‘Evil Does not Exist’ หนังที่ชวนตั้งคำถามว่า “เมื่อ Evil Does not Exist แล้ว Who does?”

Post on 6 February

(บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์)

ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ลำธารใสจนดื่มได้ วิถีชีวิตแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยของเหล่าชาวบ้าน คือฉากเปิดของหนังเรื่อง ‘Evil Does not Exist’ ผลงานกำกับเรื่องใหม่ของ ‘เรียวสึเกะ ฮามากุจิ’ ผู้กำกับคนดังที่เคยคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และรางวัลภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมจากออสการ์ครั้งที่ 94 จากหนังเรื่อง ‘Drive my car’

เรื่องราวของ ‘Evil Does not Exist’ ได้เล่าถึงหมู่บ้าน ‘มิซูฮิกิ’ ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากโตเกียวมากนัก แต่กลับมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ จนเป็นที่หมายตาจากบริษัทในโตเกียว ที่เข้ามาซื้อที่ดินเพื่อสร้างเป็นลาน ‘Glamping’ วิถีการตั้งแคมป์แบบใหม่ที่สุขสบายเหมือนได้อยู่ในโรงแรม 5 ดาว ซึ่งพวกเขาต้องเข้ามาในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ไม่ต้องการให้วิถีชีวิตของตัวเองเปลี่ยนไป

พอได้ฟังเรื่องย่อแบบนี้แล้ว เชื่อว่าทุกคนก็คงจะรู้สึกคุ้นชินกับพล็อตเรื่องได้ไม่ยาก เพราะแม้กระทั่งในละครไทยบ้านเรา ก็ยังมีพล็อตแนวหนุ่มสาวบ้านทุ่ง สอนการใช้ชีวิตหนุ่มสาวเมืองกรุงที่ปีกกล้าขาแข็งมาเปลี่ยนแปลงชนบทอยู่บ่อยครั้ง ซึ่ง ‘Evil Does not Exist’ ก็มีโทนเสียงแบบนั้นเหมือนกัน ทว่าแค่ในช่วงแรกเท่านั้น…

ฉากการประชุมรวมระหว่างทีมงานจากบริษัทในโตเกียวและชาวบ้าน คือสัญญาณแรกที่บอกว่าความสงบในเรื่องกำลังจะหมดไป การถกกันด้วยเหตุผลระหว่างทั้งสองฝ่ายค่อย ๆ เผยให้เราเห็นถึงความไม่สมประกอบของบริษัทในโตเกียว ที่ต้องการเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้โดยไม่สนใจผลกระทบใด ๆ เท่าไรนัก ยิ่งได้ทราบอีกว่าแท้จริงแล้วพวกเขาคือบริษัทดูแลดารา ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างลานแกลมปิง ก็ยิ่งเผยไต๋ให้ชาวบ้านเดาได้ว่าพวกเขาแค่ต้องการสร้างโครงการนี้ เพื่อของบจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะออกทุนอุดหนุนให้กับบริษัทที่ตั้งใจสร้างโครงการดี ๆ หลังยุคโควิดเท่านั้น

หลังจากดูมาถึงตรงนี้ ทุกคนก็น่าจะพอเดาอากัปกิริยาของทุกคนภายในโรงภาพยนตร์ได้ว่า คงจะกำลังหัวอุ่น ๆ กันพอสมควร เพราะเรื่องที่ฟังเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากเหลือเกิน อย่างประเทศไทยของเราก็เพิ่งมีกรณีเรื่องการทำกระเช้าขึ้นภูกระดึง เรื่องการท่องเที่ยวในปายที่ไม่โลคอลเหมือนเก่า รวมถึงสถานที่อื่น ๆ มากมายบนโลกที่คนมองว่าถูกเอกชนกลืนกิน แต่ดังที่หนังได้จั่วหัวไว้ว่า “Evil Does not Exist” ยังไม่ทันที่เราจะได้ตัดสินใจว่าใครผิดใครถูก หนังก็ได้ตัดสลับบทบาทให้เราได้เฝ้ามองกลุ่มคนเมืองจากโตเกียวบ้าง

และนั่นคือจุดที่ทุกอย่างเข้าสู่สถานการณ์จริง ที่ทำให้เห็นเค้าลางอันน่าสงสัยบางอย่างก่อตัวขึ้น เพราะท่ามกลางการเล่าเรื่องอย่างแช่มช้าในพาร์ทของหมู่บ้าน เราจึงได้เฝ้ามองทุกอิริยาบถของตัวละครเอกอย่าง ‘ทาคุมิ’ พ่อหม้ายผู้ประกอบอาชีพรับจ้างสารพัดอย่างในหมู่บ้านอย่างละเอียด เช่น ถ้าทาคุมิจะเดินไปไหน เราก็จะได้ชมฉากการเดินเท้ายาวอยู่หลายนาที หรือถ้าเป็นฉากตักน้ำ เราก็จะได้เห็นทุกกระบวนการตั้งแต่ตักน้ำที่ละกระบวยใส่ถัง ไปจนถึงการค่อย ๆ ขนทีละถังสองถังไปขึ้นรถจนหมด แต่ทั้ง ๆ ที่เราเห็นเขานานที่สุดขนาดนี้แท้ ๆ ทว่าเรากลับรู้เรื่องเกี่ยวกับเขาน้อยมาก

ในทางกลับกัน พอตัดภาพมาที่ฝั่งโตเกียวที่ใช้เวลาเล่าไม่นาน เรากลับได้รับรู้ทัศนคติของทุกคนทั้งหมด ตั้งแต่เหตุผลในการประกอบอาชีพ ชีวิตรัก และความคาดหวังในอนาคต ซึ่งทุกอย่างที่เล่ามานี้เริ่มพาเราย้อนกลับไปมองฉากอื่น ๆ ที่ชวนให้นิยามถึงคำว่า ‘คนนอก’ และ ‘คนกอบโกยผลประโยชน์’ ใหม่อีกครั้ง อย่างในฉากการประชุม ทาคุมิได้บอกไว้ว่า เขาคือลูกหลานของคนที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่นี้ในช่วงหลังสงคราม เขาเองก็เป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามากอบโกยบางสิ่งบางอย่างจากพื้นที่แห่งนี้ไม่ต่างจากคนในโตเกียวเลย เขาเลยอยากบอกให้รู้แค่ว่า ถ้าเข้ามากอบโกยมากไปทุกอย่างมันก็จะเสียสมดุล

ยังมีสาวเจ้าของร้านอุด้ง ที่ก็ออกมาพูดเหมือนกันว่าเธอก็เป็นคนนอก เพิ่งเข้ามาที่นี่ได้ไม่นาน แต่เธอรักในรสชาติอุด้งที่สร้างขึ้นมาจากน้ำตกที่นี่ และถ้าการเข้ามาของแกลมปิงทำให้รสชาติของน้ำเปลี่ยนไปเธอก็คงไม่รู้จะอยู่ที่นี่อีกต่อไป เสียงนี้จึงสื่อนัยถึงเราทุกคนว่า เราเองต่างก็เป็นคนนอกที่เข้ามากอบโกยทุกอย่างกันทั้งนั้น และถ้าตัวหนังยังคงยืนยันว่า “Evil Does not Exist” เพราะทุกคนต่างมีเหตุผลของตัวเอง ถ้าอย่างนั้นแล้ว “Who does?”

ตลอดเวลาที่นั่งดูหนัง เราทุกคนจะโฟกัสอยู่กับสองเส้นเรื่อง คือคนในหมู่บ้านมิซูฮิกิ กับคนที่โตเกียว แต่ความจริงแล้วยังมีอีกเส้นเรื่องหนึ่งที่ดำเนินการคู่ขนานไปกับทุกเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือเจ้าของเสียงปืนในป่าที่ดังขึ้นในเวลาเดิมของทุกวัน เราไม่เคยเห็นตัวคนเหล่านั้นเลย เราไม่รู้จักเขาด้วยซ้ำ อีกทั้งยังรู้สึกห่างไกล สิ่งที่บ่งบอกถึงการดำรงอยู่ของพวกเขา มีเพียงเสียงปืน กับซากกวางที่ตาย จนกระทั่งฉากสุดท้ายที่เราค้นพบว่าสิ่งที่เจ้าของปืนทำไว้ มันส่งผลกระทบถึงใคร ๆ ได้มากกว่าที่คิดไว้เสียอีก

และเจ้าของเส้นเรื่องที่สามนี่แหละที่ทำให้เราหาคำตอบของคำว่า “Who does?” ได้ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไหน ๆ ทางผู้กำกับก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่า ถึงแม้เขาจะมีการตีความฉากจบในแบบฉบับของตัวเองเอาไว้อยู่แล้ว แต่ก็เปิดกว้างให้คนดูตีความกันเองได้อย่างเต็มที่ เราก็เลยอยากจะเข้าร่วมตีความกับเขาด้วยเหมือนกัน ผ่านคำว่า “Evil Does not Exist” แต่ “Human Does Exist” เมื่อผูกเข้ากับคำพูดของลุงผู้ใหญ่บ้านที่กล่าวไว้ในตอนประชุมว่าทุกอย่างนั้นเหมือนสายน้ำ ถ้าคนต้นน้ำทำไว้ไม่ดี คนปลายน้ำก็จะเดือดร้อน

เหมือนกับโลกของเราที่ไม่ว่าใครจะทำอะไร สักวันหนึ่งมันจะส่งผลกระทบถึงเราทั้งหมด ไม่ว่าคุณจะเป็นคนใน คนนอก หรือเป็นใคร สุดท้ายเราคงทำได้เพียงเอาตัวรอดให้ดีที่สุดเท่านั้น เจ้าของเสียงปืนในมุมมองของเราก็คือ ‘มนุษย์’ ที่มีตัวตนอยู่บนโลกนี้ทุกคน เราคงไม่อาจตัดสินได้ว่าเขาชั่วร้าย เป็นปีศาจ หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ เพราะในมุมมองของเขา เขาก็คงจะกำลังใช้ชีวิตของตัวเองอยู่ เหมือนที่คนในหมู่บ้านมิซูฮิกิ และคนในกรุงโตเกียวต่างก็ใช้ชีวิตและมีเหตุผลของตัวเองคู่ขนานกันไป แต่สิ่งที่ทุกคนรับรู้ได้ ก็คือบนโลกนี้ “ไม่เคยมีใครเอาชนะธรรมชาติได้เลยสักครั้ง”

“กวางป่าไม่เคยทำร้ายคน ยกเว้นกวางป่าที่ท้องทะลุ (จากกระสุนปืน)” คือสิ่งที่ทาคุมิบอกไว้ในตอนใกล้จบ ก็คงเหมือนกับธรรมชาติที่ไม่ได้ทำร้ายคนง่าย ๆ ยกเว้นตอนที่มันโดนทำร้ายอย่างจนตรอก จนไม่สามารถดำรงอยู่ได้แล้ว เมื่อนั้น คนก็จะต้องเป็นฝ่ายถูกทำร้าย หนีตาย และต่อให้เราหันมาจัดการคนอื่นที่จ้องจะทำร้ายธรรมชาติ มันก็คงไม่ทันแล้ว เพราะเราทั้งหมดล้วนพ่ายแพ้ เหมือนฉากจบสุดท้ายของเรื่อง ‘Evil Does not Exist’ ที่ทุกอย่างถูกคลุมไปด้วยหมอกควันอันขมุกขมัว ที่กลืนกินทั้งฉากจนขาวโพลน และไม่อาจรับรู้ชะตากรรมและความเป็นไปหลังจากนั้นได้อีกเลย

นอกเหนือจากเรื่องนี้แล้ว ‘Evil Does not Exist’ ก็ยังมีอีกหลายประเด็นและหลายสัญญะ รวมถึงความสวยงามของงานภาพ และเสียงดนตรีประกอบที่รอให้ทุกคนเข้าไปค้นหาความหมายด้วยตัวเองอยู่ สามารถชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ เป็นต้นไป ในทุกโรงภาพยนตร์