาษให้เขาเลย แต่เขาบอกว่าไม่เอา ขอมาเป็นไฟล์ดีกว่า เพื่อนเราก็แคปแชทมาบอกว่าคุณธนาธรโอเค มาถ่ายได้เลย เดี๋ยวเปิดให้ หลังจากนั้น 3 - 4 วันก็เข้าไปถ่ายเลย มันเกิดขึ้นแบบเรียบง่าย เรารู้สึกอย่างนั้นนะ ผมรู้สึกว่าความคาดหวังของคำตอบในคำถามนี้ มักจะอยากให้ผมตอบว่ามันยาก แต่ถ้าย้อนกลับไปพรรคอนาคตใหม่เพิ่งตั้งแล้วธนาธรยังไม่ได้เป็นแคนดิเดตนายก เขายังไม่ได้เป็นพรรคอันดับ 3 ของประเทศเลยด้วยมั้ง มันก็เลยเกิดขึ้นค่อนข้างง่าย
มันมีความเป็นชนกลุ่มน้อยในตอนนั้นคือ เป็นสื่อก็ไม่ใช่ แต่ก็ไม่ใช่ผู้กำกับโด่งดังอะไร มันจะให้ความรู้สึกแปลก ๆ แบบไอ้สองคนนี้มันทำอะไรของมัน จะมาถ่ายสกู๊ปก็ไม่ใช่ คือมันก็มาทุกวัน แต่ดันไม่มีอะไรให้ดู (หัวเราะ)
ต้องขอบัตรสื่อไหม จะได้เป็นสื่อทางการ
ถ้าเป็นสื่อมันก็จะได้หน้างาน เวลาเขาตั้งกล้องแถลงกัน แต่ว่าสิ่งที่เราพยายาามมองหามันคืออะไรที่มากกว่านั้น ก่อนแถลงเขาเตรียมตัวกันยังไง แถลงเสร็จไปแล้วเขารู้สึกกันอย่างไร เรามองหาความรู้สึกมากกว่าข้อมูลว่าวันนี้เขาจะพูดอะไร การได้บัตรสื่อมันก็อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรแบบนั้น
มันสะท้อนความเข้าใจของสังคมไทยเกี่ยวกับการทำสารคดีเหมือนกันนะว่า พอเราบอกว่าเราทำสารคดียาวคนก็อาจจะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร หรือบอกว่าสารคดีตามนักการเมือง เขาก็ไม่เก็ทว่ามันคืออะไร เขาจะเข้าใจกันว่ามาทำข่าว มาทำสกู๊ปถ่ายวันเดียวจบ 2 - 3 วันจบ แต่เราถ่ายหลายเดือนแต่ก็ดันไม่มีอะไรให้เขาดูว่าถ่ายอะไรไป รถก็จะถ่าย นอนก็จะถ่าย กินข้าวก็จะถ่าย
ตอนเลือกฟุตเทจนี่น่าจะต้องดูกันตาแฉะเลย
ใช่ ๆ ใช้เวลาเป็นหลักปีเลย
ด้วยความที่สารคดีมันคาดเดาอะไรไม่ได้เลย อยากรู้ว่ามีแผนสำรองบ้างไหม ว่าถ้ามันไม่ได้ออกมาแบบที่เราคาดหวัง เราจะทำอย่างไรกับมันต่อ
ไม่มีครับ ไม่มีแผนสำรอง แต่เราก็ไม่ได้ตั้งความคาดหวังนะว่าจะต้องเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าไอเดียของหนังมันคือ ‘เรื่องของผู้ชายคนนี้ ในช่วง 5 ปีหลังรัฐประหาร รัฐบาลทหารก็ปล่อยให้มีการเลือกตั้ง ในประเทศไทยที่มันมีการรัฐประหารเกิดขึ้น 13 ครั้งใน 86 ปีของประชาธิปไตยในขณะนั้น อยู่ ๆ ก็มีผู้ชายคนหนึ่งตั้งพรรคขึ้นมาแล้วก็ประกาศว่าจะหยุดยั้งวงจรการรัฐประหารไทยประมาณนี้ เราก็ตั้งสมมติฐานไว้แค่นั้น แล้วแค่ไปดูว่าแล้วเขาทำสำเร็จหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายเขาก็ไม่สำเร็จไง
มันมีคนนึงให้คำอธิบายเพราะเราได้ดี ว่าเป็นคนกัดไม่ปล่อย คือเรารู้สึกว่ากูเอาแล้วกูก็จะเอาให้ได้
มันเป็นปาฏิหารย์หลายซีนมาก ๆ เพราะว่าตั้งแต่ปรากฏการณ์ “ฟ้ารักพ่อ” ผมเข้าใจเลยว่าทำไมคนถึงพูดว่ามันสนุก เพราะว่าแต่ละอย่างที่มันเกิดขึ้นในนั้นมันเซอร์ไพรส์มากครับ มันโคตรหนังเลย
ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือหลังจากที่ยุบพรรค เขาก็ให้ฟุตเทจเราทั้งหมดมา จริง ๆ ต้องบอกด้วยว่ามันมีความระแวดระวัง เพราะเป็นช่วงการเลือกตั้ง ห้องนี้อาจจะเข้าไม่ได้ ห้องนี้เข้าได้ แต่สุดท้ายพอเขาเห็นเราคิดว่าเขาเห็นความทุ่มเท (commitment) จากเราแหละว่าไม่ได้ตามวันสองวัน เราตามแบบ 3 ปี เพราะฉะนั้นแล้วสุดท้ายมันก็เหลือแค่เราสองคนด้วยที่ทำหนังเล่าเรื่องนี้ คือฟุตเทจที่เขาเก็บไว้ เก็บไว้เฉย ๆ มันก็คงไม่ได้ใช้อะไร ก็เลยเอามาให้พวกนี้ดีกว่า เอาไปทำหนัง
สุดท้ายเรารู้สึกว่าในสารคดีทุกเรื่องมันจะมีกระบวนการที่เรียกว่า building trust หรือการสร้างความไว้วางใจ เรารู้สึกว่าความเชื่อใจนี้มันเพิ่งได้มาตอนที่เขาให้ฟุตเทจ คือมันใช้เวลาน้อยกว่านี้ไม่ได้ มันไม่สามารถเจอกันอาทิตย์เดียว ต่อให้เราจะเป็นคนที่อัธยาศัยดีมาก ๆ เป็นคนที่เข้ากับคนเก่งมาก ๆ คุยสนุกมาก เราคิดว่ายังไงก็ต้องใช้ 3 ปีนี้ในการสร้างความไว้วางใจตรงนี้
เรื่องหนึ่งที่คนพูดถึงกันมากหลังหนังเข้าโรงที่ไทย คือดนตรีประกอบ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าทำไมถึงออกมาเค้นอารมณ์แบบนี้
ต้องบอกว่าจริง ๆ เราสองคนเป็นคนที่ทำหนังจากเพลง หมายความว่ามันก็มีเรื่องที่เราอยากเล่านั่นแหละ แต่ว่าสุดท้ายแล้วภาพของหนังเราจะชัดขึ้นก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าเราใช้เพลงแนวไหน ตั้งแต่ไม่กี่เดือนแรกเราจะเริ่มเอาเพลงอ้างอิง (reference) ที่เราคิดว่ามันโชว์อารมณ์ (mood) ของหนังมาใช้แล้ว คือเรารู้สึกว่าเพลงมีผลมาก
ซึ่งพอมาถึงวันที่เราต้องหาคนทำเพลงมาทำดนตรีให้หนังเราใหม่ ก็ไปเจอคนนึงเขาชื่อยู เป็นนักดนตรีที่เล่นให้ พี่วี วิโอเลต แต่ว่าเขาก็เป็นมิวสิกโปรดิวเซอร์ด้วย ก็คือทำเพลงให้กับศิลปินรุ่นใหม่ ๆ
แต่ประเด็นคือ เขาอยู่ในวงการดนตรี แต่เขาไม่เคยทำเพลงให้กับภาพยนตร์เลย คือสองวงการนี้มันดูจะใกล้เคียงกัน แต่จริง ๆ แล้วมันคนละเรื่องกันเลย คนทำเพลงอาจจะไม่เข้าใจก็ได้ว่าทำเพลงสำหรับหนังมันต้องทำยังไง แต่เราคุยกับเขาแล้วรู้สึกว่าเขาทำได้ แล้วเราก็อยากให้เขามาทำ ซึ่งพอทำไปเรื่อย ๆ มันก็เริ่มเห็นว่าคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในงานนี้ นอกจากเราสองคนก็เป็นคนรุ่นเราทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะตากล้อง โปรดิวเซอร์ คนทำกราฟฟิก คนแปล
เราก็รู้สึกว่าโอเค ยิ่งถ้าคนทำเพลงเป็นคนรุ่นเดียวกันไอเดียนี้มันจะยิ่งแข็งแรง มันเป็นหนังของคนรุ่นเราจริง ๆ แล้วเขาบอกไม่เคยทำ ก็ที่ตลกดีคือเขาบอกไม่เคยทำ แต่ยิ่งอยากทำด้วย ก็มาทำแล้วปรากฏว่าก็เวิร์คมาก ๆ มันก็มีวันแรก ๆ แหละที่เราต้องไอปรับจูนไอดียกันนิดนึงว่าโอเคเพลงสำหรับหนังมันต่างจากเพลงสำหรับศิลปินอย่างไร แต่พอเขาเก็ตแล้วก็ทำได้เลย
เพราะว่ามันเป็นหนังอิสระด้วยไหม เลยทำอย่างนี้ได้ ให้มันเป็นคนรุ่นเราทำจริง ๆ
ใช่ ๆ คือถ้าคิดดูว่าเราบอกค่ายใหญ่ว่าอยากใช้คนทำเพลงที่ไม่เคยทำเพลงประกอบหนังมาก่อน เขาโดนตัดออกก่อนแต่แรกแน่เลย มันก็เป็นข้อดีของหนังอิสระนั่นแหละ ให้มีเวทย์มนต์บางอย่างแบบนี้มา
อีกเรื่องหนึ่งที่คนจะถกเถียงกันพอมันเป็นสารคดี คือการเน้นให้มันเป็นความบันเทิงจะดีหรือเปล่า เหมือนสารคดีมันมีภาพจำอยู่ว่าจะต้องมีแต่ข้อเท็จจริงเหมือนรายการข่าวในทีวี
มันเห็นชัดเลยหลังจากที่หนังเข้าโรงไทยไปนี้แหละ คือจากเสียงตอบรับประมาณ 80 - 90 เปอร์เซนต์ ประโยคแรกที่เขาจะเขียนมาเลยคือ ‘หนังดูสนุก ไม่น่าเบื่อเลยตลอด 2 ชั่วโมง’ แปลว่าเขาคิดไปก่อนแล้วว่ามันอาจจะน่าเบื่อ คือเขามีมุมมองของคำว่าสารคดีชัดมาก ว่ามันคือความน่าเบื่อ มันคือข่าว มีความสิงโตขย้ำเหยื่ออะไรอย่างนี้ เราก็เซอร์ไพรส์นะที่เสียงตอบรับแรก ๆ มันพูดเรื่องพื้นฐานมาก ไม่ใช่เรื่องความหวังเรื่องประวัติศาสตร์อะไร แต่แค่ว่ามันไม่น่าเบื่อ ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นหมุดหมายทั้งในเชิงการเมืองแล้วมันยังเป็นหมุดหมายหนึ่งของหนังสารคดีด้วย
ถ้างั้นแล้วคิดว่าคุณค่าของสารคดีมันอยู่ตรงไหน มันควรจะเป็นความบันเทิง ความดูสนุกแค่ไหน หรือว่าควรให้ความสำคัญกับการบันทึกประวัติศาสตร์มากกว่า
เราไม่เคยคิดว่าสารคดีมันคือความจริงอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าต่อให้เป็นสารคดีจากช่องทีวีหรืออะไรก็ตาม พอมันผ่านมุมมองของคนทำ มันก็ถูกเลือกมาแล้วว่าจะให้เห็นอะไร ให้ฟังอะไร เรารู้สึกว่าตั้งแต่ขั้นตอนแรกของสารคดีมันก็ไม่จริงอยู่แล้วตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นการที่เราใส่ความสนุกเข้าไป มันก็เป็นแค่การขยายวงคนดูให้มันกว้างขึ้น
มันก็ต้องมาบาลานซ์กันว่าถ้าอยากจะให้คนดูจำนวนมากขึ้น มันก็ต้องมีรสชาติที่กินกันได้หลาย ๆ คน เป็นรสที่มันกลาง ๆ ขึ้น ให้คนไทยให้ฝรั่งกินได้เหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วมันก็คือเมนูอาหารเดียวกันนี้ ไม่ได้เป็นรสเฉพาะเข้มข้นอะไรที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่กิน
สมมุติว่ามีก้อนความจริงมันอยู่อย่างนี้ (หยิบลูกแอปเปิ้ลขึ้นมา) คำถามคือเราจะเข้าถึงความจริงนั้นทั้งหมดได้อย่างไร เช่น เห็นเราสองคนนั่งให้สัมภาษณ์ผ่านหน้าจออยู่ตรงนี้ เราก็อาจจะไม่ใส่กางเกงก็ได้ (หัวเราะ) คือไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราไม่มีทางเข้าถึงความจริงแท้ได้ เราไปสัมภาษณ์คนหนึ่งเขาอาจจะพูดถึงธนาธรในรูปแบบหนึ่ง ไปสัมภาษณ์อีกคนก็อาจจะได้อีกรูปแบบหนึ่ง ความจริงเป็นเรื่องอัตวิสัยอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นความจริงแท้ทั้งหมด
ดังนั้นสารคดีจึงเป็นชุดความจริงของตัวผู้กำกับ มันเป็นประสบการณ์ของเราสองคนต่อเหตุการณ์ทั้งหมดที่รู้สึก ณ ขณะนั้น มันคืออารมณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง ซึ่งก็คืออารมณ์ของเราสองคนนี่แหละ ส่วนข้อเท็จจริงมันจะเป็นอย่างไร คุณไปกูเกิลดูข่าวก็ได้
เรามีธงอันนึงที่ชัดเจนคือเราอยากให้มันมีหนังการเมืองไทยที่สนุกอยู่ในโรงภาพยนตร์ได้ เราคิดเรื่องนี้กันตั้งแต่ก่อนมันเกิดฟ้ารักพ่อ ก่อนการเลือกตั้งเลยนะ คือเราคิดว่ายังไงจะต้องเล่าเรื่องนี้ให้อยู่ในกระแสหลักให้ได้ แล้วให้มันมีความเป็นไปได้สำหรับเรื่องอื่นต่อ ๆ ไป วันก่อนที่ไป Q&A กัน ตามต่างจังหวัดเราก็พูดเหมือนกันว่าเราไม่เคยคิดว่าเราจะทำหนังเรื่องนี้ไม่เสร็จเลย อยู่ ๆ ก็คิดขึ้นมาได้ หมายถึงว่าโอเคเรามีกันแค่ 2 คนแต่มันมีพลังงานบางอย่างที่เชื่อมโยงเรา ทำให้รู้สึกว่ายังไงหนังเรื่องนี้จะต้องเสร็จไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นต่อให้ฟ้ารักพ่อไม่เกิดขึ้น ต่อให้อนาคตใหม่ไม่ได้เป็นอันดับ 3 ได้ ก็ทำหนังอยู่ดีในทางใดก็ทางหนึ่ง
ลองเดาเล่น ๆ ดูได้ไหมครับ ว่าพอสังคมเราเห็นแล้วว่าหนังสารคดีการเมือง ๆ แบบนี้มันเป็นไปได้ อนาคตเราจะได้เห็นภาพแบบไหนต่อ หรืออยากเห็นภาพแบบไหนต่อ
เดี๋ยวมันก็จะมีอะไรแบบนี้ก็อีกแน่ ๆ (หัวเราะ) คือต้องบอกว่าพอหนังเรื่องนี้มันเป็นหนังเรื่องแรกที่สนใจสถานการณ์การเมือง ตามติดในลักษณะนี้ แล้วพอมันเป็นเรื่องแรก คนจะมีความรู้สึกว่านี่คือทั้งหมดของประวัติศาสตร์ คือเหมือนกับว่าพอมันมีอยู่อันเดียวแล้ว คนก็จะคิดว่ามันต้องพูดเรื่องนั้นด้วยสิ มันต้องพูดเรื่องนี้ด้วยสิ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นแค่หนังเรื่องหนึ่งเอง ที่บันทึกแค่คน (subject) ที่เราตาม แล้วก็เป็นมุมมองของเราแล้วด้วย
แต่เรารู้สึกว่ามันยังเหลือเรื่องราวอีกตั้งเยอะแยะมากมายที่รอให้คนไปบันทึกมัน ไปตามมัน แล้วเรารู้สึกว่ากระแสตอบรับหลาย ๆ อย่างที่มันแปลก ๆ มันเกิดมาจากเหตุผลนี้ คือถ้าก่อนหน้านี้มันมีหนังไทยรักไทยมาแล้ว มีหนังตามอนุทินตั้งแต่ชีวิตก่อนเลือกตั้งจนมาเป็นนักการเมืองอย่างนี้ เราว่าหนังเรื่องนี้อาจจะเป็นแค่หนังการเมืองไทยอีกเรื่องเฉย ๆ ด้วยซ้ำ คนอาจจะมีเสียงตอบรับน้อยกว่านี้เข้าไปดูน้อยกว่านี้ด้วยซ้ำ
มันยังทำให้ยิ่งแค่มีอยู่ ก็แรงแล้ว
ใช่ ๆ พูดถูกเลยว่าแค่มีอยู่มันก็ดูแรงแล้ว ถ้าไปดูหนังจริง ๆ ก็จะเห็นว่ามันไม่มีอะไร
เล่าให้ฟังได้ไหมว่ามีซีนไหนบ้างที่ถูกตัดออก
มีอยู่จุดหนึ่งที่พลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายก แล้วตอนนั้นอารมณ์ของสังคมคือเราจะไปยังไงกันต่อดี เราต้องการการเปลี่ยนแปลง แล้วกลุ่มคุณธนาธรก็เอาแต่บอกว่า มันต้องเปลี่ยนจากในสภา ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ แล้วก็มีคุณลุงคนนึง คนนี้เขาไปทุกที่เลย เป็นพลเมืองที่ตื่นตัวมาก เขาก็ลุกขึ้นมา แล้วก็บอกว่าเราต้องลงถนนแล้ว “ประเทศนั้นเขาก็ลงถนนไล่ผู้นำเผด็จการได้ ประเทศนั้นเขาก็ไล่ได้ คิวต่อไปต้องเป็นคุณประยุทธ์แล้ว” อะไรประมาณนี้ ซึ่งธนาธรเขาก็มีสีหน้าแสดงความกังวลใจในตอนนั้น แต่เราตัดไปเป็นภาพของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ภาพการสูญเสีย มันก็เป็นซีนที่เราค่อนข้างเสียดายที่ไม่ได้พูดเรื่องเหล่านี้ลงไป เพียงแต่ว่าหนังเราก็ต้องเริ่มโฟกัสไปที่ประเด็นหนึ่ง ก็ให้คนอื่นทำแล้วกัน คือหนังมันก็มีศิลปะที่มันมีความวิทยาศาสตร์ประมาณหนึ่ง ดังนั้นอะไรพวกนั้นมันก็ไม่สามารถยัดไปอยู่ในสองชั่วโมงได้
คือเรารู้สึกว่าโอเค พล็อตหนังมันใหญ่ มันมีซีนใหญ่ ๆ เต็มไปหมดเลย ปราศรัยเรื่องนายก ซีนยุบพรรค ซึ่งยังไงมันก็ต้องอยู่ในหนังอยู่แล้ว แต่ก็มีซีนเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายอันที่เราชอบแต่มันไม่สามารถอยู่ในนั้นได้ ด้วยความที่พล็อตมันต้องเดินไปข้างหน้า อย่างที่นึกออกตอนนี้คือซีนการทำบทปราศรัยอันหนึ่งของคุณธนาธรกับพี่ช่อ แล้วก็เลขาของเขาอย่างนี้ สามคนช่วยกันเช็ค เราว่ามันเป็นบรรยากาศที่น่าแชร์ให้คนข้างนอกได้เห็น ว่าเขาทำงานกันอย่างไร ซึ่งมันเป็นบรรยากาศที่ค่อนข้างผ่อนคลาย แล้วก็เห็นบุคลิกของแต่ละคนชัดดี ผมชอบซีนเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ ก็น่าเสียดายที่มันไม่ได้อยู่ในนั้น