สิ่งแรกที่ชวนให้นึกประหลาดใจเมื่อเห็นชื่อนิทรรศการ ‘คราส’ ของประสงค์ ลือเมือง จิตรกรชาวลำพูนวัย 61 ปี ผู้ห่างหายจากการจัดแสดงงานในกรุงเทพไปนานถึง 12 ปี คือเรื่องของการผูกโยงสถานการณ์โรคระบาดเข้ากับ ‘ดวงจันทร์’ เพราะถ้าเรานึกถึงโรคระบาด เราก็มักจะนึกถึงเชื้อโรค หน้ากากอนามัย และการเจ็บป่วยล้มตายมากกว่าพระจันทร์ที่ลอยบนฟ้า แต่พอได้ลองไตร่ตรองดูอีกครั้ง ก็พบว่าพระจันทร์ที่ปรากฏอยู่ในนิทรรศการนี้ ไม่ใช่พระจันทร์ดวงกลมที่เราชินตา แต่เป็นพระจันทร์ที่มาในฐานะของ ‘คราส’ ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ผู้คนเชื่อกันว่าเป็นลางร้าย
สำหรับคนในยุคปัจจุบันที่เติบโตมาในช่วงที่วิทยาศาสตร์เฟื่องฟูแล้วอาจจะนึกภาพไม่ออกว่า ในสมัยโบราณที่มนุษย์ยังหาคำอธิบายให้กับเหตุการณ์บางอย่างไม่ได้ ‘คราส’ หรือ ‘จันทรุปราคา’ นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์อัปมงคล ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนเราเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างความเชื่อในไทยที่มองว่าการเกิดจันทรุปราคานั้นมาจากราหูอมจันทร์ หรือบางที่ก็บอกว่าเป็นกบอมจันทร์ ทำให้พระจันทร์ที่เคยส่องสว่างสุกสกาว กลายเป็นสีน้ำตาลคล้ำคล้ายเลือด ส่งผลให้ผู้คนไม่กล้าออกจากบ้าน หรือโดนแสงจันทร์ในช่วงเวลานี้ หรือหนักกว่านั้นก็ถึงขั้นกล่าวว่าช่วงเวลานี้คือ ‘ฤกษ์อุบาทว์’ ที่ไม่เป็นมงคลกับชีวิตเลย
ด้วยเหตุนี้การนำ ‘คราส’ มาเปรียบเทียบเข้ากับช่วงเวลาของโรคระบาด ก็นับเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คนทั่วโลกต่างหวาดกลัวที่จะต้องออกจากบ้านและพบปะผู้คน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะติดโรค และสามารถส่งผลร้ายแรงจนถึงตายได้ เหตุการณ์เหล่านี้ได้ตรงกับความเชื่อเรื่องคราสที่คนโบราณเคยกล่าวกันไว้จริง ๆ เพราะพฤติกรรมของทุกคนในช่วงที่เกิดโรคระบาด ได้ปฏิบัติเหมือนกับที่คนในอดีตทำเมื่อเกิดคราสเลย ไม่ว่าจะเป็นความหวาดกลัวต่อสถานการณ์โรคระบาด การหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน และการพยายามทำทุกอย่างเพื่อหลุดพ้นออกจากช่วงโรคระบาดให้เร็วที่สุด โดยในระหว่างที่ทุกคนต่างเก็บตัว ประสงค์ก็ได้ใช้ช่วงเวลานั้นเพื่อสร้างผลงานจิตรกรรมชุดใหม่ขึ้นมา เพื่อบอกเล่าและบันทึกถึงช่วงเวลาแห่งความโกลาหลเหล่านี้เอาไว้ด้วย
เนื่องจากศิลปินได้ห่างหายจากการจัดนิทรรศการไปนาน ทำให้คิวเรเตอร์อย่าง กษมาพร แสงสุระธรรม ตัดสินใจสร้างห้องแรกของนิทรรศการให้เป็นเหมือนจักรวาลที่รวบรวมผลงานในอดีตของประสงค์เอาไว้ เพื่อช่วยให้คนดูได้ทำความเข้าใจกับแนวทางและลายเส้นสุดเฉพาะตัวของศิลปินว่า กว่าจะสามารถสร้างผลงานจิตรกรรมได้อย่างเชี่ยวชาญ ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างไรบ้าง ซึ่งนอกจากเราจะได้เห็นเส้นทางการเรียนรู้บางส่วนของศิลปินที่คิวเรเตอร์ได้นำไปเทียบกับดวงดาวต่าง ๆ ในจักรวาลแล้ว เรายังได้เห็นฐานความเชื่อเกี่ยวกับแนวคิดเชิงปรัชญาตะวันออก ทั้งพุทธศาสนา เต๋า และเซน และอิทธิพลจากศิลปินจากศิลปินไทยและต่างชาติที่ผสมผสานและค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นลวดลายอันเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปินเองด้วย ซึ่งภาพรวมทั้งหมดนี้แหละ ที่จะนำพาเราไปสู่การตีความและทำความเข้าใจผลงานชิ้นล่าสุดของเขาที่อยู่ในส่วนจัดแสดงหลัก
‘คราส’ คือชื่อของงานจิตรกรรมที่วาดขึ้นมาด้วยสีฝุ่นบนกระดาษเยื่อไผ่รีดบนผ้าใบ มีด้วยกันทั้งหมด 8 ชิ้น จัดเรียงกันเป็นระยะห่างเท่า ๆ กัน และติดตั้งอยู่ในห้องรูปพระจันทร์เสี้ยวสีม่วงซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงหลักของนิทรรศการ และเป็นผลงานตั้งต้นที่ศิลปินตั้งใจทำขึ้นมาในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดในระดับโลก ด้วย โดยภาพทั้ง 8 ภาพนี้เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกัน และพูดถึงความตื่นตระหนก การแก่งแย่งชิงดี การเอารัดเอาเปรียบ และความหวาดกลัวของผู้คนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ เช่น การล็อกดาวน์ ด้วยลายเส้นที่ดูแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา คล้ายกับกำลังมองภาพลวงตา ทำให้ทุกอย่างดูผสมปนเปกันจนดูโกลาหลไปหมด ซึ่งพอไล่มองไปทีละภาพแล้วก็รู้สึกราวกับกำลังมองบันทึกเหตุการณ์บทหนึ่งที่เพิ่งผ่านมาหมาด ๆ
นอกจากเรื่องของการแพร่ระบาดแล้ว ภาพวาดชุดนี้ยังชวนผู้ชมไปสำรวตคติและความเชื่อเรื่อง ‘คราส’ ที่นอกเหนือจากการเป็นลางร้ายที่ผู้คนต้องพากันหลบเลี่ยงแล้ว ในหลาย ๆ ความเชื่อ ‘คราส’ ยังส่งผลต่อพลังงานของโลก ทำให้ผู้คนเกิดความปั่นป่วน หรือตำนานที่เรารู้จักกันมากที่สุดก็คือมนุษย์หมาป่าที่จะกลายร่างเมื่อพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ในภาพวาดที่ทุกคนดูราวกับกำลังจะกลายร่างเป็นอะไรสักอย่างอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการเกิดโรคระบาด ก็เป็นเหมือนกับช่วงเวลาที่เกิดคราส ที่ผู้คนทั่วโลกต่างดูเหมือนกำลังจะเป็นบ้า และพยายามเอาตัวรอดกันจนหลงลืมศีลธรรมไปในบางที
ภาพชุด ‘กัปกัลป์’ ภาพจิตรกรรมสีฝุ่นจำนวน 4 ชิ้น ที่ดูคล้ายกับร่างกายเปลือยเปล่าของมนุษย์ที่เหลือแต่โครงกระดูก แต่ส่วนล่างกลับยังเหลือส่วนองคชาตที่มีเนื้อหนังอย่างเด่นชัด กำลังนอนอยู่เหนือกองฟืน
ที่มีเปลวไฟลุกท่วม เหมือนซากศพที่กำลังถูกเผาอยู่บนเชิงตะกอน รอบ ๆ โครงกระดูกและภายในร่างกาย มีสิ่งมีชีวิตหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวกำลังเข้าโรมรันพันตูเพื่อแทรกซึมเข้าไปในร่างกายนั้นอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้นึกถึงฉากการต่อสู้ระหว่างเชื้อโรคกับมุนษย์ที่มีการเจ็บป่วยล้มตายกันไปเป็นจำนวนมากในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา และยังเห็นถึงแนวความคิดทางพุทธศาสนาที่พูดถึงการเวียนว่ายตายเกิด และทุกอย่างเป็นเรื่องวัฏจักรของธรรมชาติที่ศิลปินมักหยิบยกขึ้นมาประกอบการสร้างผลงาน
ภาพนี้เป็นเหมือนกับคำตอบของศิลปินถึงสถานการณ์โรคระบาดทั้งหมดที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปที่โรคใดโรคหนึ่งแต่เป็นการพูดถึงธรรมชาติโดยรวมของโลกใบนี้ที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่มีสิ่งใดยั่งยืนถาวรไม่ว่าจะมนุษย์ หรือเชื้อโรคก็ตาม วิธีการที่ศิลปินวาดองคชาตขึ้นมาให้มีเนื้อหนัง แตกต่างจากส่วนร่างกายที่แห้งเหี่ยวเหลือแต่กระดูก องคชาตก็คือเครื่องเพศที่ให้กำเนิดชีวิตขึ้นมาได้ เมื่อมาอยู่ในภาพจึงแทนสัญลักษณ์ของการมีชีวิต ผลงานชิ้นนี้จึงเหมือนเป็นผลงานที่กำลังเล่าสามคติที่ซ้อนทับกันอยู่ในภาพเดียว คือ การกำเนิด การต่อสู้ และความตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญ และเกิดขึ้นวนเวียนซ้ำไปซ้ำมาอย่างไม่รู้จบ ตามชื่อของภาพนี้ที่ตั้งไว้ว่า ‘กัปกัลป์’ ทั้งหมดนี้เราจึงได้เห็นกันซ้อนกันที่หลากหลายชั้นมาก ทั้งการซ้อนกันของคติในภาพ การซ้อนกันของลายเส้นภาพวาด และยังสอดคล้องกับชื่อของนิทรรศการที่พูดถึง ‘คราส’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์เกิดเงาซ้อนกัน
สำหรับห้องสุดท้ายจะติดตั้งผลงานเอาไว้ 2 ชิ้น โดยชิ้นแรกจะเป็นภาพหญิงสาวกำลังมองกระจก ที่วาดขึ้นในปีพ.ศ. 2529 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตการทำงานของศิลปิน ส่วนอีกชิ้นหนึ่งจะเป็นภาพดวงตาที่วาดขึ้นในปี 2566 ทางคิวเรเตอร์ได้บอกกับเราว่า ผู้หญิงในภาพเปรียบเหมือนกับดวงจันทร์ ขณะที่ดวงตากลมโตก็ดูคล้ายกับดวงจันทร์เช่นกัน เมื่อมองผลงานทั้งสองคู่กันโดยมีกระจกในมือของหญิงสาวเป็นสื่อกลาง ดวงตาของหญิงสาวในภาพนั้นก็ยังสะท้อนมาเป็นภาพดวงตาในภาพอีกชิ้นหนึ่ง ทั้งหมดนี้ทำให้รู้สึกราวกับว่าผลงานทั้งสองกำลังส่งพลังกันไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน สื่อถึงเรื่องราวในอนาคตของศิลปินที่ยังคงมีพลังก้าวต่อไปไม่รู้จบ
หลังจากดูครบทั้งหมดแล้ว ก็รู้สึกเหมือนนิทรรศการ ‘คราส’ กำลังบอกกับเราว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่จุดเริ่มต้นและไม่ใช่จุดจบ ไม่ว่าจะในอดีตหรืออนาคต ไม่ว่าเหตุการณ์จะร้ายหรือดี ตราบใดที่เรายังอยู่บนโลกนี้ก็คงไม่อาจหลีกหนีจากสัจธรรมได้พ้น จึงต้องพร้อมต่อสู้กับอุปสรรคใหม่ ๆ ที่เข้ามาตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องราวในระดับโลกอย่างโรคระบาด เศรษฐกิจ หรือสงคราม แต่รวมไปถึงปัญหาในชีวิตประจำวันของเราก็ด้วยเหมือนกัน เช่นเดียวกันกับ ‘คราส’ ที่ไม่ว่าคนในอดีตจะไม่อยากให้เกิดขึ้นอย่างไร และหาวิธีหลีกเลี่ยงขนาดไหน แต่ตราบใดที่โลกยังคงมีดวงจันทร์เป็นบริวาร และหมุนรอบดวงอาทิตย์ คราสก็ต้องเกิดขึ้นอยู่ดี
สามารถชมนิทรรศการ ‘คราส’ (Eclipse) โดย ประสงค์ ลือเมือง ได้ตั้งแต่วันนี้ - - 18 กรกฏาคม 2566
ที่ JWD Art Space ชั้น 3 ซ.จุฬาลงกรณ์ 16
ปล. ทางคิวเรเตอร์ยังแอบกระซิบบอกเราอีกว่า ความจริงแล้วในนิทรรศการครั้งนี้ยังมีผลงานชิ้นสำคัญซ่อนอยู่อีกชิ้น ถ้าใครมั่นใจในการเป็นนักสืบ ก็อย่าลืมเดินให้ทั่ว ๆ ไม่แน่ว่าอาจจะเจอกับชิ้นงานลับก็เป็นได้