จาก Renoir สู่ The Strokes 4 ศิลปิน Nepo Baby ที่ใช้ความสามารถก้าวข้ามชื่อเสียงของพ่อแม่

Art
Post on 15 January

ถ้าจะให้เลือกคำสักคำที่ใช้บรรยายบรรยากาศในแวดวงบันเทิงฝั่งฮอลลีวูดในปี 2022 ได้แบบจบปิ๊งที่สุดก็ไม่น่าจะไม่มีคำไหนโดดเด่นไปกว่าคำว่า ‘nepo baby’ หรือที่ถูกย่อมาจาก ‘nepotism baby’ ศัพท์ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่ออธิบายถึงเหล่าลูกหลานของคนดังและผู้มีอิทธิพลในแต่ละวงการที่ได้รับผลประโยชน์จากชื่อเสียงของครอบครัว และสามารถประสบความสำเร็จได้โดยง่าย เมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ ที่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์

ประเด็นนี้ยิ่งถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงมากยิ่งขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลังนักแสดงและนางแบบสาว Lily-Rose Depp ลูกสาวของ Johnny Depp และ Vanessa Paradis ออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองว่า เธอไม่คิดว่าชื่อเสียงของพ่อแม่จะเป็นสิ่งที่นำพาความสำเร็จมาให้เธอ เพราะกว่าเธอจะมาถึงจุด ๆ นี้ก็ต้องฝ่าฟันและดิ้นรนไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ในแวดวงเช่นกัน ซึ่งไอ้บทสัมภาษณ์ชุดนี้เองที่เป็นตัวจุดประกายไฟแค้นจากเพื่อนร่วมวงการอีกหลายคนที่อดรนทนไม่ไหวต้องพากันออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างดุเดือดว่า การดิ้นรนของ Depp มันเทียบอะไรไม่ได้กับความพยายามของพวกเธอที่ต้องต่อสู้มาในอุตสาหกรรมอันโหดร้ายนี้เพียงลำพังตั้งแต่ศูนย์แน่นอน

ความแรงของกระแส nepo baby ยังคงร้อนแรงยิ่งขึ้นเมื่อนิตยสาร New York Magazine ฉบับเดือนธันวาคมนำประเด็นนี้กลับมาพูดถึงแบบชุดใหญ่ โดยพวกเขานำใบหน้าของเหล่า nepo baby มาตัดต่อใส่ร่างกายเด็กทารกขึ้นปก พร้อมข้อความที่เขียนว่า ‘Aww, look! She has her mother’s eyes. And agent.’ หรือที่แปลเป็นไทยว่า ‘งื้อ ดูนั่นสิ! เธอได้ดวงตาของแม่มา รวมทั้งตัวแทนของเธอด้วย’ จนสามารถเรียกกระแสฮือฮาที่นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหล่าลูกหลานคนดังและอภิสิทธิ์ของพวกเขาบนโลกอินเตอร์เน็ตได้แบบยาวนานข้ามปี แรงไม่แรงก็คิดดูว่า แม้แต่ Hailey Bieber ลูกสาวของนักแสดง Stephen Baldwin และภรรยาของนักร้องหนุ่ม Justin Beiber เองยังต้องออกมาโต้ตอบแบบกวน ๆ ด้วยการสวมใส่เสื้อยืดพิมพ์ข้อความ ‘Nepo Baby’ ออกมาอวดโฉมในสาธารณชนได้พูดถึงกันอีก 1 ยก

ในขณะที่ทุกคนต่างรู้ดีว่า เซเลบระดับท็อปลิสต์อย่าง Hailey Bieber, Lily-Rose Depp, Kendall Jenner, Kylie Jenner, Gigi Hadid, Bella Hadid, Brooklyn Beckham, Jaden Smith และ Willow Smith นั้นล้วนแล้วแต่เป็น nepo baby ที่ได้เติบโตงอกงามมาจากผลิตผลความดังของบุพการี แต่หากจะใช้มาตรวัดจากการเริ่มต้นพิสูจน์ฝีมือจากศูนย์ นักแสดงรุ่นใหญ่มากความสามารถอย่าง Jamie Lee Curtis หรือ Laura Dern เองก็เข้าข่ายการเป็น nepo baby ไม่ต่างกัน

และถ้าจะให้พูดกันตามจริงแล้ว เรื่องราวของ nepo baby ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแวดวงบันเทิงเท่านั้น เพราะแม้แต่ในโลกศิลปะเอง ลูกหลานของคนดังเหล่านี้เองก็ได้รับอภิสิทธิ์จากชื่อเสียงของครอบครัวจนสามารถไต่เต้าในวงการไปได้ไกลและรวดเร็วกว่าใครเพื่อนจนสามารถสร้างอาณาจักรอันมั่นคงของตัวเองได้แบบสบาย ๆ ศิลปินดังชั้นครูอย่าง Henri Matisse, Camille Pissarro หรือแม้แต่ Pablo Picasso เองต่างก็มีลูกหลานที่ก้าวเข้ามาทำงาน (และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม) ในโลกศิลปะกันทั้งนั้น

เกริ่นมาตั้งยาว แต่ความจริงแล้ววันนี้เราไม่ได้จะมาไล่บี้ใคร (อ้าว!) แต่จะขอพูดถึงเหล่าศิลปิน nepo baby คนโปรดจากหลากหลายสาขา ที่ถึงแม้เราจะรู้อยู่เต็มอกว่า พวกเขาก็น่าจะได้รับอภิสิทธิ์บางอย่างจากความโด่งดังของพ่อแม่มาบ้าง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ไม่มากก็น้อย แต่ผลงานและความสามารถของพวกเขาก็สามารถพิสูจน์ตัวตน และก้าวข้ามชื่อเสียงของคนรุ่นก่อน จนสามารถผลิดอกออกผล สร้างชื่อให้ตัวเองได้อย่างเต็มภาคภูมิไม่ต่างกัน

Jean Renoir
ผู้กำกับภาพยนตร์

สำหรับคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของภาพยนตร์คลาสสิกมาอย่างใกล้ชิด ชื่อของ Jean Renoir คงไม่ใช่ชื่อใหม่สำหรับเหล่าซีเนไฟล์ตัวจริงแน่นอน เพราะเขาคือผู้กำกับชาวฝรั่งเศสผู้อยู่เบื้องหลังผลงานชิ้นเยี่ยมอย่าง La Grande Illusion (1937) และ The Rules of the Game (1939) ที่ติดท็อปลิสต์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลมาแล้วแทบทุกสำนัก

ไม่ใช่แค่บทบาทสำคัญที่เขามีส่วนสร้างให้แก่โลกภาพยนตร์เท่านั้น อีกมุมหนึ่งเขายังเป็นลูกชายของจิตรกรคนดังแห่งลัทธิประทับใจ (Impressionism) อย่าง Pierre-Auguste Renoir ด้วย ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งใบหน้าในวัยเยาว์ของเขาก็ยังไปปรากฏอยู่ในผลงานจิตรกรรมของผู้เป็นพ่อมากกว่า 60 ชิ้นด้วย
นอกจากสายเลือดที่สืบทอดต่อมา ผลงานหลาย ๆ ชิ้นของ Renoir คนลูกยังสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลที่เขาได้รับจากพ่อมาอย่างปฏิเสธไม่ได้ (แม้จะพยายามวิ่งหนีมาตลอดชีวิต) โดยเฉพาะในผลงานภาพยนตร์อย่าง A Day in the Country (1946), Picnic on the Grass (1959) และ The River (1951) ที่มีกลิ่นอายตามแบบวิถีลัทธิประทับใจที่มักจะออกไปเก็บแสง สี และบรรยากาศตามธรรมชาติมาใส่ไว้ในผลงาน แทนที่จะดำเนินการถ่ายทำกันในโรงถ่ายตามที่คนทำภาพยนตร์ในสมัยนั้นนิยมกัน จนทำให้เขาถึงกับได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘คนทำหนังประทับใจ’ ผู้ริเริ่มการออกไปถ่ายทำภาพยนตร์กลางแจ้งกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี แม้ผลงานของทั้งคู่จะสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของกันและกันอยู่เสมอ แต่ความจริงแล้ว ด้วยอายุที่ห่างกันร่วม 60 ปี และปมในวัยเด็กที่ Jean Renoir ถูกพ่อบังคับให้ไว้ผมยาวอยู่เสมอ ทำให้ความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกกลับกระท่อนกระแท่น และไม่ได้อบอุ่นอย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยพวกเขาเพิ่งจะมาประสานรอยร้าวได้ก็ช่วงบั้นปลายชีวิตของผู้เป็นพ่อแล้วเท่านั้น

อ่านเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสองพ่อลูกคู่นี้แบบเต็ม ๆ ได้ที่:
t.ly/_KSv

Alexander Calder
ประติมากร

ด้วยผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ที่พลิกโฉมหน้าวงการประติมากรรมไปอย่างสิ้นเชิง ใคร ๆ ก็ย่อมรู้จักชื่อของ Alexander Calder กันเป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ก่อนชื่อของศิลปินชาวอเมริกันเจ้าของผลงานโมบายล์นับร้อย ๆ ชิ้นคนนี้จะปรากฏขึ้นในความรับรู้ของโลกศิลปะ ยังมี Alexander Calder ก่อนหน้าเขาถึง 2 คน!

ศิลปิน 2 คนที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ Alexander Milne Calder ปู่ของเขา และ Alexander Stirling Calder พ่อของเขานั่นเอง โดย Calder คนปู่คือประติมากรชาวสกอตติช-อเมริกันที่ถูกจดจำจากผลงานรูปปั้น William Penn ที่ศาลากลางเมืองฟิลาเดลเฟีย ส่วน Calder คนพ่อคือประติมากรคนดังที่เชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์ศิลปะสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นผลงานรูปปั้น George Washington as President ที่ Washington Square Arch ในนิวยอร์ก, น้ำพุ Swann Memorial ในฟิลาเดลเฟีย Philadelphia และอนุสรณ์สถาน Leif Eriksson ในเรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์ นอกจากนั้น แม่ของเขา Nanette Lederer Calder เองก็ยังเป็นจิตรกรมากฝีมือด้วยเช่นกัน

ถึงจะเติบโตมาในครอบครัวศิลปะ แต่ Alexander Calder กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวให้ก้าวเข้ามาทำอาชีพศิลปินเท่าไหร่นัก ดังนั้น เขาจึงหักเหเส้นทางหันไปศึกษาในสายวิศวกรรมแทน อย่างไรก็ดี ความรักในศิลปะก็ยังพาเขาวกกลับคลุกคลีในแวดวงนี้อีกครั้ง แต่ที่น่าสนใจคือ เขาไม่ได้ถูกจดจำจากผลงานประติมากรรมตามขนบแบบสมาชิกในครอบครัว กลับกัน ผลงานศิลปะของเขาโดดเด่นด้วยรูปทรงและรูปแบบการนำเสนอที่แปลกใหม่ มีการผสมผสานระหว่างความเป็นสองมิติและสามมิติเข้าด้วยกัน อีกทั้งความรู้ในเชิงวิศวกรรมศาสตร์ที่สั่งสมมา ยังทำให้เขากลายเป็นบุคคลแรก ๆ ที่นำการเคลื่อนไหวเข้ามาใช้ในงานประติมากรรม และผลงานโมบายล์ของเขามีส่วนสำคัญให้กับศิลปะแบบจลนศิลป์ (Kinetic Art) ด้วย

นอกจาก 3 ศิลปิน ปู่-พ่อ-หลาน ในภายหลังตระกูล Calder ยังคงผลิตบุคคลากรในแวดวงศิลปะออกมาอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ภัณฑารักษ์ หรือบทบาทหน้าที่อื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว รุ่นลูกหลานของเขาก็ดูจะเป็น nepo baby เสียยิ่งกว่าตัวเขาเองด้วยซ้ำ

Sofia Coppola
ผู้กำกับภาพยนตร์

สวย รวย เก่ง มีรสนิยม ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามจากผลงานภาพยนตร์ที่กำกับเอง มีเพื่อนสนิทเก๋ ๆ เคยเดทนักแสดงหนุ่มสุดหล่อแห่งยุค เคยแต่งงานกับผู้กำกับสุดฮิป และที่สำคัญที่สุด… เป็นลูกสาวของผู้กำกับภาพยนตร์ในตำนานอย่าง Francis Ford Coppola!

การมีอยู่ของผู้กำกับสาวชาวอเมริกัน Sofia Coppola เป็นเหมือนภาพฝันอันสมบูรณ์แบบของสาวเก่งสุดเท่ที่กลายมาเป็นต้นแบบให้กับสาว ๆ หลายคนทั่วโลก เพราะถึงแม้เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่า เธอ (และพี่ชายอีก 2 คน) คือ nepo baby ตัวจริงเสียงจริงที่ไ้ด้รับสิทธิประโยชน์จากการเป็นลูกของผู้กำกับคนดังที่ผลิตภาพยนตร์ระดับขึ้นหิ้งมาแล้วมากมาย (Eleanor Coppola แม่ของเธอก็ทำภาพยนตร์เช่นเดียวกัน) แต่ผลงานภายใต้การสร้างสรรค์ของเธอเองก็ยังสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมได้ไม่รู้ลืมไม่ต่างกัน

Coppola เริ่มมีชื่อเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ครั้งแรกตั้งแต่ยังเป็นเพียงทารกวัยแบเบาะในฐานะหนึ่งในนักแสดงประกอบภาพยนตร์ The Godfather (1972) ของพ่อ และแม้จะถูกแซะเป็นระยะ ๆ ถึงความ ‘เส้นใหญ่’ มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่เธอก็ยังได้มีโอกาสปรากฏตัวในผลงานภาพยนตร์ของผู้เป็นพ่ออีกหลายต่อหลายเรื่อง อย่างไรก็ดี กลับเป็น The Virgin Suicides (1999) ผลงานการกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกในชีวิตที่เริ่มสร้างชื่อให้เธอในฐานะผู้กำกับหญิงแห่งยุค ไม่ใช่แค่ในฐานะ ‘ลูกสาวของ Francis Ford Coppola’ อีกต่อไป

หลังจากความสำเร็จของ The Virgin Suicides ตัว Coppola เองยังมีผลงานภาพยนตร์ดี ๆ ที่เธอควบตำแหน่งเป็นทั้งผู้กำกับ คนเขียนบท และโปรดิวเซอร์ ออกมาให้แฟน ๆ ได้รับชมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Lost in Translation (2003), Marie Antoinette (2006), Somewhere (2010), The Bling Ring (2013), The Beguiled (2017) และ On the Rocks (2020) ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับรางวัลและคำวิจารณ์ในทางบวกอยู่เสมอ จนทำให้หลาย ๆ คนถึงกับต้องยอมรับออกมาว่า เธอเป็น nepo baby คนโปรดในดวงใจ ที่แม้จะเติบโตมาด้วยสิทธิพิเศษมากมาย แต่ก็มีความสามารถที่ยากจะปฏิเสธด้วยเช่นกัน

Julian Casablancas
นักดนตรีวง The Strokes

I just wanted to be one of The Strokes, now look at the mess you’ve made me make.

  • จากเพลง Star Treatment ของวง Arctic Monkeys

ไม่ใช่ Alex Turner คนเดียวแน่ ๆ เพราะสำหรับวัยรุ่นอินดี้ยุค 00s ใคร ๆ ก็อยากเป็น The Strokes กันทั้งนั้น โดยเฉพาะในช่วงที่อัลบั้มสามทหารเสืออย่าง Is This It (2001), Room on Fire (2003) และ First Impressions of Earth (2005) ถูกปล่อยออกมา และเรียกเสียงฮือฮาจากเหล่านักฟังเพลงจากการเป็นหนึ่งในวงหัวหอกของกระแสดนตรีแบบ ​garage rock revival ร่วมกับเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง The White Stripes, The Hives และ The Vines (ยุคนั้น ชื่อวงแบบ The -s เขามาแรงจริง)

ในขณะที่สมาชิกทั้ง 5 คนเป็นไอคอนของความคูลที่เด็กหนุ่มในช่วงเวลานั้นต่างใฝ่ฝัน ในอีกด้านศิลปินจากนิวยอร์กวงนี้ก็โดนค่อนแคะมาตลอดว่าเป็น ‘วงร็อกลูกคุณหนู’ ที่เติบโตมาบนช้อนเงินช้อนทอง ไม่ได้สู้ชีวิตแบบนักดนตรีคนอื่น ๆ ที่ต้องปากกัดตีนถีบกว่าจะขึ้นมายืนถึงจุด ๆ นี้ เพราะเมื่อเราย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของวง The Strokes ก็จะพบว่า 3 สมาชิกอย่าง Julian Casablancas, Nick Valensi และ Fabrizio Moretti ต่างก็เป็นเพื่อนในวัยเด็กที่เติบโตมาใน Upper East Side ย่านไฮโซของแมนฮัตตัน ส่วน Nikolai Fraiture เองก็เป็นเพื่อนสนิทของ Casablancas ที่เรียนมาด้วยกันที่โรงเรียน Lycée Français de New York แถมพื้นเพของแต่ละคนยังไม่ธรรมดา Albert Hammond Jr. เองก็เติบโตมาในครอบครัวสายดนตรี โดยพ่อของเขาคือ Albert Hammond นักร้อง นักแต่งเพลงคนดังนั่นเอง

แต่ที่น่าจะน่าตกใจที่สุดเห็นจะเป็นครอบครัวของ Casablancas นักร้องนำของวง เขาคือลูกชายของ Jeanette Christiansen นางแบบและอดีต Miss Denmark ประจำปี 1965 และ John Casablancas นักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลของโลกแฟชั่น ผู้อยู่เบื้องหลังการก่อตั้ง Elite Model Management หนึ่งในเอเจนซี่นางแบบ-นายแบบที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดของโลก ซึ่งด้วยชื่อเสียงและอิทธิพลของพ่อแม่ก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่ทำให้นักดนตรีอินดี้แบบ Casablancas ต้องพิสูจน์ฝีมือทางดนตรีมาทั้งชีวิต

ถึงจะถูกตั้งคำถามถึงอภิสิทธิ์ที่เขาได้รับมาโดยตลอด แต่เขาก็ยังคงเดินหน้าผลิตผลงานดี ๆ มาให้สาธารณชนได้รับฟังเสมอมา โดยนอกจากผลงานที่เขาทำกับเพื่อนในวง The Strokes แล้ว Casablancas ยังมีผลงานร่วมกับวง The Voidz ออกมาให้เราได้ฟังกันมาตั้งแต่ปี 2014 รวมไปถึงผลงานเดี่ยว และโปรเจกต์คอลแลบกับศิลปินคนอื่น ๆ อีกมากมายที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เขาไม่ได้มีดีแค่เป็น nepo baby จากครอบครัวไฮโซ แต่ยังมีฝีมือในการเขียนเพลงและแต่งเนื้อร้องในระดับที่หาตัวจับยากด้วย แม้แต่กับอัลบั้มชุดล่าสุดของ The Strokes อย่าง The New Abnormal (2020) เอง ก็เพิ่งไปคว้ารางวัล Grammy Awards ครั้งที่ 63 ในสาขา Best Rock Album มาครองเป็นครั้งแรกของวงด้วย

อ้างอิง:
https://www.nytimes.com/2022/05/02/style/nepotism-babies.html
https://www.artnews.com/art-news/news/the-nepo-babies-of-art-1234651157/
https://www.huffpost.com/entry/art-family-relatives_b_1701648