ช่วงท้าย ๆ ในตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่แล้วของโดนัลด์ ทรัมป์ เขาออกคำสั่งให้อาคารของภาครัฐที่จะสร้างใหม่ สร้างขึ้นในสไตล์ ‘สถาปัตยกรรมคลาสสิก’ และคำสั่งเดียวกันนั้นระบุว่าสถาปัตยกรรมแนวบรูทัลลิสต์ (Brutalist) และแนวรื้อสร้างไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางสุนทรียศาสตร์นั้นได้
ในปีนี้ ชื่อของสถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์กลับมาอีกครั้งกับภาพยนตร์ The Brutalist โดยโดยผู้กำกับ แบรดี คอร์เบ็ต (Brady Corbet) ซึ่งมองว่าสถาปัตยกรรมสไตล์นี้ “เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่สถาปนิกผู้อพยพนิยมสร้างกันมาก” และ “ตามธรรมชาติแล้ว มันมีแนวโน้มที่จะรื้อถอนอาคารเหล่านั้นและขับไล่ผู้คนเหล่านั้นออกไป”
สถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์เป็นสนามอารมณ์ของทุก ๆ คนมาเสมอ คนที่รักมันก็แสนจะรักมัน อยากอนุรักษ์มันไว้ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังใช้ชีวิตไปต่อได้ ส่วนคนที่ไม่ชอบก็อยากจะทุบทิ้งเสียทั้งหมด
ภาพยนตร์อย่าง Blade Runner 2049, Resident Evil, 1984 หรือ A Clockwork Orange ต่างก็ใช้สถาปัตยกรรมรูปแบบนี้เป็นฉากหลังหรือกระทั่งตัวแสดงสำคัญของเรื่องด้วยซ้ำ แต่ดูจากแต่ละเรื่องแล้วดูเหมือนว่าบรูทัลลิสต์จะเป็นสัญลักษณ์ของโลกมืดแสนเลวร้าย บรูทัลลิสต์อาจเป็นได้ทั้งตัวเอกและตัวร้าย แต่อย่างไรมันก็เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่เป็นตัวเอกเสมอ
GroundControl อยากชวนมามองสถาปัตยกรรมเหล่านี้ใหม่ ย้อนอดีตหาความหมายของมันว่าจริง ๆ คืออะไรกันแน่? สภาพสังคมในยุคสมัยที่มันเกิดมาเป็นอย่างไร? และทำไมภาพลักษณ์ตัวดี/ตัวร้ายของมันถึงเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์การเมืองระดับโลก? แต่ก่อนอื่น บรูทัลลิสม์คืออะไร?
สถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์หน้าตาอย่างไร?
คอนกรีต คอนกรีต คอนกรีต
นิยามสั้น ๆ ของสถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์ปรากฏอยู่ในพื้นผิวคอนกรีตที่ดิบ เปลือย ทึบ ตัน ที่สร้างสภาพแวดล้อมทะมึนมืดทั่วพื้นที่ (และถ้าลองลูบดูก็อาจจะรู้สึกถึงความสากด้วย)
ถ้าถามเด็กสถาปัตย์ เราอาจจะได้ยินคำคลาสสิกที่ว่า ‘Béton brut’ หรือ ‘คอนกรีตเปลือย’ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการเทปูนลงไปในแบบก่อสร้างและโชว์สภาพจริงของมันอย่างนั้น ไม่เอาวัสดุอะไรมาปิดผิว แบบที่นิยมทำกันในสถาปัตยกรรมรูปแบบอื่น เป็นเสมือนการแสดงความ ‘ซื่อสัตย์’ ต่อวัสดุนั้น ด้วยการเปิดให้พวกเราเห็นบทบาทและพลังของมันจริง ๆ ในอาคารเหล่านั้น
และผู้ที่ทำให้คำนี้รู้จักก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือตำนานสถาปนิกโมเดิร์น เลอกอร์บูซีเย (Le Corbusier) ซึ่งผลงาน ‘Unite d’habitation’ ของเขา ก็เป็นตัวอย่างสำคัญของงานแนวนี้ที่ทุกคนพัฒนาตามต่อกันมา โดยทั่วไปแล้วเรามักรู้จักอาคารนี้กันในฐานะต้นแบบของคอนโดสมัยใหม่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยให้คนจำนวนมาก และมีโรงเรียน ร้านค้า สนามกีฬา และพื้นที่ใช้งานอื่น ๆ ประกอบกันเป็นโลกเล็ก ๆ อีกใบในนั้น
![ภาพ ‘Unite d’habitation’ โดย Fred Romero](https://falcon.groundcontrolth.com/upload/b58b3820bd27e8d3bb760e8ed7bf318c.jpg)
ภาพ ‘Unite d’habitation’ โดย Fred Romero
อาคารพักอาศัยแห่งนั้นแสดงให้เห็นถึงลักษณะสำคัญอีกอย่างของสถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์ คือคุณสมบัติการใช้งานที่มักจะเพียบพร้อมและ ใหญ่! เพียงพอสำหรับให้บริการสาธารณชนจำนวนมาก เหมือนกับเหล่าอาคารหน่วยงานรัฐหรือสิ่งก่อสร้างสาธารณะต่าง ๆ ที่สร้างเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ ไม่ใช่แค่สำหรับใครบางคนหรือบางกลุ่ม (ซึ่งหลายครั้งทำให้ผลลัพธ์เป็นการย้ำรูปทรงเดิมซ้ำ ๆ จนกลายเป็นแพทเทิร์น สะท้อนให้เห็นหน่วยย่อย ๆ ของการอยู่อาศัยภายในเป็นห้องเล็ก ๆ หลาย ๆ ห้อง)
ลองมองไปที่อาคารคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือตึกฟิสิกส์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วเราอาจเห็นจิตวิญญาณแบบเดียวกันนี้ ทั้งในพื้นผิวที่ดูดิบหยาบ โครงสร้างเปิดเปลือย และฟังก์ชั่นการใช้งานสำหรับเหล่านิสิตผู้เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยรัฐ
![อาคารฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาพถ่ายโดย David Supervid](https://falcon.groundcontrolth.com/upload/e2eaff393dba7707fc5b0989b3692539.jpg)
อาคารฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาพถ่ายโดย David Supervid
เรย์เนอร์ แบนแฮม (Reyner Banham) นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมเขียนไว้ในความเรียง ‘The New Brutalism’ (บรูทัลลิสต์ใหม่) ที่เขาพยายามสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์ว่า
“ไม่ว่าคนจะพูดถึงเรื่องการใช้วัสดุอย่างซื่อสัตย์อย่างไร แต่สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ส่วนใหญ่ดูเหมือนมันจะสร้างขึ้นมาจากสีขาวหรือสารเคลือบอะไรสักอย่าง ทั้ง ๆ ที่มันสร้างจากคอนกรีตและเหล็ก สถาปัตยกรรมโรงเรียนฮันสแตนตัน (Hunstanton) ดูเหมือนจะสร้างขึ้นจากกระจก อิฐ เหล็ก และคอนกรีต แล้วมันก็สร้างขึ้นจากกระจก อิฐ เหล็ก และคอนกรีต จริง ๆ น้ำและไฟไม่ได้มาจากรูอะไรก็ไม่รู้ในผนัง แต่จุดใช้งานของมันลากต่อมาจากท่อและสายที่โยงมา”
หากจะสรุปสั้น ๆ อีกที สถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์มีหน้าตาเป็นอาคารคอนกรีตเปลือยที่มักจะใหญ่ ดูหนักแน่น และโชว์โครงสร้างการทำงานอย่างชัดเจน ให้ความสำคัญกับการใช้งานมากกว่าการตกแต่ง และเน้นน้ำหนักไปที่การใช้งานเพื่อคนหมู่มากเป็นพิเศษด้วย
![Hunstanton School, designed by Alison and Peter Smithson and Ronald Jenkins, photographed by Nigel Henderson.
© Nigel Henderson estate](https://falcon.groundcontrolth.com/upload/2c18cbbad27edc3ae526c9abdf1e9103.jpg)
Hunstanton School, designed by Alison and Peter Smithson and Ronald Jenkins, photographed by Nigel Henderson.
© Nigel Henderson estate
ทำไมบรูทัลลิสต์ถึงหน้าตาแบบนั้น?
การเน้นสไตล์ ‘สภาพจริง’ ในสถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์ ทำให้องค์ประกอบด้านการตกแต่งในสถาปัตยกรรมแบบเดิม ๆ หายไปด้วย และเมื่องานตกแต่งและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบเดิม ๆ หายไป ลำดับชั้นทางสังคมที่ซ่อนอยู่ในอาคารเหล่านั้นก็หายไปด้วย พื้นที่ภาครัฐกลายเป็นพื้นที่สาธารณะแทนที่จะเป็นพื้นที่ของชนชั้นสูงผู้ปกครองที่ต้องประดับตกแต่งหลังคา ประตู หน้าต่าง อะไรมากมาย
และในขณะเดียวกัน การก่อสร้างอาคารที่ไม่ต้องประดับตกแต่ง ใช้วัสดุซื่อ ๆ ตรง ๆ อย่างที่มันเป็นจริง ๆ ก็เป็นการประหยัดต้นทุนไปได้อีกเยอะ พร้อมสำหรับการรองรับผู้คนจำนวนมากในสังคม
ทำให้บรูทัลลิสต์เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เข้ากันได้ดีกับแนวคิดการเมืองแบบฝ่ายซ้ายสุด ๆ และมักจะพบได้ในรัฐสังคมนิยม เป็นได้ทั้งป้ายรถเมล์ ยันอนุสรณ์สถานยักษ์ใหญ่ ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา หรือกระทั่งในประเทศที่ไม่ได้เป็นสังคมนิยมเต็มสูบ แต่ก็มีขบวนการแรงงานเข้มแข็ง
มาร์ก ฟิชเชอร์ (Mark Fisher) นักคิดด้านวัฒนธรรมบรรยายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากช่วงหลังสงครามโลก - สงครามเย็น - มาจนถึงยุคสมัยของเรา ว่า
“สิ่งที่ตกอยู่ในวิกฤติของอาการหลอกหลอนในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่การหายไปของวัตถุอะไรสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่สิ่งที่หายไปคือแนวโน้มหรือแนวทาง ที่อาจเรียกได้ว่าความสมัยใหม่นิยมแบบเอาดัง (popular modernism) คือระบบนิเวศทางวัฒนธรรมที่ผมพูดถึง — พวกสื่อดนตรีและสื่อสาธารณะที่ท้าทายผู้ฟัง — สิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความสมัยใหม่นิยมแบบเอาดัง เช่นเดียวกับดนตรีโพสต์พังค์ สถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์ หนังสือคลาสสิกจากสำนักพิมพ์เพนกวินแบบปกอ่อน และเวิร์กช็อปทำเสียงดนตรีแปลก ๆ ของบีบีซี”
ประวัติศาสตร์ที่อิงแอบแนบชิดอยู่กับการเมืองเอียงซ้ายเหล่านี้ อาจทำให้เราพอเข้าใจได้ว่าทำไมสถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์ถึงเป็นตัวร้ายทั้งในสายตาของอุตสาหกรรมหนังจากสังคมทุนนิยมจัด และในสายตาของผู้ดีเก่าในเมืองที่วัดวังยังแสดงลำดับชั้นของคนในสังคมอย่างชัดเจน
มาจนถึงวันนี้เราไม่ค่อยเห็นสถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์ใหม่ ๆ ผุดขึ้นมาแล้ว ส่วนหนึ่งก็อาจด้วยคำวิจารณ์เรื่องความยั่งยืนในการใช้วัสดุคอนกรีตซึ่งไม่ค่อยจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนัก แต่คำถามก็ยังมีอยู่ว่า เราจะทำอย่างไรกับมรดกบรูทัลลิสต์เก่า ๆ ?
เพราะแท่งคอนกรีตที่ตั้งตระหง่านเหล่านั้นไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ใช้สอยธรรมดา ๆ แต่ยังแฝงไปด้วยคุณค่าและความฝันถึงอนาคตยาวไกล (นึกถึงหน้าตาศูนย์โทรคมนาคมที่ประเทศมาซิโดเนียเหนือ ซึ่งหน้าตาอย่างกับแบบบ้านของมนุษย์หากจะไปตั้งรกรากอยู่ที่ดาวดวงอื่น) พวกมันหลอกหลอนเพราะมันยืนยันว่าครั้งหนึ่งมนุษย์เคยฝันใหญ่ด้วยกันได้ขนาดนี้ ก่อนความฝันนั้นจะดับลง แล้วมนุษย์ก็เหลือแต่อดีตให้โหยหา
และมันท้าทายเรา ว่าจะทุบทิ้งโครงการแห่งความฝันเหล่านั้นหรือเข้าไปทวงคืนพื้นที่และใช้งานมัน สร้างอนาคตของมนุษย์ ในรูปแบบใหม่ ๆ ต่อไป
อ้างอิง
- Banham R. The New Brutalism by Reyner Banham - The Architectural Review. The Architectural Review. Published December 9, 1955. Accessed January 23, 2025.
- McLaughlin, K. (2023, July 12). Brutalist Architecture: Everything You Need to Know. Architectural Digest.
- Carlson, C. (2024, December 19). “There is no more controversial style of architecture” says The Brutalist director Brady Corbet. Dezeen.
- Fisher, M. (2014). Ghosts of my life : writings on depression, hauntology and lost futures. Winchester: Zero books.