มองสายใยชีวิตและวิถีสังคมที่ยึดโยงคนไต้หวัน ผ่าน 3 ปกอัลบั้มสุดโดดเด่น ในงาน Golden Pin Design Award 2023

Post on 21 September

บางครั้งปกอัลบั้มก็ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่สำหรับการบอกเล่าคอนเซปต์ของบทเพลง ชีวิตนักร้อง และวงดนตรีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันยังเป็นเวทีสำคัญที่ถูกใช้เพื่อถ่ายทอดทัศนคติในการมองโลกของศิลปินแต่ละคนและเป็น ‘Soft Power’ ด้านศิลปวัฒนธรรมทางสังคมของคนแต่ละชาติ ผู้อยากบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เอาไว้ หรือนำเสนอให้คนในชาติอื่น ๆ ได้รู้จักด้วย
.
อย่างในงาน ‘GRAMMY Awards’ ของปีนี้เอง ก็ให้ความสนใจกับเรื่องหน้าปกอัลบั้มด้วยเช่นกัน เพราะมีศิลปินนักออกแบบชาวไต้หวันได้ขึ้นรับขึ้นรางวัล ‘The Best Recording Package’ โดยเธอได้ออกแบบอัลบั้มเพลง ‘Pakelang’ ด้วยการสอดแทรกวัฒนธรรมของชนเผ่าอาเหม่ยลงไปในการออกแบบปกอัลบั้ม ได้อย่างลงตัว จนได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก
.
นอกเหนือจากงาน GRAMMY Awards แล้ว อีกหนึ่งงานสำคัญที่ให้ความสนใจกับเนื้อหาบนหน้าปกอัลบั้มไม่แพ้กัน ก็คืองาน ‘Golden Pin Design Award’ งานประกวดการออกแบบชื่อดังของไต้หวันที่เปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัยและทุกอาชีพ ได้ออกมาประลองกึ๋นด้านการออกแบบและแข่งขันกันอย่างเข้มข้น โดยมีศิลปินหลายคนเลยในปีนี้ ที่ใช้การออกแบบปกอัลบั้มมาเป็นไม้ตายในการเข้าประกวด
.
ซึ่งวันนี้ GroundControl ก็อยากจะพาทุกคนตามไปส่องสามผลงานการออกแบบปกอัลบั้มของศิลปินไต้หวัน ที่นอกจากจะมีดีเรื่องเสียงดนตรีแล้ว ยังรวมไปถึงปกอัลบั้มและเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในแต่ละเพลย์ลิสต์ด้วย เพราะยิ่งมองก็ยิ่งรู้สึกราวกับได้สัมผัสสายใยชีวิตและวิถีทางวัฒนธรรมอันหลากหลายของชาวไต้หวัน ที่ยึดโยงและเชื่อมตัวพวกเขาเข้าไว้ด้วยกันอยู่ มาตามส่องไปด้วยกันเลยดีกว่า

Endless Playlist จาก Shallow Levée เมื่อชีวิตคือการเดินทางบนถนนสายหนึ่ง

เคยคิดไหมว่าถ้าเราต้องขับรถไปร่วมงานแต่งของใครสักคนเราจะฟังเพลงแบบไหนระหว่างทางดี? ถ้ายังนึกไม่ออกว่าจะฟังเพลงไหน ก็ลองเปิด Spotify ไปฟังเพลย์ลิสต์ของวงดนตรีซอฟต์ร็อกจากไต้หวัน อย่าง ‘Shallow Levée’ ดูสักครั้ง เพราะพวกเขาได้สร้างเพลย์ลิสต์สุดพิเศษที่ชื่อว่า ‘Endless Playlist’ ขึ้นมาเพื่อเปิดระหว่างทางไปร่วมงานแต่งสักแห่งหนึ่ง ที่ชวนให้เราย้อนกลับไปมองความหมายของชีวิตว่าเป็นอย่างไร

ซึ่งทุกบทเพลงที่พวกเขาได้นำมาใส่ในอัลบัมนี้ ก็ได้กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ชีวิตในไต้หวัน ที่เติบโตและเล่นวงดนตรีมาด้วยกันตั้งแต่สมัยวัยรุ่น โดยพวกเขาได้ถ่ายทอดความรู้สึกนี้ผ่านการออกแบบหน้าปกที่แฝงไปด้วยสัญลักษณ์ของถนนหนทางติดทะเลกับบรรยากาศสุดสดชื่นของท้องฟ้าและผืนมหาสมุทร เพื่อสื่อถึงการเดินทางของมนุษย์เรา อย่าง ‘กระจกโค้ง’ ที่เรามักเห็นตามมุมถนน ก็กลายมาเป็นจุดเด่นของหน้าปกอัลบั้มนี้ และเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ภาพสะท้อน’ แทนตัวตนของศิลปินและคนฟังเพลง ที่ย้อนถามว่าระหว่างการเดินทางในชีวิต ทุกคนใช้มันอย่างคุ้มค่า และเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เราอยากเป็นหรือยัง

ความพิเศษอีกอย่างของการออกแบบอัลบั้มนี้ คือตัวแพ็กเกจจิ้งที่ทำเหมือนกับการ์ดเชิญไปงานแต่งงาน ที่มีรายละเอียดหลายชั้นให้เราได้ค่อย ๆ คลี่คลาย ที่มองดูแล้วก็เหมือนกับเรากำลังสำรวจความเป็นไปในชีวิตของศิลปินและวงดนตรี กับตัวตนของเราด้วย

ถ้าอยากรู้ว่าบทเพลงในอัลบั้มนี้จะพิเศษแค่ไหน และทำให้เรานึกถึงอะไรบ้าง ก็ลองตามมาฟังกันได้ที่: https://open.spotify.com/album/3VZ0skV5pT9HT2fwPazf5l?si=MvVtoxVZTVSuasRhwb8lkw&fbclid=IwAR2mYlFEbcRYhwvpUl_HiB_HK1upUnXYr5E_tZ7JlqkgruH4daMvRsgw-nA&nd=1

สำรวจวัฒนธรรมการไหว้เจ้า ในอัลบัมบ๊ายบายโย่ว (Bài Bài Yōu ) จากวง Jhen Yue Tang

หากใครกำลังอยากฟังเพลงโมเดิร์นแบบร็อก ๆ ที่มีกลิ่นอายดนตรีดั้งเดิมเป็นส่วนประกอบ จะต้องถูกใจอัลบัม ‘บ๊ายบายโย่ว (Bài Bài Yōu )’ จากวง ‘Jhen Yue Tang’ ของไต้หวันอย่างแน่นอน เพราะพวกเขาได้ตั้งใจทำอัลบั้มที่รวมเอาบทสวดในพิธีการต่าง ๆ ตามความเชื่อของไต้หวันมาทำเป็นเพลงร็อกอิเล็กทรอนิกส์ จนได้ชื่อว่าเป็น ‘ศาลเจ้าร็อก’

และนอกจากพวกเขาจะเอาดนตรีดั้งเดิมกับความสมัยใหม่มาผสมกันจนเป็นกิมมิคพิเศษในอัลบั้มชุดนี้แล้ว พวกเขาก็ยังดึงเอาหลักความเชื่อของชาวพื้นเมืองในไต้หวันอย่างการไหว้เจ้ามาใช้เป็นคอนเซปต์หลักในการออกแบบปกอัลบั้มด้วย โดยคงคอนเซ็ปต์ออกแบบชุดอัลบั้มเป็นการเผาหงิ่งเตี๋ย (กระดาษเงินกระดาษทอง) กล่าวคืออัลบั้มชิ้นนี้จะมีรูปร่าง กลิ่น และแพ็กเกจเหมือนกับกระดาษเงินกระดาษทองที่ขายตามร้านไหว้เจ้า แถมเผาได้จริง ๆ ด้วย เรียกว่าถ้าได้มองอัลบัมนี้ยังไงก็ต้องนึกถึงไต้หวันขึ้นมาได้ไม่ยาก เพราะสร้างความทรงจำทั้งเสียง รูป และกลิ่น นับว่าเป็นคอนเซปต์ที่เก๋และแปลกใหม่มาก ๆ จริง ๆ

สามารถลองตามไปฟังกันได้ที่: https://open.spotify.com/album/128VQHbMPJKNwIxuXmGyYn?si=_8wEOvn1Q7WT8zyudO_zoQ&fbclid=IwAR1stR1EhvYHUSi9nC_N7rEwR2x8twvY_e6NWt9trriwIWpy9zFUpREL3f8&nd=1

Pakelang จากวง 2nd Generation Falangao Singing Group & The Chairman Crossover Big Band ที่ว่าด้วยเรื่องของชนพื้นเมืองอาเหม่ย

รู้หรือไม่ว่า? ในไต้หวันก็มีชนพื้นเมืองอยู่เหมือนกัน! ซึ่งหลังจากที่เราได้สัมผัสกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ของชาวไต้หวันผ่านอัลบั้ม Endless Playlist จาก Shallow Levée และความเชื่อดั้งเดิมกระแสหลักของไต้หวันอย่างการไหว้เจ้าผ่าน ในอัลบัมบ๊ายบายโย่ว (Bài Bài Yōu ) จากวง Jhen Yue Tang กันไปแล้ว การได้มาทำความรู้จักกับวัฒนธรรมอีกสายหนึ่งของชนพื้นเมือง จากอัลบั้ม Pakelang ของวง 2nd Generation Falangao Singing Group & The Chairman Crossover Big Band ก็น่าจะทำให้ทุกคนได้สัมผัสกับอีกแง่มุมความเป็นไต้หวันได้สนุกยิ่งขึ้น

ซึ่งในอัลบั้ม Pakelang ก็ได้นำแนวเพลงท้องถิ่น และเทคนิคการขับร้องตามประเพณีของชนพื้นเมืองอาเหม่ยไต้หวัน มาผูกกับองค์ประกอบร็อกสไตล์กับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ จนกลายเป็นบทเพลงสุดพิเศษที่สะท้อนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไต้หวันออกมาได้อย่างชัดเจน

ในส่วนของการออกแบบหน้าปกอัลบั้ม ก็ได้นำเอาภาพชายฝั่งและภูมิทัศน์เทือกเขา มาจัดเรียงซ้อนกันให้เป็นเลเยอร์ เพื่อแทนถึงพื้นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองอาเหม่ย ผู้อยู่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก รวมถึงมีการนำภาพใบหน้าของชนพื้นเมืองมาใส่ไว้ในอัลบั้มด้วย อัลบั้มนี้จึงมีลักษณะเหมือนกับหนังสือเล่มเล็ก (Booklet) ที่รวมความเป็นไต้หวัน โลกสมัยใหม่ และชนพื้นเมืองอาเหม่ยเข้าด้วยกัน

พอเห็นแบบนี้แล้วก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมปกอัลบั้ม Pakelang ถึงได้รับรางวัล ‘The Best Recording Package’ จากงาน GRAMMY Awards ของปีนี้ สมกับความตั้งใจของคนสร้างที่อยากจะให้เรื่องราวและวัฒนธรรมของไต้หวันเผยแพร่ไปสู่โลกข้างนอก จนอยากมาท่องเที่ยวและรู้จักกับที่แห่งนี้มากขึ้นกว่าเดิม

ลองไปฟังกันได้ที่นี่: https://open.spotify.com/album/0b32n8IT6sZof7GbGCbZtc?si=tdFpSW9ETE-6YIyNVZCdOg&fbclid=IwAR2R4tDunbQsZ2YDVCByoQtSu-Y3R3IrXPMVxT2yjgpjFlgsO2ywMGAXU08&nd=1