cover web aior.jpg

อิสระในการทดลอง เรียนรู้ และวาดภาพของ erdyillustration

Post on 2 November

ปลายปีกับลมหนาวแบบนี้ ในกรุงเทพนั้นเต็มไปด้วยกิจกรรมมากมายให้เราร่วมสนุก หนึ่งในนั้นคืองาน Bangkok Art Book Fair ที่รวบรวมผลงานจากศิลปินและนักออกแบบทั้งไทยและต่างประเทศมาให้เราชมและช้อปกัน หนึ่งในนั้นคือ erdyillustration หรือ ‘ลูกไม้–ดวงกมล คงธนะเจริญชัย’ ที่โลดแล่นในวงการนี้มานานหลายปี

แต่ก่อนที่ผลงานของเธอในนาม erdyillustration จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบนี้ ลูกไม้เล่าให้เราฟังว่าเธอเคยใช้ชื่อเล่นอย่าง ‘ลูกไม้’ เป็นนามปากกามาก่อน สไตล์งานในนามที่ว่านี้คืองานวาดหวานๆ แบบเฟมินีน แต่เพราะร้สึกตันและอยากทดลองหาแนวทางใหม่ๆ เธอเลยสร้างนามปากกาใหม่ขึ้นมาสำหรับงานสไตล์ vector art และ digital paint 

“คนส่วนใหญ่อาจอ่าน erdy ว่า ‘เออร์ดี้’ แต่จริงๆ แล้วมันคือ ‘เออดี’ ภาษาไทยบ้านเรา” เธออธิบายอย่างขำๆ

วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่เธอนำมาใช้ใน erdyillustration หรือเออดีที่เธอและเพื่อนๆ พูดกันนั้นผสานรวมจากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนั้นๆ ปัญหาหรือเหตุการณ์ที่กำลังพบเจอ อารมณ์ความรู้สึกที่กำลังเกิด แต่บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องราวอะไรที่ไหน เพียงแต่ต้องการทดลองเทคนิคที่ได้ไปเห็นมา ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคจากภาพวาดของศิลปินที่ลูกไม้คิดว่าน่าสนใจ แลนด์สเคปที่แสงเงาน่าทดลอง เทคนิคใหม่ๆ จากแอคเคาต์ Tiktok 

“บางคนอาจจะจำงานเราที่เป็นแลนด์สเคปมืดๆ บางคนก็จำภาพคนไม่มีหน้า แต่ส่วนตัวเราคิดว่างานเราไม่ค่อยมีเอกลักษณ์เท่าไหร่เพราะเราชอบทดลองเทคนิควิธีวาดใหม่ๆ แรกๆ จะรู้สึกว่ามันเป็นปมเหมือนกันนะที่เราไม่มีเอกลักษณ์ชัดเจน แต่ช่วงหลังเริ่มไม่แคร์แล้ว เพราะความไม่มีเอกลักษณ์ก็อาจจะเป็นเอกลักษณ์อย่างนึงได้ 

"อีกอย่างการระบุเอกลักษณ์อาจจำกัดอิสรภาพในการสร้างงานของตัวเองไปเลยว่าภาพของฉันจะต้องออกมาหน้าตาแบบนี้เท่านั้นซึ่งมันเป็นกับดักที่เคยทำให้เราไม่มีความสุขกับการวาดภาพไปเลย” เธออธิบายถึงความคิดก่อนทิ้งท้ายกับเราว่า

วงการหนังสือศิลปะในไทยมันดีขึ้นมากๆ และเราก็อยากให้ไปได้ไกลกว่านี้ แต่เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อก็เข้าใจทั้งสองฝ่าย เราจึงคิดว่าทุกคนในวงการทำได้ดีที่สุดแล้วเพียงแต่อยากฝากรัฐบาลมากกว่าว่าถ้าไม่มีความสามารถพอจะคิดแนวทางสนับสนุนวงการศิลปะหรือสิ่งพิมพ์ของไทยได้ อย่างน้อยก็ช่วยหาทางจัดการเรื่องค่าครองชีพหรือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้สูงกว่านี้สักที ถ้าทำไม่ได้ก็ให้คนที่เขาทำได้เข้ามาทำได้แล้ว
 

“Priceless moment เป็นภาพหนึ่งจากชุด Highland (NFT) คอลเลกชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจจากการวาดภาพระหว่างล็อกดาวน์ที่เราคิดถึงการใช้ชีวิตเอาต์ดอร์ เราเลยจะวาดพวกภาพวิวที่ดูฝันๆ หน่อย บางภาพก็จะมีกรอบ มีห้อง เป็นการเล่าเรื่องถึงเราที่กำลังโหยหาวิวข้างนอกแต่ออกไปไม่ได้” 

“สำหรับเรา Priceless moment ทำให้เราได้ทดลองอะไรบางอย่างและส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นชิ้นงานที่ทำน้อยแต่สวยมาก (คิดเองคนเดียว) ที่สุดเท่าที่เคยทำมา"

“ช่วงนั้นคนทำภาพ NFT แบบขยับกันเยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ค่อนข้างหวือหวา ไซไฟ  เราเลยอยากลองทำภาพขยับที่มันให้อารมณ์นิ่งๆ ไม่หวือหวาดู เป็นภาพที่ขยับน้อยๆ สงบ และไม่เรียกร้องความสนใจจนเกินไปจนได้เป็น Soul”

ชมภาพเคลื่อนไหวที่ erdy/foundation

“Warm in the blue เป็นงานอะคริลิกที่ทำขึ้นเพื่อจัดแสดงที่นิทรรศการกลุ่ม CLUSTER CONTEMPORARY ในวันที่ 3-6 พฤศจกายนนี้ ที่ลอนดอน 

“งานนี้อาจเป็นแค่แลนด์สเคปทั่วไป แต่สำหรับเรามันมีความ magic ระหว่างทำ เพราะเราไม่ได้วางแผนอะไรเลยนอกจากสี จากนั้นก็เอาฟองน้ำมาละเลงสีไปเรื่อยๆ คิดว่าอยากให้มันดูเป็นกราฟิกนิดๆ มั่วๆ หน่อย แต่มันจบออกมาคล้ายรูปวิวซะงั้น ก็เลยชอบความรู้สึกเซอร์ไพร์สหลังจากทำงานชิ้นนี้เสร็จ”


 

ติดตาม erdyillustration ได้ที่ erdyillustration