7 สถานที่ใน Dune ที่เราสามารถเดินทางไปเยือนได้จริงบนโลกใบนี้ แบบไม่ต้องใช้ Spice

Post on 20 March

สารภาพกันมาตรง ๆ ว่าถึงวันนี้ แฟน Dune เดนตายอย่างคุณเดินเข้าโรงหนังเพื่อเดินทางไปเยือนโลกของ Dune กันกี่รอบแล้ว?

ซึ่งถ้าการเดินทางไปยังจักรวาลในอีกหมื่นปีข้างหน้าผ่านงานภาพสวยตระการตาที่ผู้กำกับ เดนิส วีญเนิร์ฟ บรรจงเสิร์ฟมาให้เราผ่านหน้าจอไอแม็กซ์ยังไม่สาแก่ใจพอ เราขอแนะนำให้เริ่มหยอดกระปุกกันตั้งแต่วันนี้ แล้วเดินทางไปเยือนสถานที่ในโลกของ Dune ที่เราสามารถไปเยือนกันได้จริง ๆ บนโลกใบนี้ ตามคำบอกเล่าของ แพทริซ เวอร์แมตต์ โปรดักชันดีไซเนอร์ผู้เนรมิตโลกของ Dune ทั้งสองภาค ที่เผยว่า บรรดาสิ่งก่อสร้างสุดอลังการในหนัง ล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมหรือสถานที่ที่มีอยู่จริงบนโลกใบนี้แหละ

เก็บเช็กลิสต์นี้เอาไว้ให้มั่น ๆ แล้วกระโดดขึ้นหลังหนอนทรายยักษ์พร้อมกับเรา เพื่อไปสำรวจโลกของ Dune ที่ซ้อนทับอยู่ในโลกของเรา ผ่าน 7 สถานที่ที่เราสามารถไปเยือนกันได้ในชีวิตจริง!

Brion Sanctuary

ภาพจาก Dune Part Two

ภาพจาก Dune Part Two

Brion Sanctuary

Brion Sanctuary

ใครที่ดู Dune Part Two แล้วติดใจในบรรยากาศเขียวชอุ่มและสงบลึกของที่ประทับของจักรพรรดิและเจ้าหญิงอิรูลันที่ตั้งอยู่บนดาวไคเทน (Kaitain) ก็สามารถเดินทางไปเยือนโลเคชันจริงที่ใช้ในการถ่ายทำได้ นั่นก็คือ สุสานตระกูลไบรออน หรือ Brion Sanctuary ที่ตั้งอยู่ในเมืองอัลติโวเล ประเทศอิตาลี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลงานเพชรยอดมงกุฎของสถาปนิกชาวอิตาเลียน คาร์โล สการ์ปา และร่างของเขาก็ถูกฝังไว้ในสุสานแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นผลงานการออกแบบชิ้นสุดท้ายในชีวิตของเขา ก่อนที่จะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุตกบันไดที่ญี่ปุ่นในปี 1978

สการ์ปาได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในหัวแถวของสถาปนิกโพสต์โมเดิร์นนิสต์ เอกลักษณ์ในผลงานของเขาคือการออกแบบที่เน้นนำเสนอวัสดุ เน้นความสอดคล้องกับทัศนียภาพของที่ตั้ง และที่สำคัญที่สุดคือการดึงแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมโบราณของเวนิส ด้วยเหตุนี้ เมื่อเขาได้รับการว่าจ้างจาก โอนอรินา โทมาซิน-ไบรออน ภรรยาม่ายของ กุสเซปเป ไบรออน ผู้ร่วมกันก่อตั้ง Brionvega แบรนด์โทรทัศน์และเครื่องเสียงชื่อดังของอิตาลี ให้มาช่วยออกแบบสถานที่พำนักสุดท้ายของครอบครัวไบรออน สกาปาร์จึงสร้างสวนคอนกรีตรูปตัวแอลแห่งนี้ให้อิงแอบไปกับบ่อน้ำ เพราะน้ำคือสิ่งที่เขาหลงรักมากที่สุด ดังที่เคยกล่าวว่า “ฉันรักสายน้ำเหลือเกิน อาจเป็นเพราะฉันเป็นชาวเวนิสละมั้ง”

คอนเซปต์ในการออกแบบสุสานแห่งนี้ยังตั้งอยู่บนความตั้งใจของสการ์ปาที่มองว่า “สถานที่พำนักของคนตายคือสวนเขียว” และตั้งใจออกแบบให้ที่นี่เป็นทั้งสวนสำหรับทำสมาธิใคร่ครวญถึงชีวิตและความตาย รวมถึงเป็นสถานที่ที่ดึงเอาความงามของเวนิสมาถ่ายทอดไว้ ด้วยเหตุนี้สุสานตระกูลไบรออนจึงมีลักษณะเป็นสวนสีเขียวและบ่อน้ำให้ความร่มรื่นใจ มากกว่าจะเป็นสุสานสุดขลังแบบตะวันตกที่คุ้นเคยกัน

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยหลังกองถ่าย Dune ก็คือ ตัวคนออกแบบฉากอย่าง แพทริซ เวอร์เมตต์ นั้นเป็นแฟนกีคสถาปัตยกรรมที่ยก คาร์โล สการ์ปา เป็นที่หนึ่งในใจ ด้วยเหตุนี้เมื่อเขาได้มาเยือนที่สุสานแห่งนี้ เขาถึงกับน้ำตาไหลออกมาด้วยความปลื้มปีติ นอกจากนี้สถานที่แห่งนี้ยังเคยให้กองถ่ายที่ไหนเข้ามาถ่ายทำมาก่อน แม้กระทั่งกองถ่ายหนัง Star Wars ที่เคยมาขอใช้เป็นโลเคชันแต่ก็ถูกปัดตกไป

ซึ่งเหตุผลเดียวที่กองถ่าย Dune ได้มาใช้สถานที่แห่งนี้ เพราะลูกชายของตระกูลไบรออนได้ดู Dune ภาคแรก แล้วคิดว่าสถาปัตยกรรมในเรื่องดูจะได้แรงบันดาลใจจากผลงานของสการ์ปา ผู้ออกแบบสุสานประจำตระกูลของตนเป็นอย่างมาก เลยสนใจและอยากเจอคนแฟนสการ์ปาตัวจริงผู้ให้กำเนิดโลก Dune

Hyatt Regency San Francisco

สำหรับใครที่อยากไปเยือนดวงดาวที่มีพระอาทิตย์เป็นสีขาวดำอย่างดาวฮาร์คอนเนนก็อาจจะต้องผิดหวังสักหน่อย เพราะยังไม่มีใครค้นพบดาวดวงนั้นจริง ๆ แต่ถ้าอยากลองไปเยี่ยมบ้านของท่านบารอนฮาร์คอนเนน ก็สามารถไปเยือนโรงแรม Hyatt Regency แห่งซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกากันไปก่อนได้ เพราะทีมงานเขาได้แรงบันดาลใจในการออกแบบโถงบัลลังก์ของบารอนฮาร์คอนเนนจากสถาปัตยกรรมภายในโรงแรมแห่งนี้ ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของ จอห์น พอร์ตแมน สถาปนิกชาวอเมริกันคนสำคัญแห่งขบวนการสถาปัตยกรรม Neo-Futurism

จุดเด่นของสถาปัตยกรรมภายในโรงแรม Hyatt Regency ที่ถูกดังมาใช้ในการสร้างฉากหลังอันน่าเกรงขามของบารอนฮาร์เคนนอน ก็คือลักษณะโถงภายในอาคารโรงแรมที่มองเห็นเป็นชั้น ๆ สูงขึ้นไปสุดลูกหูลูกตา เหมือนซี่โครงมนุษย์ที่ไล่เรียงกัน ดังที่เวอร์เมตต์อธิบายว่า “ตัวซี่ที่เรียงสูงขึ้นไปในห้องของบารอนฮาร์เคนนอน ได้แรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมของจอห์น พอร์ตแมน ตอนผมอายุได้ 11 ปี พ่อแม่พาผมและครอบครัวไปพักผ่อนที่โรงแรม Hyatt Regency ที่ซานฟรานซิสโก พอผมเงยหน้ามองขึ้นไป ก็มองเห็นแต่ชั้นของโรงแรมที่เรียงต่อกันเหมือนชั้นของซี่โครง เหมือนเรายืนอยู่ในตัวของวาฬ”

ภาพจาก Dune

ภาพจาก Dune

Hyatt Regency San Francisco

Hyatt Regency San Francisco

Hyatt Regency San Francisco สร้างขึ้นในปี 1973 และถูกขนานนามว่าเป็น ‘วิหารแห่งสถาปัตยกรรมแบบปิด’ (Hermetic Urbanism - แนวคิดที่อธิบายพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมในเมืองที่เป็นระบบปิด แยกออก หรือกั้นออกจากบริบทรอบข้าง มักใช้อธิบายถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมหรือแนวทางการวางผังเมืองที่สร้างพื้นที่ปิดล้อม แยกส่วน ซึ่งอาจขาดความเชื่อมโยงกับบริบทหรือชุมชนโดยรวม) นอกจากนี้ โถงล็อบบี้ที่มองเห็นขึ้นไปถึงชั้นบนสุดของโรงแรมแห่งนี้ ยังได้รับการบันทึกจากกิเนสเวิร์ลด์เรคคอร์ดให้เป็นล็อบบี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (ในช่วงเวลานั้น) ด้วยความยาว 107 เมตร กว้าง 49 เมตร และสูงถึง 52 เมตร (15 ชั้น)

Ennis-Brown House โดย Frank Lloyd Wright

แม้ว่าในนวนิยาย Dune ต้นฉบับ ผู้เขียนอย่าง แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต จะได้แรงบันดาลใจในการสร้างปราสาทของบ้านอะเทรดีสบนดาวคาลาดานมาจากป้อมปราสาทของเหล่าขุนนางและอัศวินตะวันตกในยุคกลาง แต่ใน Dune Part One ผู้กำกับวีญเนิร์ฟและโปรดักชันดีไซเนอร์เวอร์เมตต์ เลือกที่จะอ้างอิงเรฟจากสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในช่วงศตวรรษที่ 20 อันเป็นยุคแห่งความหวังของความก้าวหน้าทางศิลปวิทยาการ ก่อนที่จะถูกดับไฟฝันด้วยภัยสงครามโลก
.
“ไอเดียของเราคือการถ่ายทอดบรรยากาศที่ว่าจุดสิ้นสุดของบางสิ่งกำลังมาเยือน เช่น ประเพณีบางอย่างที่กำลังจะเลือนหายไป และกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปเป็นสิ่งอื่น” เวอร์เมตต์อธิบายถึงการสร้างโลกของตระกูลอะเทรดีสอันยิ่งใหญ่ ซึ่งกำลังจะเผชิญหน้ากับการถูกหักหลังล้างตระกูลโดยแผนการของจักรพรรดิและบารอนฮาร์คอนเนน ซึ่งนั่นก็นำมาสู่การดึงแรงบันดาลใจในการสร้างบ้านอะเทรดีส และห้องหับในป้อมปราการแห่งดาวอาราคีสที่บ้านอะเทรดีสย้ายเข้ามาอยู่ในภาคแรก จากผลงานการออกแบบของสถาปนิกชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ แฟรงค์ ลอยด์ ไรต์ ที่ซึ่งผลงานของเขาเป็นเรฟให้กับหนังไซไฟมากมาย

เอกลักษณ์ในผลงานการออกแบบของแฟรงค์ ลอยด ไรต์ ผู้มีชีวิตอยู่ในยุครุ่งอรุณของความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและวิทยาการการประดิษฐ์ คือการผสานการทดลองทางวิทยาศาสตร์เข้ากับประวัติศาสตร์ และอุดมการณ์ในการทำให้วิทยาศาสตร์และศิลปะผสานเข้ากับชีวิตประจำวันของผู้คน จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ทั้งดูล้ำยุคและเปี่ยมด้วยสุนทรียะและความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในช่วงเวลาปัจจุบัน ผลงานของไรต์ รวมถึงเหล่าลูกศิษย์สถาปนิกในยุคนั้นที่ได้รับอิทธิพลความก้าวหน้ามาจากอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ ยังยืนหยัดเป็นหลักฐานที่บ่งบอกร่องรอยของยุคสมัยแห่งความหวัง ยุคที่นักคิดและนักประดิษฐ์ยังเชื่อว่าวิทยาศาสตร์และวิทยาการต่าง ๆ จะพามนุษย์ไปสู่ความก้าวหน้า ก่อนที่ไฟสงครามจะเปิดให้เห็นว่า มนุษย์สามารถใช้วิทยาการในการทำลายตัวเองได้รุนแรงเพียงใด

ภาพจาก Dune

ภาพจาก Dune

ด้วยเหตุนี้ ฉากหลังของบ้านอะเทรดีสจึงได้แรงบันดาลใจมากองค์ประกอบการออกแบบบ้านของสถาปนิกแฟรงค์ ลอยด์ ไรต์ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบห้องฝึกซ้อมของพอล อะเทรดีส ที่มีกระจกโค้งซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากงานกระจกหน้าต่างแบบโมเสคซึ่งเป็นหนึ่งในลายเซ็นของไรต์ รวมถึงไปถึงการออกแบบผังแบบเป็นแนวเส้นตรง และลวดลายที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในวังอาร์ราคีน ตั้งแต่ห้องนอนของพอลจนถึงโถงใหญ่ที่ประดับรูปสลักนูนของไชฮูลูด ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบ้าน Ennis-Brown House หนึ่งในผลงานการออกแบบที่โด่งดังที่สุดของไรต์

Ennis-Brown House

Ennis-Brown House

Ennis-Brown House ตั้งอยู่ที่เมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยไรต์ได้แรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมของวิหารมายัน เช่นเดียวกับงานออกแบบอีกหลายงานของไรต์ จนทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมในยุคนั้นของไรต์ถูกขนานนามว่า Mayan Revival Architecture

โดยหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของบ้านหลังนี้ที่ถูกดึงไปใช้ในฉากห้องนอนของพอล ก็คือรายละเอียดงานปั้นแบบนูนที่อยู่บนอิฐแกรนิตกว่า 27,000 ก้อนรอบบ้าน ซึ่งตัวไรต์เองได้แรงบันดาลใจมาจากวิหารของชาวมายันเช่นกัน

Ziggurat

สำหรับการสร้างป้อมปราสาทอาร์ราคีนบนดาวทะเลทรายอาร์ราคีส ซึ่งผู้เขียนนวนิยายแฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต บรรยายว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดมหึมาที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โปรดักชันดีไซเนอร์เวอร์เมตต์ก็ไปดึงเอาแรงบันดาลใจมาจากหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอารยธรรมมนุษย์อย่าง ‘ซิกกูราต’ ของชาวเมโสโปเตเมียนที่มีจุดกำเนิดมาตั้งแต่ช่วง 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ซิกกูราต (Ziggurat) เป็นสิ่งก่อสร้างทางศาสนาและวัฒนธรรมของอารยธรรมเมโสโปเตเมียโบราณ ที่มีถิ่นฐานอยู่ในบริเวณอิรักและอิหร่านในปัจจุบัน เอกลักษณ์ของซิกกูราตคือลักษณะที่เป็นอาคารหอคอยสูงหลายชั้น มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ละชั้นจะมีขนาดเล็กลงตามลำดับจนถึงยอดที่แคบที่สุด ดูคล้ายพีระมิดขั้นบันได โดยปัจจุบัน ซิกกูราตที่มีชื่อเสียงที่สุดคือซิกกูราตแห่งเมืองอุร์ในอารยธรรมสุเมเรียน ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตแดนของประเทศอิรัก ประกอบด้วยฐานสามชั้น และมียอดแหลมที่สูงถึง 91 เมตร

ภาพจาก Dune

ภาพจาก Dune

ซิกกูราตแห่งเมืองอุร์

ซิกกูราตแห่งเมืองอุร์

สำหรับเหตุผลที่ทำให้เวอร์เมตต์เลือกหยิบซิกกูราตมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างปราสาทกลางทะเลทรายบนดาวอาร์ราคีส ก็มาจากแนวคิดของเขาที่มองว่า ในอดีต ประเทศเจ้าอาณานิคมมักพยายามประกาศความยิ่งใหญ่ของตัวเองในดินแดนที่เข้าไปยึดครอง ด้วยการสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่มาพร้อมกับวิทยาการจัดการข้อจำกัดหรืออุปสรรคทางสิ่งแวดล้อม อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของเจ้าอาณานิคมในการเอาชนะหรือปรับเปลี่ยนธรรมชาติ ซึ่งเวอร์เมตต์ก็จินตนาการว่า ในการเอาชนะความร้อนและลมกระโชกแรงกลางพายุทะเลทราย ป้อมปราสาทอาร์ราคีนจะต้องประกอบขึ้นมาจากกำแพงหนาเพื่อกันลมและกักเก็บความเย็นภายใน นั่นจึงเป็นที่มาของการหยิบสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมกลางทะเลทรายมาใช้

Soviet / Brazilian Brutalist Architecture

สำหรับเนิร์ดสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมสไตล์ Brutalism แล้ว การเดินเข้าไปชมโลกของ Dune ฉบับเดนิส วีญเนิร์ฟ คงให้ความรู้สึกตื่นเต้นและตื่นตาตื่นใจประหนึ่งได้เข้าไปในวันเดอร์แลนด์ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ระบุชื่อสถานที่อย่างเฉพาะเจาะจง แต่วีญเนิร์ฟและเวอร์เมตต์ก็ยอมรับว่าสถาปัตยกรรมสไตล์ Brutalism ที่เน้นความใหญ่โตและแข็งแรงของคอนกรีต เป็นเรฟหลักในการสร้างโลกใน Dune โดยเฉพาะ Brutalism สไตล์โซเวียตและบราซิล

“เราคุยกันถึงการที่ลัทธิล่าอาณานิคมมักใช้อำนาจบังคับเพื่อสอดแทรกตัวเองเข้าไปในพื้นที่ที่ต้องการครอบครอง นั่นทำให้ผมนึกถึงงานศิลปะภาพถ่ายของ นิโคลัส มูแลง (ผู้สร้างผลงานภาพถ่ายด้วยการสร้างประติมากรรมรูปตึกในยุคโซเวียตขึ้นมา แล้วจึงเก็บบันทึกภาพ) และงานคอนเซปต์ของ Superstudio ในช่วงยุค 1960s (กลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวสถาปนิกหัวขบถและก้าวหน้าชาวอิตาเลียนที่ตั้งใจใช้แนวคิดทางสถาปัตยกรรมในการเปลี่ยนโลก) ซึ่งนำเสนอแนวคิดเรื่องสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่ ซึ่งเป็นอะไรที่ให้ความรู้สึกน่ากลัวมาก แต่ผมคิดว่าภาพนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่เราอยากสร้างในโลกของ Dune นั่นก็คือการนำเสนอความรู้สึกใหญ่โต การฝืนบังคับตัวเข้าไปในพื้นที่นั้น ๆ และการถ่ายทอดสารที่ว่า สิ่งก่อสร้างเหล่านี้คือการแสดงถึงแสนยานุภาพของชาติ”

ภาพจาก Dune

ภาพจาก Dune

Monumento Buzludja

Monumento Buzludja

ซึ่งทั้งหมดที่เวอร์เมตต์กล่าวมานั้นล้วนเป็นองค์เอกลักษณ์สำคัญของสถาปัตยกรรม Brutalism ที่มีจุดเริ่มต้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเฟื่องฟูสุด ๆ ในช่วงสงครามเย็น ซึ่งแม้จะมีต้นกำเนิดในอังกฤษ แต่ในภายหลังก็มีโซเวียตและบราซิลเป็นเจ้าพ่อชูธงในสถาปัตยกรรมสายนี้ ส่วนหนึ่งเพราะองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับอุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ที่เน้นการใช้งานและความแข็งแรงคงทนมากกว่าความสวยงามหรือการตกแต่ง และยังสอดคล้องกับความต้องการของรัฐที่จะสร้างระบบสาธารณูปโภคแบบศูนย์รวมที่สร้างได้เร็ว ใช้งบประมาณได้คุ้มค่า และครอบคลุมความต้องการของประชาชนทั้งหมด และตอบรับกับการปรับผังเมืองหลังควันไฟสงครามด้วย

ภาพจาก Dune

ภาพจาก Dune

Vilnius Palace of Concerts and Sports

Vilnius Palace of Concerts and Sports

ด้วยเหตุนี้ ถ้าใครอยากลองไปสำรวจโลกของ Dune ที่อยู่บนโลกของเรา ก็สามารถเดินทางไปชมเหล่าสถาปัตยกรรม Brutalism ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ที่เราขอแนะนำมีดังนี้ ตึกแฉก The State Scientific Center for Robotics แห่งกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, อาคารอะพาร์ตเมนต์ Aviators House ในกรุงมอสโก, สนามกีฬา Vilnius Palace of Concerts and Sports แห่งลิธัวเนีย, Bank of Georgia Headquarters ในกรุงทบิลิซิ ประเทศจอร์เจีย, อาคารรูปยาน Monumento Buzludja ซึ่งเคยเป็นที่ทำการพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรีย, ตึกเลโก้ Habitat 67 ในแคนาดา, อาคารรัฐสภา Jatiya Sangsad Bhaban แห่งบังกลาเทศ, อาคารสภาแห่งชาติบราซิลที่ดูราวกับจานบิน หรือ Museum of Modern Art แห่งกรุงริโอ เดอ จาเนโร เป็นต้น

Michael Heizer’s City

อันนี้ผู้ทีมสร้างไม่ได้แนะนำ แต่เราอยากแนะนำเอง หากใครที่สนใจอยากไปรับบรรยากาศเมือง Brutalisism กลางทะเลทรายแบบที่เห็นใน Dune เราขอผายมือไปที่ Michael Heizer City ที่แม้จะได้ชื่อว่า ‘เมือง’ แต่ที่จริงแล้วนี่คือประติมากรรมกลางทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลก!

City (1972) คือผลงานของ ไมเคิล ไฮซ์เนอร์ ศิลปินภูมิศิลป์ (Land Art) ผู้มีชื่อเสียงจากผลงานแกะสลักขนาดยักษ์ โดยเฉพาะการแกะสลักหรือปรับเปลี่ยนองค์ประกอบในธรรมชาติให้กลายเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ แต่ผลงานที่สะท้อนถึงความทะเยอทะยานของไฮซ์เนอร์มากที่สุดคงหนีไม่พ้นประติมากรรมกลางทะเลทรายเนวาดาชิ้นนี้ ที่เขาเริ่มจากการลงมือขุดหลุมยักษ์กลางทะเลทราย ก่อนจะตามมาด้วยการขยายสิ่งก่อสร้างอีกห้าเฟส บนพื้นที่กว้างหนึ่งไมล์ ยาวหนึ่งไมล์ครึ่ง ใช้งบประมาณกว่า 40 ล้านดอลลาร์ และระยะเวลาในการสร้างถึง 50 ปี!

สำหรับจุดประสงค์ในการสร้างประติมากรรมสุดบ้าบิ่นนี้ ก็มาจากความตั้งใจของไฮซ์เนอร์ที่จะสร้างอนุสาวรีย์หรือสิ่งก่อสร้างแห่งโลกยุคโบราณขึ้นมาในโลกสมัยใหม่ เน้นใช้เทคโนโลยีการสร้างให้เหมือนกับในอดีตมากที่สุด โดยที่รูปลักษณ์ภายนอกยังคงเน้นสุนทรียะแบบมินิมอลที่เป็นของโลกยุคปัจจุบัน และทำให้นึกถึง ‘ผังเมือง’ แบบโลกยุคใหม่ด้วย

Hegra และ Petra

และหากใครที่ดู Dune Part Two แล้วอยากเดินทางไปยังเมืองทางตอนใต้ของดาวอาราคีสอันเป็นที่สถานที่ที่ พอล อะเทรดีส หรือ อีซาน อัลไกอีบ เริ่มเผยแผ่ศาสนา ก็สามารถไปรับบรรยากาศสุดศักดิ์สิทธิ์กันได้จากแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ในตะวันออกกลาง ที่ผู้สร้างดึงแรงบันดาลใจมาสร้างเป็นวิหารแห่ง Makers หรือหนอนยักษ์ไชฮูลูด นั่นก็คือ เมืองโบราณเฮกรา แห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีไฮไลต์สำคัญคือสถาปัตยกรรมสลักหินและสุสานหินของชนชั้นสูง ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งบอกความรุ่งเรืองของดินแดนที่มีการตั้งรกรากมาตั้งแต่เมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว

Hegra

Hegra

เมืองโบราณเฮกรายังตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเพตรา เมืองโบราณที่เป็นศูนย์กลางของอารยธรรมแนบาเทีย อันมีอีกหนึ่งสิ่งก่อสร้างขึ้นชื่อที่ทางผู้สร้าง Dune ก็ดึงมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างวิหารไชฮูลูดเช่นกัน นั่นก็คือ ปราสาทหินทรายสีชมพู ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศจอร์แดน โดยเอกลักษณ์สำคัญของสถาปัตยกรรมโบราณทั้งสองแห่งที่ผู้สร้าง Dune ดึงมาใส่ไว้ในวิหารทางตอนใต้ของอาร์ราคีสก็คือการแกะสลักประตูทางเข้าจากหน้าผา และการสร้างวิหารลึกเข้าไปในหินผานั่นเอง

Petra

Petra

อ้างอิง
indiewire
archpaper
metropolismag
sciencefocus
architecturaldigest
atlasofwonders
archpaper
surfacemag
drpress