ถอดรหัส Gannibal เมื่อ ‘ซอยจุ๊’ สะท้อนลึกถึงอำนาจและการสูญสิ้นความเป็นคน

Post on 2 May 2025

‘Cannibalism’ หรือ ‘การกินเนื้อพวกเดียวกัน’ น่าจะเป็นหนึ่งในคีย์เวิร์ดสยองขวัญที่เรียกความสนใจให้ทุกคนได้เสมอ เพราะสิ่งนี้ดูเป็นเรื่องต้องห้ามและน่าขยะแขยง จึงไม่แปลกเลยที่หนังและซีรีส์แนวสยองขวัญมักหยิบเอาประเด็นนี้มาใช้ เพื่อเพิ่มแรงสะเทือนใจและสร้างความสยดสยองแบบถึงขีดสุด ไม่ว่าจะเป็น The Silence of the Lambs, Hannibal, Bones and All ไปจนถึง Gannibal ซีรีส์ญี่ปุ่นแนวเขย่าขวัญที่กำลังฉายซีซันสองทาง Disney+ Hotstar

Gannibal (2022) เป็นซีรีส์ญี่ปุ่นแนวสืบสวนระทึกขวัญ ที่ดัดแปลงจากมังงะชื่อเดียวกันของ มาซากิ นิโนมิยะ (Masaki Ninomiya) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2018 ในนิตยสาร Weekly Manga Goraku โดยเรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ตำรวจหนุ่ม ไดโกะ อะกาวะ (Daigo Agawa) ย้ายมาประจำที่หมู่บ้านกันนิบะ หมู่บ้านห่างไกลกลางหุบเขา หลังเกิดเหตุการณ์น่าสงสัยเกี่ยวกับครอบครัว โกโต (Goto) ตระกูลทรงอิทธิพลในพื้นที่ เขาค่อย ๆ เปิดโปงความลับดำมืดของหมู่บ้านแห่งนี้ ที่อาจเกี่ยวพันกับการกินเนื้อมนุษย์

หลังจากดูซีรีส์เรื่องนี้ไปเรื่อย ๆ เราก็รู้สึกว่าการกินเนื้อมนุษย์ของตระกูลโกโตเริ่มเป็นมากกว่าองค์ประกอบความสยอง แต่เรามองว่ามันยังสื่อถึงสัญญะบางอย่างที่มากกว่านั้น เพราะ ‘การกิน’ สามารถตีความได้หลากหลาย เช่น ในหลาย ๆ ตำนานความเชื่อ ‘การกินพวกเดียวกัน’ มักถูกนำมาใช้สื่อถึงการแสดงอำนาจ เช่น ในตำนานกรีกเรื่องโครนอส เขาได้กินลูกตัวเองเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้ เพราะกลัวว่าลูกจะมาล้มล้างตน เลยกลืนทุกคนไว้ในท้อง

หรือในทางความเชื่อทางศาสนาอย่างศาสนาคริสต์ ก็มีพิธีกรรม ‘ศีลมหาสนิท’ ที่ทุกคนจะได้กินไวน์กับขนมปังที่เป็นเหมือนกับเลือดและเนื้อของพระเยซูด้วยเหมือนกัน เพื่อสื่อถึงการรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า และแม้ว่าจะไม่ใช่การกินเนื้อมนุษย์หรือเนื้อพระเยซูจริง ๆ แต่สิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นว่าการกินในเชิงพิธีกรรมสามารถมีนัยยะทางจิตวิญญาณลึกซึ้งที่สะท้อนถึงการเชื่อมโยงระหว่างร่างกาย จิตใจ ของ ‘ผู้กิน’ กับ ‘ผู้ถูกกิน’ ได้

ในประวัติศาสตร์จริง การกินเนื้อมนุษย์ก็ไม่ได้มาจากความหิวโหยเพียงอย่างเดียวเหมือนกัน แต่ยังมีเรื่องของศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ชนเผ่าโฟเร่ในปาปัวนิวกินี ที่กินเนื้อญาติผู้ตายเพื่อแสดงความอาลัย หรือชาววารีในบราซิลที่เชื่อว่าการกินเนื้อผู้ตายช่วยเชื่อมสัมพันธ์เครือญาติ

หรือในยุโรปยุคกลางก็มีความเชื่อว่า ‘mumia’ หรือผงจากมัมมี่สามารถรักษาโรคได้ทุกชนิด ตั้งแต่ปวดหัวจนถึงโรคร้ายแรง ความเข้าใจผิดนี้เริ่มมาจากการแปลคำว่า mumia ผิด โดยดิมทีคำนี้มีความหมายว่ายางมะตอยจากเปอร์เซีย แต่คนยุโรปตีความว่าหมายถึงมัมมี่ ก็เลยพากันเฮโลกินมัมมี่เพื่อสุขภาพจนมีการขุดศพจากสุสาน หรือแม้แต่สร้างมัมมี่ปลอมจากศพใหม่เพื่อนำมาบดขายเป็นยารักษาโรค แม้กระแสนี้จะเริ่มจางลงในยุคหลัง แต่ภาพจำเกี่ยวกับมนต์ขลังและการรักษาแบบโบราณของอียิปต์ก็ยังคงอยู่

ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ‘Cannibalism’ ไม่ใช่เรื่องของการกินเพื่อความอยู่รอดหรือความหิวโหยเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับเรื่องอำนาจ ศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรม และความปรารถนาอันซับซ้อนของมนุษย์ในแต่ละยุคแต่ละวัฒนธรรมด้วย

ด้วยเหตุนี้ ‘การกิน’ ในเรื่อง Gannibal เอง ก็อาจจะกำลังบอกนัยบางอย่างที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่อง อำนาจ ศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรม และความปรารถนาอันซับซ้อนของมนุษย์ได้เหมือนกัน ดังนั้น ในบทความนี้ เราเลยอยากจะชวนทุกคนมาลองถอดรหัสและตีความ ‘การกิน’ ในเรื่องนี้ ที่อาจจะทำให้เราดูซีรีส์แบบมีอรรถรสมากขึ้น ตามมาเลย!

📌 Gannibal กับการกินมนุษย์เพื่อ ‘อยู่เหนือ’ ไม่ใช่ ‘อยู่รอด’

ในซีรีส์ Gannibal จะมีฉากตำนานเมืองในอดีตที่ว่าด้วยความเชื่อเรื่องการ ‘บูชายัญมนุษย์’ ให้กับชนเผ่าหนึ่งที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเทพที่สามารถดลบันดาลความอุมสมบูรณ์ให้กับพวกเขาได้ ซึ่งการกระทำนี้ชวนให้เราอดเปรียบเทียบ ‘ชนเผ่า’ นี้ เข้ากับ ‘โอนิ’ ปีศาจในตำนานพื้นบ้านญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะโอนิคือปีศาจที่มีรูปร่างใหญ่โต แข็งแรง หน้าตาน่ากลัว และเชื่อว่ามีต้นกำเนิดจากต่างแดน ซึ่งคล้ายกับรูปแบบของตัวละครในเผ่านี้ที่กินมนุษย์ ตัวใหญ่ และลึกลับ

ในตำนานญี่ปุ่น โอนิไม่เพียงแต่ดุร้ายและมีรูปร่างน่ากลัวเท่านั้น แต่พวกมันยังมีชื่อเสียงเรื่องการกินเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร โดยเฉพาะเด็กและผู้หลงทาง ทำให้โอนิกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้ายและภัยอันตรายในวัฒนธรรมญี่ปุ่น และมักถูกมองว่าเป็นตัวแทนของพลังดิบที่ไม่อยู่ภายใต้กรอบของมนุษย์

‘ท่านผู้นั้น’ คือตัวละครสำคัญที่เชื่อมโยงตระกูลโกโตเข้ากับชนเผ่ากินคนเหล่านี้ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าเขาอาจจะเป็นลูกของชนเผ่านี้กับยายกิน และเขายังถูกเลี้ยงมาโดยการให้กินเนื้อมนุษย์ จนกลายเป็นท่านผู้นั้นผู้สูงส่งของตระกูล และหลังจากนั้นพิธีกรรม ‘บูชายัญ’ ก็เปลี่ยนจากการบูชายัญชนเผ่า เป็นบูชาท่านผู้นั้นแทน แต่ไม่ใช่การบูชาเพื่อความอุดมสมบูรณ์อีกต่อไป แต่เพื่อความปลอดภัยในชีวิตตัวเองมากกว่า

การ ‘กินมนุษย์’ จึงไม่ใช่เรื่องของความหิวโหยธรรมดา แต่เป็นพิธีกรรมแสดงอำนาจ เพื่อยืนยันสถานะของตนเองว่าเหนือกว่ามนุษย์ธรรมดา และยังเป็นวิธีรับพลังชีวิต จากผู้อื่นเข้าสู่ร่างกายตัวเอง เปรียบได้กับการครองอำนาจผ่านการกลืนรวมศักดิ์ศรีของผู้อื่น ทั้งในทางร่างกายและจิตวิญญาณ ซึ่งทำให้ผู้คนในหมู่บ้านหวั่นเกรงและยอมรับในอำนาจของพวกเขา

ดังนั้น การกินในที่นี้เลยเป็นการแสดงให้เห็นถึงการ ‘อยู่เหนือ’ ไม่ใช่เพื่อความอยู่รอดหรือความจำเป็นทางร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อรักษาสถานะที่เหนือกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็นวิธีที่พวกเขาสร้างอำนาผ่านการใช้งานความกลัวของคนในหมู่บ้านที่หวาดกลัวในสิ่งที่ตระกูลโกโตสามารถทำได้ไปพร้อม ๆ กัน

📌Gannibal กับการกินเพื่อสืบทอด

ในหลายวัฒนธรรมโบราณมีความเชื่อว่า อวัยวะของมนุษย์ไม่ใช่แค่เนื้อ แต่เป็นที่เก็บพลัง เช่น สมองอาจเป็นที่เก็บภูมิปัญญา หัวใจแทนความกล้าหาญ หรือเลือดแทนชีวิตและพลังงาน การกินอวัยวะเหล่านี้จึงเป็นการดึงพลัง หรือถ่ายโอนคุณสมบัติพิเศษจากผู้ถูกกินเข้าสู่ตัวเอง หรือในชนเผ่าโฟเร่ในปาปัวนิวกินี ที่กินเนื้อญาติผู้ตายเพื่อแสดงความอาลัย ก็เพราะพวกเขาเชื่อว่าญาติที่เสียไปแล้วจะมาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวในตัวของพวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน

ในแง่นี้ การกินจึงไม่ใช่เพียงการบริโภค แต่เป็นการ ‘สวมสิทธิ์’ หรือ ‘รับช่วง’ พลังงาน ความสามารถ หรือแม้แต่บทบาทในสังคมของผู้ถูกกิน คล้ายกับเป็นการ ‘โอนย้ายสถานะ’ ทางจิตวิญญาณ ซึ่งในซีรีส์เรื่อง Gannibal ตระกูลโกโตได้ทำให้การกินเนื้อมนุษย์เป็นเหมือน ‘พิธีกรรม’ สืบทอดอำนาจ แนวคิด และรักษาเจตจำนงของคนรุ่นเก่า เช่น ในตอนแรกของเรื่อง เราจะเห็นฉากที่พวกตระกูลโกโตล่าหมีที่ฆ่ายายกิน แล้วก็กินหมีตัวนั้นสด ๆ แล้วยื่นเนื้อให้ตำรวจกินด้วย โดยบอกว่าเพื่อให้วิญญาณยายกินเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา

เท่ากับว่า เมื่อหมีตัวนั้นกินยายกิน ยายกินก็เป็นส่นหนึ่งของหมี และเมื่อเรากินหมี เราก็จะได้รับพลังของทั้งสองอย่างเช่นกัน ฉากนี้เลยแสดงให้เห็นถึงแนวคิดการกินเพื่อสืบทอดอย่างชัดเจน และยังมีการเฉลยด้วยว่า ท่านผู้นั้นเป็นคนกินศพยายกิน ซึ่งก็อาจเชื่อมสิ่งนี้เข้ากับความเชื่อเรื่องการกินบรรพบุรุษหลังเสียชีวิต ที่จะทำให้พวกเขาดำรงอยู่กับเราตลอดไปในร่างกายของเรา

ดังนั้น การกินมนุษย์เลยกลายเป็นเหมือนกับเครื่องมือในการสืบทอดพลังและรักษาความเป็นเลือดบริสุทธิ์ของตระกูลโกโตเอาไว้ ทำให้พวกเขาปกป้องพิธีกรรมนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะมันไม่ได้เป็นแค่เรื่องประเพณี แต่เกี่ยวพันกับ โครงสร้างอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ควบคุมทั้งครอบครัวและชุมชน

📌ก้าวข้ามความเป็นมนุษย์ หรือ สูญสิ้นความเป็นคน?

โรค ‘คูรู’ (Kuru) คือโรคทางระบบประสาทที่เกิดจากการกินเนื้อเยื่อสมองของมนุษย์ โดยเฉพาะในชุมชนโฟเร่แห่งปาปัวนิวกินีซึ่งเคยมีธรรมเนียมกินเนื้อผู้ตายเพื่อแสดงความอาลัย ทำให้สารโปรตีนในสมองผิดปกติจนเกิดอาการสั่น ประสาทหลอน และเสียชีวิตในที่สุด ที่สำคัญคือ ในพิธีกรรมนี้ ผู้หญิงและเด็กมักจะเป็นกลุ่มแรกที่บริโภคสมอง จึงเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุด จนมีช่วงหนึ่งที่หมู่บ้านแทบไม่หลงเหลือผู้หญิงอยู่เลย

ใน Gannibal โรคนี้ถูกหยิบมาเชื่อมโยงกับตระกูลโกโตที่กินมนุษย์เช่นกัน แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม พวกเขาไม่ตาย ไม่ป่วย หากแต่ ‘กลายพันธุ์’ กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทรงพลัง ทนทาน และเกือบอมตะ จนเกินกว่าจะเรียกว่า ‘มนุษย์’ โรคคูรูในเรื่อง Gannibal และในสายตาคนตระกูลโกโตเลยไม่ใช่ ‘บทลงโทษ’ ของการกินพวกเดียวกัน แต่เป็น ‘รางวัล’ ที่นำพาไปสู่การวิวัฒนาการให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตทรงพลังที่เหนือกว่ามนุษย์

การกลายพันธุ์ในที่นี้ เลยอาจตีความได้ว่าเป็น ‘การหลุดพ้น’ จากเผ่าพันธุ์เดิม เพื่อยกระดับอำนาจเหนือสามัญชน สมดังที่ตระกูลโกโตตั้งใจและเชื่อมั่นมาตลอดว่าตัวเองสืบเชื้อสายมาจากโอนิผู้ยิ่งใหญ่ทรงพลัง อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์หลังจากกินมนุษย์มักมาพร้อมการสูญสิ้นความเป็นคน โดยในหลาย ๆ เหตุการณ์ คนที่กินเนื้อมนุษย์มักไม่ได้รับจุดจบที่ดีนัก หรือไม่ก็ไม่สามารถกลับมาเป็นคนปกติได้

สิ่งนี้เลยสะท้อนให้เห็นว่าการ ‘กลายพันธุ์’ ของตระกูลโกโต ต้องแลกมาด้วย ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่หายไป ทั้งด้านจริยธรรม สติสัมปชัญญะ ความรัก ความเป็นครอบครัว เหมือนกับตัวละคร ‘ท่านผู้นั้น’ ของตระกูลโกโต ที่แข็งแกร่งมาก ๆ แต่ก็ไร้ซึ่งความเป็นคนที่ควรเป็น เหมือนกับว่า การกินมนุษย์เท่ากับการตัดสินใจแล้วว่าจะออกนอกกรอบสังคม นอกขอบเขตศีลธรรม ดังนั้นการกระทำนี้เลยเป็นสัญญะของการ ‘สละความเป็นคน’ หรือ ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ และกลายไปเป็นสิ่งอื่นนั่นเอง

อ้างอิง

Cannibalism. Sac.or.th. Published 2015. Accessed May 2, 2025. https://anthropology-concepts.sac.or.th/glossary/20

Blakemore E. ​The gory history of Europe’s mummy-eating fad. History. Published May 2023. Accessed May 2, 2025. https://www.nationalgeographic.com/history/article/mummy-eating-medical-cannibalism-gory-history

The. Oni | Demon, Yokai & Shapeshifting. Encyclopedia Britannica. Published July 20, 1998. Accessed May 2, 2025. https://www.britannica.com/topic/oni