”ในอวกาศ ไม่มีใครได้ยินเสียงกรีดร้องของคุณ“
คำโปรยในตำนานของแฟรนไชส์ภาพยนตร์อย่าง ‘Alien’ ที่เพียงได้เห็นก็ทำให้นึกถึงเสียงกรีดร้องของลูกเรือบนยาน ‘The USCSS Nostromo’ ที่กำลังพยายามเอาชีวิตรอดจาก ‘Xenomorph’ สิ่งมีชีวิตต่างดาวที่สร้างความสะพรึงให้กับผู้ชมมาตลอดระยะเวลา 45 ปี
ในปัจจุบันภาพยนตร์ชุด Alien ถูกสร้างมาแล้วทั้งหมดเจ็ดภาค ด้วยระยะเวลาที่ห่างกันของแต่ละภาค อาจทำให้เนื้อหาหรือแก่นสารบางอย่างของความเป็น Alien นั้นแตกต่างกันไปบ้าง แต่หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าในภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะมีจุดร่วมเดียวกันคือ ‘ปกรณัม’ ต่าง ๆ ที่มักถูกซ่อนไว้ในภาพยนตร์
เมื่อลองมองย้อนกลับไปตั้งแต่ Alien (1979) จนถึง Alien: Romulus (2024) ที่กำลังเข้าฉาย ก็จะพบว่าหลายองค์ประกอบที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์มักจะมีชื่อที่อ้างอิงมาจากตำนานกรีกและโรมัน ถึงแม้จะไม่ได้มีการกล่าวถึงโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายองค์ประกอบที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์กลับชวนให้เรานึกถึงตำนานเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นดาว ‘Tartarus’ ที่อ้างอิงมาจากสถานที่จองจำเหล่าพี่น้องไททันและอสูรกายต่าง ๆ หรือแม้แต่ยาน ‘Romulus’ และ ‘Remus’ ที่เป็นเรื่องราวสองพี่น้องฝาแฝดผู้สร้างกรุงโรม
GroundControl ขอพาทุกคนไปสำรวจปกรณัมที่ถูกซ่อนไว้ในภาพยนตร์ชุด Alien ตลอดระยะเวลา 45 ปีที่ผ่านมา
Prometheus เรื่องราวแห่งเทพผู้สร้าง
เรื่องราวของโพรมีธีอุส (Prometheus) ถูกยกขึ้นมากล่าวถึงครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง Prometheus (2012) เมื่อมนุษย์ถูกวิศวกรรมขึ้นมาโดยวิศวกรต่างดาวเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง ความเชื่อมโยงกันระหว่าง Prometheus และตำนานคือการเล่าเรื่องของ ‘ผู้สร้าง’ แต่หากเพียงจุดประสงค์และผลลัพธ์ของผู้สร้างทั้งสองเรื่องกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ตามตำนานกรีก โพรมีธีอุส คือเทพผู้ให้กำเนิดมนุษยชาติ ด้วยการปั้นมนุษย์ขึ้นมาจากดินเหนียว และทำให้ก้อนดินเหนียวนั้นมีชีวิตขึ้นมา แต่มนุษย์กลับต้องคอยหาเครื่องสังเวยมาทำการเซ่นสรวงให้เหล่าเทพเจ้าจนพานพบกับความลำบาก กระทั่งเทพโพรมีธีอุสเกิดความสงสารเหล่ามนุษย์ จึงตัดสินใจวางกลลวงเหล่าเทพ ด้วยการแบ่งเครื่องสังเวยออกเป็นสองกอง กองหนึ่งคือตับไตเครื่องในของวัวที่ถูกคลุมไว้ด้วยกองเนื้อน่ากิน ในขณะที่อีกกองหนึ่งเป็นกองสุมที่เต็มไปด้วยกระดูก แต่ซ่อนเนื้อสดอวบฉ่ำเอาไว้
ซุสเสด็จลงมารับเครื่องสังเวย และได้เลือกกองเนื้อคลุมกระดูก เมื่อซุสรู้ว่าถูกหลอก จึงทำการลงโทษมนุษย์ ด้วยการริบเอา ‘ไฟ’ ไปจากมนุษย์ ทำให้มนุษย์ต้องดำรงชีวิตอยู่ในความมืดและหนาวเหน็บ โพรมีธีอุสที่เห็นใจมนุษย์ จึงได้ทำการขโมยไฟจากซุสเพื่อนำแสงสว่างและความอบอุ่นกลับคืนสู่มนุษยชาติอีกครั้ง
จุดจบในตอนท้ายเรื่อง Prometheus เลยเป็นเหมือนการลงโทษมนุษย์ที่คิดทัดเทียมอำนาจของพระเจ้า ซึ่งที่จริงแก่นของโพรมีธีอุสจะเป็นเรื่องบทลงโทษของคนที่ท้าทายอำนาจของพระเจ้ามากกว่า
หากมองย้อนกลับมาในโลกของความเป็นจริง มนุษย์มักจะจินตนาการว่าพระเจ้าคือผู้สร้างที่มีความสมบูรณ์แบบ สูงส่ง ยิ่งใหญ่ และมีอำนาจ ในภาพยนตร์ Prometheus ผู้กำกับริดลีย์ สก็อตต์ จึงได้ตั้งคำถามว่า ‘จะเป็นอย่างไรหากมนุษย์ท้าทายอำนาจของพระเจ้า?’
ด้วยเทคโนโลยีและศักยภาพของมนุษย์ที่ก้าวกระโดด จนมนุษย์สามารถเอาชนะการคัดสรรตามธรรมชาติได้ และกลายเป็นผู้อยู่บนสุดของห่วงโซ่ ความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดทำให้มนุษย์เริ่มเลียนแบบอำนาจของพระเจ้า เห็นได้จากใน Prometheus เมื่อมนุษย์พยายามเลียนแบบอำนาจของพระเจ้าด้วยการสร้างชีวิต (หุ่นยนต์) ที่ชื่อเดวิด (David) มารับใช้ตนเอง หรือตัวปีเตอร์ เวย์แลนด์ (Peter Weyland) ที่พยายามหาทางเพื่อทำให้ตัวเองเป็นอมตะเฉกเช่นเดียวกันกับพระเจ้าที่เป็นอมตะเช่นกัน
สุดท้ายแล้วจุดจบใน Prometheus จึงเป็นเหมือนการลงโทษมนุษย์ที่คิดทัดเทียมอำนาจของพระเจ้า เหมือนดั่งที่โพรมีธีอุสเลือกท้าทายอำนาจของซุส
ตำนานการชุบชีวิต และผลลัพธ์แห่งการฝ่าฝืนวงจรแห่งชีวิต
ใน Alien Resurrection (1997) เล่าเรื่องราวของ เอลเลน ริปลีย์ (Ellen Ripley) ที่ถูกโคลน (ชุบชีวิต) ขึ้นมาใหม่พร้อมกับดีเอ็นเอของเอเลี่ยนในตัว เพื่อนำมาสกัดสร้าง Queen Alien และอาวุธที่ทรงอานุภาพ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า จริง ๆ แล้วเป็นมนุษย์หรือเอเลี่ยนกันแน่ที่เลวร้ายกว่ากัน
การชุบชีวิตตามตำนานกรีกถูกกล่าวถึงในเรื่องเล่าของเทพแอสคลิพิอุส (Asclepius) เทพเจ้าแห่งการแพทย์ การรักษา และการฟื้นคืนชีพ บุตรของเทพเจ้าอะพอลโล (Apollo) กับ โคโรนิส (Coronis) ถูกนำไปเลี้ยงดูโดยเซนทอร์นามว่า ไครอน (Chiron) ที่หุบเขาเพลิออน (Pelion)
ไครอนได้เลี้ยงดูและสอนวิชาการรักษาให้แก่แอสคลีเพียส ทำให้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ที่มีจิตใจดีและเมตตา รวมถึงความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ที่สามารถชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นคืนชีพได้ และคอยช่วยเหลือมนุษย์ให้หายเจ็บไข้ได้ป่วย ด้วยความจิตใจดีและมีเมตตาของแอสคลีเพียส ทำให้ข้างกายของเขาจะมีงูมาคอยกระซิบสอนวิชาการอยู่เสมอ นอกจากนั้นแล้วแอสคลีเพียสยังมีคทาประจำตัว โดยรอบคฑาจะมีมีงูพันอยู่รอบ ๆ เป็นที่มาของสัญลักษณ์แห่งการรักษานั่นเอง
ในภาพยนตร์ The United Systems Military (USM) องค์กรทางทหารของมนุษย์ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยการรวมองค์กรทางทหารทุกแห่งบนโลกเข้าด้วยกัน ทำหน้าที่เป็นทั้งองค์กรทางการทหาร การทูตและรักษาความสงบสุขทั่วทั้ง United Systems จึงเปรียบเหมือนผู้ชุบชีวิตเช่นเดียวกันกับแอสคลีเพียส แต่กลับแตกต่างกันด้วยจุดประสงค์บางอย่าง USM ทำการชุบชีวิตริปลีย์ขึ้นมาเพื่อใช้เธอเป็นอาวุธ ซึ่งถือเป็นจุดประสงค์อันชั่วร้าย ในอีกแง่มุมหนึ่ง แม้แอสคลีเพียสจะมีจุดประสงค์ที่ดีงาม แต่ผลลัพธ์กลับสร้างความเดือดร้อนให้กับวงจรชีวิตของมนุษย์ ชีวิตของมนุษย์ควรจะสิ้นสุดลงเมื่อตายไปแล้ว การฟื้นคืนชีพขึ้นมาจึงเป็นสิ่งต้องห้าม
สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ของการวงจรชีวิต มักจะจบลงด้วยการสูญสิ้น แอสคลีเพียสถูกสังหารเนื่องจากเขามักจะชุบชีวิตมนุษย์ให้ฟื้นคืนชีพ ทำให้ ฮาเดส (Hades) เทพแห่งความตายไม่พอใจ เพราะเมื่อไม่มีคนตาย ก็ไม่มีวิญญาณลงมายังยมโลก และด้วยความกังวลว่ามนุษย์จะกลายเป็นอมตะ เมื่อราชันย์แห่งเทพเจ้าอย่างซุสรู้เรื่องราววีรกรรมของแอสคลีเพียส จึงสังหารเขาด้วยสายฟ้า เช่นเดียวกันกับ USM เมื่อยานหลักอย่าง USM Auriga ได้พุ่งชนเข้ากับโลกอย่างรุนแรง ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้ USM ล่มสลายลง เป็นดั่งผลลัพธ์ของการฝ่าฝืนวงจรชีวิตของมนุษย์
Acheron (LV-426) สวงสวรรค์แห่งความตาย
Acheron (LV-426) คือชื่อของหนึ่งในดวงจันทร์สามดวงที่โคจรรอบดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ Calpamos ในระบบ Zeta 2 Reticuli ที่ห่างจากโลก 39 ปีแสง Acheron เป็นดาวที่ปรากฏอยู่ในหลาย ๆ ภาคของ Alien โดยเฉพาะใน Alien (1979) ที่ดาวดวงนี้กลายเป็นเหมือนเส้นทางสู่ความตายของลูกเรือ USCSS Nostromo อย่างไรก็ตาม ดาวดวงนี้ยังถูกมองว่าเป็นเส้นทางแห่งสวงสวรรค์ โดยเฉพาะเหล่า Engineer และ Xenomorph ที่เกิดและเติบโตบนดาวดวงนี้
ตามตำนานกรีก แอกเคอรอน (Acheron) เป็นชื่อของแม่น้ำแห่งความวิปโยค ซึ่งจะไหลสู่แม่น้ำอีกสายหนึ่งที่เรียกว่า โคไซทัส (Cocytus) ซึ่งเป็นเขตชั้นนอกยมโลกที่ถูกเรียกว่า เออรีบัส (Erebus) โดยเป็นเส้นทางสำหรับเดินทางไปยังทาร์ทารัส (Tartarus) สถานที่ที่ลึกและมืดมิดที่สุด ซึ่งใช้เป็นที่คุมขังวิญญาณของคนชั่วร้ายหรือเทพที่กระทำผิดอย่างร้ายแรง แอกเคอรอนจึงเหมือนเป็นพรมแดนที่กั้นระหว่างโลกมนุษย์และนรก ผู้ที่ตายไปแล้วก่อนจะข้ามแม่น้ำจะต้องทอดทิ้งความหวังในการมีชีวิตอยู่ไว้เสียก่อนเพื่อเข้าเฝ้าฮาเดส เทพเจ้าแห่งความตาย โดยมีผู้พายเรือพาข้ามฝั่งแม่น้ำนามว่า แครอน (Charon) ซึ่งเก็บค่าจ้างเป็นเงินที่ญาติของผู้ตายที่จะนำเหรียญใส่ไว้ในปากของผู้ตายก่อนที่จะทำการฌาปนกิจ
ตามตำนานกรีก แอกเคอรอน (Acheron) เป็นชื่อของแม่น้ำแห่งความวิปโยค ซึ่งจะไหลสู่แม่น้ำอีกสายหนึ่งที่เรียกว่า โคไซทัส (Cocytus) ซึ่งเป็นเขตชั้นนอกยมโลกที่ถูกเรียกว่า เออรีบัส (Erebus) โดยเป็นเส้นทางสำหรับเดินทางไปยังทาร์ทารัส (Tartarus) สถานที่ที่ลึกและมืดมิดที่สุด ซึ่งใช้เป็นที่คุมขังวิญญาณของคนชั่วร้ายหรือเทพที่กระทำผิดอย่างร้ายแรง แอกเคอรอนจึงเหมือนเป็นพรมแดนที่กั้นระหว่างโลกมนุษย์และนรก ผู้ที่ตายไปแล้วก่อนจะข้ามแม่น้ำจะต้องทอดทิ้งความหวังในการมีชีวิตอยู่ไว้เสียก่อนเพื่อเข้าเฝ้าฮาเดส เทพเจ้าแห่งความตาย โดยมีผู้พายเรือพาข้ามฝั่งแม่น้ำนามว่า แครอน (Charon) ซึ่งเก็บค่าจ้างเป็นเงินที่ญาติของผู้ตายที่จะนำเหรียญใส่ไว้ในปากของผู้ตายก่อนที่จะทำการฌาปนกิจ
ดาว Acheron ในภาพยนตร์ Alien จึงเปรียบเสมือนเส้นทางของเหล่าผู้แสวงหาความตายที่ถูกล่อลวงด้วยกิเลสและความอยากรู้อยากเห็น เช่นใน Alien (1979) ที่ยาน USCSS Nostromo ทำการลงจอดบน Acheron เพราะได้รับสัญญาณบางอย่างจากดาว แอช (Ash) หุ่นยนต์ที่ทำหน้าอยู่บนยาน ซึ่งคาดว่าเป็นหุ่นยนตร์ที่ Weyland Yutani โปรแกรมขึ้นมาเพื่อล่อลวงและโน้มนาวให้ลูกเรือ USCSS Nostromo ลงจอดบนดาวดวงนี้ เพื่อไปที่ยาน Derelict ซึ่งเป็นสุสานของเหล่า Engineer และรังของ Xenomorph ในอีกแง่มุมหนึ่งยาน Derelict จึงอยู่ในสถานะเดียวกับทาร์ทารัส (Tartarus) ดินแดนนรกใต้พิภพจุดสิ้นสุดของแม่น้ำแอกเคอรอน
Romulus และ Remus ฝาแฝดผู้ฆ่าเพื่ออำนาจ
ตำนานโรมูลัสและเรมัส (Romulus and Remus) ว่าด้วยเรื่องราวของฝาแฝดผู้ก่อตั้งกรุงโรม กำเนิดจากมาร์ส (Mars) เทพเจ้าแห่งสงคราม และ เรอา ซิลเวีย (Rhea Silvia) เจ้าหญิงแห่งแคว้นแอลเบีย ลองก้า (Alba Longa) ตอนยังเป็นทารกทั้งสองถูกนำไปทิ้งในแม่น้ำไทเบอร์ (Tiber) เนื่องจากความอิจฉาของอามูลิอัส (Amulius) ผู้ที่ยึดอำนาจจากนูมิทอร์ (Numitor) บิดาของเรอา แต่โชคดีที่ทั้งสองไม่ได้จมน้ำรอดชีวิตมาได้และถูกหมาป่าตัวเมีย (Lupa) ที่นำทั้งสองไปเลี้ยงดู ก่อนได้รับการดูแลโดยคนเลี้ยงแกะชื่อฟาสทูลุส (Faustulus)
หลังจากทั้งสองเติบโต จึงได้กลับมาตั้งเมืองใกล้กับจุดที่เคยได้รับการช่วยเหลือในวัยเด็ก ซึ่งเป็นที่เดียวกันกับจุดตั้งของกรุงโรมในปัจจุบัน แต่ในระหว่างการสร้างเมืองนั้นก็เกิดเหตุขัดแย้งขึ้น เกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของเมือง เมื่อเรมัสต้องการสร้างเมืองบริเวณเขาอเวนทีน (Aventine Hill) ขณะที่โรมูลัสเลือกเขาปาลาทิน (Palatine Hill) จนนำไปสู่การต่อสู้กันระหว่างสองพี่น้อง เรมัสจึงถูกโรมูลัสสังหารในที่สุด แล้วขึ้นเป็นกษัตริย์ของกรุงโรม
ถึงแม้กรุงโรมจะเป็นหนึ่งในอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก แต่สุดท้ายแล้วต้นกำเนิดของความเจริญกับมีที่มาจากความรุนแรงและความป่าเถื่อนของโรมูลัส การฆ่ากันเองของพี่น้อง ซึ่งถือว่าเป็นบาปที่สุด เช่นเดียวกันกับเรื่องราวของ Alien ที่แม้จะแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีและวิทยาการอันก้าวล้ำแค่ไหน สุดท้ายแล้วแก่นแท้ของทุกสิ่งทุกอย่างก็คือความป่าเถื่อนและการต่อสู้กับสัญชาตญาณดิบของสิ่งมีชีวิตนักล่า ซึ่งไม่ว่ามนุษย์จะมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แค่ไหน ก็ยังไม่อาจหลีกหนีความป่าเถื่อนในตัวเองได้
โรมูลัสและเรมัส ถูกนำมาใช้เป็นชื่อของสถานีทดลองวิทยาศาสตร์ใน Alien: Romulus (2024) ซึ่งมีจุดประสงค์คือการนำ Xenomorph มาศึกษา แต่เกิดความผิดพลาดและนำไปสู่โศกนาฏกรรมบนสถานีทดลอง Romulus ในขณะที่กลุ่มนักสำรวจได้เดินทางมาถึงฝั่งสถานี Remus พอดี ทำให้ฝั่งมนุษย์ต้องพยายามเอาชีวิตรอดจากเหล่า Xenomorph เป็นดั่งการเผชิญหน้ากันของโรมูลัสและเรมัสในอดีต
ในอีกแง่มุมหนึ่งทั้งมนุษย์และ Xenomorph ไม่ได้มีอยู่ในแค่สถานะผู้ล่าและผู้ถูกล่าเท่านั้น แต่ยังอยู่ในสถานะของ ‘คู่แข่ง’ เหมือนดั่งฝาแฝดที่ทุกการกระทำล้วนแฝงไปด้วยความพยายามในการเอาชนะและความป่าเถื่อน ที่พร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ
เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์หลังจากการก่อตั้งกรุงโรมมาไม่นาน โรมูลัสและชาวโรมันกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนผู้หญิงสำหรับการแต่งงานและสืบสกุล เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โรมูลัสจึงวางแผนเชิญชวนชาวซาบีน (Sabine) และเผ่าใกล้เคียงมาร่วมงานเฉลิมฉลองเทพเนปจูนที่กรุงโรม จากนั้นชาวโรมันก็ทำการลักพาตัวผู้หญิงชาวซาบีนและบังคับให้แต่งงานกับพวกเขา เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าความอยากได้ของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด แม้จะมีการพัฒนาหรือมีอำนาจที่มากพอแล้วก็ตาม
ใน Alien : Romulus จะเห็นมนุษย์มีความต้องการขยายอำนาจเพื่อหวังจะตั้งอาณานิคมครอบคลุมพื้นที่ในจักรวาล ดั่งเป้าหมายของ Weyland-Yutani ที่ต้องการเพิ่มบทบาทมนุษย์ให้กลายเป็นดั่งพระเจ้าด้วยวิทยาการอันก้าวหน้าและเทคโนโลยีที่มนุษย์พัฒนาขึ้นมา แต่ความก้าวหน้าเหล่านี้กลับยิ่งกระตุ้นให้ความป่าเถื่อนรุนแรงมากขึ้น ความไม่พอใจ ความกลัว หรือความรู้สึกว่าถูกคุกคาม ทำให้เกิดการขัดแย้งทางอุดมคติระหว่างสิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าดีกับการใช้ความรุนแรงของ Xenomorph ที่ต้องการป้องกันตัวเอง เกิดเป็นการแข่งขันที่ว่า สิ่งมีชีวิตใดที่จะสามารถขึ้นสู่จุดสูงสุดบนห่วงโซ่อาหารได้ หรือสิ่งมีชีวิตใดที่จะสูญพันธุ์