สำรวจ Easter Egg จากตำนานกรีก ‘คิวปิดและไซคี’ ที่ซ่อนอยู่ใน Bridgerton ซีซั่น 3

Post on 14 June

คุณผู้อ่านที่รัก หากคุณเป็นปกรณัมตำนานกรีก-โรมันตัวยง และยังชื่นชอบเรื่องราวโรแมนซ์หวานซึ้งตรึงใจ คุณก็คงจะสังเกตได้ว่า ใน Bridgerton ซีซั่น 3 ที่เล่าเรื่องราวความรักของคู่เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่ออย่าง ‘Polin’ (เพเนโลปี และ คอลิน) ยังมีเรื่องราวความรักจากปกรณัมกรีก-โรมันที่ถูกยกมาซ่อนไว้ในฉากหลัง และยังเป็นแรงบันดาลใจในการเล่าเรื่องและการออกแบบฉากของผู้สร้างซีรีส์ ตามที่ทางทีมงานได้เคยอธิบายไว้

เรื่องราวความรักที่ต้องปกปิดตัวตน การรับบทเป็นพ่อสื่อที่กลับถูก ‘ศรรัก’ ย้อนกลับมาปักอกตัวเอง หรือการเปิดเผยความจริงที่นำมาสู่ความบาดหมางของคู่รัก ทั้งหมดนี้คือแก่นเรื่องหลักของ Bridgerton ซีซั่น 3 รวมถึงเรื่องราวตำนานรักอันโด่งดังในปกรณัมกรีกอย่าง ‘คิวปิดและไซคี’

เรื่องราวของคิวปิดและไซคีถูกเล่าไว้อย่างไร? และผู้สร้างซีรีส์นำตำนานนี้มาใช้เป็นฉากหลังของเรื่องราวคู่รักในยุครีเจนซีอย่างไร? ลองไปดูกัน

คิวปิดและไซคี แบบทดสอบความรักที่ตั้งอยู่บนความซื่อสัตย์และความไว้ใจ

คิวปิดหรือที่มีชื่อในตำนานกรีกว่า ‘อีรอส’ (คิวปิดเป็นชื่อโรมัน) เป็นบุตรนอกสมรสที่เกิดจากนาง ‘แอโฟรไดที’ (ชื่อในภาษาโรมันคือ วีนัส) เทพแห่งความงาม และ ‘แอรีส’ (ชื่อในภาษาโรมันคือ มาร์ส) เทพแห่งสงคราม โดยอีรอสเป็นบุตรชายคนโต ผู้มีธนูและลูกดอกเป็นอาวุธ ซึ่งหากอีรอสยิงลูกศรไปปักอกผู้ใดแล้ว ผู้นั้นจะตกอยู่ในวังวนแห่งความรักในทันที

ขณะที่นาง ‘ไซคี’ เป็นสตรีผู้มีรูปโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือ จนทำให้ผู้คนของเมืองที่นางอาศัยอยู่ต่างพากันละเลยการบูชาแอโฟรไดที นำมาซึ่งความไม่พอใจแก่เทพีแห่งความงามเป็นอย่างยิ่ง พระนางจึงบัญชาให้อีรอสไปแผลงศรให้นางไซคีตกหลุมรักสัตว์เดียรัจฉาน เพื่อที่จะเกิดความอัปยศอดสูจนผู้คนเลิกหลงใหลในความงามของนางไซคีตลอดไป

อีรอสรับคำบัญชาของพระมารดา เตรียมวางแผนใช้ธนูของตนยิงลูกศรใส่นางไซคีให้ได้ผลที่คิดไว้ แต่กลายเป็นว่าทันทีที่อีรอสได้เจอไซคี เขากลับตกตะลึงในความงามของนางเข้าอย่างจัง จนพลาดท่ายิงศรแห่งความรักปักเข้ากลางใจตนเอง ทำให้อีรอสตกหลุมรักนางไซคีนับตั้งแต่นั้น

แต่ด้วยอีรอสรู้ดีว่าคนที่ตนรัก (เพราะโดนลูกศรของตัวเอง) นั้นเป็นคนที่แม่ชิงชัง จึงได้แต่เก็บซ่อนความรักลับ ๆ ครั้งนี้เอาไว้ แล้วไปขอความช่วยเหลือเทพองค์ต่าง ๆ ให้ขัดขวางชายทุกคนมิให้ใครมาสู่ขอนางไซคีเป็นภรรยา จนนางไซคีเองเริ่มวิตกกังวลว่าชีวิตนี้จะไร้คู่ครอง จึงไปอ้อนวอนขอคำทำนายจาก ‘อะพอลโล’ ผู้เป็นเทพแห่งแสงสว่าง สัจจะ และคำพยากรณ์ ซึ่งสุริยะเทพก็ได้แจ้งแก่นางว่า คู่ครองของนางไซคีมิใช่มนุษย์ และจะรอคอยนางที่ยอดเขา แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อได้เจอกันแล้ว ห้ามไซคีหันหน้ามามองดูคู่ครองของนางเป็นอันขาด นางไซคีได้ยินดังนั้นจึงเดินทางไปยังยอดเขาตามคำทำนาย เมื่อมาถึงก็พบปราสาทงดงามที่อีรอสเนรมิตเอาไว้ (บางเวอร์ชั่น อีรอสเป็นฝ่ายลักพาตัวนางไซคีมาที่ปราสาท) พอตกกลางคืน อีรอสก็มาปรากฏในความมืด ทั้งสองร่วมรักกัน และทุกคืนอีรอสก็จะมาปรากฏตัวในความมืด และแอบออกไปก่อนรุ่งสาง โดยเขายังให้ไซคีสัญญาว่าจะไม่แอบดูหน้าเขาเด็ดขาด

แต่ผ่านไปไม่นาน ความสงสัยของนางไซคีก็มีมากขึ้นว่าคู่ครองของตนเองนั้นแท้จริงหน้าเป็นอย่างไร ประกอบกับที่สองพี่สาวผู้อิจฉาไซคีที่ได้อยู่ในปราสาทใหญ่โตพยายามใส่ไฟว่าสามีของไซคีอาจหน้าตาอัปลักษณ์หรือเป็นปีศาจ จึงไม่ยอมให้ไซคีมองหน้า คืนหนึ่ง ไซคีจึงวางแผนจะแอบดูหน้าของสามีขณะที่เขาเผลอหลับ เมื่อถึงเวลา นางไซคีจึงจุดตะเกียงเพื่อส่องดูหน้าตาของคนรัก และพบว่าคนที่ตนอยู่ด้วยทุกคืนนั้นเป็นชายผู้มีรูปโฉมงดงาม ทันใดนั้น น้ำมันตะเกียงได้ตกลงบนร่างกายของอีรอสจนเขาสะดุ้งตื่น เมื่อพบว่าคนรักของตนละเมิดสัญญา อีรอสจึงประกาศกร้าวว่า “ความรักไม่อาจคงอยู่ได้ หากปราศจากความไว้ใจ” พร้อมบินจากไปต่อหน้าต่อตานางไซคี

นางไซคีเสียใจมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเดินทางออกจากบ้านเกิดเพื่อออกตามหากามเทพผู้เป็นที่รัก และได้รับคำแนะนำจาก ดีมิเตอร์ เทพีแห่งพืชผลและความสมบูรณ์ ให้เดินทางไปยังวิหารของแอโฟรไดทีเพื่อขออภัยโทษ

แต่แรงริษยาที่เทพีแห่งความงามต่อนางไซคีนั้นยังแรงอยู่มาก พระนางจึงหาทางแกล้งนางไซคีสารพัดด้วยการมอบภารกิจเสี่ยงตายต่าง ๆ นา ตั้งแต่การแยกเมล็ดข้าวให้นกพิราบกินภายในหนึ่งวัน แอบไปขโมยขนแกะทองคำ จนถึงไปขอเครื่องประทินผิวจากพระนางเพอร์ซิโฟเน มเหสีของฮาเดสราชาผู้ครองยมโลก ซึ่งทุกภารกิจล้วนแล้วแต่เหนือกำลังปุถุชนธรรมดาจะทำได้ แต่นางไซคีก็สามารถผ่านภารกิจทั้งหมดทุกครั้ง ด้วยความช่วยเหลือ (อย่างลับ ๆ) ของอีรอสนั่นเอง

อีรอสเห็นความพยายามของนางไซคีที่ต้องการจะไถ่โทษเช่นนี้ สุดท้ายก็ยอมใจอ่อนให้กับคนรักในที่สุด จึงอ้อนวอนให้เทพซุสเกลี้ยกล่อมให้แอโฟรไดทียอมคลายความริษยาที่มีต่อนางไซคี และขอให้ประทานความเป็นอมตะให้ชายาของตัวเอง และนับแต่นั้นอีรอสและไซคีจึงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

เพเนโลปีและคอลิน คิวปิดและไซคีแห่งบ้านบริดเจอร์ตัน

ใน Bridgerton ซีซั่น 3 เรื่องราวความรักของเพเนโลปีกับคอลินนั้นมีหลายส่วนที่เห็นได้ชัดว่าหยิบยืมมาจากตำนานอีรอสและไซคีอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่หยิบมาใช้แบบตรงตัวและที่นำมาดัดแปลงปรับเปลี่ยน

เริ่มตั้งแต่การรับบทเป็นกามเทพของคอลินที่พยายามช่วยเพเนโลปีหาสามี แต่สุดท้ายเขาก็กลับตกหลุมรักเพเนโลปีเสียเอง เหมือนกับที่อีรอสพลาดแผลงศรรักใส่ตัวเอง ในขณะที่เรื่องราวการปิดบังตัวตนที่แท้จริงของอีรอสถูกดัดแปลงให้เป็นเรื่องราวของเพเนโลปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อตัวตนของเลดี้วิสเซิลดาวน์ถูกเปิดเผย เพเนโลปีก็กลับมารับบทไซคีที่ถูกอีรอสโกรธและต้องทำภารกิจเพื่อพิสูจน์รักแท้ของตัวเอง เหมือนกับที่เพเนโลปีต้องเปิดเผยตัวตนเลดี้วิสเซิลดาวน์ต่อหน้าสาธารณชนเพื่อปกป้องคนรักและครอบครัว ซึ่งในท้ายที่สุด คอลินก็ตัดสินใจที่จะยืนหยัดอยู่ข้างเธอ เหมือนกับที่อีรอสยืนหยัดคอยช่วยไซคีในตอนที่เธอต้องทำภารกิจตามคำสั่งของแอโฟรไดที

นอกจากเส้นเรื่องหลักแล้ว ยังมีหลายฉากที่ผู้สร้างแอบบอกใบ้เรื่องการใช้ตำนานอีรอสและไซคีเป็นแก่นหลักของซีซั่นนี้ เริ่มตั้งแต่ฉากงานเต้นรำในเอพิโสด 4 ที่พระราชินีชาล็อตทรงจัดงานเต้นรำในธีมอีรอสและไซคี พร้อมประกาศว่าพระองค์คือเทพีวีนัส และยังเปิดงานด้วยการแสดงบัลเลต์ที่เล่าเรื่องราวอีรอสกับไซคี ซึ่งฟลอร์เต้นรำตรงกลางก็เป็นกระเบื้องโมเสคที่เรียงเป็นภาพอีรอสและไซคีด้วย

ในท้ายเอพิโสด เมื่อเพเนโลปีและคอลินเต้นรำกันภายใต้บรรยากาศตึงเครียด เครสซิดาก็กระซิบบอกลอร์ดเดบลิงว่า “สองคนนั้นดูอารมณ์รุนแรง ราวกับศึกอันเร่าร้อนระหว่างอีรอสและไซคี”

นอกจากนี้ยังมีหลายฉากที่ผู้สร้างใส่ Easter Egg เกี่ยวกับตำนานอีรอสและไซคีเข้าไป ตั้งแต่ในเอพิโสดแรกที่คอลินมอบธนูให้เกรกอรีเป็นของฝากจากทริปท่องเที่ยว ซึ่งเกรกอรีก็แกล้ง ๆ เล็งธนูไปที่คอลิน เหมือนเป็นการบอกใบ้เรื่องราวของอีรอสที่ถูกศรรักของตัวเองปักเข้าอก

ในฉากที่เพเนโลปีและคอลินมีอะไรกันครั้งแรก การจัดองค์ประกอบในภาพนี้ก็ดูเหมือนจะได้แรงบันดาลใจจากงานศิลปะที่นำเสนอฉากอีรอสและไซคีร่วมรักกัน และยังมีการใช้สีน้ำเงินที่เห็นได้บ่อย ๆ ในภาพวาดอีรอสและไซคีด้วย

ละในฉากสุดท้าย เมื่อเพเนโลปีเผยต่อสังคมว่าเธอคือเลดี้วิสเซิลดาวน์ตัวจริง ผีเสื้อนับร้อยก็โบยบินออกมาจากกรง ราวกับจะเป็นการบอกใบ้ถึงการที่เพเนโลปีกล้าที่จะออกจากเงามืดและโอบรับตัวเอง สยายปีกเป็นผีเสื้อที่งดงาม ซึ่งทางผู้สร้างเองก็เคยอธิบายว่า เรื่องราวของเพเนโลปีตั้งแต่ซีซั่น 1 เป็นต้นมา คือเรื่องราวของหนอนผีเสื้อที่ออกจากดัดแด้ และกลายเป็นผีเสื้อที่งดงาม

และในภาษากรีก คำว่า ‘ไซคี’ นอกจากจะมีความหมายถึงจิตวิญญาณ (soul) แล้ว ยังมีความหมายว่า ‘ผีเสื้อ’ ซึ่งภาพของไซคีในงานศิลปะ ก็มักเป็นหญิงสาวที่มีปีกผีเสื้องดงาม

อ้างอิง

collider
bustle
denofgeek
shondaland