หลายครั้งทีเดียวที่เราได้ยินเสียงคนท้องถิ่นเอื้อนเอ่ยคำว่า “ไท่กั๋วเหริน” ซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งจะว่าไปแล้ว ถ้าเขาจะงงก็คงไม่ผิดนัก เพราะไม่ว่าเราจะเดินไปทางไหนในงานเทศกาลดนตรีและศิลปะสุดยิ่งใหญ่ของชาวฮ่องกงอย่างงาน Clockenflap 2023 ก็จะได้ยินเสียงภาษาไทยที่คุ้นเคยตลอดทุกพื้นที่
จริงอยู่ที่งาน Clockenflap เขาก็เป็นจุดมุ่งหมายที่ฮอตฮิตสำหรับเหล่านักฟังเพลงในแถบเอเชียมายาวนานหลายปีอยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าการที่ปีนี้มัน ‘แมส’ ในหมู่คนไทยเป็นพิเศษก็มีอยู่หลายเหตุผล ตั้งแต่ราคาบัตรเข้างานที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์ (ราคาค่าเข้าชม 3 วันประมาณ 6,600 บาทสำหรับช่วง early bird) ไปจนถึงเฮดไลเนอร์เรียกแขกเบอร์แรกอย่าง Arctic Monkeys วงอินดี้ร็อกขวัญใจคนไทยที่ยังไม่เคยมาเจิมที่บ้านเราเลยสักครั้ง (แต่กำลังจะได้เล่นเป็นครั้งแรกในค่ำคืนนี้ที่ BITEC บางนา) จนท้ายที่สุด บัตรเข้างาน Clockenflap 2023 ก็ถูกขายจนหมดเกลี้ยงทั้ง 3 วัน ถือเป็นการเปิดงานต้อนรับการท่องเที่ยวของฮ่องกงที่เพิ่งจะฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างเต็มรูปแบบจริง ๆ
ภายในงานจะแบ่งเป็น 5 เวทีหลักตามขนาดและแนวเพลงที่แตกต่างกันออกไป คือ Harbourflap Stage, FWD Stage, Park Stage, Electriq Stage, Robot Stage และ Topper Stage ซึ่งถ้าอยากจะฟังศิลปินหลาย ๆ วงก็คงต้องวางแผนเดินทางไกลกันสักนิด โดยเฉพาะกับเวที Park Stage ที่อยู่โพ้นทะเล (เดินจนขาลากก็ยังไม่ถึง) แต่ในความกว้างขวางของพื้นที่จัดงานก็ยังโชคดีที่สถานที่จัดงาน Central Harbourfront Event Space อยู่ติดริมน้ำ และอากาศของฮ่องกงในช่วงเดือนมีนาคมก็กำลังเย็นสบาย ทำให้การวิ่งเปลี่ยนเวทีในครั้งนี้ไม่ได้ทรหดมากเท่าไหร่นัก แถมระหว่างทางยังมีโครงกระดูกนกยักษ์สีขาว 3 ตัวในชื่อ Birdman ที่ผู้ควบคุมต้องอาศัยเพียงไม้ค้ำยันในการเคลื่อนที่, interactive art จาก Pause Rec Play ที่ผสมผสานเสียงดนตรีเข้ากับเกมมาจองหรือไพ่นกกระจอก และ installation art เป่าลม Inflatable Temple และ Mushroom ให้ได้เดินถ่ายรูปเล่นกันแบบเพลิน ๆ ด้วย
ในส่วนของไลน์อัพศิลปิน นอกจาก Arctic Monkeys ที่ชาวไท่กั๋วเหรินพร้อมใจกันตั้งแคมป์หน้าเวทีรอชมโชว์ร่วมชั่วโมงแล้ว ปีนี้ Clockenflap ยังขนไลน์อัพศิลปินดัง ๆ และวงรุ่นใหญ่มากประสบการณ์มาอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น Wu-Tang Clan กลุ่มศิลปินฮิปฮอปสัญชาติอเมริกันระดับ OG, The Cardigans วงป็อป-ร็อกจากสวีเดนที่โด่งดังมาตั้งแต่ยุค 90s, Bombay Bicycle Club วงอินดี้ร็อกสี่ชิ้นจากลอนดอน, Phoenix วงอินดี้ป็อปรุ่นใหญ่สัญชาติฝรั่งเศสที่มีเพลงฮิตมากมาย, FKJ หรือ French Kiwi Juice ศิลปินนูแจ๊สอัจฉริยะชาวฝรั่งเศส และ Kings of Convenience คู่หูดูโอโฟล์กป็อปมากความสามารถจากนอร์เวย์ ซึ่งแต่ละวงก็ทำการแสดงสดได้สุดยอดสมการรอคอย ไม่ทำให้แฟน ๆ อย่างเราต้องผิดหวัง
แต่ไม่ใช่แค่วงระดับเฮดไลเนอร์เท่านั้นที่ทำให้เราประทับใจ ยังมีศิลปินเบอร์เล็กอีกหลายวงเลยทีเดียวที่ทำให้เรารู้สึกประหลาดใจกับโชว์สนุก ๆ แบบไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นการได้ชมโชว์กรูฟ ๆ สนุก ๆ จาก YELLOW黃宣 ศิลปินแจ๊ส-โซลชาวไต้หวัน, สัมผัสพลังงานเกินร้อยของ CHAI วงสี่สาวสุดสดใสจากญี่ปุ่น, เต้นยับไปกับดนตรีดิสโก-ฟังก์ของ The Illustrious Blacks คู่ดูโอชาวอเมริกัน, ม่วนจอยไปพร้อม ๆ กับ Ezra Collective วงแจ๊สรุ่นใหม่จากอังกฤษ, ฟังพลังเสียงปัง ๆ และชมรอยยิ้มสวย ๆ ของ Milet ศิลปินหญิงดาวรุ่งพุ่งแรงที่มีดีกรีได้ขึ้นร้องปิดงาน Tokyo Olympics ครั้งล่าสุดมาแล้ว, โยกตามโชว์มัน ๆ ปั่น ๆ โดย Balming Tiger แก๊งฮิปฮอปสัญชาติเกาหลีใต้ที่ตกแฟนหน้าใหม่ไปได้เพียบ, ฟังเมโลดี้เท่ ๆ ละมุนใจโดย Black Country, New Road วงร็อกหน้าใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจจากสื่ออังกฤษ หรือแม้แต่ตัวแทนจากไทยแลนด์อย่างวง HYBS และวง Three Man Down เองก็ได้รับความสนใจไปไม่น้อย และยังทำการแสดงได้เต็มที่ น่าประทับใจทีเดียว
ถ้าไม่นับเรื่องคิวต่อแถวเข้าห้องน้ำที่ยาวเหยียด และราคาเบียร์ในงานที่ราคาค่อนข้างจะแรงอยู่สักนิด ก็ต้องบอกว่า ภาพรวมของงานปีนี้ค่อนข้างจะทำได้น่าประทับใจ ทั้งไลน์อัพศิลปิน วิชวล กิจกรรมภายในงาน คุณภาพเครื่องเสียง (ที่ไม่ได้ดังกระหึ่มมากมาย เพราะงานจัดในเขตเมือง แต่ก็ทำให้เสียงในแต่ละเวทีแทบจะไม่ตีกันเลย โดยเฉพาะเวที Harbourflap Stage และ FWD Stage ที่อยู่ติดกัน) และประสบการณ์การชมมหรสพแบบไร้หน้ากาก 100% เชื่อว่าน่าจะมีแฟน ๆ ชาวไทยอีกหลายคนที่ติดใจอยากกลับไปซ้ำอีกหลาย ๆ รอบแน่นอน แม้จะต้องเดินในระดับ ‘ตีนแตก’ วนไป (แต่อย่างน้อยสถานที่จัดงานก็ยังเดินทางค่อนข้างสะดวก พอลงรถไฟแล้วก็ยังเดินต่อไหวอยู่)
พอจบงานปุ๊บ Clockenflap เขาก็รีบประกาศวันจัดงานรอบสิ้นปีในวันที่ 1 - 3 ธันวาคมนี้ทันที ซึ่งก็ดันไปตรงกับวันจัดงานเทศกาลดนตรีสัญชาติไทยของเราอย่าง Maho Rasop 2023 พอดิบพอดี งานนี้คงต้องมาลุ้นกันแล้วล่ะว่าจะมีเฮดไลเนอร์ตัวท็อปวงไหนที่ทั้งสองงานมีร่วมกันบ้างไหม