ศิลปินผู้สร้างคาแรกเตอร์หน้าแปลก ที่ขอแหวกโลกศิลปะดังให้มันส์กว่าเดิม ใน ‘Face of Legendary’

‘Face of Legendary’ คือนิทรรศการเดี่ยวของ ‘แบ่มแบ๊ม - สุชญา ทองรมย์’ หรือ ‘bybambam’ ที่ประกาศขอเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใน KICHgallery ให้กลายเป็น The National Gallery ที่เต็มไปด้วยงานศิลปะชื่อดังคุ้นตา แต่หน้าตาอาจไม่คุ้นใจ เพราะเธอได้ใส่ ‘ใบหน้า’ ให้กับทุกภาพใหม่ตามสไตล์ของเธอเองลงไปด้วย จนเกิดเป็นโลกศิลปะในอีกยูนิเวิร์สที่โมนาลิซ่าอาจไม่ได้ยิ้มแบบมีเลศนัย และคลื่นยักษ์ของโฮคุไซอาจไม่ได้มีแค่เกลียวคลื่น
แบ่มแบ๊มเล่าให้เราฟังถึงเบื้องหลัง ‘ใบหน้า’ อันเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้ว่า “มันเริ่มต้นจากตอนเรียนคาแรกเตอร์ดีไซน์ ตอนนั้นเราคิดว่าคาแรกเตอร์ที่เราอยากวาดคือคน ก็เลยหันไปมองเพื่อน ๆ ในเอกว่าแต่ละคนมีลักษณะยังไงบ้าง ซึ่งเราก็เห็นเลยว่าทุกคนมีเอกลักษณ์ชัดเจนกันสุด ๆ ทั้งจากสีผมที่โดดเด่น การเจาะตามร่างกาย และการสัก เราคิดว่าน่าสนใจดี เลยเอามาเป็นแรงบันดาลใจในการวาดคาแรกเตอร์ซะเลย รวมถึงหน้าตาของตัวเราเองด้วยเหมือนกัน”

“พอคิดได้แบบนั้น เราก็เอากระจกมาตั้งบนโต๊ะ แล้วเริ่มสเก็ตช์หน้าของตัวเองไปเรื่อย ๆ จนได้มาเป็นคาแรกเตอร์ที่มี ‘ใบหน้า’ แบบที่ทุกคนได้เห็นกัน ซึ่งหลังจากออกแบบใบหน้านี้ขึ้นมาได้แล้ว เราก็นำมันมาใส่ให้กับภาพต่าง ๆ ของเรามานับแต่นั้น ทั้งภาพของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต”

“เราเลือกใช้สีอะคลิลิคเป็นเทคนิคหลัก เพราะในความคิดเรา สีอะคลิลิกเป็นสีที่ดึงเอกลักษณ์ความสดใสในเนื้อสีออกมาได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งความสดใสเนี่ย ก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์หลัก ๆ ในงานของเราเลย และอีกหนึ่งข้อดีคือเรื่องกลิ่น เพราะสีอะคริลิคมีกลิ่นไม่ค่อยแรงด้วย” แบ่มแบ๊มแชร์เทคนิคที่เธอใช้ในการทำงานให้เราฟัง

พอคุยกันมาเรื่อย ๆ จนถึงโปรเจกต์ล่าสุดอย่าง ‘Face of Legendary’ แบ่มแบ๊มก็เปิดเผยที่มาของแรงบันดาลใจว่าทุกอย่างเริ่มต้นจากความสงสัยง่าย ๆ ว่า “ทำไมผลงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ถึงมีชื่อเสียงโด่งดังได้มากขนาดนี้?”

แบ่มแบ๊มเล่า “คำถามนี้เกิดขึ้นตอนเราเดินทางไปดูงานศิลปะระดับโลกที่ประเทศอังกฤษ ที่นั่นมีแต่งานศิลปะดัง ๆ จัดแสดงอยู่เต็มไปหมดเลย มันดังมาก ๆ ชนิดที่ว่าต่อให้คุณจะเคยเรียนหรือไม่เคยเรียนศิลปะมาก่อนก็น่าจะรู้จักงานเหล่านั้นกันทั้งนั้น และเราก็ได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางครั้งนั้นมาก ๆ”

“ส่วนตัวเราชอบแวนโกะห์มาก ๆ พอได้เห็นงานจริงด้วยตาตุสเองก็ยิ่งอยากเห็นงานชิ้นอื่น ๆ มากขึ้นไปอีก เลยมีโอกาสกลับมาศึกษางานพวกนี้เรื่อย ๆ ว่าอะไรกันที่ทำให้ผลงานของเขาโด่งดังมากขนาดนี้ มันมาจากชีวประวัติของเขา หรือเป็นเพราะเทคนิคของเขาที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร แล้วเราก็คิดต่อไปอีกว่า มันคงจะดีนะถ้าเราสามารถรวบรวมผลงานที่เราชอบมาไว้ในที่เดียวกันให้หมดเลย ดังนั้น ‘Face of Legendary’ เลยเป็นนิทรรศการที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความคิดที่ว่านี้ และเป็นการทำตามความตั้งใจของเราที่อยากจะรวมผลงานระดับโลกมาไว้ที่เดียวกันด้วย

มันถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของตัวเราเลย เพราะจากเดิมเรามักจะถ่ายทอดบรรยากาศรอบตัวในมุมมองของตัวเองลงไปในงาน แต่ในตอนนี้เราได้นำมันมาประยุกต์เข้ากับเรื่องใหม่ อย่างการนำศิลปะชื่อดังต่าง ๆ มาสร้างสรรค์ให้ดูมีความสนุกสนานมากขึ้นด้วยการวาดหน้าตาให้กับสิ่งของต่าง ๆ รวมถึงการใส่องค์ประกอบเล็ก ๆ เพิ่มเข้าไปให้ดูทันสมัยมากขึ้นด้วย

“การมาดูนิทรรศการ ‘Face of Legendary’ เลยเหมือนกับการได้เข้ามาชมผลงานศิลปะระดับโลก และผลงานของเราไปในเวลาเดียวกัน” เธอทิ้งท้าย

ภาพนี้เป็นหนึ่งในชิ้นงานในวิทยานิพนธ์ของเราที่ชอบสุด ๆ เพราะมันบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของเราในตอนนั้นที่กำลังเป็นโรคซึมเศร้า เราเลยเปรียบเทียบอารมณ์ของตัวเองในแต่ละวันว่าเป็น ‘ตู้คีบตุ๊กตา’ ที่ไม่รู้เหมือนกันว่าจะคีบได้ตุ๊กตาตัวไหน เหมือนกับตัวเราที่ไม่สามารถคาดเดาได้เหมือนกันว่าวันนี้จะอารมณ์ดี ร้าย หรือเศร้าให้สุดไปข้าง

อีกหนึ่งอารมณ์ที่เรารู้สึกตลอดเวลาเหมือนกันก็คือ ‘ความอึดอัด’ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในห้องตัวเองแท้ ๆ มันเหมือนเรากำลังจมน้ำตลอดเวลา รู้สึกไม่สบายตัว เหมือนกำลังสวมเสื้อผ้าเปียก ๆ อยู่ตลอด และเครียดมาก ซึ่งพอเรารู้สึกแบบนั้นเราจะเอาสติกเกอร์ที่ดูน่ารักสดใสมาแปะตามสิ่งต่าง ๆ ให้ทั่วห้อง เผื่อมันจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นและสดใสตามขึ้นมาได้บ้าง

ภาพนี้ก็เป็นอีกหนึ่งงานในวิทยานิพนธ์เหมือนกัน เราคิดว่าชิ้นนี้เป็นไฮไลต์ของวิทยานิพนธ์เราในตอนนั้นเลย เพราะเราได้แรงบันดาลใจมาจากตอนที่ตัวเองรู้สึกแย่มาก ๆ เลยเอาแต่นั่งอยู่ในห้องน้ำ ปล่อยให้น้ำไหลผ่านตัว และแช่น้ำอุ่น ๆ อยู่อย่างนั้น เหมือนมันเป็นเซฟโซนที่เราสามารถส่งเสียงดังได้ ปล่อยอารมณ์ตัวเองออกมาได้ โดยไม่รู้สึกแย่ที่อารมณ์ของเราเป็นแบบนี้

งานชิ้นนี้คือผลงานชุดล่าสุดของเราในนิทรรศการ ‘Face of Legendary’ เลย และยังแสดงอยู่ในแกลเลอรี่ด้วย เราคิดว่านิทรรศการนี้ช่วยทำให้เราได้ออกจากคอมฟอร์ทโซนของตัวเอง และทำให้คนที่ชอบขลุกตัวอยู่แต่ในห้องอย่างเรากล้าที่จะออกมาทำอะไรใหม่ ๆ ไม่หมกมุ่นกับเรื่องของตัวเองมากเกินไป แถมยังกล้าเอาผลงานศิลปะระดับโลกมาวาดล้อเลียนเป็นสไตล์ของเราด้วย ซึ่งภาพนี้เราได้เอาภาพ ‘Birth of Venus’ ที่มีต้นแบบมาจากเวอร์ชันของ ซันโดร บอตตีเชลลี มา แล้วพอใส่ใบหน้าที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเข้าไปแล้ว เราก็รู้สึกว่าในที่สุดเราก็ทำให้ตัวละครของเรายิ้มออกมาได้สักที

เราประทับใจภาพนี้เพราะเคยพามันไปจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวที่ประเทศอังกฤษมา เหมือนมันเป็นความฝันแรกที่เราอยากแสดงนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองในต่างประเทศแล้วก็ทำได้ คอนเซปต์ของงานนี้ยังคงไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก นั่นคือการวาดเรื่องราวของตัวเราเช่นเคย ซึ่งภาพนี้กำลังแสดงภาพของเราที่ชอบจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ในแต่ละวันเอาไว้ เหมือนเป็นการจดบันทึกว่าเราเริ่มดีขึ้น เริ่มมีกิจกรรมที่ทำในห้องของตัวเองได้ และได้ลองเทคนิคใหม่ ๆ เช่นแอร์บรัชในการสร้างงานด้วย

นิทรรศการ ‘Face of Legendary’ ยังคงเปิดให้เข้าชมถึง 10 พฤษภาคม 2567 ที่ @kichgallery สามารถตามไปชมศิลปะชื่อดังในอีกยูนิเวิร์สสไตล์ ‘bybambam’ ในช่วงโค้งสุดท้ายกันได้เลย!

หรือถ้าใครอยากติดตามความเคลื่อนไหวของ ‘bybambam’ กันแบบเรียลไทม์ พร้อมส่องผลงานอื่น ๆ นอกแกลเลอรี่ของเธอไปด้วย ก็สามารถตามไปสำรวจด้วยตัวเองได้ทาง Instragram https://www.instagram.com/bybambam.1/

RELATED POSTS

ศิลปะแห่งการออกแบบสัตว์ประหลาด ความเป็นมนุษย์ และสงครามเย็น คุยกับ ‘มะเดี่ยว-ชูเกียรติ’ และ ‘เอก-เอกสิทธิ์’ จาก 13 เกมสยอง สู่ Taklee Genesis: ตาคลี เจเนซิส
In Focus
Posted on Sep 16
คุยกับ ‘บอส-นฤเบศ กูโน’ และ ‘มายน์-ชญานุช เสวกวัฒนา’ ว่าด้วยเบื้องหลังการรีเสิร์ชเพื่อสร้าง ‘วิมานหนาม’ ผ่านสถานที่และดีไซน์เสื้อผ้าในหน้าจอ
In Focus
Posted on Sep 11
สำรวจภาวะ​​ ’คนนอก’ ของตัวเองและของตัวละครแซฟฟิกอมนุษย์ต่างชนชั้น ใน ‘ฝนเลือด’ ของศิลปินคนทำหนัง อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
In Focus
Posted on Sep 9
‘เอ๋ - ปกรณ์ รุจิระวิไล’ กับการบอกลาศิลปะแบบเมืองใหญ่ และความท้าทายของอาร์ตสเปซในเมืองเล็ก ๆ
In Focus
Posted on Aug 15