สำรวจอารมณ์ขันในแบบของ canplu ศิลปินผู้ผสมความเคอะเขิน เด๋อด๋า และอ้อมค้อม ให้กลายเป็นคาแรกเตอร์สุดมึน

Post on 9 August

หากโจทย์ข้อสอบแพทเทิร์นคุ้นในวิชาภาษาไทย กลายมาเป็นคำถามเริ่มต้นของบทความนี้ เราก็คงจะถามทุกคนว่า “คุณคิดว่าผู้วาดคิดอย่างไร?” พร้อมโชว์ภาพคาแรกเตอร์หน้าแปลกที่มาพร้อมกับสีสันแสบ ๆ คัน ๆ ของศิลปินอิสระอย่าง ‘canplu’ หรือ ‘เพลง-กานพลู ยิ้มละมัย’ ให้คุณดู เชื่อว่าร้อยทั้งร้อย ใคร ๆ ก็ต้องตอบว่ามาสายตลกแน่ ๆ แต่เมื่อเราถามคำถามนี้กับนักวาดตัวจริง เธอกลับบอกเราว่า “เอาจริง เรานึกว่างานเราติดเครียดมาตลอด”

และในขณะที่เรากำลังสงสัยว่าสรุปงานของศิลปินเครียดจริง หรือเป็นเราเองที่เส้นตื้น คำตอบส่วนต่อไปของ canplu ก็ช่วยให้เราเข้าใจถึงที่มาความชวนหัวที่เรารู้สึกจากงานของเธอได้ในทันที นั่นก็เป็นเพราะว่าความเครียดที่ว่ามานี้ไม่ได้มาจากอาการเครียดแบบคร่ำเคร่ง แต่เป็นความเครียดแบบเกร็งนิด ๆ กังวลหน่อย ๆ ผสมกับความเคอะเขิน อ้อมค้อม ขี้เกรงอกเกรงใจ จนกลายมาเป็นคาแรกเตอร์ที่ดูเอาแน่เอานอนไม่ได้ แถมพกความ เด๋อ ๆ ด๋า ๆ ติดตัวมาด้วยแบบนี้นั่นเอง

“เรามองว่างานของเราเป็นส่วนผสมระหว่างเรื่อง สี จังหวะ การพูดอ้อมค้อม และความตลก (ที่ยังไม่แน่ใจ) แบบว่ามันก้ำกึ่งระหว่างความกลัวว่าจะมีคนเข้าใจเกินไป กับกลัวว่าจะไม่มีคนเข้าใจเลย เป็นความรู้สึกเหมือนเวลาเราเขินเกินไปที่จะต้องพูดออกไปโพล่ง ๆ เลยขอพูดอ้อมนิดหน่อยถึงปัญหาทั่วไปในชีวิต” canplu อธิบาย

“บทสนทนาในงานของเราเลยมักจะมาจากประโยคที่ได้ยิน ไปจนถึงเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในชีวิตจริงของเราเลยก็มี โดยเราจะเล่าออกมาผ่านบริบทรอบข้างและความเชื่อที่เราคุ้นเคยแทรกอยู่ด้วย ขึ้นอยู่กับว่าประเด็นไหนจะล้นเอ่อหรือสะกิดใจไม่หยุด เราก็จะเลือกบรรเทาประเด็นนั้นออกมาเป็นภาพเพื่อไม่ให้เป็นการเสียของ”

เธอยังแสดงความรู้สึกเรื่องที่คนมองเห็นอารมณ์ขันในงานของตัวเองด้วยว่า “เราเพิ่งรู้เมื่อไม่นานมานี้ว่างานของเรามีมวลความตลกอยู่ในนั้น ตอนนั้นเราประหลาดใจไปวันสองวันเลย เอาจริง เรานึกว่างานของตัวเองติดเครียดมาตลอด ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่ามันจะทำคนขำจนไหล่สั่นได้ด้วย รวมถึงสีที่ใช้ จังหวะที่ปล่อยบนงาน การจัดวาง เน้นตรงนี้ ปล่อยตรงนั้น เวลาได้ทำพวกนี้ลงไปแล้วมันลงตัว จะรู้สึกยิ่งชอบความพอดีตรงนั้นมาก ๆ”

เมื่อได้ฟังที่มาที่ไปของเจ้าคาแรกเตอร์หน้าเด๋อสุดมึน ที่จู่ ๆ ก็ดูน่าตลกแบบไม่ตั้งใจของ canplu แล้ว เราก็อยากรู้ต่อไปอีกว่า เพราะอะไรเธอถึงเลือกที่จะวาดคาแรกเตอร์ตัวนี้ขึ้นมาตั้งแต่ต้น ซึ่งเธอก็ได้บอกเราว่า “เป็นเพราะเราอยากใช้คนเล่าเรื่องของคนค่ะ”

เธอเล่าต่อ “เราเป็นคนที่ชอบสังเกตท่าทางคน พอเห็นหรือนึกท่าทางที่โดนใจออกก็จะวาดเก็บดองไว้ในสมุดก่อน เผื่อไว้หยิบใช้กับเรื่องที่สื่อสารได้ ส่วนใหญ่จะมาจากคนรอบตัวเราทั้งนั้นเลย ทั้งพ่อแม่ น้อง เพื่อน ทุกคนได้กลายเป็นแบบของเรากันหมด และมีเราเป็นตากล้องกับเป็นคนบรีฟมุมท่าอีกที บวกกับเราชอบการเลย์เอาท์ จัดวางหน้ากระดาษอยู่แล้วด้วย เลยได้เอาความชอบการจัดเรียงอันนี้มาใช้ในงานตัวเองด้วย”

“และสำหรับคาแรกเตอร์ตัวนี้ จริง ๆ แล้วเราไม่ได้มีต้นแบบมาจากใครหรืออะไรเป็นพิเศษเลย และถ้าสังเกตให้ดี คาแรกเตอร์ตัวนี้เขายังมีเพื่อนคู่คิดอยู่ที่เข่าทั้งสองข้างด้วยนะ” เธอเสริม พร้อมกับชี้ไปที่เข่าสองข้างของคาแรกเตอร์ที่คลับคล้ายคลับคลาว่าจะมีโครงใบหน้าปรากฏอยู่เหมือนกัน

canplu ยังแชร์ให้เราฟังถึงเทคนิคและกระบวนการทำงานด้วยว่า “เราเริ่มต้นการวาดเพราะอยากหาวิธีใหม่ ๆ มาเอนเตอร์เทนตัวเองในช่วงโควิด คือตอนนั้นเราเพิ่งเรียนจบ โน้ตบุ๊กคู่ใจพัง และอยากบ่น เลยเริ่มหาของที่มีในบ้าน สิ่งที่พอมีในมือว่าทำอะไรแก้ขัดได้บ้าง สีไม้ สีน้ำ สีโปสเตอร์ ปึกกระดาษที่เคยส่งโปรเจกต์ช่วงเรียน แผ่นที่พรินต์ลองผิดลองถูกเก็บไว้เต็มไปหมด เลยพลิกกลับด้าน ตัดแบ่งพื้นที่เป็นกระดาษวาดรูปซะเลย”

“อีกอย่างหนึ่งคือ เราเป็นคนที่ถ้ามีเวลาให้คิด จะคิดนานมาก ลังเลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การได้วาดงานมือ ตอบปัญหาตัวเองถูกจุดมาก หากลงสีไปแล้วไม่ชอบ มันย้อนกลับไม่ได้ ต้องเอาใหม่เท่านั้น (หลังนั่งเซ็งไปแล้วแป๊บหนึ่ง) เลยได้เรียนรู้ตัวเองไปพร้อมกับงานเหมือนกันว่าถ้าทำแล้ว มันจะออกมาเป็นประมาณแถว ๆ นี้นะ ถ้าคิดอยู่อย่างเดียวก็คงคิดไม่ออกเหมือนกันค่ะว่าจะออกมาแบบนี้ และยังไม่ได้จำกัดตัวเองด้วยว่าต้องเทคนิคนี้เท่านั้น อยากลองไปเรื่อย ๆ เน้นมีอะไรใช้อันนั้นมากกว่า”

“เราเป็นคนที่สมุดแทบไม่เคยห่างมือเลย ตอนวาดเราไม่ได้ตั้งใจว่าอันนี้จะเอามาเป็น canplu ในวันหน้านะ ไม่เคยคิดเลย เลยทำให้วาดมาเรื่อย ๆ แบบไม่ฝืนตัวเอง เละบ้าง เนี้ยบบ้าง ปล่อยใจสุด ๆ พอได้วาดนานเข้า ยิ่งทำให้รู้จักจังหวะตัวเองมากขึ้นจนมั่นใจว่าวาดอะไรแล้วชอบ แล้วสบายใจ เลยง่ายขึ้นมากตอนจะเริ่มวาดและรู้ว่ามีความเป็นไปได้นะที่จะวาดออกมาได้ตามที่ใจนึก รวมถึงเทคนิคที่ใช้เป็นหลักในตอนนี้ก็เช่นกัน ยังต้องปรับและทดลองอยู่ตลอด เช่นตัวกระดาษที่เรามีแบบสุ่ม ๆ บ้าง เพราะบางแผ่นเป็นกระดาษสำหรับพิมพ์หมึก ไม่ซึมน้ำ ระบายดินสอสีไม่ติด บางทีก็ลองจนเลอะเทอะก็มีค่ะ ไม่ได้รอดทุกอัน”

หลังจากคุยเรื่องการทำงานกันอยู่นาน ก็มีเรื่องหนึ่งที่เราถามขึ้นมาเพื่อผ่อนคลายระหว่างการสนทนา แต่คำตอบของ canplu กลับฟังดูน่าสนใจมาก นั่นก็คือเรื่องที่มาของนามปากกา ‘canplu’ เธอบอกกับเราอย่างอารมณ์ดีว่า เธอจงใจใช้ตัว c แทนตัว k เพราะเธอเขียนตัว k ไม่สวย และอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญคือเธอตั้งใจเขียนให้มันผิดจากชื่อจริงของเธอ ให้มันเป็นพาร์ทที่ตัวเองผิดได้และจะไม่สมบูรณ์ ต่อไปเวลาวาดหรือคิดอะไร จะได้ไม่กลัวที่จะผิดเพราะมันผิดตั้งแต่ตอนเริ่มแล้วเหมือนได้แก้เคล็ดผ่านชื่อ

ด้วยทัศนคติแบบกล้าที่จะพลาดแบบนี้ พอเราถามว่าในอนาคตเธออยากจะทำงานแบบไหน เธอจึงตอบกลับมาอย่างตั้งใจว่า “เราอยากลองวิธีใหม่ ๆ ดูอีกเยอะ ๆ เลยค่ะ เราอยากรู้ว่าเทคนิคอื่น ๆ นอกเหนือจากกระดาษจะเข้ากับงานของเราได้ยังไงบ้าง และงานเราจะเปลี่ยนไปยังไงอีก ทั้งคาแรกเตอร์ สิ่งที่เล่า มุมมอง ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามวัยของเราแน่ ๆ และเราอยากเห็นตัวงานไปอยู่ในที่ที่สนุกขึ้น ตื่นเต้นขึ้น แบบที่จะทำให้ต้องแวะแอบกรี๊ดในใจ”

TOUCHING

เรากดเข้าไปฟังเพลงฮิตเพลงหนึ่งในตอนนั้น ท่อนฮุกร้องว่า “โอ๊ย เจ็บไปทั้งหัวใจ” (ลงใจ - Bowkylion) และนึกครึ้มกับตัวเองว่าถ้าเป็นเรากำลังพูดประโยคนี้ออกมาจากปาก จะกำลังทำท่ายังไงอยู่ดี เลยคิดเป็นท่าทางคนก้มดูก้อนอึสีเหลืองที่เพิ่งเผลอเดินเหยียบไปแล้วสะเทือนใจกับมันเกินความจำเป็นไปมาก และที่ประทับใจเพราะตอนวาดภาพนี้เสร็จ ทำให้มั่นใจว่าเราชอบวาดมุมประมาณนี้ มุมเสยมุมช้อนแบบนี้ กลายเป็นหลังจากนั้นชอบถ่ายภาพมุมแบบนี้เก็บไว้ตลอดเลยค่ะ จนมือถือขึ้นเตือนความจำเต็ม!

Test bites, Spice warning

งานนี้เป็นงานภาพขยับชิ้นแรกของปี 2024 เวลาได้เห็นงานตัวเองขยับได้ แม้จะขยับเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม จะเรียกความสนุกเราได้อย่างดีและเป็นภาพที่เล่าถึงเรากับแม่เวลากินข้าว หลังจากโรคกระเพาะแม่กลับมาอีกครั้ง เรารับหน้าที่ใหม่ประจำบ้านเป็นนักชิม ลองชิมอาหารว่าจานไหนเผ็ด ไม่เผ็ด เผ็ดพอแม่ทนได้หรือไม่ได้ตลอดทุกมื้อ ประทับใจที่ได้วาดโมเมนต์ความรักตัวเองออกมา ได้ตะโกนว่ารักแม่ แม้ตัวเองจะเผ็ด (ที่แปลว่าเผ็ดเครื่องแกง)

King of Convenience

‘ห้ามจอดตลอดแนว’ เราชอบคำตามป้ายอะไรแบบนี้มาก ชอบที่ได้ใช้ป้ายคำภาษาไทยในงาน เล่าถึงบริบทย้อนแย้งที่เจอรอบตัว ประมาณว่าตรงนี้ห้ามจอดแต่เอาเถอะ ขอจอดแป๊บเดียว แต่ผิดก็คือผิด โดนล็อกล้อกันไปตามระเบียบ แถมบางทีคนจอดในที่ห้ามจอดเป็นคนเดียวกับที่ถือกุญแจล็อกล้อนั้นไว้เองนั่นแหละ

เราช้านะ /Our Tempo

ทีแรกเลยมาจากแอปพลิเคชันชื่อ ‘เราชนะ’ ของรัฐบาลในช่วงโควิด-19 เป็นคำถามแรกที่คงแว๊บมาในหัวหลาย ๆ คนว่าชนะใคร เลยเอาชื่อแอปมาเล่นคำให้ออกเสียงยืดยาดตามจังหวะการทำงานของรัฐบาล ออกมาเป็น “เรา-ช้า-นะ” และนึกเป็นภาพ มีคนมามอบแผ่นป้ายรางวัลให้เราอย่างหน้างง ๆ ตามรายการชิงเงินล้านทายปัญหาในทีวี พร้อมใบหน้าที่ยังคงสงสัยอยู่ว่าแล้วใครแพ้ ต้องเริ่มดีใจตอนช่วงไหน เลยชอบที่งานนี้ได้บันทึกความสงสัยของเราในสถานการณ์ร่วมกับคนอื่นไว้ด้วย

ดูไว้ จ่ายไปแล้ว

ชอบภาพนี้เพราะได้วาดความล่กตัวเองออกมา เราเคยคิดว่าถ้าวันนี้ในห้างมีของหาย แล้วเขามาดูกล้องวงจรปิด ต้องสงสัยเราแน่ ๆ เพราะเป็นคนเลือกของนานมาก เลือกแล้วเลือกอีก จนพนักงานอาจจะเข้าใจผิดได้ เลยวาดเป็นตัวเราที่อยากโชว์กล้องวงจรว่าจ่ายแล้วจ้า มีสติกเกอร์ ‘paid’ ด้วย แถมยักยิ้มใส่กล้องไปสักหนึ่งที เป็นการยืนยันแบบที่ทำแล้วดูน่าสงสัยกว่าเดิม และงานนี้เป็นอีกงานหนึ่งที่เอาสีน้ำลงกระดาษที่ไม่ซึมอะไรเลย ตอนแรกคิดว่าเละแล้วแน่ ๆ แต่พอผ่านไปครึ่งวัน กลับมาดูก็ได้อยู่นี่!

**Overcaring**

Overcaring

**Karma**

Karma

**Swab**

Swab

**Not moving...**

Not moving...

**Surround Sound Spoken**

Surround Sound Spoken

**you you you**

you you you

**Lost**

Lost

**Fake Level**

Fake Level

**Holy Pink Sticker**

Holy Pink Sticker

หากใครเริ่มหลงรักความเด๋อของคาแรกเตอร์หน้ามึน ที่แฝงไปด้วยอารมณ์ขันแบบไม่ตั้งใจของ canplu ก็สามารถติดตามเธอได้ที่ instagram: https://www.instagram.com/canplu/

RELATED POSTS

ศิลปะแห่งการออกแบบสัตว์ประหลาด ความเป็นมนุษย์ และสงครามเย็น คุยกับ ‘มะเดี่ยว-ชูเกียรติ’ และ ‘เอก-เอกสิทธิ์’ จาก 13 เกมสยอง สู่ Taklee Genesis: ตาคลี เจเนซิส
In Focus
Posted on Sep 16
คุยกับ ‘บอส-นฤเบศ กูโน’ และ ‘มายน์-ชญานุช เสวกวัฒนา’ ว่าด้วยเบื้องหลังการรีเสิร์ชเพื่อสร้าง ‘วิมานหนาม’ ผ่านสถานที่และดีไซน์เสื้อผ้าในหน้าจอ
In Focus
Posted on Sep 11
สำรวจภาวะ​​ ’คนนอก’ ของตัวเองและของตัวละครแซฟฟิกอมนุษย์ต่างชนชั้น ใน ‘ฝนเลือด’ ของศิลปินคนทำหนัง อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
In Focus
Posted on Sep 9
‘เอ๋ - ปกรณ์ รุจิระวิไล’ กับการบอกลาศิลปะแบบเมืองใหญ่ และความท้าทายของอาร์ตสเปซในเมืองเล็ก ๆ
In Focus
Posted on Aug 15