Denis Villeneuve ผู้กำกับผู้หลงใหลในภาพ และการทำหนังไร้คำพูดคือความฝันสูงสุด

Post on 14 March

ถ้าผมสามารถทำหนังโดยไม่ต้องมีบทพูดได้ มันคงเหมือนขึ้นสวรรค์ สำหรับผมแล้ว บทพูดมีไว้สำหรับละครเวทีและรายการโทรทัศน์ ผมจดจำหนังจากภาพ เพราะไอเดียของหนังถูกคลี่คลายมาจากภาพ นั่นคือพลังของภาพยนตร์

ความฝันในการทำหนังไร้บทพูด และการเป็นผู้กำกับจากเมืองหนาวที่ชอบทำหนังในทะเลทราย คือตัวตนของ เดนิส วีญเนิร์ฟ ผู้กำกับชาวแคนาดา หนึ่งในคนทำหนังที่ถูกแปะป้ายเข้ากลุ่ม ‘Serious Mainstream Filmmakers’ หรือคนทำหนังซีเรียสที่ทำถึงและถูกลิ้นคนหมู่มาก ที่มีผู้กำกับที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันเป็นคนคลั่งการทำหนังแบบโอลด์สกูลอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน และ เควนติน ทารันติโน

“ผมโตมาในแถบแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ และใช้ชีวิตในวัยเด็กไปกับการเหม่อมองออกไป ณ เส้นขอบฟ้า” วีญเนิร์ฟเล่าถึงที่มาที่ไปของการกลายมาเป็นผู้กำกับจากเมืองหิมะที่ชอบดั้นด้นไปถ่ายหนังในทะเลทราย ตั้งแต่ Incendies, Sicario, Blade Runner 2049 และล่าสุด Dune “ทิวทัศน์ของแม่น้ำในช่วงหน้าหนาวมีความคล้ายคลึงกับทะเลทราย เมื่อมองออกไปที่เส้นตัดขอบฟ้า มันให้ความรู้สึกสะเทือนถึงจิตวิญญาณ สิ่งที่ทำให้ผมถูกดึงดูดด้วยทะเลทรายก็คือความว่างเปล่าของมัน ความไร้จุดสิ้นสุดของมัน ของทะเลทราย มันเหมือนกับกระจกเงา เหมือนการเดินทางสู่ภายในตัวเรา การได้เชื่อมต่อกับความไร้ที่สิ้นสุด มันดึงให้คุณกลับมาอยู่กับแง่มุมความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองบนโลกใบนี้ และความเป็นตัวคนเดียวของคุณ”

และสำหรับเหตุผลในการพาตัวละครของตัวเองไปอยู่ในทะเลทราย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่ได้รับมอบหมายภารกิจเด็ดหัวหัวหน้าแก๊งค้ายาชาวเม็กซิกัน, โรบ็อตผู้มุ่งหน้าสู่ฟากฝั่งโลกที่ล่มสลายด้วยความหวังว่าจะค้นพบความจริงว่าตัวเองเป็นมนุษย์ หรือเจ้าชายบนดวงดาวทะเลทรายในอีกหมื่นปีข้างหน้าที่เห็นนิมิตรว่าตัวเองคือพระผู้ช่วยให้รอด (?) วีญเนิร์ฟก็อธิบายความหาทำของตัวเองว่า “(ในทะเลทราย) ความเงียบคือการปลอบประโลม เป็นกระจกส่องให้เราเห็นจิตวิญญาณ เนินทรายสุดลูกหูลูกตานั้นกลับกลายเป็นกระจกเงาขนาดยักษ์ ผมถูกขับเคลื่อนให้นำตัวละครไปไว้ในสถานที่เหล่านั้น เพื่อเปิดเปลือยพวกเขาทั้งในแง่ของจิตวิญญาณและจิตวิทยา แล้วคุณก็จะสามารถสำรวจพวกเขาได้ เหมือนการนำพวกเขามาอยู่ใต้กล้องจุลทรรศน์ มันคือภารกิจในการตามหาความจริงแท้”

เนื่องในโอกาสที่ Dune Part Two กำลังเข้าฉายและทำให้โรงภาพยนตร์กลับมาคึกคักอยู่ ณ ขณะนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนไปสำรวจตัวตนและที่มาที่ไปของผู้กำกับผู้หลงรักทะเลทรายและพลังแห่ง ‘ภาพ’ ของภาพยนตร์อย่างเดนิส วีญเนิร์ฟด้วยกัน

Incendies สู่ทะเลทรายและสายเลือด

เดนิส วีญเนิร์ฟ เกิดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 1967 ณ เมืองควิเบค ประเทศแคนาดา เมืองซึ่งประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพล่าเป็ด และไม่มีอะไรให้เด็กชายคนหนึ่งได้ตื่นตาตื่นใจมากนัก แต่สองสิ่งที่เขาสนใจตั้งแต่เด็กก็คือภาพยนตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งทุกครั้งที่ถูกถามถึงแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขามุ่งมั่นอยากเป็นคนทำหนัง ชื่อที่วีญเนิร์ฟมักจะหยิบยกขึ้นมาเสมอคือ อิงมาร์ เบิร์กแมน และ สตีเวน สปีลเบิร์ก สองผู้กำกับผู้พลิกโฉมหน้าภาพยนตร์ในยุคสมัยของตนเอง คนแรกคือการเปิดให้เห็นพลังของภาพยนตร์ในฐานะเครื่องมือสำรวจมนุษย์ทั้งในแง่จิตวิญญาณและจิตวิทยา ในขณะที่อีกคนคือผู้กำกับที่เปิดศักราช ‘หนังบล็อกบัสเตอร์’ ด้วยการนำเสนอเวทมนตร์ลวงตาของภาพยนตร์ผ่านศาสตร์ของสเปเชียลเอฟเฟกต์

“อิงมาร์คือหนึ่งในผู้กำกับที่เบิกเนตรผมด้วยศิลปะแห่งภาพยนตร์ ในขณะที่สปีลเบิร์กคือผู้กำกับที่ผมชื่นชมมาตั้งแต่เด็ก ความชาญฉลาดในศาสตร์แห่งการทำภาพยนตร์ของเขาคือแรงบันดาลใจของผม”

August 32nd on Earth (1998) คือหนังเปิดตัววีญเนิร์ฟในฐานะผู้กำกับ ซึ่งหนังที่ว่าด้วยนางแบบสาวผู้ตัดสินใจชวนพื่อนชายมาเป็น ‘พ่อพันธุ์’ ให้เธอ และมีฉากหลังเป็นทะเลทราย (อีกแล้ว) เรื่องนี้ ก็พาเขาไปไกลถึงขั้นถูกเลือกให้เป็นตัวแทนหนังแคนาดาไปรับการพิจารณาเพื่อเข้าชิงออสการ์หนังต่างประเทศยอดเยี่ยม (แต่ก็ไม่ได้เข้าชิง) ในขณะที่ Maelström (2000) หนังเรื่องที่สองของวีญเนิร์ฟที่ว่าด้วยเรื่องตลกร้ายของนักธุรกิจหญิงที่ไปตกหลุมรักลูกชายของคนที่ถูกเธอขับรถชน ก็ได้รับรางวัลหนังยอดเยี่ยมจากเทศกาล Toronto International Film Festival ส่วนหนังเรื่องที่สามอย่าง Polytechnique (2009) ที่เผยให้เห็นความทะเยอทะยานของวีญเนิร์ฟผู้ถ่ายทอดเรื่องราวการกราดยิงในโรงเรียนด้วยภาพขาวดำตลอดทั้งเรื่อง ก็กวาดคำชมล้นหลาม

August 32nd on Earth (1998)

August 32nd on Earth (1998)

แต่หนังที่ทำให้ชื่อของวีญเนิร์ฟเป็นที่จับตาอย่างจริงจังก็คือผลงานเรื่องที่สี่อย่าง Incendies (2010) ที่ดัดแปลงมาจากบทละครช็อกคนดูของนักเขียนชาวเลบานอน-แคนาดา วัจดี โมอาวาด ซึ่งวีญเนิร์ฟที่ได้ไปดูละครเวทีเรื่องนี้ก็เดินออกจากโรงละครด้วยอาการช็อกสุดขีด ถึงขั้นที่ภรรยาของเขาดูออกและพูดว่า “พระเจ้า คุณจะเอามาทำเป็นหนังใช่มั้ย?”

“ผมตกตะลึงกับวิธีการที่นักเขียนใช้ในการถ่ายทอดสิ่งที่เรียกว่า ‘ความโกรธ’” วีญเนิร์ฟเคยเล่าถึงสิ่งที่จุดประกายให้เขาทำหนังที่ถ่ายทอดปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางเรื่องนี้ “วิธีที่ความโกรธถูกส่งต่อกันในครอบครัว และส่งผ่านกันในสังคม แต่ในตอนจบ เขา (ผู้เขียน) ก็ยังให้ความหวังในการหยุดวงจรแห่งความรุนแรงและความเกลียดชังได้”

Incendies (2010)

Incendies (2010)

Incendies เล่าเรื่องราวยาวนานถึงสี่ศตวรรษ ตัดสลับผ่านสองเส้นเวลา ในเส้นเวลาปัจจุบัน คู่แฝดชายหญิงชาวแคนาดามุ่งหน้าสู่ดินแดนมาตุภูมิในตะวันออกกลาง เพื่อตามหาพ่อและพี่ชายที่ยังมีชีวิตอยู่ ตามคำสั่งเสียของแม่ นาวาล และในเส้นเวลาแห่งอดีต ผู้ชมจะได้ติดตามเรื่องราวของนาวาลในวัยสาวผู้มีความรัก แต่กลับพบว่าตัวเองติดอยู่ท่ามกลางไฟสงครามระหว่างชาวคริสเตียนและมุสลิม ซึ่งนำพาผู้ชมไปสู่บทสรุปที่ทำให้ได้แต่อ้าปากค้างในตอนจบ …เมื่อวงจรความเกลียดชังได้ทำงานผ่านโชคชะตา และสร้างตราบาปให้แม่และลูกไปตลอดกาล

“มันคือเรื่องราวอันงดงามและทรงพลังที่เชื่อมโยงกับโศกนาฏกรรมกรีก” วีญเนิร์ฟอธิบาย “สำหรับผมแล้วมันไม่ใช่หนังเกี่ยวกับสงคราม ผมมองมันเป็นหนังเกี่ยวกับครอบครัวมากกว่า”

หนังถ่ายทำในควิเบกและจอร์แดน แต่แม้ว่าวีญเนิร์ฟจะได้ไฟเขียวจากเจ้าของบทประพันธ์อย่างโมอาวาดให้ดัดแปลงได้เต็มที่ แต่เขาก็มีความกังวลถึงการทำหนังที่พูดถึงประเด็นปัญหาในซีกโลกที่เขาแทบไม่รู้จัก ซึ่งการตระหนักว่าตัวเองไม่รู้นั้นก็ทำให้เขาเลือกที่จะถ่ายทอดเรื่องราวผ่านมุมมองของครอบครัวมากกว่าที่จะจาระไนถึงปมความขัดแย้งทางศาสนาและการเมือง โดยใช้สายตาของคู่แฝดต่างสายตาของตัวผู้กำกับ ในแง่ของการดำดิ่งลงไปสำรวจวัฒนธรรมที่ตัวเองแทบไม่รู้จัก

“เป้าหมายของการทำหนังเรื่องนี้คือการถ่อมตัวให้มากที่สุด ไม่ใช่การช็อกคนดูหรืออวดรู้ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับสงคราม ผมอยากนำเสนอมุมมองของเหยื่อโดยไม่ทำให้มันดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น สิ่งสำคัญคือการนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างทิวทัศน์และความรู้สึกภายในจิตใจของตัวละคร ผมพยายามที่จะไม่ติดกับดักการนำเสนอความเอ็กโซติกของพื้นที่”

Incendies (2010)

Incendies (2010)

สุดท้าย Incendies ก็กวาดเสียงชื่นชมล้นหลาม และได้เป็นตัวแทนหนังแคนาดาไปชิงชัยหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ครั้งที่ 83 แต่แม้ว่าจะไม่ได้คว้ารางวัลกลับมา มันก็ได้พาชื่อของวีญเนิร์ฟให้ไปเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ จนเขาได้รับเลือกจากนิตยสาร Vaeriety ให้เป็นผู้กำกับหน้าใหม่ที่ต้องจับตามอง และนำพาเขาไปสู่โปรเจกต์ใหม่ที่พาเขาย่างเท้าสู่ฮอลลีวูด

“ผมได้รับการติดต่อให้ไปกำกับหนังอเมริกันเรื่องหนึ่ง” วีญเนิร์ฟเผยในระหว่างที่กำลังเดินสายโปรโมต Incendies โดยหารู้ไม่ว่าหนังอเมริกันเรื่องนั้นนั่นแหละที่จะเปลี่ยนชีวิตของเขาในฐานะผู้กำกับไปตลอดกาล

“หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า Prisoners บทเจ๋งดีนะ แต่มันเกี่ยวกับเรื่องการทรมานเนี่ยสิ และหลังจากเพิ่งทำ Polytechnique และ Incendies มา มันแอบดาร์กไปหน่อยสำหรับผมในตอนนี้ ผมว่าผมอยากกลับไปทำหนังที่มาจากเรื่องราวที่ผมเขียนขึ้นมาเองมากกว่า”

Prisoner vs. Enemy แล็บสำรวจด้านมืดตัวละคร และก้าวแรกก่อนกระโจนสู่ฮอลลีวูด

หลังจากได้ชื่อเป็นผู้กำกับที่มีหนังเข้าชิงออสการ์ (สาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม) วีญเนิร์ฟก็กลายเป็นที่จับตามองของบรรดาสตูดิโอใหญ่ ๆ ในฮอลลีวูด และในที่สุดเขาก็ได้รับการติดต่อจาก Alcon Entertainment (Insomnia, Blade Runner 2049) ให้มากำกับหนังจากบทสุดดาร์กของ แอรอน กุซิคาวสกี ที่พัฒนาขึ้นมาจากบทหนังใน The Blacklist (คลังรวมบทหนังแววดีที่ยังไม่มีคนเอาไปทำเป็นหนัง) ซึ่งถูกเปลี่ยนมือคนทำและขึ้นคานมานานนับสิบปี เนื่องจากบทหนังไปแตะประเด็นสุดดำมืดอย่างการลักพาตัวเด็กสาว โดยก่อนหน้านี้มีนักแสดงเบอร์ใหญ่มากมายที่เข้ามาและจากไป ไม่ว่าจะเป็น คริสเตียน เบล หรือ เลโอนาร์โด ดิคาปริโอ

หลังจากได้อ่านบท Prisoner วีญเนิร์ฟก็ถูกดึงดูดด้วยเรื่องราวขุดค้นด้านมืดของมนุษย์ แต่หลังจากที่เพิ่งทำหนังสุดดาร์กอย่าง Incendies จบ เขาก็พบว่าตัวเองยังไม่พร้อมที่จะทำหนังที่มีฉากทรมานเป็นหนังเรื่องแรกของเขาในวงการฮอลลีวูด ด้วยเหตุนี้เขาจึงหันไปทำหนังที่ ‘เบากว่า’ และมีสเกลเล็กกว่า นั่นก็คือ Enemy

Prisoners (2013)

Prisoners (2013)

Prisoners (2013)

Prisoners (2013)

“เรื่องของเรื่องคือระหว่างที่ผมกำลังทำ Incendies ผมก็ไปขอให้เพื่อนของผม ฮาเวียร์ กัลลอน ช่วยดัดแปลงบทหนังจากนวนิยายที่ผมรักมาก นั่นก็คือ The Double โดย โฮเซ ซารามังโก” วีญเนิร์ฟย้อนเล่าถึงที่มาที่ไปที่ทำให้สุดท้ายแล้ว เขาต้องลงเอยการทำหนังสองเรื่องในเวลาเดียวกัน! “หนังมีความดาร์ก แต่ก็มีด้านที่สว่างด้วย มันออกแนวหนังทริลเลอร์ดำมืดที่ไม่ได้ซีเรียสจนเกินไป ผมรู้ว่าผมจะได้ทำหนังเรื่องนี้แน่ ๆ หวังว่าจะได้ทำ แต่แล้วผมก็ตกหลุมรัก Prisoners ด้วย”

แม้ใจหนึ่งจะยากปฏิเสธ แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่อาจหยุดคิดถึงเรื่องราวของพ่อที่ลักพาตัวผู้ต้องสงสัยที่ลักพาตัวลูกสาวของเขาไปมาทรมานเค้นความจริง วีญเนิร์ฟจึงเริ่มสานต่อโปรเจกต์การแปลงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวของอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้เผชิญหน้ากับด็อพเพลแกงเกอร์ของตัวเอง มาเป็นหนังที่ชื่อว่า Enemy โดยหวังว่าเมื่อทำหนังเรื่องนี้เสร็จ โปรเจกต์ Prisoners ก็คงจะได้ไฟเขียวพอดี และเขาจะได้ใช้ Enemy เป็นเหมือน ‘แล็บทดลอง’ การทำหนังขุดค้นด้านมืดของมนุษย์ก่อนที่จะไปทำหนังสเกลฮอลลีวูดอย่าง Prisoners

Enemy (2013)

Enemy (2013)

“ปัญหาก็คือหนังทั้งสองเรื่องดันได้ไฟเขียวห่างกันแค่อาทิตย์เดียว” วีญเนิร์ฟย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เขานั่งไม่ติด เพราะตอนแรกคิดว่าคงใช้เวลาอีกหลายปีกว่า Prisoners จะได้สร้าง “ผมได้รับโทรศัพท์จาก เจค จิลเลนฮาล ในวันศุกร์ บอกว่าเขาอยากร่วมโปรเจกต์ Enemy แล้วเสาร์ถัดมา ผมก็ได้รับโทรศัพท์จาก ฮิวจ์ แจ็คแมน บอกว่าเขาอยากทำ Prisoners ด้วย ด้วยเหตุนี้ แค่ในอาทิตย์เดียว ผมต้องทำหนังสองเรื่องพร้อมกัน”

แม้ว่า Prisoners และ Enemy จะเล่าเรื่องราวที่ต่างกัน แต่วีญเนิร์ฟก็ตีความว่าหนังทั้งสองเรื่องมีประเด็นบางอย่างที่เชื่อมโยงกัน นั่นก็คือการสำรวจคำถามที่ว่า ตัวละครตัวหนึ่งจะสามารถถลำลึกได้ไกลแค่ไหน และจะยอมสูญเสียอะไรได้บ้าง เพื่อให้ได้คำตอบที่ตัวเองตามหา ซึ่งนั่นก็กลายมาเป็นแก่นหลักในตัวละครหลักแทบทุกตัวของวีญเนิร์ฟ ไม่ว่าจะเป็นนักภาษาศาสตร์สาวที่ยอมเสียสละ ‘ความไม่รู้’ ที่จะทำให้เธอใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เพื่อที่จะไขปริศนาของมนุษย์ต่างดาว, เจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่มุ่งมั่นตามล่าแก๊งค้ายาเม็กซิกัน หรือหุ่นไซบอร์กที่ยอมทรยศผู้สร้าง และออกตามหาจุดเริ่มต้นของตัวเอง ด้วยความหวังว่าคำตอบที่ได้จะเป็นการบอกว่าเขาคือ ‘มนุษย์’

เมื่อมองย้อนกลับไป ทั้ง Prisoners และ Enemy ที่เดินหน้าเข้าชิงรางวัลในช่วงเวลาห่างกันไม่ถึงปี จึงเป็นเสมือนสนามลองเล่นให้วีญเนิร์ฟได้ทดลองทำหนัง ‘สไตล์ฮอลลีวูด’ โดยที่ยังรักษาสุนทรียะด้านภาพยนตร์ของตัวเองเอาไว้ได้ ก่อนที่เขาจะก้าวไปกำกับหนังสเกลใหญ่กว่าในเวลาต่อมา โดยเฉพาะกับ Enemy ที่เขาอธิบายว่าเป็นแล็บในการทดลองเล่าเรื่องราวในแบบต่าง ๆ โดยที่ความเป็นหนัง ‘ไซโค-ดราม่า’ ของมันที่ทำให้เขาได้ลองผลักพรมแดนด้านความสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่องออกไป

Sicario & Arrival ภาพยนตร์แห่ง ‘พรมแดน’ อันล่มสลาย

นอกจากการทดสอบการดำดิ่งสู่ด้านมืดของตัวละครแล้ว อาจกล่าวได้ว่าอีกหนึ่งธีมที่ปรากฏร่วมในผลงานของวีญเนิร์ฟคือ ‘การล่มสลายของพรมแดน’ หรือการพร่าเลือนของเส้นแบ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสูญสลายของเส้นแบ่งทางศีลธรรมและศาสนาใน Incendies, เส้นแบ่งของคนดี (good guy) และคนเลว (bad guy) ใน Prisoners ไปจนถึงเส้นแบ่งระหว่าง ‘ตัวเรา’ และที่ไม่ใช่เราใน Enemy

และในผลงานยุคหลังก้าวเข้าสู่ฮอลลีวูดของวีญเนิร์ฟ การสูญสลายของเส้นแบ่งก็ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกสำรวจ ทั้งเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างชาติใน Sicario (2015) และเส้นแบ่งระหว่างเผ่าพันธุ์และภาษาใน Arrival (2016)

Sicario (2015)

Sicario (2015)

Arrival (2016)

Arrival (2016)

แม้จะดูเหมือนเป็นหนังสองเรื่องที่ไม่น่าจับมาเข้าคู่สำรวจร่วมกันได้ แต่หากลองมองด้วยเลนส์ของการสำรวจมนุษย์ที่ต้องเผชิญหน้ากับการล่มสลายของเส้นแบ่งพรมแดน หนังทั้งสองเรื่องของวีญเนิร์ฟที่สร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน ก็ดูจะสะท้อนความสนใจในช่วงนี้ของวีญเนิร์ฟ ที่ขยับจากการโฟกัสความดำมืดของมนุษย์ มาสู่การมองมนุษย์ในภาพกว้างของการเป็น ‘เพื่อนมนุษย์’ หรือ ‘มนุษยชาติ’ ซึ่งการมองสายสัมพันธ์ของมนุษย์ในฐานะกลุ่มก้อนทางสังคมก็ยังสะท้อนในวิถีการทำงานในกองถ่ายของเขา ที่ถูกอัพสเกลขึ้นมาอย่างมหาศาล

“ผู้กำกับคือคนที่สามารถดึงผู้คนให้เข้ามาทำงานร่วมกัน เป็นคนที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจและเติมไฟในการทำงานให้กับทุกคน และยังสามารถอธิบายรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเรื่องสีและเสียงแบบเฉพาะเจาะจงให้ทุกคนเข้าใจได้” วีญเนิร์ฟเล่าถึงการทำงานใน Sicario ที่ไม่เพียงเป็นกองถ่ายขนาดใหญ่ที่รวมคนทำงานไว้กว่า 500 ชีวิต แต่ยังเต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทั้งสเปน เม็กซิกัน โคลอมเบีย อเมริกัน และแคนาเดียน “ในการเป็นผู้กำกับ ผมจำเป็นที่จะต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องแบบเป๊ะ ๆ แต่ผมคิดว่า ผมเป็นผู้กำกับที่ชี้แนะแนวทางได้ดีกว่าผู้กำกับที่เป็นเผด็จการ เมื่อผมได้ดูผลลัพธ์ที่ออกมา มันมักจะดีกว่าที่ผมคิดเอาไว้ ถึงจะทำให้อีโก้ของผมลดลง แต่มันก็ดีกว่าจริง ๆ และนั่นแหละคือบทกวี ความงดงามของภาพยนตร์คือการที่คนกว่า 400 คนถ่างตาถ่ายทำกันได้ถึงตีสี่นานเป็นเดือน ๆ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างบทกวีชิ้นนี้ขึ้นมาให้ได้”

Sicario (2015)

Sicario (2015)

Sicario คือหนังทริลเลอร์เรื่องสุดท้ายก่อนที่วีญเนิร์ฟจะกระโจนเข้าสู่ยุคไซไฟ เขาเคยอธิบายว่า หนังเรื่องนี้คือการสนองนี้ดตัวเองที่อยากทำหนังทริลเลอร์การเมืองสักเรื่อง ซึ่งเมสเสจที่เขาต้องการจะนำเสนอก็คือ ‘ความไม่รู้อะไรเลย’ ของชาวตะวันตกเมื่อเป็นเรื่องของปัญหานอกพรมแดนของตัวเอง ประเด็นดังกล่าวถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของ ‘เคท’ เจ้าหน้าที่เอฟบีไอสาวที่ถูกโยนเข้าสู่เส้นทางการตามล่าหัวหน้าแก๊งค้ายา แต่ในขณะที่เธอพยายามยึดมั่นในอุดมการณ์และความถูกต้อง เธอก็ได้เผชิญหน้ากับโลกแห่งความรุนแรงที่เส้นแบ่งเรื่องความถูกผิด ความดีเลวนั้น ไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดเจนอีกต่อไป วีญเนิร์ฟยังอธิบายว่าเขาตั้งใจที่จะใช้คำถามเรื่องเส้นแบ่งความถูกผิดใน Sicario เพื่อตั้งคำถามต่อการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ในโลก… เราในฐานะมนุษย์จะจัดการกับปัญหาความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วทุกที่ในโลกได้อย่างไร โดยที่ยังคงความเป็นมนุษย์ของเราไว้ด้วย

ใน Arrival ผลงานการกำกับเรื่องถัดมาของวีญเนิร์ฟที่สร้างมาจากเรื่องสั้นชื่อ The Story of Your Life โดย เท็ด เฉียง วีญเนิร์ฟต้องเปลี่ยนโทนการทำงานจากกองถ่ายกลางทะเลทรายที่เต็มไปด้วยเสียงปืน มาสู่ห้องมืดอันเงียบสงบที่ตัวละครนักภาษาศาสตร์ หลุยส์ แบงค์ส พยายามศึกษาโครงสร้างภาษาเพื่อหาทางติดต่อกับมนุษย์ต่างดาวที่นำยานลงจอดในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่กลายมาเป็นธีมหลักในหนังของวีญเนิร์ฟยังคงดำรงอยู่ในหนังเรื่องนี้ เช่นเดียวกับ Sicario — Arrival เองยังคงเป็นหนังที่ตั้งคำถามถึงท่าทีของมนุษย์เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาที่สั่นคลอนความเป็นมนุษย์ของตัวเอง มนุษย์จะเป็นอย่างไร? และจะทำอะไร? หากเส้นแบ่งพรมแดนทุกอย่างถูกทลายลง โดยเฉพาะเส้นแบ่งของเวลาปัจจุบัน อดีต และอนาตต

Arrival (2016)

Arrival (2016)

“ในเรื่องสั้นต้นฉบับ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวุฒิภาวะและฉลาดกว่าในหนังมาก ในขณะที่ฉบับหนัง พวกเขาจะออกแนวก้าวร้าวกว่าเล็กน้อย” วีญเนิร์ฟเล่าถึงสถานการณ์ในหนังที่ประเทศต่าง ๆ ตั้งท่าจะยิงระเบิดใส่ยานอวกาศเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติตัวเอง “ผมฝันว่าอยากทำหนังที่มีบรรยากาศสงบเงียบ แต่ในตอนที่เริ่มทำ ก็มีข่าวกองทัพรัสเซียบุกยูเครนแล้ว มันแบบว่า ‘อะไรกันวะเนี่ย?’ มันบ้ามากเลยที่ประวัติศาสตค์ยังคงซ้ำรอยตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยเหตุนี้ ไอเดียของเอริก (เฮส์เซอเรอร์ มือเขียนบทของหนัง) ที่ใส่ประเด็นความตึงเครียดทางพรมแดนเข้าไปจึงเป็นอะไรที่เยี่ยมมาก ผมจึงตัดสินใจโอบรับหนังที่อาจไม่ได้เงียบสงบอย่างที่ผมคิดไว้ในตอนแรก แต่เอาจริง ๆ นะ มันไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เรื่องแบบนี้ยังมีให้เห็นบนโลกนี้อยู่ทุกวัน ๆ”

วีญเนิร์ฟยังชอบไอเดียที่การมาเยือนของมนุษย์ต่างดาวกลับกลายเป็นกระจกที่ทำให้มนุษยชาติได้หันกลับมามองตัวเองได้ชัดเจนขึ้น และล้มล้างมุมมองที่ว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาเพียงเผ่าพันธุ์เดียวในจักรวาล “กลายเป็นว่ามนุษย์เราไม่ได้มีวิวัฒนาการที่รวดเร็วอย่างที่เราเข้าใจ ตอนที่ผมยังเด็ก ผมก็ได้ยินเรื่องปัญหาในตะวันออกกลางมาโดยตลอด แล้วก็คิดว่าในอีกสองปีมันก็คงคลี่คลายได้แล้วล่ะ ก็เราเห็นกันแล้วนี่ว่าความขัดแย้งนี้มันก่อให้เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง เรารู้อยู่แล้วนี่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง เพราะฉะนั้นเรามาสร้างสันติภาพกันเถอะ ลงมือทำอะไรสักอย่างกันเถอะ แต่สุดท้าย ละครฉากเดิม ๆ ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า กลายเป็นว่ามนุษย์เราไม่ได้เรียนรู้และวิวัฒนาการตัวเองได้เร็วอย่างที่เราเคยคิดกันไปเอง”

Blade Runner 2049 สู่จักรวาลวิทยา (ศาสตร์) ที่ว่าด้วยการสำรวจมนุษย์

วีญเนิร์ฟเคยเล่าว่า มีสองเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล เหตุการณ์แรกคือช่วงก่อนที่เขาจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เมื่อป้าผู้คลั่งเรื่องสิ่งมีชีวิตในอวกาศมอบกล่องสามใบที่อัดแน่นไปด้วยการ์ตูนไซไฟให้แก่เขา ซึ่งการ์ตูนไซไฟที่ว่าก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวแบบ ‘ลิเกอวกาศ’ ที่มีโทนเรื่องและฉากหลังเหมือนหลุดมาจากนวนิยายอัศวินยุคกลาง แต่วีญเนิร์ฟยืนยันว่านั่นคือโทนของเรื่องราวไซไฟที่เจ๋งที่สุดสำหรับเขา และยังคงเป็นแรงบันดาลใจของเขาจนถึงทุกวันนี้

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือตอนที่เขาอายุได้ 14 ปี และโรงหนังในหมู่บ้านใกล้กับเมืองที่เขาอาศัยอยู่นำหนังไซไฟทีดิสโทเปียนที่ชื่อว่า Blade Runner มาฉาย ซึ่งเด็กชายวีญเนิร์ฟที่ไม่เคยเสพเรื่องราวไซไฟในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากแม็กกาซีนและการ์ตูนวิทยาศาสตร์ก็ถึงกับอึ้งกับประสบการณ์ไซไฟในโรงหนังครั้งแรก

“ผมจำความรู้สึกได้ดี การที่ได้เห็นนักแสดงในดวงใจขอผมในช่วงเวลานั้นอย่าง แฮร์ริสัน ฟอร์ด แสดงเป็นตัวเอกในหนังไซไฟแบบผู้ใหญ่” วีญเนิร์ฟเปรียบโลกอึมครึมสุดดาร์กในหนังไซไฟกับการ์ตูนวิทยาศาสตร์ที่เป็นเรื่องราวผจญภัยแบบเด็ก ๆ ที่เขาคุ้นเคย “มันคือหนังไซไฟสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งสำหรับเด็กอย่างผมในตอนนั้น มันเป็นเรื่องใหญ่มากนะ แบบว่ามันเป็นเรื่องราวซีเรียสจริงจัง ไม่ใช่เรื่องตลกชวนหัว มันเหมือนกับหนังอัตถิภาวะนิยมในสไตล์ไซไฟที่มีสุนทรียะแข็งแกร่ง มันเป็นอะไรที่แปลกใหม่มากในยุคนั้น”

Blade Runner 2049 (2017)

Blade Runner 2049 (2017)

วีญเนิร์ฟรัก Blade Runner ฉบับผู้กำกับ ริดลีย์ สก็อตต์ มาก จนเมื่อ 30 กว่าปีผ่านไป และเขาได้ยินว่ากำลังมีความพยายามที่จะสร้างภาคต่อจากหนังไซไฟพ่อทุกสถาบันเรื่องนี้ เขาก็ถึงกับค่อนขอดว่า เป็นความเพ้อฝันที่แย่มาก

“ตอนที่ผมรู้ว่าจะได้มากำกับภาคต่อจากหนังเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ผมก็แบบว่า ‘ฉิบหายแล้ว’” วีญเนิร์ฟเล่า “ไม่ว่าผมจะทำอะไรออกมา มันจะต้องถูกเอาไปเปรียบเทียบกับภาคแรกแน่นอน โอกาสที่ผมจะประสบความสำเร็จมีน้อยมาก มันเป็นภารกิจที่แทบเป็นไปไม่ได้ และโอกาสที่จะล้มเหลวมีสูงมาก”

แน่นอนว่าการทำภาคต่อของหนังที่ได้ชื่อว่าเป็นมาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์ยุค 80s และกลายเป็นหนัง ‘คัลต์’ ที่สร้างฐานแฟนคลับเดนตายผู้พร้อมจะสับแหลกหากผู้กำกับคนใหม่ ‘ทำไม่ถึง’ ถือเป็นภาระหนักบ่าหนักใจที่อาจทำให้ผู้กำกับสติแตก แต่นั่นไม่ใช่ เดนิส วีญเนิร์ฟ ผู้เคยประกาศว่า “ไม่มีใครรัก Blade Runner มากไปกว่าผมอีกแล้ว” และสิ่งแรกที่เขาตัดสินใจทำเมื่อก้าวเข้ามารับหน้าที่สานต่อเรื่องราวของโลกดิสโทเปียที่หุ่นไซบอร์กมีสำนึกรู้คิดเช่นคน ก็คือการรักษาโทนหนังดั้งเดิมไว้ และในขณะเดียวกันก็สร้างโลก Blade Runner ใบใหม่ขึ้นมาจากไอเดียตั้งต้นนั้น

Blade Runner 2049 (2017)

Blade Runner 2049 (2017)

“ในหนังภาคแรก สิ่งที่คุณได้เห็นก็คือมิติความซับซ้อนของเวลา ในหนังไซไฟส่วนใหญ่ โลกในหนังมักจะถูกถ่ายทอดออกมาในภาพโลกแห่งอนาคตเท่านั้น แต่ในหนัง Blade Runner ภาคแรก คุณยังรู้สึกได้ถึงตะกอนของสิ่งที่ตกยุคสมัยไปแล้ว ซึ่งผมต้องการจะนำสิ่งนั้นกลับมา

“ผมอยากทำให้แน่ใจว่าหนังภาคใหม่ยังคงเอกลักษณ์สำคัญของภาคแรกไว้ นั่นก็คือการซื่อตรงกับการเป็นหนังฟิล์มนัวร์ ผมอยากสร้างบรรยากาศที่สามารถนำเสนอความโศกเศร้าอันงดงาม ซึ่งถูกนำเสนอได้อย่างทรงพลังมาก ๆ ในหนังภาคแรก ผมอยากสร้างโลกที่ทั้งว่างเปล่าและหดหู่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีประกายของความงดงามเกิดขึ้น ไม่ว่ามันจะมาจากเทคโนโลยีหรือมนุษย์ก็ตาม”

สิ่งที่วีญเนิร์ฟทำก็คือการกลับไปอ่านนวนิยายต้นฉบับของ ฟิลิป เค. ดิก อย่าง Do Androids Dream of Electric Sheep? (1968) ที่เล่าเรื่องราวของโลกในอนาคตที่พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกทำลายด้วยอานุภาพของระเบิดนิวเคลียร์ล้างโลก ทำให้สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่แทบสูญพันธุ์จนสิ้น โดยเนื้อเรื่องจะดำเนินผ่านสายตาของ ริก เด็กคาร์ด (รับบทโดย แฮร์ริสัน ฟอร์ด) นักล่าค่าหัวที่ได้รับมอบหมายภารกิจให้ไป ‘รีไทร์’ หรือกำจัดหุ่นแอนดรอยด์ที่หนีไปจากการควบคุมของมนุษย์

Blade Runner 2049 (2017)

Blade Runner 2049 (2017)

“ในหนังภาคแรก ริดลีย์สร้างโลกในหนังขึ้นมาโดยมีต้นแบบมาจากโลกในช่วงเวลานั้น นั่นก็คือปลายยุค 70s เขาจึงดึงองค์ประกอบของความเป็นยุค 70s มาไว้ในหนัง ทั้งแฟชั่นและสุนทรียะต่าง ๆ แล้วนำมาเป็นจุดเริ่มต้นในการจินตนาการถึงอนาคต ในส่วนของผม โจทย์ใหญ่ของผมคือการต้องทำหนังที่เล่าเรื่องต่อจากเรื่องราวในปี 1982 แต่ต้องทำให้มันสื่อสารกับคนดูในปี 2019 ซึ่งเป็นโลกในอนาคตสำหรับคนในปี 1982 ซึ่งอย่างที่รู้กันว่า โลกในอนาคตที่ปรากฏใน Blade Runner ภาคแรกนั้นต่างกับความเป็นจริงในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ผมจึงได้ข้อสรุปว่า ผมต้องคิดถึงมันในฐานะจักรวาลคู่ขนาน ตั้งต้นที่โลกในหนัง Blade Runner ภาคแรก แล้วถึงจะจะขยายไปสู่อนาคต นั่นล่ะเราถึงจะสร้างความต่อเนื่องให้หนังทั้งสองภาคได้”

และในการทำเช่นนั้น สิ่งที่วีญเนิร์ฟให้ความสำคัญที่สุด ก็คือบริบททางวัฒนธรรมเบื้องหลังหนัง ด้วยการลองจินตนาการว่า จะเป็นอย่างไรหากโซเวียตไม่ล่มสลาย! “ผมย้อนกลับไปดูบรรดาองค์ประกอบต่าง ๆ ในหนังภาคแรกที่อ้างอิงมาจากวัฒนธรรมของยุคนั้น แล้วจินตนาการว่าจากตรงนั้น มันจะพัฒนาต่อไปในอนาคตแบบไหนบ้าง จากนั้นผมก็กลับไปสำรวจภูมิทัศน์ทางการเมืองในนวนิยายของฟิลิป เค. ดิก ในนวนิยาย บริบททางการเมืองยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับโซเวียตอยู่ ผมก็เลยได้ไอเดียว่า มันคงน่าสนใจดีถ้าสหภาพโซเวียตไม่ได้ล่มสลายลง แล้วถ้าอิทธิพลทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจของโซเวียตเข้มแข็งพอ ๆ กับสหรัฐอเมริกาเลย แต่มีแง่มุมทางการเมืองที่ต่างออกไป? ทุกวันนี้คุณเห็นแม็คโดนัลด์ในมอสโก แล้วถ้าคุณได้เห็นสินค้ารัสเซียในลอสแองเจลิสบ้างล่ะ? ผมคิดว่านั่นคงก่อให้เกิดการบิดเบือนความจริงที่จะช่วยบอกคนดูได้แต่เนิ่น ๆ ว่าพวกเขากำลังเผชิญหน้ากับกฎการเมืองที่ต่างออกไป จากภูมิทัศน์การเมืองโลกที่ต่างไปโดยสิ้นเชิง”

และในการสร้างโลกที่ล่มสลายด้วยสิ่งประดิษฐ์จากน้ำมือมนุษย์ วีญเนิร์ฟก็ตั้งใจที่จะนำเสนอเมสเสจเรื่องการใช้เครื่องมือของมนุษย์ ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ในหนัง แต่ยังเป็นแนวคิดสำคัญในกระบวนการสร้างหนัง จนนำมาสู่การใช้ซีจีให้น้อยที่สุด! “ต้องบอกก่อนว่าผลงานสเปเชียลเอกเฟกต์ของริดลีย์ สก็อตต์ กับ ดักลาส ทรัมเบล เป็นงานชั้นครู และมีแนวคิดที่ซับซ้อนมาก ๆ โชคดีที่ผมไม่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายของเทคนิคงานสร้างเหมือนที่พวกเขาต้องเผชิญในยุคนั้น นี่คือสิ่งที่ผมต้องอธิบายก่อนเมื่อพูดถึงประเด็นนี้

“แม้ว่าเราจะเจอความท้าทายเรื่องเทคนิคในการสร้าง แต่เราโชคดีกว่าตรงที่เราสามารถพึ่งพาอำนาจของคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาไปไกลแล้ว แต่ถึงที่สุดแล้ว ผมอยากให้อำนาจที่เรามีอยู่ในมือนี้ (เทคโนโลยีในการสร้างหนัง) เป็นแค่ฉากหลังของหนัง ไม่ใช้ตัวเด่นในหนัง ในฉากหน้าของหนัง ผมอยากนำเสนอความเป็นมนุษย์ อยากให้สิ่งที่ผมให้ความสำคัญในการโฟกัสมากที่สุดเป็นนักแสดง ผมอยากสร้างโลกนี้ขึ้นมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา ด้วยเหตุนี้ สิ่งแรกที่เราทำจึงเป็นการสร้างฉากทั้งหมด สร้างพาหนะที่ต้องใช้ในเรื่อง สร้างฝน สร้างหิมะ สร้างหมอกขึ้นมาด้วยแรงงานคน ทั้งถนนและการตกแต่งทั้งหมด เราสร้างขึ้นมาจริง ๆ หมดเลย มีฉากหนึ่งที่คุณจะได้เห็นสปินเนอร์ (รถบิน) บินเข้าไปในเพนเฮ้าส์ นั่นก็เป็นของจริงไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ มันเป็นการผสมผสานอย่างลงตัวของแพสชันในการทำหนังด้วยวิธีดั้งเดิมกับเทคโนโลยี”

แม้ว่าสุดท้ายแล้ว Blade Runner 2049 จะสร้างปรากฏการณ์เสียงแตกในหมู่คนดู ด้วยรายรับเพียง 91 ล้าน และผู้ชมบางส่วนก็บอกว่าหนังนานและยืดเกินไป แต่ในทางตรงกันข้าม หนังก็ยังได้รับคำชมจากคนดูและวิจารณ์ทั้งในเรื่องวิชวลสุดอลังตาแตก และแฟนหนัง Blade Runner เดนตายก็แซ่ซ้องว่าภาคต่อฉบับวีญเนิร์ฟยังคงสำรวจประเด็นความเป็นมนุษย์ได้งดงามราวบทกวี เช่นเดียวกับภาคแรก

แต่สำหรับวีญเนิร์ฟแล้ว เสียงตอบรับเดียวที่ทำให้เขาวางใจและนอนตาหลับ เหมือนกับตัวละคร เค ที่นอนยิ้มสงบท่ามกลางหิมะโปรยในฉากสุดท้าย ก็คือคำชื่นชมจากแฮร์ริสัน ฟอร์ด และ ริดลีย์ สก็อตต์

“พวกเขารักหนังเรื่องนี้ แม้ว่าในตอนแรกผมจะรู้สึกไม่มั่นใจ แต่ตอนนี้ผมนอนตาหลับได้แล้วครับ”

Dune รักแรกเหนือเนินทราย

“คนดูคนแรกที่ผมอยากทำให้ประทับใจ ก็คือตัวผมเอง” เดนิส วีญเนิร์ฟ พูดถึงการก้าวเข้ามากุมบังเหียนในโปรเจกต์การดัดแปลงนวนิยายที่เขารักมากที่สุดในชีวิตมาขึ้นจอในยุค 2020s… Dune

การเติบโตขึ้นมาในหมู่บ้านชนบทในควิเบกทำให้เด็กชายเดนิส วีญเนิร์ฟ ไม่มีอะไรให้ทำมากนัก นอกจากการอ่านหนังสือ ฝันกลางวัน และศึกษาวิทยาศาสตร์ และแม้ว่าจะรักภาพยนตร์มากเพียงใด แต่เขาก็ไม่มีกล้องถ่ายวิดีโอให้ลองเล่นเหมือนวัยเด็กของผู้กำกับคนอื่น ๆ สิ่งที่วีญเนิร์ฟทำจึงเป็นการถ่ายทอดโลกในหัวออกมาผ่านกระดาษ และสตอรีบอร์ดที่วีญเนิร์ฟในวัย 13 ปีหมกมุ่นและทุ่มเทเวลาให้มากที่สุดก็คือการถ่ายทอดโลกของ Dune ที่เขาอยากเห็นออกมาเป็นหนัง ถึงขนาดที่ว่าหากคืนใดนอนไม่หลับ เขาจะใช้เวลาไปกับการจินตนาการฉากต่าง ๆ ของ พอล อะเทรดีส ผู้เดินทางผจญเข้าไปในทะเลทรายและได้ใช้ชีวิตร่วมกับชนเผ่าเฟรแมน

ภาพประกอบ Dune โดยศิลปิน John Schoenherr

ภาพประกอบ Dune โดยศิลปิน John Schoenherr

หนึ่งทศวรรษหลัง Dune นวนิยายปี 1965 ของนักเขียนชาวอเมริกัน แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต ออกสู่สายตานักอ่าน มันก็กลายเป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังได้ชื่อว่าเป็นนวนิยายที่นำมาดัดแปลงเป็นหนังได้ยากที่สุด หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะโลกของ Dune ที่ประกอบขึ้นจากองค์ประกอบทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันแสนซับซ้อน ทั้งภาษาโบราณที่ตัวละครใช้สื่อสารกัน พื้นหลังที่มาจากวัฒนธรรมของตะวันออกกลาง โดยเฉพาะแง่มุมของศาสนาอิสลามที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างจักรวาลในอีกหนึ่งหมื่นปีข้างหน้า ที่วิถีของอิสลามกลายเป็นวิถีของสิ่งมีชีวิตทั่วทั้งจักรวาล ตามที่วีญเนิร์ฟเคยอธิบายว่า “เรื่องราวใน Dune มีความซับซ้อนหลายมิติ ทั้งเส้นเรื่องการก้าวข้ามพ้นวัย (coming-of-age), การวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิล่าอาณานิคมและทุนนิยม, ปรัชญาธรรมชาติศาสนา, เรื่องราวของความรัก, เรื่องดราม่าแบบเชคสเปียร์, ระบบนิเวศวิทยาของดาวเคราะห์ และสารเตือนภัยถึงปมปัญหาเกี่ยวกับคนที่ตั้งตัวเป็นพระผู้ไถ่บาป (savior complex)

ตลอดช่วงชีวิตของ Dune มันเคยถูกเปลี่ยนผ่านมือผู้กำกับเบอร์ต้นของวงการมาแล้วหลายครั้ง ไล่ไปตั้งแต่ผู้กำกับชาวสุดเซอร์เรียลอย่าง อเลฮานโดร โจโดโรว์สกี (The Holy Mountain) ที่เปิดรายชื่อทีมงานและนักแสดงแล้วได้แต่อ้าปากค้าง ทั้ง ซัลบาดอร์ ดาลี, มิก แจ็คเกอร์, ออร์สัน เวลส์ ฯลฯ พ่วงด้วยวง Pink Floyd ในฐานะคนทำดนตรีประกอบ แต่โปรเจกต์ก็ต้องพับไปเพราะผู้กำกับระดับตำนานยืนกรานว่าจะทำหนังยาว 12 ชั่วโมง!

ภาพคอนเซปต์อาร์ต Dune เวอร์ชันผู้กำกับโจโดโรว์สกี

ภาพคอนเซปต์อาร์ต Dune เวอร์ชันผู้กำกับโจโดโรว์สกี

ก่อนที่ในภายหลัง ผู้กำกับหนังแฟนตาซีอย่าง ดิโน เดอ ลอเรนทิส (King Kong, Conan, Hannibal Rising) จะซื้อสิทธิ์ในการดัดแปลงมาไว้ในมือ แล้วได้ผู้กำกับ ริดลีย์ สก็อตต์ มาปั้นบทให้ก่อนที่จะโบกมือลา จนสุดท้ายชะตากรรมของหนังก็ตกอยู่ในกำมือของผู้กำกับเซอร์เรียลตัวพ่ออย่าง เดวิด ลินช์ ที่แม้จะเข็นโปรเจกต์ขึ้นจอได้สำเร็จ แต่ระหว่างทางก็ทะเลาะกับเดอ ลอเรนทิส แลถสตูดิโอผู้สร้างแบบเละเทะ จนสุดท้ายหนังออกมาไม่ตรงตามใจลินช์หวัง และเขาก็ปฏิเสธไม่ขอพูดถึงหนังอีกเลยจนถึงทุกวันนี้

กาลเวลาล่วงเลยผ่านไป กระทั่งในปี 2016 เมื่อเดนิส วีญเนิร์ฟ มาโปรโมตหนัง Arrival ที่เทศกาลหนังเวนิส เขาก็ถูกผู้สื่อข่าวยิงคำถามว่า ถ้าให้เลือกทำหนังเรื่องหนึ่งได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ และมีทุนสร้างแบบไม่อั้น เขาอยากจะกำกับหนังเรื่องไหน? ซึ่งแน่นอนว่าวีญเนิร์ฟตอบแบบไม่ลังเลว่า Dune

ตัดภาพมายังขณะที่ แมรี พาเรนต์ รองประธานของสตูดิโอ Legendary Pictures กำลังจิบกาแฟยามเช้าพร้อมอ่านข่าวไปด้วย เธอก็ได้อ่านบทความที่ผู้กำกับชาวแคนาดาที่กำลังมือขึ้นประกาศว่าการดัดแปลง Dune เป็นหนังคือโปรเจกต์ในฝัน ซึ่งเธอที่เพิ่งได้สิทธิ์ในการดัดแปลงมาไว้ในกำมือ ก็บอกให้ต่อสายถึงวีญเนิร์ฟทันที

และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการบุกฝ่ามทะเลทรายวาดีรุมแห่งจอร์แดนของวีญเนิร์ฟ ผู้พก Dune ฉบับแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสที่เขาอ่านตอนอายุ 13 ไปเข้ากองด้วยเสมอ เพื่อเตือนตัวเองว่าเขาทำหนังเรื่องนี้เพื่อคนเพียงคนเดียวเท่านั้น นั่นก็คือตัวเอง

วีญเนิร์ฟตัดสินใจตั้งแต่แรกว่าเขาอยากทุ่มเทให้โปรเจกต์นี้แบบเต็มตัว อันนำมาสู่การตัดสินใจพ่วงตำแหน่งทั้งกำกับและเขียนบท ซึ่งหนังเรื่องสุดท้ายที่เขาทั้งกำกับและเขียนบทก็คือ Incendies ในปี 2010 และตัดสินใจว่าจะไม่ปล่อยให้ตัวเองพะว้าพะวังกับ ‘ความฉลาด’ ของนวนิยายต้นฉบับ ที่ได้ชื่อว่าเป็นนวนิยายไซไฟสำหรับคนมีความรู้ จากการที่มันอัดแน่นด้วยประเด็นทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมืองสุดเข้มข้น

“ในหนังสือต้นฉบับมีความซับซ้อนทางปัญญามากมาย และมีอะไรมากมายในโลกนั้นที่ต้องย่อยและทำความเข้าใจ แต่ผมคิดว่ามันจะเป็นการเลือกที่ฉลาดกว่าถ้าเราจะทำให้ภาษาในหนังง่ายที่สุด เพื่อไม่ให้มันไปขัดกับอารมณ์และความรู้สึกของหนัง เอาเป็นว่าฉบับนวนิยายนั้นจะมีความประเทืองปัญญากว่า แต่หนังจะมีอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า แต่นั่นล่ะคือภาษาของภาพยนตร์”

อีกหนึ่งสิ่งที่วีญเนิร์ฟตั้งเป็นเป้าหมายสำคัญในการทำโปรเจกต์หนังในฝัน คือการไม่เติมสีสันหรือเคลือบน้ำตาลให้มหากาพย์เหนือเนินทรายกลายเป็นหนังไซไฟแฟนตาซี เพราะแม้ว่าเขาจะรัก Star Wars มากเพียงใด แต่เขาก็ตั้งมั่นที่จะนำเสนออารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเป็นสิ่งสำคัญของเรื่อง ไม่ใช่เรื่องราวการผจญภัยตื่นเต้นที่ปลุกอะดรีนาลีนคนดูด้วยฉากยานอวกาศไล่ล่ากัน

“ผมพยายามที่จะตั้งเป้าไปที่อารมณ์ความรู้สึกที่ผมได้รับในตอนที่ได้อ่านนวนิยายเล่มนี้ และตีโจทย์ให้ได้ว่างานภาพในหนังจะถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านั้นออกมาได้อย่างไร” วีญเนิร์ฟอธิบาย “แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต นำเสนอประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศน์ของดาวเคราะห์ออกมาได้อย่างสง่างามมาก ผมจึงอยากทำให้งานดีไซน์และโลกในหนังถูกนำเสนอออกมาด้วยวิธีเดียวกัน แม้ว่าในนวนิยายจะมีองค์ประกอบของความเป็นแฟนตาซี แต่ผมรู้ว่าสิ่งที่จะช่วยหนังได้คือการทำให้บรรดาสิ่งมีชีวิต ยานพาหนะ และเทคโนโลยีในหนังดูสมจริงและเชื่อมโยงกับความเป็นจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

และสุดท้าย แม้ว่าวีญเนิร์ฟจะอธิบายว่า “เมื่อผมได้มาทำหนังเรื่องนี้ ไอเดียสำคัญมีเพียงหนึ่งเดียวมาตั้งแต่แรก นั่นคือการทำให้หนังสื่อสารกับผู้ชมส่วนมาก” แต่เขายังคงยืนยันว่า คนดูเพียงคนเดียวที่เขาให้ความสำคัญ ก็คือเด็กชายวัย 13 ปีคนนั้นที่ใช้เวลาว่างทั้งหมดไปกับการวาดสตอรีบอร์ดหนัง Dune “ผมบอกกับตัวเองว่า ‘คงจะดีมากเลยถ้าผมสามารถทำหนังเพื่อเด็กวัยรุ่นคนนั้นที่ผมเคยเป็น’ และนั่นก็ทำให้ผมผ่อนคลายลงได้มาก …เมื่อปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปและแค่โอบรับภาพยนตร์ไว้ในฐานะผู้ชมคนหนึ่ง”

อ้างอิง
theverge
movies.ie
lwlies.com
theringer
time
bfi
theringer
playbackonline
deadline
fullerstudio
vox
time
indiewire
goldderby